อย่าทำรัฐธรรมนูญให้พิการ
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเอาไว้ว่าร่างฉบับแรกจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 เมษายนนี้ ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ที่ไม่น่ายินดีและน่าเป็นห่วงเสียอีกด้วยก็คือ ประเด็นสำคัญ ๆ ที่จะกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างหนึ่งก็คือความขัดแย้งที่ประชาชนคนภายนอกยังมีความไม่เห็นด้วยมาก ๆ กับความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างอยู่หลายข้อหลายประเด็น และแน่นอนหากคณะกรรมาธิการยกร่างยังคงเดินหน้าต่อไปก็คงจะฟันธงได้เลยว่ามีปัญหาแน่
ประเด็นหลักที่มีปัญหาแน่นอนก็คือที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในทันทีที่มีข่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างมีความเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นคนภายนอกก็ได้เพียงแต่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เพียงเท่านี้ก็เกิดกระแสคัดค้านเป็นการใหญ่จากหลายวงการ และมีทีท่าว่าจะขยายวงกว้างออกไปจนกรรมาธิการยกร่างบางคนต้องออกมาแถลงว่า ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ เสียงคัดค้านจึงอ่อนลงแต่ก็ยังรอดูกันอยู่
ความจริงเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนบทความเตือนสติคณะกรรมาธิการยกร่างไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ในบทความเรื่อง “อย่าให้ใครวางระเบิดรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้มีความระมัดระวังมิให้การจัดทำรัฐธรรมนูญกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงหรือโยนระเบิดลงไปในกองไฟการเมืองให้เกิดวิกฤตโดยได้บอกกล่าวเตือนสติเอาไว้ว่า เรื่องใดถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่แต่เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาแน่ เพราะเป็นเรื่องที่เคยผ่านการต่อสู้เรียกร้องจนถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงใหม่ก็คือการถอยหลังไปกว่าเดิม และอาจมองได้ว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจอีกด้วย อย่างเช่นนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. กรณีเช่นนี้กำหนดให้ชัดเจนเสียเลย อย่าไปคิดใหม่ให้เป็นปัญหาขึ้นมาอีก ซึ่งก็เป็นปัญหาขึ้นมาจริง ๆ เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างบางส่วนมีความคิดอย่างที่เป็นข่าว
ผมยังคงมีความเห็นว่าแม้ว่าประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจาก ส.ส. นี้ จะสามารถอธิบายด้วยเหตุผลในทางตรรกะให้ฟังดูดีมีเหตุผลได้ดีอย่างไรก็แล้วแต่ เช่นอาจจะบอกว่าเพื่อจะได้มีโอกาสสรรหาคนที่มีความสามารถมากกว่ามาเป็นนายกรัฐมนตรีหรืออาจเป็นช่องทางที่จะทำให้การเมืองไม่เกิดทางตันเมื่อมีกรณีวิกฤตอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่บรรยากาศทางการเมืองในทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว คือไม่พร้อมต่อการที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ เสียแล้ว เพราะเคยเห็นตัวอย่างที่เป็นจริงแล้ว ผิดหวังกันมามาก รวมทั้งความผิดหวังที่มีต่อรัฐบาลและคมช. ในช่วงระยะเวลา 4 — 5 เดือนที่ผ่านมาว่า มิได้เป็นไปตามที่เชื่อและคาดหวังไว้ บรรยากาศทางการเมืองอย่างนี้จึงเป็นบรรยากาศที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและผู้เกี่ยวข้องพึงจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้การจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นการเติมเชื้อเพลิงหรือโยนระเบิดลงไปในกองไฟทางการเมืองอย่างที่ผมได้กล่าวไว้แล้ว
คณะกรรมาธิการยกร่าง จึงน่าจะได้เข้าใจว่าแม้ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกอาจจะยังเป็นเรื่องที่ควรจะถกเถียงกันได้ แต่ก็น่าจะพ้นยุคพ้นสมัยสำหรับระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่ย้อนกลับไปสู่ภาวะการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว ความพยายามที่จะให้มีการรื้อฟื้นกลับมาจึงมีแต่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ไม่คุ้มเสีย กล่าวคือ
1. จะทำให้ประชาชนที่มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เคยได้ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งญาติของผู้สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อในการต่อสู้ เสียความรู้สึกและขาดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่จะล้าหลังไปกว่าเดิม
2. จะก่อให้เกิดความระแวงว่านี่คือความพยายามในการสืบทอดอำนาจเหมือนตัวอย่างที่เคยมีในอดีต ซึ่งยากแก่การที่จะทำความเข้าใจได้ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
3. จะมีการโต้แย้งคัดค้านอย่างรุนแรงและอาจก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นได้เพราะเป็นเรื่องที่เคยผ่านการต่อสู้เรียกร้องจนถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันมาแล้ว ทั้งจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ผ่านการจัดทำประชามติ
นี่คือภาวะของการได้ไม่คุ้มเสียในทางการเมืองและยิ่งถ้าจะถือกันว่าในเวลาเลือกตั้งประชาชนจะตัดสินใจเลือกเพราะนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองจะนำเสนอด้วยแล้ว การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ประชาชนผู้เลือกตั้งจะไปรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่า อะไรคือนโยบายของนายกคนนอก ในเวลาที่ตนจะลงคะแนนเลือกตั้ง
เรื่องสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่จะให้มาจากการเลือกตั้งแบบเดิม จังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 76 คน แล้วก็จะให้มาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่งประเด็นนี้ก็มีปัญหาที่คณะกรรมาธิการยกร่างควรจะได้พิจารณาทบทวนด้วยเช่นเดียวกัน
ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างก็เคยมีบทสรุปว่า การเลือกตั้งแบบเดิมทำให้มี ส.ว. ที่ไม่เป็นกลางอาจมีการแทรกแซงได้เพราะจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองที่ต้องอาศัยฐานเสียงในการเลือกตั้งหรือแม้แต่อิทธิพลท้องถิ่นจนกลายเป็นสภาครอบครัวไปก็มี แล้วทำไมยังจะให้ใช้วิธีเลือกตั้งในรูปแบบเดิมต่อไปอีก แม้จะเพียงบางส่วนก็ตาม จะไม่คิดอ่านแก้ไขกันบ้างเลยหรือ
หรือจะคิดแต่เพียงว่าก็จัดให้มีการสรรหาเสียส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้ถ่วงดุลกันเอง ผมมีความรู้สึกว่าถ้าคิดแต่เพียงเท่านี้ก็ดูจะง่ายไปหน่อย และก็ไม่น่าจะสมความมุ่งหมายทั้งก็อาจจะเป้นปัญหามากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะในสภาแห่งเดียวกันแต่สมาชิกมีที่มาต่างกันนั้นในเวลาที่เกิดมีความเห็นขัดแย้งกันหนักเข้า ๆ ก็จะเกิดมีการดูหมิ่นดูแคลนซึ่งกันและกันอย่างแน่นอน ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้วในอดีต
ผมเห็นว่าที่คณะกรรมาธิการยกร่างยังคงมีความเห็นว่า ส.ว. คงจะต้องมาจากการเลือกตั้งนั้นถูกต้องแล้วเพราะเรามาไกลเกินไปกว่าที่จะกลับไปใช้ระบบแต่งตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นก็เลือกตั้งเสียทั้งหมดนั่นแหละ และก็ควรจะใช้หลักคิดอย่างเดียวกันกับที่คณะกรรมาธิการยกร่างใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส. นั่นแหละ คือเมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งส.ส. ควรใช้เขตเลือกตั้งที่กว้างกว่าเดิมเพื่อให้ใช้ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ได้ยากขึ้น ของ ส.ว.ก็น่าจะใช้หลักเดียวกันคือ แทนที่จะใช้จังหวัดเดียวเป็นเขตเลือกตั้งแบบเดิมก็ขยายเขตเลือกตั้งให้กว้างกว่าเดิมคือใช้หลาย ๆ จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และส.ว.ในแต่ละจังหวัดก็ไม่ควรจะมีจำนวนเท่ากัน จังหวัดใหญ่ก็มีมาก จังหวัดเล็กก็มีน้อยตามสัดส่วนจำนวนประชากร
ในการลงคะแนนเลือกตั้งก็ให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิ์ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครฯ ในบัตรเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่รวมกันเป็นเขตเลือกตั้งได้ไม่เกินจังหวัดละ 1 คน การตัดสินว่าผู้สมัครฯ ใดในจังหวัดใดจะได้เป็น ส.ว. ก็โดยอาศัยคะแนนรวมที่ได้รับจากทุกจังหวัดในเขตเลือกตั้งรวมกันว่าใครได้มากกว่า ลดหลั่นกันลงมาตามจำนวน ส.ว.ที่แต่ละจังหวัดมีได้เท่านี้ก็เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นรูปแบบการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากแบบเดิม ผู้ได้รับเลือกตั้งก็จะมีความภาคภูมิใจได้ว่าตนยังได้รับความไว้วางใจจากคนในจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย สามารถลดอิทธิพลพรรคการเมือง และอิทธิพลท้องถิ่นในเรื่องเครือข่ายอุปถัมภ์ของแต่ละจังหวัดได้แน่นอน และถ้ายังมีปัญหาอยู่อีกก็สามารถปรับกลุ่มจังหวัดที่รวมกันในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ในทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งใหม่
เรื่องเลือกตั้ง ส.ว.นี่ก็ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยแล้ว ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างจัดทำออกมาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจแล้วละก็จะมีผลต่อการจัดทำประชามติว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ด้วยเช่นกัน จึงต้องพิจารณากันให้ดี
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยกร่างก็ควรจะได้พิจารณาในทุกประเด็นด้วยความระมัดระวังรอบคอบโดยพิจารณาข้อดีข้อเสียที่เป็นจริงในอดีตประกอบด้วย มิใช่อาศัยแต่เพียงหลักคิดในเชิงตรรกะเท่านั้นเพราะทุกเรื่องล้วนมีผลต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศด้วยกันทั้งสิ้นที่สำคัญก็คือว่าพึงได้ระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤตก่อนที่รัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นหรือแม้แต่จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านการจัดทำประชามติ เพราะความพิการของรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังกว่าเดิม อย่าได้คิดว่าหากไม่ผ่านการจัดทำประชามติ คมช. และรัฐบาลก็สามารถนำเอารัฐธรรมนูญที่เคยใช้มาแล้ว ฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงเพื่อใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไปได้ เพราะนั่นก็อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญที่พิการมากกว่าอีกฉบับหนึ่งก็เป็นได้
*************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 15 มี.ค. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดเอาไว้ว่าร่างฉบับแรกจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 เมษายนนี้ ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ที่ไม่น่ายินดีและน่าเป็นห่วงเสียอีกด้วยก็คือ ประเด็นสำคัญ ๆ ที่จะกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญและยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ โดยเฉพาะอย่างหนึ่งก็คือความขัดแย้งที่ประชาชนคนภายนอกยังมีความไม่เห็นด้วยมาก ๆ กับความเห็นของคณะกรรมาธิการยกร่างอยู่หลายข้อหลายประเด็น และแน่นอนหากคณะกรรมาธิการยกร่างยังคงเดินหน้าต่อไปก็คงจะฟันธงได้เลยว่ามีปัญหาแน่
ประเด็นหลักที่มีปัญหาแน่นอนก็คือที่มาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในทันทีที่มีข่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างมีความเห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นคนภายนอกก็ได้เพียงแต่ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เพียงเท่านี้ก็เกิดกระแสคัดค้านเป็นการใหญ่จากหลายวงการ และมีทีท่าว่าจะขยายวงกว้างออกไปจนกรรมาธิการยกร่างบางคนต้องออกมาแถลงว่า ไม่ใช่ความเห็นของคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ เสียงคัดค้านจึงอ่อนลงแต่ก็ยังรอดูกันอยู่
ความจริงเรื่องนี้ผมได้เคยเขียนบทความเตือนสติคณะกรรมาธิการยกร่างไว้ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ในบทความเรื่อง “อย่าให้ใครวางระเบิดรัฐธรรมนูญ” เพื่อให้มีความระมัดระวังมิให้การจัดทำรัฐธรรมนูญกลายเป็นการเติมเชื้อเพลิงหรือโยนระเบิดลงไปในกองไฟการเมืองให้เกิดวิกฤตโดยได้บอกกล่าวเตือนสติเอาไว้ว่า เรื่องใดถ้าหากจะมีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่แต่เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาแน่ เพราะเป็นเรื่องที่เคยผ่านการต่อสู้เรียกร้องจนถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันมาแล้ว การเปลี่ยนแปลงใหม่ก็คือการถอยหลังไปกว่าเดิม และอาจมองได้ว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจอีกด้วย อย่างเช่นนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. กรณีเช่นนี้กำหนดให้ชัดเจนเสียเลย อย่าไปคิดใหม่ให้เป็นปัญหาขึ้นมาอีก ซึ่งก็เป็นปัญหาขึ้นมาจริง ๆ เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างบางส่วนมีความคิดอย่างที่เป็นข่าว
ผมยังคงมีความเห็นว่าแม้ว่าประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องมาจาก ส.ส. นี้ จะสามารถอธิบายด้วยเหตุผลในทางตรรกะให้ฟังดูดีมีเหตุผลได้ดีอย่างไรก็แล้วแต่ เช่นอาจจะบอกว่าเพื่อจะได้มีโอกาสสรรหาคนที่มีความสามารถมากกว่ามาเป็นนายกรัฐมนตรีหรืออาจเป็นช่องทางที่จะทำให้การเมืองไม่เกิดทางตันเมื่อมีกรณีวิกฤตอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่บรรยากาศทางการเมืองในทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว คือไม่พร้อมต่อการที่จะเชื่ออะไรง่าย ๆ เสียแล้ว เพราะเคยเห็นตัวอย่างที่เป็นจริงแล้ว ผิดหวังกันมามาก รวมทั้งความผิดหวังที่มีต่อรัฐบาลและคมช. ในช่วงระยะเวลา 4 — 5 เดือนที่ผ่านมาว่า มิได้เป็นไปตามที่เชื่อและคาดหวังไว้ บรรยากาศทางการเมืองอย่างนี้จึงเป็นบรรยากาศที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและผู้เกี่ยวข้องพึงจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษไม่ให้การจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นการเติมเชื้อเพลิงหรือโยนระเบิดลงไปในกองไฟทางการเมืองอย่างที่ผมได้กล่าวไว้แล้ว
คณะกรรมาธิการยกร่าง จึงน่าจะได้เข้าใจว่าแม้ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกอาจจะยังเป็นเรื่องที่ควรจะถกเถียงกันได้ แต่ก็น่าจะพ้นยุคพ้นสมัยสำหรับระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่ย้อนกลับไปสู่ภาวะการณ์เช่นนั้นอีกแล้ว ความพยายามที่จะให้มีการรื้อฟื้นกลับมาจึงมีแต่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ไม่คุ้มเสีย กล่าวคือ
1. จะทำให้ประชาชนที่มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เคยได้ร่วมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รวมทั้งญาติของผู้สูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อในการต่อสู้ เสียความรู้สึกและขาดความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่จะล้าหลังไปกว่าเดิม
2. จะก่อให้เกิดความระแวงว่านี่คือความพยายามในการสืบทอดอำนาจเหมือนตัวอย่างที่เคยมีในอดีต ซึ่งยากแก่การที่จะทำความเข้าใจได้ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
3. จะมีการโต้แย้งคัดค้านอย่างรุนแรงและอาจก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นได้เพราะเป็นเรื่องที่เคยผ่านการต่อสู้เรียกร้องจนถึงขั้นเสียเลือดเนื้อกันมาแล้ว ทั้งจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ไม่ผ่านการจัดทำประชามติ
นี่คือภาวะของการได้ไม่คุ้มเสียในทางการเมืองและยิ่งถ้าจะถือกันว่าในเวลาเลือกตั้งประชาชนจะตัดสินใจเลือกเพราะนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองจะนำเสนอด้วยแล้ว การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ประชาชนผู้เลือกตั้งจะไปรู้ล่วงหน้าได้อย่างไรว่า อะไรคือนโยบายของนายกคนนอก ในเวลาที่ตนจะลงคะแนนเลือกตั้ง
เรื่องสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว. ที่จะให้มาจากการเลือกตั้งแบบเดิม จังหวัดละ 1 คน รวมเป็น 76 คน แล้วก็จะให้มาจากการสรรหาอีกจำนวนหนึ่งประเด็นนี้ก็มีปัญหาที่คณะกรรมาธิการยกร่างควรจะได้พิจารณาทบทวนด้วยเช่นเดียวกัน
ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างก็เคยมีบทสรุปว่า การเลือกตั้งแบบเดิมทำให้มี ส.ว. ที่ไม่เป็นกลางอาจมีการแทรกแซงได้เพราะจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรคการเมืองที่ต้องอาศัยฐานเสียงในการเลือกตั้งหรือแม้แต่อิทธิพลท้องถิ่นจนกลายเป็นสภาครอบครัวไปก็มี แล้วทำไมยังจะให้ใช้วิธีเลือกตั้งในรูปแบบเดิมต่อไปอีก แม้จะเพียงบางส่วนก็ตาม จะไม่คิดอ่านแก้ไขกันบ้างเลยหรือ
หรือจะคิดแต่เพียงว่าก็จัดให้มีการสรรหาเสียส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้ถ่วงดุลกันเอง ผมมีความรู้สึกว่าถ้าคิดแต่เพียงเท่านี้ก็ดูจะง่ายไปหน่อย และก็ไม่น่าจะสมความมุ่งหมายทั้งก็อาจจะเป้นปัญหามากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะในสภาแห่งเดียวกันแต่สมาชิกมีที่มาต่างกันนั้นในเวลาที่เกิดมีความเห็นขัดแย้งกันหนักเข้า ๆ ก็จะเกิดมีการดูหมิ่นดูแคลนซึ่งกันและกันอย่างแน่นอน ซึ่งก็เคยมีตัวอย่างให้เห็นกันมาแล้วในอดีต
ผมเห็นว่าที่คณะกรรมาธิการยกร่างยังคงมีความเห็นว่า ส.ว. คงจะต้องมาจากการเลือกตั้งนั้นถูกต้องแล้วเพราะเรามาไกลเกินไปกว่าที่จะกลับไปใช้ระบบแต่งตั้งแล้ว เพราะฉะนั้นก็เลือกตั้งเสียทั้งหมดนั่นแหละ และก็ควรจะใช้หลักคิดอย่างเดียวกันกับที่คณะกรรมาธิการยกร่างใช้กับการเลือกตั้ง ส.ส. นั่นแหละ คือเมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งส.ส. ควรใช้เขตเลือกตั้งที่กว้างกว่าเดิมเพื่อให้ใช้ระบบเครือข่ายอุปถัมภ์ได้ยากขึ้น ของ ส.ว.ก็น่าจะใช้หลักเดียวกันคือ แทนที่จะใช้จังหวัดเดียวเป็นเขตเลือกตั้งแบบเดิมก็ขยายเขตเลือกตั้งให้กว้างกว่าเดิมคือใช้หลาย ๆ จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และส.ว.ในแต่ละจังหวัดก็ไม่ควรจะมีจำนวนเท่ากัน จังหวัดใหญ่ก็มีมาก จังหวัดเล็กก็มีน้อยตามสัดส่วนจำนวนประชากร
ในการลงคะแนนเลือกตั้งก็ให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิ์ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครฯ ในบัตรเลือกตั้งของแต่ละจังหวัดที่รวมกันเป็นเขตเลือกตั้งได้ไม่เกินจังหวัดละ 1 คน การตัดสินว่าผู้สมัครฯ ใดในจังหวัดใดจะได้เป็น ส.ว. ก็โดยอาศัยคะแนนรวมที่ได้รับจากทุกจังหวัดในเขตเลือกตั้งรวมกันว่าใครได้มากกว่า ลดหลั่นกันลงมาตามจำนวน ส.ว.ที่แต่ละจังหวัดมีได้เท่านี้ก็เรียบร้อย ซึ่งจะเป็นรูปแบบการเลือกตั้งที่แตกต่างไปจากแบบเดิม ผู้ได้รับเลือกตั้งก็จะมีความภาคภูมิใจได้ว่าตนยังได้รับความไว้วางใจจากคนในจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย สามารถลดอิทธิพลพรรคการเมือง และอิทธิพลท้องถิ่นในเรื่องเครือข่ายอุปถัมภ์ของแต่ละจังหวัดได้แน่นอน และถ้ายังมีปัญหาอยู่อีกก็สามารถปรับกลุ่มจังหวัดที่รวมกันในแต่ละเขตเลือกตั้งได้ในทุกครั้งที่จะมีการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งใหม่
เรื่องเลือกตั้ง ส.ว.นี่ก็ต้องถือว่ามีความสำคัญมากเพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญที่มีบทบาทสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยแล้ว ถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างจัดทำออกมาไม่เป็นที่น่าพึงพอใจแล้วละก็จะมีผลต่อการจัดทำประชามติว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ด้วยเช่นกัน จึงต้องพิจารณากันให้ดี
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยกร่างก็ควรจะได้พิจารณาในทุกประเด็นด้วยความระมัดระวังรอบคอบโดยพิจารณาข้อดีข้อเสียที่เป็นจริงในอดีตประกอบด้วย มิใช่อาศัยแต่เพียงหลักคิดในเชิงตรรกะเท่านั้นเพราะทุกเรื่องล้วนมีผลต่อระบอบประชาธิปไตยของประเทศด้วยกันทั้งสิ้นที่สำคัญก็คือว่าพึงได้ระมัดระวังเป็นพิเศษที่จะไม่ก่อให้เกิดวิกฤตก่อนที่รัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นหรือแม้แต่จะทำให้รัฐธรรมนูญไม่ผ่านการจัดทำประชามติ เพราะความพิการของรัฐธรรมนูญที่ล้าหลังกว่าเดิม อย่าได้คิดว่าหากไม่ผ่านการจัดทำประชามติ คมช. และรัฐบาลก็สามารถนำเอารัฐธรรมนูญที่เคยใช้มาแล้ว ฉบับใดฉบับหนึ่งมาปรับปรุงเพื่อใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไปได้ เพราะนั่นก็อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญที่พิการมากกว่าอีกฉบับหนึ่งก็เป็นได้
*************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 15 มี.ค. 2550--จบ--