สวนดุสิตโพลล์: การคัดลอก ลอกเลียน ผลงานทางวิชาการ

ข่าวผลสำรวจ Monday April 25, 2011 09:25 —สวนดุสิตโพล

ด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 91 บัญญัติ เรื่องการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการ และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแนวทางการคัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการและแนวทางการกำหนดโทษที่ชัดเจน เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษาและเพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สอบถามความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์ ครู และข้าราชการกระทรวงศึกษา ที่มีต่อกรณีดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 436 คน ระหว่างวันที่ 21-25 เมษายน 2554 สรุปผลได้ดังนี้

1. ท่านเห็นด้วย กับ ความหมาย ของ ผลงานทางวิชาการต่อไปนี้หรือไม่?

ผลงานวิชาการ หมายถึง เอกสารหรือหลักฐานที่ทำขึ้นจากความรู้ ความสามารถทักษะ และประสบการณ์ โดยการศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย และนำไปใช้ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนางาน จนเกิดผลดีต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ

          อันดับ 1          เห็นด้วย          94.03%

เพราะ ผลงานวิชาการต้องมาจากความรู้ ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์ของผู้จัดทำ ,สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆทาง และสามารถนำความรู้หรือข้อค้นพบนั้นไปพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ฯลฯ

          อันดับ 2          ไม่เห็นด้วย         5.97%

เพราะ นอกจากจะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ในการจัดการด้านอื่นๆได้ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจ ทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารประเทศ ฯลฯ

2. งานที่เขียนขึ้นมาเอง โดยผู้เขียนไม่ได้นำไปใช้ในทางวิชาการหรือเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ ถือเป็นผลงานทางวิชาการหรือไม่?
          อันดับ 1          ไม่เป็นผลงานทางวิชาการ            59.02%

เพราะ การทำผลงานทางวิชาการจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข กฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จะต้องผ่านการพิจารณา รับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ในสาขาวิชานั้นๆ ฯลฯ

          อันดับ 2          เป็นผลงานทางวิชาการ              40.98%

เพราะ การเขียนผลงานขึ้นมาจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆแห่ง โดยเป็นสิทธิของผู้เขียนว่าต้องการที่จะเผยแพร่หรือนำเสนออย่างไร ฯลฯ

3. ผลงานที่เสนอเป็นผลงานทางวิชาการ แต่ประเมินแล้วไม่อนุมัติ นับว่าเป็นผลงานทางวิชาการหรือไม่?
          อันดับ 1          เป็นผลงานทางวิชาการ              52.24%

เพราะ เป็นเจตนาของผู้ทำผลงานที่ตั้งใจทำ ถึงไม่ผ่านการอนุมัติแต่ยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักวิชาการได้ ,การทำผลงานที่สร้างสรรค์ต้องอาศัยการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆแหล่งที่น่าเชื่อถือ ฯลฯ

          อันดับ 2          ไม่เป็นผลงานทางวิชาการ            47.76%

เพราะ ยังไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ ต้องนำไปปรับปรุงแก้ไขตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด เป็นผลงานที่ยังไม่ได้รับการการันตี ฯลฯ

4. ท่านเห็นด้วยกับ ประเภทของผลงานทางวิชาการที่มี 3 ประเภทนี้ หรือไม่?

1. ผลงาน งานแต่ง เรียบเรียง งานแปล หนังสือ หรือ เขียนบทความทางวิชาการ ที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

2. ผลงานวิจัย เป็นงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษา และคุณภาพการศึกษา

3. ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น เช่น (1) การประเมินงาน หรือโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ (2) สื่อ นวัตกรรม ทางการศึกษา (3) เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่ทั้งด้านการเรียนการสอน บริหารจัดการศึกษา และการนิเทศการศึกษา ส่วนแผนการจัดการเรียนรู้เท่านั้นที่มิให้นำมาใช้เสนอเป็นผลงานทางวิชาการ

          อันดับ 1          เห็นด้วย            80.60%

เพราะ เป็นผลงานที่ทำเสร็จแล้ว และเป็นไปตามหลักวิชาการ ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ สามารถนำไปใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษา และคุณภาพการศึกษา ฯลฯ

          อันดับ 2          ไม่เห็นด้วย          19.40%

เพราะ ผลงานทางวิชาการไม่จำเป็นต้องนำไปใช้เฉพาะด้านการศึกษาเพียงอย่างเดียว ,งานแปลคือการคัดลอกมา ฯลฯ

5. จงให้คำนิยาม ความหมายของคำต่อไปนี้
          1    “ลอกเลียน”   หมายถึง    การทำซ้ำ คัดลอกโดยเจ้าของผลงานไม่ได้รับรู้  สิ่งที่ทำขึ้นมาโดยไม่ได้มาจากความคิดของตัวเองทั้งหมด
          2    “ลอก”       หมายถึง    การนำของผู้อื่นมาทั้งหมด โดยไม่มีการแก้ไขใดๆ
          3    “เลียน”      หมายถึง    พยายามทำให้เหมือนกับต้นฉบับหรืองานของคนอื่นที่ทำไว้แล้ว

6. คำว่า “คล้ายคลึงกัน” มีความหมายเหมือนกับ “การลอกเลียน” หรือไม่?
          อันดับ 1          ไม่เหมือนกัน          89.23%

เพราะ ถึงจะคล้ายคลึงกัน แต่ก็มีการนำความคิดของตนเองลงไปสอดแทรกหรือเพิ่มเติมลงไปด้วยแต่ลอกเลียน คือ การเอาของคนอื่นมาโดยที่ไม่ได้มีการศึกษาค้นคว้าเลย ฯลฯ

          อันดับ 2          เหมือนกัน            10.77%

เพราะ มีทั้งลอกและเลียนจึงออกมาคล้ายคลึงกัน ฯลฯ

7. คำว่า “แบบฟอร์มสำเร็จ” เป็นรูปแบบของของผลงานทางวิชาการ ถ้าผู้ที่เข้ารับการอบรมนำแบบฟอร์มมาใช้เหมือนกัน เป็นการลอกเลียนผลงานทางวิชาการหรือไม่?
          อันดับ 1          ไม่เป็นการลอกเลียน            90.77%

เพราะ แบบฟอร์มสำเร็จเป็นเพียงแค่การกำหนดรูปแบบของการทำผลงานทางวิชาการให้มีเค้าโครงที่เหมือนกัน แต่เนื้อหามีความต่างกันไป ฯลฯ

          อันดับ 2          เป็นการลอกเลียน              9.23%

เพราะ ไม่ได้มาจากการคิดค้นขึ้นมาเอง เป็นการนำแบบฟอร์มที่มีอยู่แล้วมาใช้ โดยไม่มีการปรับเติมเสริมแต่งใดๆ /ขาดความแปลกใหม่ ฯลฯ

8. กรณีนั่งทำผลงานทางวิชาการด้วยกัน หรือ อบรมด้วยกัน จึงมีการจัดทำผลงานทางวิชาการคล้ายกัน เป็นการลอกเลียนผลงานทางวิชาการหรือไม่?
          อันดับ 1          ไม่เป็นการลอกเลียน            92.54%

เพราะ เป็นการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมมาใช้หรือประยุกต์กับผลงานของตนเองโดยใช้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ของตนเองที่มีอยู่มาบูรณาการ ฯลฯ

          อันดับ 2          เป็นการลอกเลียน               7.46%

เพราะ ผู้ทำผลงานวิชาการไม่ได้คิดเนื้อหาขึ้นมาเอง แต่ใช้ความคิดหรือข้อแนะนำที่ได้รับจากการอบรมมาหรือผู้ที่เข้าอบรมด้วย ฯลฯ

9. คำว่า “เลียน” กับ คำว่า “เหมือน” มีความหมายเดียวกันหรือไม่?
          อันดับ 1          มีความหมายต่างกัน             88.06%

เพราะ “เลียน” คือ เหมือนบางส่วน “เหมือน” คือ 100% หรือทั้งหมดไม่ได้มีการแก้ไขใดๆ ฯลฯ

          อันดับ 2          มีความหมายอย่างเดียวกัน        11.94%

เพราะ มีความหมายเดียวกัน เพราะทั้ง “เลียน” และ “เหมือน” ไม่ได้มาจากความคิดของผู้ทำผลงานอย่างแท้จริง ฯลฯ

--สวนดุสิตโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ