ตามที่สภาพัฒน์ประกาศตัวเลข GDP ในไตรมาส 4 ของปี 2549 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอลง เหลือ 4.2 % จากที่ขยายตัวเฉลี่ย 5.3 % ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ทำให้มีข้อสงสัยว่า “การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงอย่างนี้ ค่าเงินบาทแข็งขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์ได้อย่างไร
ดร. เอก เศรษฐศาสตร์ นักวิชาการอิสระ ได้วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนี้ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยเดียว คือการส่งออก (Export) ที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่ตามเศรษฐกิจคู่ค้า ที่ยังขยายตัวดีมาก ส่วนปัจจัยอื่นเกือบจะหยุดทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชน (Consumption) และการลงทุนภาคเอกชน (Investment) ที่ชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนออกไป ในขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐ(Government Spending) ก็ติดปัญหางบประมาณที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ ดังนั้น เมื่อการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งภาคเอกชนและภาครัฐชะลอลง จึงส่งผลให้การนำเข้าของไทย (Import) ลดลงตามไปด้วย
การที่มูลค่าส่งออกขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้าลดลงมาก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาส 4 ของปีก่อน ขยายตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึงเกือบ 20 % มาอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในไตรมาส 4 ขยายตัวเพียงประมาณ 7 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่านำเข้าอยู่ที่ประมาณ 3.13 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น ดุลการค้าในไตรมาส 4 จึงเกินดุลถึง 2.7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งหากไปรวมดุลบริการที่เราเกินจากการท่องเที่ยวและบริการอื่น ๆ อีกประมาณ 0.9 พันล้านดอลลาร์ ทำให้เมื่อรวมดุลการค้ากับดุลบริการ จะพบว่าในไตรมาส 4 ประเทศไทยค้าขายเกินดุลกับต่างชาติถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์
การที่ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 4 เกินดุลมากนี้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินในตลาดเงินตราต่างประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะตลาดบนฝั่งประเทศไทย (ที่เรียกกันว่า On-shore Market) เนื่องจากผู้ส่งออกจำนำเงินรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่เป็นดอลลาร์มาขายในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อมาซื้อเงินบาท ในขณะที่ผู้นำเข้าซึ่งช่วงนี้ไม่ค่อยนำเข้าสินค้าและบริการมากเท่าไร เลยมีความจำเป็นต้องขายเงินบาท เพื่อซื้อดอลลาร์ในจำนวนน้อย ดังนั้น ตามหลักกลไกตลาดทั่วไปเมื่อแรงซื้อเงินบาทมากกว่าแรงขายเงินบาทค่าเงินบาทจึงต้องแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทไม่ได้ถูกกำหนดจากความต้องการซื้อและขายในตลาดสินค้าและบริการระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องพิจารณาถึงความต้องการซื้อขายสินทรัพย์หนี้สินระหว่างประเทศของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ ในช่วงนี้มีเงินทุนไหลเข้าประเภทอื่น โดยเฉพาะเงินกู้จากต่างประเทศสูงผิดปกติถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากบางบริษัทหันไปกู้เงินดอกเบี้ยถูกจากต่างประเทศมาทดแทนดอกเบี้ยที่แพงกว่าในประเทศ และมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้ามาในประเทศไทยอีกกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ หมายความว่ามีแรงซื้อเงินบาทมากกว่าแรงขายเงินบาทในตลาดเงินตราต่างประเทศเพิ่มเติมขึ้นซึ่งก็จะกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอีก
ประเด็นวิเคราะห์
จากเหตุผลดังกล่าว การที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวมาก ซึ่งสะท้อนผ่านด้วยการนำเข้าที่น้อยลง แต่การส่งออกยังขยายตัวดีอยู่มาก จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกันเร่งฟื้นการใช้จ่ายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนให้เร็วที่สุด และค่าเงินบาทจะแข็งขึ้นเท่าไร ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวเพราะจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยว่าจะเข้ามาดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท ผ่านการเทขายเงินบาท(ซื้อดอลลาร์เข้ามาใส่ในทุนสำรองทางการ)มากน้อยเพียงใด
ที่มา: http://www.depthai.go.th