รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน เม.ย.48

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 3, 2005 11:47 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2548 
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2548
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2548 เท่ากับ 107.8 สำหรับเดือนมีนาคม 2548 เท่ากับ 106.9
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.8
2.2 เดือนเมษายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 3.6
2.3 เดือนมกราคม - เมษายน 2548 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 3.0
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2548 เทียบกับเดือนมีนาคม 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.8 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 1.1 และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.7 โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 1.1
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- เนื้อสุกร สภาพอากาศร้อนจัด สุกรเติบโตช้าและมีขนาดเล็ก ปริมาณสุกรที่โตได้ขนาดเข้าสู่ตลาดลดลง นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย
- ไก่สด ความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการรณรงค์ของภาครัฐประกอบกับภาวะการส่งออกดีขึ้น
ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาทู ปลาแดง ปลากระพงแดง ปลาจะละเม็ดดำ กุ้งขาว กุ้งกุลาดำ หอยแครง ปลาหมึกกล้วย หอยลายและปูทะเล ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง เนื่องจากเป็นช่วงปิดอ่าวไทยประกอบกับเรือประมงจำนวนมากหยุดหาปลาจากการปรับราคาน้ำมันดีเซล
- ไข่ไก่ สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งอัตราการให้ไข่ลดลง
- ผักสด ได้แก่ ผักกาดขาวลุ้ย แตงกวา มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว เห็ด มะนาว คึ่นฉ่าย ต้นหอม ถั่วลันเตา ขิง และหัวผักกาดขาว สภาพอากาศในช่วงนี้ร้อนและแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืช ผักหลายชนิดปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดลดลง
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.7
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง จากการปรับราคาน้ำมันเบนซิน สูงขึ้น 3 ครั้ง และปรับราคาลดลง 1 ครั้ง สำหรับน้ำมันดีเซลแม้เดือนนี้จะไม่มีการปรับราคา แต่ราคาโดยเฉลี่ยเดือนนี้สูงกว่า เดือนมีนาคม 2548 ทั้งนี้เป็นผลจากการปรับเพดานราคาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548
- ค่าโดยสารสารธารณะ จากการปรับสูงขึ้นของค่าโดยสารรถเมล์เล็ก และรถประจำทาง ที่ให้บริการภายในบางจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้
- สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ได้แก่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และน้ำยาล้างจาน
- ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ สบู่ถูตัว แชมพูสระผม แป้งทาผิว กระดาษชำระ ครีมนวดผมและค่าแต่งผม
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศปี 2548 (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2548 เท่ากับ 101.2เมื่อเทียบกับ
4.1 เดือนมีนาคม 2548 ไม่เปลี่ยนแปลง
4.2 เดือนเมษายน 2547 สูงขึ้นร้อยละ 0.8
4.3 เดือนมกราคม - เมษายน 2548 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 0.7
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0- 2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ