สถานที่ที่เป็นที่นิยมซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิงและร้านอาหาร โดยสถานที่ที่ดื่มคือ บ้านตนเอง บ้านเพื่อน หอพัก สถานบันเทิง และร้านอาหาร เครื่องดื่มที่นิยมดื่มมากที่สุดคือ เบียร์ รองลงมาคือ สุราสี/สุราแดง ทั้งนี้เพราะหาซื้อได้สะดวก ดื่มง่าย ในรอบ 12 เดือน มีผู้ดื่ม ร้อยละ 41.51 ไม่ดื่ม ร้อยละ 58.49 ความถี่ในการดื่มส่วนใหญ่นานๆครั้ง (1-11 วัน/ปี) โดยกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี ดื่ม ร้อยละ 33.61 แม้ว่าจะไม่ใช่พฤติกรรมการดื่มเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากลุ่มเยาวชนมีพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมีโอกาสเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายเช่นกัน
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ภาพโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้มีเพียงเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ สี ตัวอักษร ของผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อเท่านั้น แต่กลุ่มตัวอย่างก็ยังสามารถรับรู้ได้ชัดเจนว่าเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหรือชื่อของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นๆ ทั้งนี้ สิ่งที่ดึงดูดความสนใจในภาพโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ รองลงมา คือ สีสัน และตัวอักษร
กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 85 เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่ห้ามขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริเวณสถานีรถไฟและในขบวนรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ สนามกีฬา และท่าเรือสาธารณะ เพราะทำให้ผู้คนเข้าถึงหรือหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายและเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่นได้ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ/อนาจาร ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น และก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอีกด้วย
กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 88 เห็นด้วยกับการกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บน “ทาง” เพราะเป็นสถานที่สาธารณะ สามารถช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางทำให้ผู้บริโภคหาซื้อได้ง่าย อีกทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ สร้างความรำคาญและความไม่ปลอดภัยกับบุคคลอื่น ก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาทได้
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76 เห็นว่ารูปแบบข้อความคำเตือน ประกอบภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางโทรทัศน์มีขนาดเล็กเกินไปและอ่านคำเตือนเร็วเกินไป และร้อยละ 80 เห็นว่าควรเพิ่มขนาดของข้อความคำเตือนในป้ายโฆษณาจาก 1/4 เป็น 1/3 ของพื้นที่ และควรเพิ่มลักษณะของข้อความที่สั้น กระชับ และทำให้เห็นโทษหรือผลกระทบที่รุนแรง
กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 78 เห็นว่าภาพดารา นักกีฬา นักร้อง ผู้มีชื่อเสียง ที่ปรากฎบนฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลทำให้เกิดการจดจำยี่ห้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น โดยทำให้เห็นว่าเครื่องดื่มนั้นๆ เป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยม และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ไม่เคยดื่มสนใจดื่ม อีกทั้งร้อยละ 74 เห็นว่าการสนับสนุนกิจกรรม มีผลต่อการจดจำและการเลือกซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 75 เห็นด้วยกับการห้ามนำภาพดารา นักกีฬา นักร้อง ผู้มีชื่อเสียง แสดงบนบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ ร้อยละ 76.2 เห็นว่าการมีภาพคำเตือนส่งผลให้เกิดการตระหนักถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 75.4 เห็นว่าการมีภาพคำเตือนส่งผลให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ดีกว่าข้อความตัวอักษร
การกำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากวันสำคัญทางศาสนาเดิมที่มีการห้ามอยู่แล้ว ร้อยละ 87 เห็นว่าควรห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกวันพระมากที่สุด รองลงมาคือ วันสำคัญของศาสนาอื่น (เช่น วันตรุษอิสลาม) วันหยุดนักขัตฤกษ์ และวันสำคัญตามประเพณี เพราะช่วยส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดี ช่วยลดอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท ช่วยลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และหากอนุญาตให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย
ปัจจุบันยังพบเห็นพฤติกรรมการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในบริเวณปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส ร้อยละ 24 และหอพัก ร้อยละ 20 ส่วนสถานที่ที่พบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น บนยานพาหนะขณะอยู่บนทางทั้งรถส่วนตัวและรถโดยสาร ร้อยละ 18 และปั๊มน้ำมัน/ปั๊มแก๊ส ร้อยละ 16 เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเห็นการขายในวันสำคัญทางศาสนา ร้อยละ 41
กลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยกับมาตรการที่กำหนดเพิ่มเติมให้มี สถานที่ต้องห้ามขาย/ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วันที่ห้ามขาย และการห้ามโฆษณาสื่อสารการตลาดรวมทั้งให้มีภาพคำเตือนบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นยังให้ข้อเสนอแนะให้ภาครัฐเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้กระทำผิดกฎหมาย และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง โดยเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่และออกตรวจตราอย่างสม่ำเสมอ
--สวนดุสิตโพล--