เศรษฐกิจโลก *
ในไตรมาสที่ 3 IMF ได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2549 จากเดิมประมาณการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 4.9 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ความตึงเครียดในตลาดเงิน และการทะยานขึ้นของราคาน้ำมันระลอกใหม่ แต่การขยายตัวของอุปสงค์ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเติบโตในเกณฑ์ดี สำหรับปัจจัยอื่นๆที่อาจเข้ามามีอิทธิพลในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การชะงักงันของตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว และการฟื้นตัวของตลาดใหม่ภายใต้แรงกดดันของข้อจำกัดทางการค้าในตลาดโลก รวมทั้งการรื้อฟื้นข้อตกลงรอบโดฮาขึ้นมาพิจารณาหลังจากถูกโจมตีว่าไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ทั้งนี้ IMF ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2549 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.1 และปี 2550 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.9 โดยการขยายตัวของประเทศในสหภาพยุโรปมีการขยายตัวมากที่สุด แม้ว่าช่วงต้นปีเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีจะชะลอตัวลง การเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจประเทศจีน ส่งผลให้เศรษฐกิจของเอเซีย และยุโรป มีการขยายตัวดีรวดเร็วตามไปด้วย อีกทั้งประเทศในลาตินอเมริกาได้เลือกให้จัดงานระดับโลก ส่วนประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในตะวันออกกลางและประเทศรายได้น้อยในแอฟริกา สามารถรักษาระดับการเติบโตให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ทำให้มีการนำกำลังการผลิตที่ยังไม่ได้ใช้เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น และเริ่มมีสัญญาณของเงินเฟ้อในหลายประเทศ เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตของ GDP ได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมัน
ภาวะราคาน้ำมันและราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการใช้กำลังการผลิตที่เกือบเต็มที่ และความตึงเครียดของตลาด ในกรณีของน้ำมัน ปัญหาทางด้านการเมืองในตะวันออกกลาง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงให้แก่ประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และราคาในตลาดล่วงหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะสั้น ส่วนภาวะราคาเหล็กเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการของประเทศจีน และกำลังการผลิตที่เหลืออยู่มีน้อยมาก ส่งผลให้ปริมาณเหล็กเข้าสู่ตลาดในอัตราช้ากว่าการเสนอซื้อ
ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางในประเทศหลักๆ ต่างตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งเคยใช้นโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ ต้องเริ่มกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำภายในประเทศ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินยูโร และเยนเข็งค่าขึ้น
* ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2
ความไม่สมดุลของการค้าโลกยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าสหรัฐฯจะสามารถลดการขาดดุลการค้าลงได้ แต่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในเอเชียยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันในระดับสูง และจีนยังคงมีส่วนเกินทางการค้าถึงร้อยละ 7 ใน GDP
เศรษฐกิจสหรัฐฯ (1)
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 3/2549 ชะลอตัวลง โดย GDP เติบโตลดลงเหลือร้อยละ 1.6 จากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น ไม่มากพอที่จะต้านจากการลดลงของการลงทุนภาคเอกชน และการนำเข้า สำหรับภาวะอัตราดอกเบี้ย Federal funds effective rate โดยเฉลี่ยในไตรมาสที่ 3/2549 อยู่ที่ร้อยละ 5.25 และเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาคณะกรรมการ Fed ได้แถลงนโยบายการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.25 เนื่องจาก GDP และอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งภาวะชะงักงันในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่มีแนวโน้มจะกระเตื้องขึ้น
โดยในช่วงไตรมาสที่ 3/2549 การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากไตรมาสก่อน ซึ่งเติบโตเพียงร้อยละ 2.6 โดยการบริโภคสินค้าคงทนกลับมาฟื้นตัวโดยเติบโตถึงร้อยละ 8.4
อันเป็นผลมาจากสินค้าคงคลังภาคเอกชนลดลง ส่วนการบริโภคสินค้าไม่คงทน และบริการ เติบโตขึ้นเล็กน้อยเพียงร้อยละ 1.6 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคขยายตัวลดลง โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี น้อยกว่าไตรมาก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4
ด้านการลงทุนภาคเอกชน ในไตรมาสที่ 3/2549 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อน โดยอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ -2.0 เนื่องมาจากการหดตัวต่อเนื่องในการลงทุนด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเติบโตร้อยละ -17.4 จากไตรมาสก่อน แม้ว่าการลงทุนก่อสร้างที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย จะเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 14 และการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์และซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ส่งผลให้การลงทุนของภาคธุรกิจอื่นๆนอกเหนือจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวในไตรมาสนี้ร้อยละ 8.4 แต่ไม่สามารถชดเชยการหดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้
สำหรับตัวแปรทางด้านการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากไตรมาสก่อน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มสูงถึงร้อยละ 10 ตามการปรับตัวของอัตราแลกเปลี่ยน แม้ว่าจะมีการส่งออกภาคบริการจะหดตัวลงเล็กน้อย โดยเติบโตร้อยละ -1.5 จากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ขณะที่การนำเข้าในไตรมาสที่ 3 นี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากไตรมาสก่อน โดยการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 แม้ว่าการนำเข้าบริการจะลดลงร้อยละ 1.0 ทำให้ดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 0.6
(1) รวบรวมจาก www.bea.gov และ www.federalreserve.gov
ทางด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลในไตรมาสที่ 3/2549 ของสหรัฐฯ มีการขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากที่ไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยรัฐบาลกลางมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เนื่องจากในไตรมาสก่อนรัฐบาลลดการใช้จ่ายลงร้อยละ 4.5 ทำให้ฐานการคำนวณต่ำ ซึ่งมีการลดการใช้จ่ายเพื่อการด้านความมั่นคงร้อยละ 0.7 ส่วนการใช้จ่ายอื่นขยายตัวร้อยละ 6.9 สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลท้องถิ่น ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 2.1 จากที่ไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 4.0
การขยายตัวด้านการผลิตในไตรมาสที่ 3/2549 ภาคการผลิตมีการขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อพิจารณาดัชนีรายเดือน ดัชนีภาคอุตสาหกรรมตัวรวมชะลอตัวลง ร้อยละ 0.3 ในเดือนกรกฎาคม และคงที่ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะปรับตัวลดลงในเดือนกันยายนร้อยละ 0.6 สำหรับภาคอุตสาหกรรมการผลิตในไตรมาส 3 /2549 มีการขยายตัวร้อยละ 3.8 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยในเดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 0.4 ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ในเดือนสิงหาคม ก่อนจะหดตัวร้อยละ 0.3 ในเดือนกันยายน
เมื่อพิจารณาการผลิตสินค้าขั้นสุดท้าย ในไตรมาสที่ 3 / 2549 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค ขยายตัวร้อยละ 1.9 โดยการผลิตสินค้าคงทน หดตัวลง ซึ่งมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ -5.5 ทั้งนี้ การผลิตในหมวดยานยนต์หดตัวมากที่สุด โดยมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ — 12.2 และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เฟอร์นิเจอร์ และการทอพรม มีการขยายตัวลดลง ร้อยละ -3.1 แม้ว่าการผลิตในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนจะขยายตัวถึงร้อยละ 15.1 แต่ไม่สามารถชดเชยส่วนที่ลดการผลิตลงได้ สำหรับกลุ่มสินค้าไม่คงทน มีการขยายตัวร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.6 ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงข้างต้น สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อซึ่งชะลอตัวลง พร้อมกับการขยายตัวของการนำเข้าสะท้อนแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปทานสินค้าในตลาด ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคปรับตัวโดยการชะลอการผลิตลง
ส่วนการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอจากไตรมาสก่อนที่มีการขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยการผลิต durable manufacturing ขยายตัวร้อยละ 5.3 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ซึ่งการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ การผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรม และการผลิตอากาศยาน ขยายตัวสูงสุด ถึงร้อยละ 20.9 ร้อยละ 16.8 และร้อยละ 13.5 ตามลำดับ ทางด้านการผลิต nondurable manufacturing ขยายตัวร้อยละ 2.9 สูงกว่าไตรมาสก่อนที่มีการขยายตัวร้อยละ 2.4 ทั้งนี้ ผลผลิตจากปิโตรเลียมและถ่านหินมีอัตราการขยายตัวสุงสุดถึงร้อยละ 10.7 ขณะที่การผลิตสิ่งทอหดตัวลง โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ -3.9 ซึ่งสอดคล้องกับการชะลอตัวของการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภค
ทางด้านอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในไตรมาสที่ 3/2549 อยู่ที่ร้อยละ 82.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ที่ระดับร้อยละ 82.0 ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของผลผลิตที่เติบโตเพียงร้อยละ 3.6 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อยู่ที่ระดับร้อยละ 81.1 สูงกว่าไตรมาสก่อนเล็กน้อย ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตสินค้าคงทน มีการใช้อัตราการใช้กำลังการผลิตคงที่ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตในหมวดการผลิตสินค้าไม่คงทน ที่ประมาณร้อยละ 81
เศรษฐกิจจีน
ในไตรมาสที่ 3/2549 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 10.4 ลดลง 0.9 จุดจากไตรมาสที่ 2 แนวโน้มการขยายตัวของ GDP ยังอยู่ในอัตราสูงเกินกว่าจะควบคุม โดยเศรษฐกิจจีนในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวถึงร้อยละ 10.7 ลดลงจากไตรมาสสอง 0.2 จุด โดยภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13 ส่วนในภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.9 และภาคบริการขยายตัวร้อยละ 9.5 ทางด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีมูลค่ารวม 7.19 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 910 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ใน 9 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 2.5 จุด จากไตรมาสแรก การค้าปลีกใน 3 ไตรมาสแรก รวมมูลค่า 5.5091 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินร้อยละ 10 ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ1.3 ในช่วง 9 เดือนแรก
ภาวะเงินเฟ้อของจีนในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 โดยในพื้นที่เขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในพื้นที่เขตชนบทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ส่วนดัชนีราคาสำหรับหมวดอาหาร สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร สินค้าเพื่อการบริโภค และภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 2.2 ร้อยละ 1.0 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคมขยายตัวจากเดือนกันยายน ร้อยละ 0.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาสินค้าหมวดอาหารเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากผลกระทบจากไข้หวัดนก ทำให้ราคาไข่เพิ่มสูงขึ้น และผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อสัตว์อื่นมากขึ้น
ทางด้านดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนตุลาคม สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ราคาวัตถุดิบ เชื้อเพลิงและพลังงานขยายตัวร้อยละ 5.6 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาดังกล่าวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยราคาของผลผลิตเหมืองแร่ ขยายตัวร้อยละ 7.4 ส่วนผลผลิตเหมืองหินขยายตัวร้อยละ 6.3 ผลผลิตวัตถุดิบราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 และผลผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตาม ราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ส่วนเสื้อผ้าขยายตัวร้อยละ 1.4 และราคาสินค้า commodity ขยายตัวร้อยละ 0.8 มีเพียงหมวดสินค้าคงทนเพื่อการบริโภคลดลงร้อยละ 1.8
เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนอยู่ที่ระดับ 987.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อสินเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 169 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วง 9 เดือนแรก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 24.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แรงกดดันต่อการควบคุมค่าเงินหยวนในช่วงหลัง ทำให้รัฐบาลจีนยอมผ่อนปรน โดยปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง ลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าจีน
ด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังคงเป็นปัญหาหลักของเศรษฐกิจจีน ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.3 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบสามปี การลงทุนที่เพิ่มมากเกินไปนี้ สะท้อนในการเพิ่มขึ้นของยอดเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจีนได้อนุมัติเงินกู้เพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านล้านหยวนในครึ่งปีแรก ในขณะที่รัฐบาลได้กำหนดให้ปล่อยเงินกู้ตลอดทั้งปีเพียง 2.5 ล้านล้านหยวน เศรษฐกิจที่ร้อนแรงมากเกินไปของจีน ทำให้รัฐบาลประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังได้ประกาศกฎหมายใหม่ด้านการขายที่ดิน โดยการเพิ่มภาษี และเพิ่มค่าชดเชยในการเวนคืนที่ดิน นักวิเคราะห์ได้เตือนรัฐบาลกลางให้ระมัดระวังนโยบายการควบคุมการลงทุนว่า รัฐบาลไม่ควรหวังผลสูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้การลงทุนที่ถูกสะกัดกั้นกลับมาพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนอาจเป็นสาเหตุของภาวะฟองสบู่ในที่สุด
ทางด้านผลผลิตอุตสาหกรรม ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ การผลิตอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 53.0 รองลงมาคือการผลิตแผงวงจรรวม ขยายตัวถึงร้อยละ 41.6 และ การผลิต Optical Communication Equipment ขยายตัวร้อยละ 39.0 ส่วนมูลค่าเพิ่มของการผลิตอุตสาหกรรมรวมขยายตัวร้อยละ 17.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าเพิ่มของการผลิตอุตสาหกรรมเบาขยายตัวร้อยละ 14.9 มูลค่าของการผลิตอุตสาหกรรมหนักขยายตัวร้อยละ 18.2 ซึ่งการเพิ่มขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลัง และการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ ทั้งนี้ การผลิตสินค้าขั้นกลางของจีน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ อันเป็นผลให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน ทำให้ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปี 2549 ปรับลดลงเหลือประมาณร้อยละ 2.5 โดยปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การส่งออกที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง แต่การค้ากับภูมิภาคอื่นยังคงรักษาระดับอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ผลตอบแทนทางธุรกิจของผู้ประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่คำนึงถึงอุปสงค์ต่างประเทศและข้อจำกัดด้านการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่ 3/2549 ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในทำนองเดียวกันกับการบริโภคของภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2549หดตัวร้อยละ 0.8 ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.5 ทางด้านการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ขยับสูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากที่ไตรมาสที่ 2/2549หดตัวลดร้อยละ 2.5 ทางด้านการลงทุนนอกภาคอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.5 ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในไตรมาสนี้
ด้านการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก สินค้าหมวด IT ขยายตัวลดลง ซึ่งสะท้อนการปรับการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยในไตรมาสที่ 3/2549 การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.9 ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่ไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 1.4 ทำให้ดุลการค้าของญี่ปุ่นอยู่ในแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้านการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ในกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ และกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน ขยายตัวสูงขึ้น อีกทั้งผลประกอบการของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ในระดับที่น่าพอใจ และภาคครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคได้
สำหรับภาวะเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม 2549 ลดลงร้อยละ 0.5 จากค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน เนื่องจากดัชนีราคาสินค้าคงทนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสัดส่วนในการคำนวณมาก ส่วนสินค้าใหม่ที่นำเข้ามาใช้คำนวณ เช่น โทรทัศน์สีจอแบน มีระดับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปลี่ยนสัดส่วนสินค้าที่นำมาคำนวณดัชนีราคา เช่น เครื่องชาร์ตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ
ทางด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3/2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นไตรมาสนี้ อยู่ที่ระดับ 106.1 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ขณะที่ไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ -1.3 สาขาการผลิตเครื่องจักรทั่วไปขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.0 สาขาการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 19.6 ชะลอจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 20.8 สำหรับสาขายานยนต์และอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวร้อยละ 7.1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.1 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออก ตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อของเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางด้านราคาจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น ระดับการใช้ทรัพยากรจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะกำลังการผลิต และศักยภาพด้านแรงงาน อีกทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานต่อหน่วยมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าศักยภาพในการผลิตจะเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตราบเท่าที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนจะคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะสั้น และระยะปานกลาง ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวกับภาวะเงินเฟ้อ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป*
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสหภาพยุโรปได้ปรับค่าอัตราการขยายตัว GDP ในไตรมาสแรกของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยในเดือนตุลาคม 2549 ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 อันเป็นผลมาจากการคาดการด้านผลผลิตและผลประกอบการมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่สินค้าคงคลังได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี ส่วนผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมขยายตัวขึ้นจากเดือนกรกฎาคมร้อยละ 1.8 ทุกสาขาการผลิต ยกเว้นการผลิตสาขาพลังงานซึ่งลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม ขยายตัวถึงร้อยละ 5.8
* ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2
ส่วนการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 0.3 จากที่ไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 0.7 แต่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เนื่องจากในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผลการสำรวจของสหภาพยุโรปพบว่า ผู้บริโภคมีทัศนคติที่ดีต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต และภาคครัวเรือนมีแนวโน้มการออมในช่วง 12 เดือน ลดลง สะท้อนถึงการขยายการบริโภคในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี สำหรับการค้าปลีกมียอดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เปรียบเทียบกับเดือนกรกฎาคม และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมของปีก่อน นอกจากนี้ การบริโภคสินค้าขั้นสุดท้ายของภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 2/2549 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่มีการขยายตัวร้อยละ 1.8
ขณะที่ภาคการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากไตรมาสก่อน โดยไตรมาสที่ 1/2549 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เมื่อพิจารณาเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนขยายตัวถึงร้อยละ 4.8 โดยการเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนสินค้าคงคลังต่อ GDO อยู่ที่ร้อยละ 0.3 และในไตรมาสที่ 3/2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 83.6 จากที่ไตรมาสที่ 2/2549 อยู่ที่ระดับร้อยละ 82.5 และคาดว่าในไตรมาสที่ 4/2549 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 83.6 เนื่องจากในไตรมาสสุดท้ายของปี จะมีการขยายตัวด้านการบริโภคมากขึ้นตามเทศการคริสมาสต์และปีใหม่
ด้านการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 2/2549 การส่งออกของสหภาพยุโรปกับนอกสหภาพขยายตัวร้อยละ 1.2 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในทำนองเดียวกันการนำเข้าจากภายนอกสหภาพยุโรปขยายตัวร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าของสหภาพยุโรปในเดือนสิงหาคม ขาดดุล 5.5 พันล้านยูโร ขาดดุลลดลงจากเดือนกรกฎาคมซึ่งขาดดุล 6.2 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านยูโร ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.8 พันล้านยูโร
สำหรับภาวะเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม Core Inflation ขยายตัวร้อยละ 1.6 ลดลงจากเดือนกันยายนซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยดัชนีในส่วนของที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 การศึกษาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 และอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ขณะที่ดัชนีการสื่อสารลดลงร้อยละ 3.2 ด้านสันทนาการและวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 และการขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ส่วนราคาก๊าซหุงต้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18 ซึ่งทำให้ Head line inflation เพิ่มขึ้นในหมวดของผักผลไม้ ร้อยละ 0.1 ขณะที่เชื้อเพลิงในด้านการขนส่งลดลงร้อยละ 0.29 และการโทรคมนาคมลดลงร้อยละ 0.16 สำหรับ Core Inflation ที่ไม่รวมหมวดพลังงานและอาหารสด ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม โดยราคาในภาคอุตสาหกรรมยกเว้นสาขาพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 สิ่นค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ขณะที่สินค้าทุนและสินค้าไม่คงทนเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1ส่วนสินค้าคงทนเพื่อการบริโภคยังคงที่ ทางด้านราคาสาขาพลังงานตกลงร้อยละ 0.4 ซึ่งจะเป็นส่วนกระตุ้นภาคการบริโภคในไตรมาสต่อไป
เศรษฐกิจอาเซียน*
มาเลเซีย
ในไตรมาสที่ 2/2549 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.9 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 5.5 ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทางด้านอุปทานในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัวร้อยละ 6.0 และร้อยละ 8.4 ตามลำดับ ขณะที่ด้านอุปสงค์ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวร้อยละ 7.6 และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.3
ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ทำให้ครึ่งปีแรกผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวถึงร้อยละ 8.2 ซึ่งการผลิตในกลุ่มสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 17.5 และอุตสาหกรรมเคมี ขยายตัวร้อยละ 11.8 โดยผลผลิตในกลุ่มหลักมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม ยกเว้นการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กพื้นฐานซึ่งมีอัตราการเติบโตติดลบร้อยละ 2.0
ด้านผลผลิตภาคบริการในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยในสาขาย่อยขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ ภาคการเงิน ภาคการประกันภัย ภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ ส่วนบริการด้านการขนส่งและบริการคลังสินค้า ขยายตัวร้อยละ 6.9 ขณะที่ ภาคการค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 6.5 ส่วนบริการภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.9 และการบริการอื่นๆขยายตัวร้อยละ 4.4
ส่วนการบริโภคสินค้าขั้นสุดท้าย ขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสที่ 2/2549 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการบริโภคสินค้าขั้นสุดท้ายภาคเอกชน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึงร้อยละ 7.3 ขณะที่การเติบโตของการบริโภคสินค้าขั้นสุดท้ายของภาครัฐ ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 4.0
* ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2
ด้านการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 2/2549 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวเล็กน้อย โดยการส่งออกเติบโตเพียงร้อยละ 4.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีการขยายตัวถึงร้อยละ 5.9 เช่นเดียวกับแนวโน้มด้านการนำเข้า ที่มีการขยายตัวร้อยละ 7.7 ขณะที่ไตรมาสก่อนเติบโตถึงร้อยละ 10.8 ทั้งนี้ การค้าระหว่างประเทศในช่วง 8 เดือนแรกของปี มาเลเซียเกินดุลการค้าประมาณ 67.8 พันล้าน RM. มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเกินดุล 63.6 พันล้าน RM. โดยการส่งออกขยายตัวถึง ร้อยละ 11.8 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 383.9 พันล้าน RM. ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.9 ซึ่งมีมูลค่ารวมถึง 316.1 พันล้าน RM.
ทั้งนี้ การส่งออกในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าถึง 182.6 พันล้าน RM หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ทางด้านการส่งออกน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.6 ของการส่งออกรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.1 ส่วนการส่งออกปาล์ม และผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 5.1 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.2 ของการส่งออกรวม
ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของมาเลเซียในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 7.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตโทรทัศน์ วิทยุ และอุปกรณ์ ขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 32.0 รองลงมาคือการผลิตแก้วและผลิตภัณฑ์จากแก้ว ขยายตัวร้อยละ 29.9 และสาขาการผลิตพลาสติกขึ้นรูปและส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 28.3 ส่วนสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตเลียมขยายตัวร้อยละ 18.4 ซึ่งสะท้อนการขยายตัวของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม การชะลอการลงทุนของต่างประเทศเป็นผลมาจากการชะลอการเจรจาการค้ากับต่างประเทศของมาเลเซีย ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนไว้ก่อน ประกอบกับภาวะความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันกับอดีตนายกรัฐมนตรี
ฟิลิปปินส์*
เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 2/2549 ขยายตัวร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน โดยขยายตัวร้อยละ 5.2 และการเติบโตของการส่งออก ซึ่งขยายตัวร้อยละ 22.3 อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคเกษตร ซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.7 อันเนื่องมากจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและการแทรกแซงของรัฐบาล และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.5
* ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 2
(ยังมีต่อ)