สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ?หัวอกของคนเสพข่าว ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ? กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,040 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 25-28 มิถุนายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างสนใจติดตามข่าวความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร้อยละ 77.60 โดย ต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก ร้อยละ 71.62 ทั้งนี้คิดว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแน่นอน ร้อยละ 81.66 โดยรวมรู้สึกเบื่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ร้อยละ 70.68 อยากให้สื่อมวลชนรายงานข่าวอย่างรอบคอบและเป็นกลาง ร้อยละ 61.25 สุดท้ายสิ่งที่อยากบอกคือ เรื่องนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ ขัดแย้ง แย่งเก้าอี้กัน ร้อยละ 47.15
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล ระบุว่า กรณีข่าวความขัดแย้งในวงการตำรวจชิงพื้นที่สื่อมายาวนาน ทำให้ประชาชนสนใจอยากรู้ข้อเท็จจริงและมั่นใจว่ามีเบื้องหลังแน่นอน การที่กลุ่มตัวอย่างมองว่าเรื่องความขัดแย้งนี้เป็นเรื่องผลประโยชน์ แย่งเก้าอี้กัน จึงสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและความโปร่งใสในองค์กรตำรวจ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในสายตาของประชาชน และรู้สึกเบื่อหน่ายกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต้องการให้สื่อมวลชนรายงานข่าวอย่างรอบคอบและเป็นกลาง ด้านองค์กรตำรวจเองก็ควรเร่งปฏิรูปปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และเน้นทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนมากกว่า นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โทร 086-3766533
ดร.มุทิตา มากวิจิตร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกิดขึ้น ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนให้ความสนใจและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพล ที่พบว่ามีประชาชนให้ความสนใจติดตามข่าวความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากถึง ร้อยละ 77.60 ตลอดจนต้องการทราบความจริงในประเด็น ดังกล่าวถึง ร้อยละ 71.62 ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่ประชาชนให้ความสนใจประเด็นดังกล่าว เนื่องจากองค์กรตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม และเป็นกลุ่มผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อันเป็นที่พึ่งของประชาชน ดังนั้น เมื่อเกิดความขัดแย้งกันในมิติต่างๆ ภายในองค์กรตำรวจ จึงทำให้ประชาชนตั้งข้อสังเกตในมิติการปฏิบัติหน้าที่ และการแต่งตั้งโยกย้ายภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ส่วนใหญ่มีความคิดว่าประเด็น ความขัดแย้งดังกล่าวมีเบื้องหน้าเบื้องหลังสูงมากถึง ร้อยละ 81.66 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของภาคประชาชนว่า ความขัดแย้งดังกล่าวมีความซับซ้อนมากพอสมควร ดังนั้น เพื่อลดระดับความขัดแย้งดังกล่าวประชาชนจึงมีความเห็นว่าสื่อมวลชนควรรายงานข่าวอย่างรอบคอบและเป็นกลาง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
ดร.มุทิตา มากวิจิตร์
อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขากฎหมายปกครองและการบริหารงานภาครัฐ
โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต