สวนดุสิตโพล: การดูแลสุขภาพของคนไทย ณ วันนี้

ข่าวผลสำรวจ Monday August 1, 2022 09:46 —สวนดุสิตโพล

สวนดุสิตโพล: การดูแลสุขภาพของคนไทย ณ วันนี้

/

สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกและคนไทยตื่นตัวกับการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการเจ็บป่วย คนไทยจึงหันมารักตัวเอง ดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวมากขึ้น เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน ?สวนดุสิตโพล? มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,159 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 21-28 กรกฎาคม 2565 สรุปผลได้ ดังนี้
1. โควิด-19 ทำให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้นหรือไม่
    ดูแลมากขึ้น 72.74%          ดูแลเหมือนเดิม 26.57%          ดูแลน้อยลง 0.69%
2. ประชาชนมีวิธีการดูแลสุขภาพของตนเองในช่วงโควิด-19 อย่างไร
อันดับ 1          ดื่มน้ำมาก ๆ                  72.32%
อันดับ 2          กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่               69.81%
อันดับ 3          พักผ่อนให้เพียงพอ               68.60%
อันดับ 4          ตรวจเช็คสุขภาพ ตรวจ ATK เป็นประจำ                64.79%
อันดับ 5          พยายามไม่เครียด ไม่คิดมาก           57.79%

3. ประชาชนคิดว่า ?การมีสุขภาพดี? ควรเริ่มต้นอย่างไร
อันดับ 1          นอนหลับให้เพียงพอ                  75.91%
อันดับ 2          เลือกกินอาหารที่ดี มีประโยชน์          72.44%
อันดับ 3          ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง                 68.02%
อันดับ 4          เริ่มจากจิตใจ ไม่เครียด อารมณ์ดี สุขภาพจิตดี                  64.04%
อันดับ 5          หาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง                  61.70%

4. ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประชาชนคิดว่าการดูแลสุขภาพเพื่อการชะลอวัย (Anti-Aging)
มีความจำเป็นหรือไม่
    จำเป็น 96.38%                ไม่จำเป็น 3.62%

5. ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของตนเอง (เช่น ฟิตเนส อาหารเสริม วิตามิน คลินิกสถาบันเสริมความงาม นวด กายภาพ  ATK ฯลฯ)  โดยเฉลี่ยเดือนละ 2,129.07 บาท

6. สิ่งที่ประชาชนอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมีเรื่องใดบ้าง
อันดับ 1          การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ                 52.99%
อันดับ 2          การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม                51.43%
อันดับ 3          การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย                47.97%
อันดับ 4          การชะลอวัย (Anti-Aging)                 47.62%
อันดับ 5          การดูแลความอ่อนเยาว์ของใบหน้า          44.33%

*หมายเหตุ   ผู้ตอบสามารถระบุความคิดเห็นได้มากกว่า 1 เรื่อง (ค่าร้อยละจึงคำนวณในแต่ละข้อ)









สรุปผลการสำรวจ : การดูแลสุขภาพของคนไทย ณ วันนี้

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,159 คน ระหว่างวันที่ 21-28 กรกฎาคม 2565 พบว่า โควิด-19 ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ร้อยละ 72.74 ส่วนใหญ่ดูแลสุขภาพตนเองด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ ร้อยละ 72.32 กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ร้อยละ 69.81 ทั้งนี้คิดว่าการมีสุขภาพดีควรเริ่มต้นด้วยการนอนหลับให้เพียงพอ ร้อยละ 75.91 ในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์กลุ่มตัวอย่างคิดว่าการดูแลสุขภาพเพื่อการชะลอวัย (Anti-Aging) มีความจำเป็น ร้อยละ 96.38 ส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพของตนเองมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 2,129.07 บาท สิ่งที่อยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอันดับ 1 คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ ร้อยละ 52.99 รองลงมาคือ การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ร้อยละ 51.43 มูลค่าของเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) เติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 คนไทยเองมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเฉลี่ยเดือนละสองพันกว่าบาท ซึ่งเป็นส่วนที่จำเป็นต้องจ่ายและยังเห็นว่าเรื่องการดูแลสุขภาพเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นสิ่งจำเป็น ภาครัฐจึงควรเร่งผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมทั้งภาคเศรษฐกิจสุขภาพและการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อม ๆ กัน

การสนทนากลุ่ม เรื่อง Care Economy : สุขภาพดีเพื่อชีวิตที่ยืนยาว เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ผู้เข้าร่วมการสนทนากลุ่ม ประกอบด้วย นักวิชาการทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ดารานักแสดงและผู้ที่ให้ความใส่ใจด้านสุขภาพ จำนวน                  7 ท่าน พบว่า ประเด็นแรกสุขภาพที่ดี ประกอบไปด้วย 4 มิติ ได้แก่  การพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ การดูแลสภาพจิตใจของตนเองให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด และการดูแลร่างกายให้ดีด้วยการออกกำลังกาย ประเด็นที่สองการชะลอวัยหรือการชะลอความเสื่อมของร่างกายควรเริ่มต้นให้เร็วและทำอย่างต่อเนื่องด้วยการปรับพฤติกรรมของตนเอง  นอกจากนี้ด้วยองค์ความรู้ทางการแพทย์ในปัจจุบันของศาสตร์ชะลอวัยทำให้มีการพูดถึงการย้อนวัย (Rejuvenate) ด้วยการทำให้เซลล์ต่างๆในร่างกายแข็งแรง ซ่อมแซมและสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทนซึ่งทำให้มากกว่าคำว่าชะลอวัย และประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันได้มีการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์ที่ดูแลเฉพาะบุคคล (Precision Medicine) สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆลงลึกในระดับพันธุกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและตอบโจทย์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น






ที่มา: สวนดุสิตโพล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ