สวนดุสิตโพลล์: นโยบายการรับนักเรียน ม.1 และ ม.4

ข่าวผลสำรวจ Monday December 20, 2010 14:43 —สวนดุสิตโพล

จากที่นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ลงนามในประกาศ สพฐ.เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2554 เรียบร้อยแล้ว และได้รับความร่วมมือจากผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศเป็นอย่างดี ก็ต้องติดตามว่า นโยบายดังกล่าว จะบรรลุวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะปัญหา “เด็กฝาก” ที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ประกาศชัดเจนว่าไม่ให้รับจะลดลงได้จริงหรือไม่? “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,471 คน ระหว่างวันที่ 16-20 ธันวาคม 2553 สรุปผลได้ดังนี้

1. ความคิดเห็นของผู้ปกครอง กรณี ที่จะให้ห้องเรียนในแต่ละห้องมีนักเรียนได้ไม่เกิน 50 คน
อันดับ 1          เห็นด้วย            88.73%

เพราะ ทำให้ครูสามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึงและใกล้ชิดกับเด็กมากขึ้น ,การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฯลฯ

อันดับ 2          ไม่แน่ใจ             8.45%

เพราะ การเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องขึ้นอยู่กับตัวครูผู้สอนและความตั้งใจของเด็กในชั้นเรียนด้วย ฯลฯ

อันดับ 3          ไม่เห็นด้วย           2.82%

เพราะ คิดว่าจำนวนนักเรียนที่กำหนดไว้ยังมากเกินไป อยากให้ดูห้องเรียนของต่างประเทศว่า 1 ห้อง มีนักเรียนกี่คน ฯลฯ

2. ผู้ปกครองเห็นด้วยกับการรับเด็กเข้าเรียนต่อชั้น ม.1 หรือ ม.4 โดยเด็กต้องใช้ความรู้ ความสามารถของตัวเด็กเอง
อันดับ 1          เห็นด้วย            73.24%

เพราะ เป็นการวัดความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งทักษะและความสามารถของเด็ก , สามารถจัดกลุ่มเด็กเรียนเก่งและเด็กเรียนอ่อนได้ เพื่อให้ครูได้ดูแลได้อย่างถูกต้อง ฯลฯ

อันดับ 2          ไม่เห็นด้วย          15.49%

เพราะ เด็กแต่ละคนอาจมีความสามารถแตกต่างกัน บางคนเก่งทฤษฎี บางคนเก่งปฏิบัติ บางคนเรียนไม่เก่งแต่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนำมาใช้สอบไม่ได้ , ควรดูจากระยะทางหรือที่พักอาศัยของเด็กด้วยว่าอยู่แถวไหน ฯลฯ

อันดับ 3          ไม่แน่ใจ            11.27%

เพราะ เด็กในเมืองกับเด็กนอกเมืองมีโอกาสทางการศึกษาแตกต่างกัน หนังสือ สื่อและอุปกรณ์การเรียนไม่เหมือนกัน ฯลฯ

3. ความคิดเห็น กรณี นโยบายการไม่รับเด็กฝากเข้าเรียน ม.1 และ ม.4 ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง
อันดับ 1          เห็นด้วย            83.09%

เพราะ เด็กทุกคนจะได้มีสิทธิ มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่โดยเท่าเทียมกัน ,ลดปัญหาเด็กฝากที่มาแย่งที่นั่งของเด็กที่สอบได้จริง ฯลฯ

อันดับ 2          ไม่แน่ใจ             9.87%

เพราะ โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมีจำนวนมาก การตรวจสอบ ดูแลของกระทรวงศึกษาอาจไม่ทั่วถึง , นิสัยคนไทยมีความเกรงอกเกรงใจโดยเฉพาะเด็กที่ผู้ใหญ่ขอมา อาจปฏิเสธลำบาก ฯลฯ

อันดับ 3          ไม่เห็นด้วย           7.04%

เพราะ อาจเป็นโรงเรียนที่เด็กหรือผู้ปกครองอยากให้เข้าเรียนจริงๆ ,ควรมีการแบ่งสัดส่วนจำนวนนักเรียนที่สอบได้จริง กับเด็กฝากในแต่ละชั้นเรียนให้ดี ,ทำให้ขาดเงินบำรุงโรงเรียนสำหรับนำไปพัฒนาหรือใช้ปรับปรุงโรงเรียน ฯลฯ

4. นโยบายไม่รับเด็กฝากเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในระดับ ม.1 และ ม.4 จะสามารถทำได้จริงหรือไม่?
อันดับ 1          ไม่สามารถทำได้จริง   67.61%

เพราะ สังคมไทยเป็นระบบพวกพ้อง อุปถัมภ์ อาจทำให้เกิดความลำบากใจ , ที่ผ่านมายังคงได้ยินเรื่องเด็กฝากอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ ฯลฯ

อันดับ 2          สามารถทำได้จริง     19.72%

เพราะ ถ้าผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ,กระทรวงศึกษาเอาจริงเอาจัง ฯลฯ

อันดับ 3          ไม่แน่ใจ            12.67%

เพราะ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ผู้ปกครองต้องเข้าใจและปฏิบัติตามด้วย , อาจเปลี่ยนรูปแบบของการฝากจากการใช้เงินมาเป็นการซื้อของบริจาคแทน ,เรื่องเด็กฝากมีมานานแล้ว ฯลฯ

--สวนดุสิตโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ