หลังการเลือกตั้ง อบจ. เสร็จสิ้นลง หลายคนต่างลุ้นผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งนักการเมืองหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่ได้รับโอกาสให้เข้ามาทำหน้าที่ พัฒนาท้องถิ่นและดูแลประชาชนโดยตรง เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ?สวนดุสิตโพล?มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ กรณี ?การเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563? จำนวนทั้งสิ้น 1,135 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2563 สรุปผลได้ ดังนี้
อันดับ 1 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีมานาน 68.40% อันดับ 2 การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นรากฐานของการเมืองระดับชาติ 58.44% อันดับ 3 มีการแข่งขันสูงในหลายพื้นที่ 48.20% อันดับ 4 มีผู้สมัครอิสระ/คนรุ่นใหม่จำนวนมาก 41.83% อันดับ 5 สามารถคาดเดาผลการเลือกตั้งในเขตของตนเองได้ 39.32% 2. สิ่งที่ได้รับจากการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ คือ อันดับ 1 ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 81.11% อันดับ 2 ได้เลือกคนที่อยากให้มาบริหารจังหวัด 62.31% อันดับ 3 ได้แสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย 60.19% อันดับ 4 ได้รักษาสิทธิทางการเมืองของตนเอง 58.34% อันดับ 5 คนรุ่นใหม่ ผู้สมัครอิสระ ลงเล่นการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น 34.07% 3. ?จุดเด่น? ของการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ คือ อันดับ 1 เปิดโอกาสให้คนไทยได้ไปเลือกตั้งท้องถิ่น 81.79% อันดับ 2 มีนักการเมือง คนดัง/คนมีชื่อเสียงลงมาเล่นการเมืองท้องถิ่นมากขึ้น 47.89% อันดับ 3 คนรุ่นใหม่ลงสมัครมากขึ้น 45.02% อันดับ 4 การขยายเวลาในการใช้สิทธิ์ถึง 17.00 น. 42.42% อันดับ 5 มีการทำป้ายหาเสียงด้วยนโยบาย/คำขวัญ บรรทัดเดียว 25.47% 4. ?จุดด้อย? ของการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ คือ อันดับ 1 มีการทุจริต 53.65% อันดับ 2 ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า 48.48% อันดับ 3 การประชาสัมพันธ์เรื่องการเลือกตั้งในสื่อต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย 42.69% อันดับ 4 บางพื้นที่เดินทางไปเลือกตั้งไม่สะดวก เพราะสถานการณ์โควิด-19, น้ำท่วม 39.13% อันดับ 5 ป้ายหาเสียงระหว่าง นายก อบจ. และ ส.อบจ. แยกไม่ชัดเจน 37.97% สรุปผลการสำรวจ : สิ่งที่ประชาชนได้รับจากการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง ?สิ่งที่ประชาชนได้รับจากการเลือกตั้ง อบจ. ปี 2563? กลุ่มตัวอย่าง 1,135 คน สำรวจวันที่ 23 ? 25 ธันวาคม 2563 พบว่า ประชาชนเห็นว่าการเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้มีมานาน ร้อยละ 68.40 ทำให้ได้ไปใช้สิทธิของตนเอง ร้อยละ 81.11 จุดเด่นคือ เป็นการเปิดโอกาสให้คนไทยได้ไปเลือกตั้งท้องถิ่น ร้อยละ 81.79 จุดด้อย คือ มีการทุจริต ร้อยละ 53.65
การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นว่างเว้นจากคนไทยไปนานกว่า 6 ปี บางแห่งนานถึง 8 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย หากมีการเลือกตั้งล่วงหน้าคาดว่าจำนวนผู้ไปใช้สิทธิน่าจะสูงกว่านี้ เพราะประขาชนเห็นว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งนี้ปัญหาสำคัญของการเลือกตั้งของไทยยังคงเป็นเรื่องการทุจริต ที่พบเห็นในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่มากนัก หลายคนยังไม่ทราบว่าเลือกวันไหน บัตรเป็นเช่นไร ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรนำปัญหาที่พบไปปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป
โดย นางสาวพรพรรณ บัวทอง
นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร 086-3766533
การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 ศึกเลือกตั้งนายกเล็กในครั้งนี้มีความหมายมากเพราะด้วยกระแสทางการเมืองที่มีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปในการเมืองระดับชาติ แต่ด้วยสถานการณ์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเกิดม็อบการเมืองในแบบม็อบชนม็อบ การเกิดอุทกภัยในบางพื้นที่ของภาคใต้ เป็นอุปสรรคต่อการออกมา ใช้สิทธิใช้เสียงของประชาชนในหลายพื้นที่
ผลการเลือกตั้งโดยภาพรวมที่ออกมา ฐานเสียงเดิมยังเหนียวแน่นหลายจังหวัด สะท้อนให้เห็นผลงานและวาระการดำรงตำแหน่งที่ยาวนานของนายก อบจ.หน้าเก่ามีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ขณะที่หลายจังหวัดพรรคการเมืองระดับชาติช่วยรักษาเก้าอี้นายก อบจ. หน้าเก่าเอาไว้ได้ แต่ก็มีนายก อบจ. หน้าใหม่ที่ล้ม นายก อบจ. หน้าเก่า ได้ด้วยเช่นกัน ขณะที่กลุ่มการเมืองน้ำใหม่อย่างคณะก้าวหน้า แม้ว่าจะไม่ได้รับชัยชนะในตำแหน่งนายก อบจ. เลย แต่การได้รับเลือกตั้ง ส.อบจ. ได้หลายที่นั่ง เป็นการบ่งบอกถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยเฉพาะจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ ?New Generation?
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เขมภัทท์ เย็นเปี่ยม
อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โทร 091-7219677
ที่มา: สวนดุสิตโพล