ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน กุมภาพันธ์ 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2550 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2550
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เท่ากับ 114.5 สำหรับเดือนมกราคม 2550 เท่ากับ 115.0
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมกราคม 2550 ลดลงร้อยละ 0.4
2.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.3
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2550 ลดลงร้อยละ 0.4 ใกล้เคียงกับการลดลงของเดือนก่อนหน้า (มกราคม 2550 ลดลงร้อยละ 0.3) และเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สาเหตุสำคัญยังคงมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 1.0 โดยการลดลงของราคาเนื้อสุกร ไก่ ผักและผลไม้ นอกจากนี้เป็นการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.1 ที่สำคัญมาจากการลดลงของอัตราค่ากระแสไฟฟ้า ถึงแม้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงจะปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 1.0 เป็นอัตราการลดลง มากกว่าเดือนที่ผ่านมา (มกราคม 2550 ลดลงร้อยละ 0.3) ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของดัชนีราคาเนื้อสุกรร้อยละ 6.1 เนื่องจากมีปริมาณเข้าสู่ตลาดมาก ไก่สดลดลงร้อยละ 4.6 ปลาลดลงร้อยละ 1.2 ผักและผลไม้ร้อยละ 3.5 ถึงแม้เดือนนี้จะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่ภาวะการค้าที่ชะลอตัวทำให้ราคาสินค้าอาหารต่าง ๆ ไม่สามารถขยับตัวสูงขึ้น
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.1 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของอัตราค่ากระแสไฟฟ้า 5 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.7 ถึงแม้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงจะสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกก็ตาม โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 2 ครั้ง น้ำมันดีเซลสูงขึ้น 2 ครั้ง ลดลง 1 ครั้ง นอกจากนี้เป็นการลดลงเล็กน้อยของราคาอุปกรณ์สื่อสารและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.3 เป็นอัตราการสูงขึ้นที่น้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 3.0) สาเหตุมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 5.2 ซึ่งยังคงมีผลมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาข้าวสารเหนียวร้อยละ 45.3 ผักและผลไม้ร้อยละ 23.2 นอกจากนี้เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้น (น้ำอัดลม) ร้อยละ 6.0 และเครื่องประกอบอาหารสูงขึ้นร้อยละ 4.2 ขณะที่ราคาเนื้อสุกรในช่วงรอบปีลดลงร้อยละ 17.6 สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของดัชนีค่าโดยสารสาธารณะร้อยละ 7.9 ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลร้อยละ 1.8 และของใช้สำหรับทำความสะอาดร้อยละ 1.6 ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 4.0
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เท่ากับ 105.1 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนมกราคม 2550 โดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
5.2 เดือนกุมภาพันธ์ 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.4
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์