หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ 3)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 5, 2010 15:39 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 47 /2553

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(ฉบับที่ 3)

_________________________

อาศัยอำนาจตามความใน

(1) มาตรา 98(10) และมาตรา 118(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

(2) ข้อ 4 วรรคสอง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 91/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

(3) ข้อ 4 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 91/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ข้อ 9 ข้อ 19(1) และข้อ 19(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (6/1) (6/2) (6/3) และ (6/4) ของข้อ 2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“(6/1) “การประกันรายได้” หมายความว่า การจัดให้มีบุคคลอื่นเข้ารับประกันรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่ประกันไว้

(6/2) “ผู้รับประกันรายได้” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันว่ากองทุนรวมจะได้รับรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม ตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่รับประกันไว้

(6/3) “หนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า หนังสือค้ำประกันที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออกให้กองทุนรวมเพื่อเป็นประกันรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม

(6/4) “บริษัทจดทะเบียน” หมายความว่า บริษัทที่มีหลักทรัพย์ที่ได้รับการจดทะเบียนให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์”

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 4/1 และข้อ 4/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 4/1 รายละเอียดโครงการ ร่างข้อผูกพัน และร่างหนังสือชี้ชวน ที่ยื่นตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง ต้องมีข้อกำหนดและข้อมูลดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดในรายละเอียดโครงการและร่างข้อผูกพันในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) การจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนในการรับเงินปันผลและการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อ 14 ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตามข้อ 14(1) (ข) ต้องมีข้อกำหนด ที่จำกัดการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นให้ถือหน่วยลงทุนได้เกินกว่าอัตราที่กำหนดในข้อ 14(1) (ข)

(ข) การดำเนินการกับเงินปันผลส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตาม (1) ที่แสดงว่า

1. บริษัทจัดการกองทุนรวมจะยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวให้เป็นรายได้แผ่นดินโดยถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงรับทราบและยินยอมให้ดำเนินการแล้ว และ

2. ในระหว่างที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยังมิได้ดำเนินการตาม 1. บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจัดทำบัญชีและแยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวออกจากทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวมโดยไม่นำมารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(2) ข้อมูลและข้อกำหนดเกี่ยวกับราคาอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมจะลงทุนในรายละเอียดโครงการและร่างหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่ระบุเฉพาะเจาะจง หากราคาที่จะลงทุนซึ่งระบุไว้ในโครงการสูงกว่าราคาต่ำสุดที่ได้จากรายงานการประเมินค่าเกินกว่าร้อยละสิบต้องแสดงข้อเท็จจริง และเหตุผลของการลงทุนในราคาดังกล่าวไว้ในรายละเอียดโครงการและร่างหนังสือชี้ชวน

(ข) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่ไม่ระบุเฉพาะเจาะจง ต้องมีข้อกำหนดในรายละเอียดโครงการที่แสดงว่า บริษัทจัดการกองทุนรวมจะลงทุนในราคาที่สูงกว่าราคาต่ำสุดที่ได้จากรายงานการประเมินค่าเกินกว่าร้อยละสิบได้ เมื่อได้รับมติโดยเสียงข้างมากจากผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว ทั้งนี้ การขอมติและการนับคะแนนเสียงต้องกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 55 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง และหนังสือเชิญประชุมหรือหนังสือที่มีถึงผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติต้องระบุข้อมูลตามข้อ 57(2) ด้วย

ข้อ 4/2 การจัดตั้งกองทุนรวมที่มีผู้รับประกันรายได้ ผู้รับประกันรายได้อย่างน้อยหนึ่งรายต้องเป็นนิติบุคคล

ในกรณีที่ผู้รับประกันรายได้ตามวรรคหนึ่งมิได้จัดให้มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์ หรือหลักประกันอื่นที่เทียบเท่า ซึ่งครอบคลุมตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้รับประกันรายได้รับประกันไว้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นรายงานการสอบบัญชีของผู้รับประกันรายได้สำหรับสามรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลังก่อนการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ประกอบคำขอจัดตั้งกองทุนรวมด้วย

รายงานการสอบบัญชีตามวรรคสองสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีล่าสุดต้องเป็นรายงานการสอบบัญชีที่จัดทำโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีประจำปีล่าสุดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2553 ให้ยื่นรายงานการสอบบัญชีที่จัดทำโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีได้”

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 8/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 8/1 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดูแลให้ข้อผูกพันและโครงการเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ และคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว โดยในกรณีที่ข้อกำหนดในข้อผูกพันหรือโครงการขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ประกาศ กฎ หรือคำสั่งนั้น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อผูกพันและโครงการโดยไม่ชักช้า”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 12 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการประกันรายได้ ข้อมูลที่แจกจ่ายตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 7/1 การเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมที่มีการประกันรายได้ด้วย”

ข้อ 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 19/1 ของหมวด 4 การสิ้นสุดของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 19/1 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้เสนอขายหน่วยลงทุนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมนั้นสิ้นสุดลง”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความใน (2) ของข้อ 21 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(2) มีการเสนอขาย จำหน่าย และจัดสรรหน่วยลงทุนโดยฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามข้อ 14 ข้อ 15 ข้อ 16 ข้อ 17 และข้อ 18”

ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 34 ข้อ 35 และข้อ 35/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 53/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 34 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่บริษัทจัดการกองทุนรวมว่ามีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) รายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว

(2) แจ้งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันจำหน่ายหน่วยลงทุนในส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

ข้อ 35 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่บริษัทจัดการกองทุนรวมว่าบุคคลตามข้อ 14(1) (ก) ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) รายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว

(2) แจ้งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันจำหน่ายหน่วยลงทุนในส่วนที่เกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

ข้อ 35/1 ในกรณีที่บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดตามสัญญารับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตามข้อ 14(1) (ข) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ บริษัทจัดการกองทุนรวมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว”

ข้อ 8 ให้ยกเลิกข้อ 39 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในข้อ 40 และข้อ 41 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 40 การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กองทุนรวมได้มาจากการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องกระทำโดยเปิดเผย และเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกองทุนรวมเป็นสำคัญ

ในกรณีที่ราคาที่จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ได้จากรายงานการประเมินค่าเกินกว่าร้อยละสิบ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลที่จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ในราคาดังกล่าวไว้ในหนังสือสรุปข้อมูลสำคัญที่จัดทำขึ้นตามข้อ 47

ข้อ 41 ในการลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีรายงานการประเมินค่าที่จัดทำขึ้นล่วงหน้าก่อนวันลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวไม่เกินหกเดือน ทั้งนี้ ในกรณีที่มูลค่าทรัพย์สินที่ทำการประเมินค่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลาดังกล่าว บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินใหม่”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความใน (5) และ (6) ของวรรคหนึ่งในข้อ 47 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(5) ข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมในราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดที่ได้จากรายงานการประเมินค่าเกินกว่าร้อยละสิบ (ถ้ามี)

(6) ข้อเท็จจริงและเหตุผลที่จำหน่ายอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวมในราคาต่ำกว่าราคาสูงสุดที่ได้จากรายงานการประเมินค่าเกินกว่าร้อยละสิบ (ถ้ามี)”

ข้อ 11 ให้ยกเลิกความใน (ข) ของ (2) ในข้อ 57 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ข) ราคาที่จะซื้อหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ ราคาที่ได้จากรายงานการประเมินค่าโดยบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินทั้งสองราย และเหตุผลที่จะซื้อหรือเช่าหากราคาที่จะซื้อหรือเช่าสูงกว่าราคาต่ำสุดที่ได้จากรายงานการประเมินค่าเกินกว่าร้อยละสิบ”

ข้อ 12 ให้ยกเลิกความในข้อ 58 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 58 เมื่อได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อ 55 แล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ขอความเห็นชอบจากสำนักงาน โดยต้องระบุข้อมูลตามข้อ 56 และข้อ 57 รวมทั้งจัดส่งร่างโครงการที่จะแก้ไขเพิ่มเติม และร่างหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมให้สำนักงานพิจารณา

(2) เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม โดยต้องจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีหนังสือชี้ชวนที่มีสาระสำคัญไม่ต่างจากฉบับร่างที่ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานให้แก่ผู้ลงทุน

(ข) จดทะเบียนเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมตามประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนเพิ่มเงินทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้เสนอขายหน่วยลงทุนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้การให้ความเห็นชอบให้เพิ่มเงินทุนจดทะเบียนนั้นสิ้นสุดลง”

ข้อ 13 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นส่วนที่ 7/1 การเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมที่มีการประกันรายได้ ข้อ 71/2 ข้อ 71/3 ข้อ 71/4 และข้อ 71/5 ของหมวด 5 การจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ส่วนที่ 7/1

การเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมที่มีการประกันรายได้

_____________________

ข้อ 71/2 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมที่มีการประกันรายได้

ข้อ 71/3 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่จะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการประกันรายได้และผู้รับประกันรายได้ของกองทุนรวม ให้กระทำได้เฉพาะในกรณีที่เป็นการประกันรายได้ โดยผู้รับประกันรายได้ที่เป็นนิติบุคคล และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับการประกันรายได้และผู้รับประกันรายได้อย่างชัดเจนในโครงการและหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ หนังสือชี้ชวนต้องแสดงความเห็นของบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ได้จากการวิเคราะห์ความสามารถของผู้รับประกันรายได้ในการปฏิบัติตามสัญญารับประกันรายได้ด้วย

(2) ในกรณีที่ผู้รับประกันรายได้มิได้จัดให้มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์หรือหลักประกันอื่นที่เทียบเท่า ซึ่งครอบคลุมตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้รับประกันรายได้รับประกันไว้บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีงบการเงินหรืองบการเงินรวมของผู้รับประกันรายได้ที่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งและบนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม

(ก) งบการเงินหรืองบการเงินรวมของสามรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลังก่อนวันยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม หรือก่อนวันยื่นคำขอรับความเห็นชอบการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนจากสำนักงาน หรืองบการเงินหรืองบการเงินรวมเท่าที่มีการจัดทำไว้ในกรณีที่ผู้รับประกันรายได้เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นไม่ถึงสามปี

(ข) งบการเงินหรืองบการเงินรวมตาม (ก) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีล่าสุดต้องผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เว้นแต่ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีประจำปีล่าสุดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2553 ให้ใช้งบการเงินหรืองบการเงินรวมที่ผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพบัญชีได้

ข้อ 71/4 ในกรณีที่ผู้รับประกันรายได้มิได้จัดให้มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารพาณิชย์หรือหลักประกันอื่นที่เทียบเท่า ซึ่งครอบคลุมตามจำนวนและระยะเวลาที่ผู้รับประกันรายได้รับประกันไว้บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ตลอดระยะเวลาที่มีการประกันรายได้

(1) จัดให้มีข้อกำหนดหรือข้อสัญญาที่มีผลให้ผู้รับประกันรายได้จัดทำงบการเงินหรืองบการเงินรวมในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี ที่ผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(ก) กรณีการจัดทำงบการเงินหรืองบการเงินรวมของผู้รับประกันรายได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2553

(ข) กรณีที่มีการแต่งตั้งผู้รับประกันรายได้ที่มิใช่บริษัทจดทะเบียนไว้แล้วก่อนวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

(2) จัดให้มีงบการเงินหรืองบการเงินรวมในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของผู้รับประกันรายได้ ณ ที่ทำการทุกแห่งและบนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม และจัดส่งงบการเงินดังกล่าวต่อสำนักงาน ทั้งนี้ ภายในวันเดียวกับวันที่ผู้รับประกันรายได้จัดส่งงบการเงิน หรืองบการเงินรวมดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือกระทรวงพาณิชย์

(3) ในกรณีที่ผู้รับประกันรายได้เป็นบริษัทจดทะเบียน ให้แสดงข้อมูลดังต่อไปนี้ ไว้ในรายงานของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้นตามข้อ 74

(ก) สรุปฐานะทางการเงิน (financial highlight) จากงบการเงินหรืองบการเงินรวมของผู้รับประกันรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีเดียวกันกับการจัดทำรายงานของกองทุนรวม และจากงบการเงินหรืองบการเงินรวมสองรอบระยะเวลาบัญชีย้อนหลังก่อนการจัดทำรายงานของกองทุนรวม

(ข) รายละเอียดของการปฏิบัติตามสัญญาประกันของผู้รับประกันรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี เช่น การบังคับหลักประกัน หรือจำนวนเงินที่ผู้รับประกันรายได้จ่ายให้แก่กองทุนรวมตามสัญญาประกัน เป็นต้น

(ค) ความเห็นของบริษัทจัดการกองทุนรวมจากการวิเคราะห์และประเมินฐานะทางการเงินของผู้รับประกันรายได้ เกี่ยวกับความสามารถของผู้รับประกันรายได้ในการปฏิบัติตามสัญญาในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีถัดไป (ถ้ามี) ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ประสงค์จะแสดงความเห็นดังกล่าวให้ระบุว่า “ไม่แสดงความเห็น” และ

(ง) การเปรียบเทียบรายได้ที่เกิดขึ้นจริงจากการหาผลประโยชน์ของกองทุนรวมและรายได้ตามสัญญาประกันรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี

(4) ในกรณีที่ผู้รับประกันรายได้มิใช่บริษัทจดทะเบียน ให้เปิดเผยข้อมูลตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ข้อมูลตาม (3) (ข) และ (ง) ให้แสดงไว้ในรายงานของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้นตามข้อ 74 และ

(ข) ข้อมูลตาม (3) (ก) และ (ค) ให้จัดให้มีไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่ง และบนเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม ตลอดจนแจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์และสำนักงาน ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้รับประกันรายได้จัดส่งงบการเงินหรืองบการเงินรวมต่อกระทรวงพาณิชย์

ข้อ 71/5 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมอำนวยความสะดวกตามสมควรแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในการตรวจดูหรือขอสำเนาข้อมูลตามข้อ 71/3(2) ข้อ 71/4(2) และ (4) (ข) ได้ในระหว่างเวลาทำการของบริษัทจัดการกองทุนรวม”

ข้อ 14 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (5/1) ของข้อ 75 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“(5/1) ข้อมูลเกี่ยวกับการประกันรายได้และผู้รับประกันรายได้ของกองทุนรวมตามข้อ 71/4”

ข้อ 15 ให้ยกเลิกความในข้อ 79 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 79 ในกรณีที่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมก่อนในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดอยู่แล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จ่ายเงินปันผลและนับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ตามที่กำหนดในรายละเอียดโครงการและข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

(2) ไม่ต้องดำเนินการตามความที่กำหนดในส่วนที่ 2 ของหมวด 5 ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวได้มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาความเป็นกลุ่มเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในข้อ 14/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ข้อ 16 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 79/1 และข้อ 79/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 25/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 79/1 ในกรณีที่กองทุนรวมมีผู้ถือหน่วยลงทุนตามข้อ 14(1) (ก) ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดอยู่แล้วก่อนวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ตามที่กำหนดในรายละเอียดโครงการและข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

(2) ไม่ต้องดำเนินการตามข้อ 35(2) ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพิ่มเติมตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข้อ 79/2 ในกรณีที่กองทุนรวมได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมก่อนวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อดำเนินการยกเงินปันผลส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนให้เป็นรายได้แผ่นดิน

(2) แก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดโครงการและข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม เพื่อให้มีข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) การจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนในการรับเงินปันผลและการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งต้องเป็นไปตามข้อ 14 ทั้งนี้ ในกรณีของผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตามข้อ 14(1) (ข) ต้องมีข้อกำหนดที่จำกัด การใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นให้ถือหน่วยลงทุนได้เกินกว่าอัตราที่กำหนดในข้อ 14(1) (ข)

(ข) การยกเงินปันผลส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนให้เป็นรายได้แผ่นดินในกรณีที่ได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนให้ดำเนินการตาม (1)

(3) ในกรณีที่กองทุนรวมมีเงินปันผลส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำบัญชีและแยกเงินดังกล่าวออกจากทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวม โดยไม่นำมารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมจนกว่าจะได้ยกเงินดังกล่าวให้แก่แผ่นดินหรือจนกว่าจะเลิกกองทุนรวมนั้นในกรณีที่ไม่ได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนให้ดำเนินการตาม (1)

มติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า มติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม

ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน และแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและข้อผูกพันตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 หรือในกรณีที่กองทุนรวมมีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันถือหน่วยลงทุนเกินอัตราที่ประกาศกำหนดและบริษัทจัดการกองทุนรวมจะมีการจ่ายเงินปันผลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและข้อผูกพันให้แล้วเสร็จก่อนการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการตามวรรคหนึ่ง (2) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขอความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมโครงการต่อสำนักงาน โดยให้ยื่นคำขอความเห็นชอบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมโครงการมีผล”

ข้อ 17 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ (1) เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินการกับเงินปันผลในส่วนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนถือหน่วยลงทุนเกิน

อัตราที่ประกาศกำหนด (2) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกอง

ทุนรวม ในราคาที่ไม่เป็นไปตามราคาประเมิน และ (3) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการประกันรายได้และผู้

รับประกันรายได้ของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ