ต่างประเทศจับตาเศรษฐกิจไทยบาทแข็ง-การเมืองวุ่นอาจส่งผลถึงการชะลอการลงทุน-ย้ายฐานการผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 3, 2007 10:49 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          เจโทร-หอการค้าต่างประเทศจับตาเศรษฐกิจไทยปี 2550  ให้ระวังปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น “ บาทแข็ง — การเมืองไม่นิ่ง-รื้อกฎหมายนอมินี- มาตรการแบงค์ชาติ “ เป็นตัวแปรหลักฉุดจีดีพีทำให้ความเชื่อมั่นการลงทุนชะลอตัวและที่สำคัญอาจทำให้ทุนต่างชาติหนีไปตั้งฐานการผลิตใน
เวียตนามแทน
องค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(เจโทร)มองถึงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่ายังมีแนวโน้มจะเติบโตในระดับปานกลาง โดยมีตัวแปรอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐและปัจจัยบวกและลบอื่นๆ โดยในด้านบวก หากไทยและญี่ปุ่นมีการลงนามในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JETPA) กิจกรรมความร่วมมือใหม่ๆระหว่างประเทศก็จะเพิ่มขึ้น บวกกับไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน นักลงทุนญี่ปุ่นยังมั่นใจต่ออนาคตเศรษฐกิจอาเซียนโดยเฉพาะเมื่อประชาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนเป็นรูปธรรม ในการรวมตลาดสินค้าบางประเภทในปีหน้า
ส่วนปัจจัยลบคือ ความสับสนในเรื่องมาตรการกันเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)บวกกับปัญหาบาทแข็งขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญให้นักลงทุนญี่ปุ่นอาจจะพิจารณาชะลอการลงทุนโดยตรงในไทย และมองหาแหล่งลงทุนใหม่ๆแทนเช่นเวียตนามเป็นต้น
เหตุผลที่การลงทุนของญี่ปุ่นชะลอลงในปีนี้โดยหลักๆ แล้วนอกจากปัญหาค่าเงินบาทแล้วยังรวมไปถึงเสถียรภาพทางการเมือง และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการขาดแคลนแรงงาน และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นด้วย
ทางด้านหอการค้าต่างประเทศร่วมในไทย (JFCCT) มองแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 ว่าขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศคืนมาได้เร็วหรือไม่ เรื่องสำคัญคือเสถียรภาพทางการเมืองเสถียรภาพทางกฎหมาย และลดความผันผวนในค่าเงินบาท เนื่องจากไทยยังเป็นปลายทางการลงทุนทางธุรกิจที่น่าจูงใจแห่งหนึ่งที่มีการพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และแรงจูงใจของตลาดที่แข็งแกร่ง
ปัจจัยที่น่าเป็นกังวลในสายตาต่างชาติขณะนี้คือการพิจารณาพ.ร.บ. การประกอบธุรกิจคนต่างด้าวภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งถ้ามีการเพิ่มข้อจำกัดใดๆก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนนำเข้าในประเทศไทย ทั้งจากบริษัทและนักลงทุนต่างประเทศ ผลกระทบจากการเพิ่มข้อจำกัดในพ.ร.บ.จะเป็นตัวตัดสินว่านักลงทุนต่างชาติจะพิจารณาโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคแทนหรือไม่
ส่วนสำนักวิจัยซิตี้แบงค์เอเชีย-แปซิฟิกกล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในรายงานมุมมองการลงทุนในปี 2550 ว่าเนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดลงและนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยที่มีประสิทธิภาพจึงทำให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 ของประเทศมีทิศทางที่เข้มแข็งขึ้น จีดีพีของประเทศไทยในปีหน้าน่าจะอยู่ที่ระดับ 4.3% ขณะที่นักลงทุนยังชะลอการลงทุนไปจนถึงหลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ ประกอบกับมาตรการสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทออกมาก่อนสิ้นปี 2549 จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนเกิดความไม่แน่ใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้น
ประเด็นวิเคราะห์
สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจของสำนักเศรษฐกิจหลายแห่งมีความเห็นค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน คือยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคคาดว่าจะดีขึ้นภายหลังที่อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพ แต่อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนนั้นอาจมีการชะลอตัวไประยะหนึ่งเนื่องจากปี 2550 จะเป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้ง ประกอบกับนโยบายด้านการประกอบธุรกิจต่างด้าวและมาตรการแบงค์ชาติที่ยังไม่ชัดเจนและการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาททำให้ เอกชนบางส่วนทั้งในและต่างประเทศจึงยังอาจจะยังรอดูสถานการณ์ก่อนการตัดสินใจ
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ