ตามข่าวที่เสนอว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลไปบ้างแล้ว และทุกคนก็เข้าใจในความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องยึดภาพลักษณ์ของพรรคและรัฐบาลเป็นสำคัญ โดยไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดใคร เพราะเข้าใจว่า เป็นความคิดเห็นกันคนละมุม และคงต้องรอไป อีกสักระยะในการนัดหารือพรรคร่วมรัฐบาลอย่างเป็นทางการ "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน กรุงเทพฯ ปริมณฑล กรณีความคิดเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคร่วมรัฐบาล” จำนวน 1,356 คน ระหว่างวันที่ 26-28 มกราคม 2553 สรุปผลได้ดังนี้
อันดับที่ 1 เป็นเรื่องของความคิดเห็นและมุมมองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละพรรค 32.46% อันดับที่ 2 เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง 27.61% อันดับที่ 3 ต่างฝ่ายต่างต้องการรักษาผลประโยชน์ ไม่มีใครยอมใคร 21.04% อันดับที่ 4 ต้องศึกษาถึงผลดี-ผลเสีย ที่จะตามมา โดยให้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการเป็นคนกลางเข้ามาตัดสิน 18.89% 2. ผลจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคร่วมรัฐบาล” ประชาชนคิดว่าจะมี ผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่? อันดับที่ 1 กระทบ 78.26% เพราะ หากพรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวก็จะทำให้จำนวน ส.ส. ลดลง อาจเกิดการสลับขั้วทางการเมืองใหม่ อาจส่งผลให้มีการยุบสภา ฯลฯ อันดับที่ 2 ไม่แน่ใจ 15.22% เพราะ อาจมีการเจรจาตกลง หรือไกล่เกลี่ยเพื่อหาข้อยุติลงได้ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเป็นรัฐบาลต่อไป ฯลฯ อันดับที่ 3 ไม่กระทบ 6.52% เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นและไว้วางใจพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ปัญหานี้ได้ด้วยดี ฯลฯ 3. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญประชาชนเห็นด้วยกับพรรคการเมืองใด? อันดับที่ 1 ไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ฝ่าย 61.95% เพราะ การเสนอแก้ไข รธน. นั้นควรมาจากพื้นฐานของปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่เป็นความต้องการของคนใดคนหนึ่ง ,ไม่รู้ว่าการเรียกร้อง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีเงื่อนงำอื่นแอบแฝงหรือไม่ ฯลฯ อันดับที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์ 26.09% เพราะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น ต้องใช้เวลาในการไตร่ตรอง และปรึกษาหารือกันให้มากกว่านี้ ฯลฯ อันดับที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาล 11.96% เพราะ บางวรรคบางตอนของรัฐธรรมนูญยังมีช่องโหว่และไม่สามารถนำไปปฏิบัติตามได้จริง ฯลฯ 4. ประชาชนคิดว่าเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” กับ “พรรคร่วมรัฐบาล” จะทำให้การเมืองไทยบานปลายหรือไม่? อันดับที่ 1 บานปลาย 57.61% เพราะ อาจเป็นชนวนของความขัดแย้งทางการเมือง การบริหารประเทศหรือการตัดสินใจของรัฐบาลอาจไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนเคย ฯลฯ อันดับที่ 2 ไม่บานปลาย 26.05% เพราะ พรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์, พรรคประชาธิปัตย์สามารถคุมเกมหรือหาข้อยุติลงได้ ฯลฯ อันดับที่ 3 ไม่แน่ใจ 16.34% เพราะ ทั้ง 2 ฝ่ายอาจตกลงกันได้ด้วยดีและไม่มีฝ่ายที่ 3 เข้ามายุยงหรือสร้างความวุ่นวายมากขึ้น ฯลฯ 5. ทำอย่างไร? กรณีความคิดเห็นที่แตกต่างกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญระหว่างพรรค“ประชาธิปัตย์” กับ “พรรคร่วมรัฐบาล” จึงจะไม่บานปลายและทำให้รัฐบาลสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ อันดับที่ 1 ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องใจเย็นและหารือกันให้รอบคอบโดยใช้เหตุผลมานั่งคุยกัน 43.71% อันดับที่ 2 ให้ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนรวมเป็นสำคัญ 30.66% อันดับที่ 3 อยากให้ทั้ง 2 ฝ่าย หนักแน่น ไม่หลงไปตามกระแสหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆนานา 25.63%
--สวนดุสิตโพล--