นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 8, 2007 08:27 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                  8  มีนาคม 2550
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภท
การจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคล
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ น.(ว) 4/2550 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ
ด้วยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ออกประกาศจำนวน 2 ฉบับดังนี้
1. ประกาศสำนักงานที่ สน. 1/ 2550 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สน. 1/2550”)
2. ประกาศสำนักงานที่ สข/น. 2/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สข/น. 2/2550”)
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง
โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ประเด็น 1 ใน 3
1.1 กำหนดประเภทกองทุนที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของเกณฑ์ 1 ใน 3 (ข้อ 14(2) ของประกาศที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (“ประกาศจัดตั้ง”) และข้อ 11/1 ของประกาศที่ สข/น. 1/ 2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
และที่แก้ไขเพิ่มเติม (“ประกาศจัดการ”) ได้แก่
(1) กองทุนรวมตราสารแห่งทุน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงในหุ้นและการลงทุนผ่านกองทุนรวมตราสารแห่งทุน ภาระ
ภาษีไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF)
(2) กองทุนรวมตลาดเงินที่โครงการจัดการกองทุนรวมกำหนด portfolio duration ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 6
เดือน แต่ทั้งนี้ การจัดสรรหน่วยลงทุนให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนหน่วย
ลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนสามารถใช้เป็นแหล่งพักเงิน
ระยะสั้นเพื่อรอการลงทุนได้ ดังนั้น ในบางช่วงเวลาอาจเกิน 1 ใน 3 ได้
1.2 กำหนดข้อยกเว้นการจัดสรรหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 เพิ่มเติมสำหรับนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือวัด (ข้อ 14(2)(ข) ของประกาศจัดตั้ง)
เหตุผล เนื่องจากกองทุนรวมหรือบุคคลที่ได้รับการผ่อนผันเพิ่มเติมไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรือมีเจตนาจะ dominate กองทุน
1.3 กำหนดกรณีเพิ่มเติมสำหรับกองทุนเก่าที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลที่ถือหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 (ข้อ 11/6(2) ของประกาศจัดการ) ซึ่งประกอบด้วย
(1) บุคคลที่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้
นิติบุคคล เช่น ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือวัด เป็นต้น
(2) บุคคลอื่นใดที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร
ทั้งนี้ ต้องปรากฏด้วยว่าโครงการของกองทุนรวมที่บุคคลตาม (1) หรือ (2) ถือหน่วยลงทุนอยู่นั้น มีข้อกำหนดให้
บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องนับคะแนนเสียงในส่วนที่เกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้ง
หมด รวมในจำนวนเสียงในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในเรื่องใด ๆ
1.4 กำหนดเหตุเพิ่มเติมในการเลิกกองทุน (ข้อ 82 (5) ของประกาศจัดการ)
เพิ่มเติม กองทุนเปิดจะเข้าเหตุต้องเลิกกองทุนเมื่อบุคคลที่ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันให้ถือเกิน 1 ใน 3 ได้ทำการขายคืนหน่วยลงทุนรวมกันเป็นจำนวนเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนใด
เหตุผล เพื่อมิให้การขายคืนของรายใหญ่กระทบกับรายย่อยที่อยู่ในกองทุนรวมนั้น
โดยกำหนดให้กองทุนเปิดที่มีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกิน 1 ใน 3 ต้องมีข้อกำหนดเหตุแห่งการเลิกเพิ่มเติมในโครงการว่า กองทุนเปิดจะเลิกเมื่อบุคคลที่ได้รับยกเว้นหรือผ่อนผันให้ถือเกิน 1 ใน 3 ได้ทำการขายคืนหน่วยลงทุนรวมกันเป็นจำนวนเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนใด ซึ่งการแก้ไขโครงการในเรื่องดังกล่าวบริษัทจัดการสามารถขอความเห็นชอบสำนักงานในการแก้ไขโครงการโดยใช้ fast track ได้ โดยบริษัทจัดการจะต้องมีหนังสือรับรองจากบุคคลที่ได้รับการยกเว้นหรือผ่อนผันว่ารับทราบสิทธิของตนที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเอกสารประกอบการยื่นขอความเห็นชอบสำนักงานในการยื่นแก้ไขโครงการด้วย
2. ประเด็นอื่นๆ โดยมีสาระสำคัญในการแก้ไขสรุปได้ดังนี้
2.1 กำหนดข้อยกเว้นในการจัดทำและจัดส่งหนังสือชี้ชวน (ข้อ 11 ของประกาศจัดตั้ง)
เพิ่มเติม กำหนดว่า บริษัทจัดการไม่ต้องจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้เป็นปัจจุบันทุกรอบระยะเวลาบัญชี และจัดส่งให้สำนักงานภายใน 60 วันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อ
(1) กองทุนรวมเปิดที่มีเหตุต้องเลิกกองทุนรวมโดยเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนหรือในวันที่ครบกำหนดจัดทำและจัดส่งหนังสือชี้
ชวน
(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร
เหตุผล เพื่อความยืดหยุ่นในการปฏิบัติงาน
2.2 แก้ไขสำหรับกองทุนรวมมีประกัน
(1) แก้ไขคำนิยาม “ผู้ประกัน”(ข้อ 22 ของประกาศจัดตั้ง)
เดิม หมายถึง ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่จะได้รับชำระ
เงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้
แก้ไขเป็น หมายถึง ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับ
ชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้
เหตุผล เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปฏิบัติได้จริง กล่าวคือ การประกันเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบ
แทน สามารถอยู่ในรูปของการประกัน portfolio ของกองทุนทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงการประกันเฉพาะต่อผู้ถือหน่วย
ลงทุนแต่ละรายเพียงอย่างเดียว
(2) ข้อห้ามของผู้ประกัน (ข้อ 25 ของประกาศจัดตั้ง)
เพิ่มเติม ผู้ประกันของกองทุนรวมต้องมิใช่ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมมีประกันดังกล่าว
เหตุผล เนื่องจากผู้ประกันควรมีอิสระจากกองทุนอย่างแท้จริง (third party) เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผล
ประโยชน์
2.3 ผ่อนผันเหตุการสิ้นสุดของการอนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนสำหรับ country fund (ข้อ 34/2 ของประกาศจัดตั้ง)
เพิ่มเติม Country fund สามารถขอผ่อนผันจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนต่อสำนักงานได้ โดยอธิบายถึงเหตุจำเป็นและสมควร
เหตุผล เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับกองทุน country fund ในกรณีที่มีการระดมเงินจากรายย่อยในต่างประเทศมาในลักษณะcollective investment scheme และมาเป็นผู้ลงทุนใน country fund ในประเทศไทย
2.4 สิทธิในการบอกเลิกสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ข้อ 45(4) ของประกาศจัดตั้ง)
เพิ่มเติม ในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องมีข้อความให้ลูกค้ามีสิทธิเลิกสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ลงนามในสัญญาโดยไม่ต้องแจ้งให้บริษัทจัดการทราบล่วงหน้าและไม่ต้องชดเชยค่าเสียหายใดๆ ให้แก่บริษัทเนื่องจากการเลิกสัญญาดังกล่าว
เหตุผล เพื่อคุ้มครองสิทธิลูกค้า ซึ่งอาจจะมีอำนาจต่อรองน้อย ให้มีสิทธิในการบอกเลิกสัญญา
2.5 การดำเนินการเมื่อปรากฏเหตุในการเลิกกองทุนรวม (ข้อ 83 และข้อ 104 ของประกาศจัดการ)
เดิม กำหนดให้บริษัทจัดการแจ้งผู้ถือหน่วยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียน รวมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบด้วย ทั้งนี้ ภายในวันถัดจากวันทำการที่ปรากฏกรณีตามข้อ 82 (2)(3) หรือ (4)
แก้ไขเป็น กำหนดให้บริษัทจัดการแจ้งผู้ถือหน่วยที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียน รวมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบด้วย ทั้งนี้ ภายใน 3 วันทำการนับแต่วันทำการที่ปรากฏกรณีตามข้อ 82 (2)(3) หรือ (4)
เหตุผล ให้เป็นไปตามประกาศเดิม
3. แนวทางดำเนินการ
เนื่องจากประกาศที่ สน. 1/2550 และที่ สข/น. 2/2550 ได้กำหนดประเภทของกองทุนรวมที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องใช้เกณฑ์ 1 ใน 3 เพิ่มเติม ตามที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้มีหนังสือขอผ่อนผันมา ได้แก่ กองทุนรวมตราสารแห่งทุน และกองทุนรวมตลาดเงินที่โครงการจัดการกองทุนรวมกำหนด portfolio duration ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 6 เดือน อย่างไรก็ดี ในระยะที่ผ่านมาบริษัทจัดการบางแห่งได้ดำเนินการแก้ไขโครงการกองทุนรวมประเภทดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 1 ใน 3 ตามประกาศเดิมแล้ว ทำให้เมื่อประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ กองทุนดังกล่าวจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ 1 ใน 3 ตามที่โครงการกำหนดไว้ ดังนั้น จึงขอให้บริษัทจัดการยื่นแก้ไขโครงการดังกล่าวภายในโอกาสแรกพร้อมกับการแก้ไขโครงการในเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ โดยสำนักงานจะไม่ยกขึ้นดำเนินการ หากบริษัทจัดการรายงานการปฏิบัติไม่เป็นไปตามโครงการโดยไม่ต้องชี้แจงความผิด 4 องค์ประกอบให้สำนักงานทราบ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์)
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
เลขาธิการแทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศสำนักงานที่ สน. 1/ 2550 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 6)
ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550
2. ประกาศสำนักงานที่ สข/น. 2/2550 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 23
กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 (“ประกาศที่ สข/น. 2/2550”)
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2263-6032
โทรสาร 0-2263-6292

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ