การประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2550

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday July 25, 2007 14:51 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ว่าด้วยการประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
พ.ศ. 2550
______________________________
โดยที่มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 กำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประกอบธุรกิจอื่น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงาน ก.ล.ต. จึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้ความเห็นชอบการประกอบธุรกิจอื่นของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“ผู้ประกอบธุรกิจสัญญา” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เว้นแต่กรณีที่กำหนดในข้อ 6 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 11
“ตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ” หมายความว่า ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรหรือตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้รับรองตลอดไป ผู้รับอาวัลทั้งจำนวน หรือผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข
“ธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” หมายความว่า ธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
“การซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” หมายความว่า การซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
“ข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า” หมายความว่า ข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
“สินค้าเกษตร” หมายความว่า สินค้าเกษตรตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น ประกอบธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่ได้รับอนุญาตได้โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว และมิให้นำความในหมวด 1 หมวด 2 และ
หมวด 3 มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินดังกล่าว
หมวด 1
การประกอบธุรกิจอื่นที่ได้รับความเห็นชอบ
เป็นการทั่วไป
_____________________
ข้อ 4 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประกอบธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่ได้รับอนุญาตซึ่งมีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้ได้
(1) เป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ฐานะของบริษัท หรือระบบการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือเป็นธุรกิจที่อาจมีความเสี่ยงดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาสามารถจัดให้มีระบบในการควบคุมความเสี่ยงได้อย่างเพียงพอ
(2) เป็นธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาหรือกับลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสัญญา หรือเป็นธุรกิจที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ดังกล่าว แต่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาสามารถจัดให้มีระบบในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ
(3) เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและช่วยสนับสนุนการให้บริการในธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามประเภทที่ได้รับใบอนุญาตให้มีความสมบูรณ์และครบวงจรยิ่งขึ้น หรือเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล สถานที่ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ที่มีอยู่ของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
ในกรณีที่การประกอบธุรกิจอื่นตามวรรคหนึ่งเป็นการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน หรือเป็นการลงทุนในกิจการอื่นเกินกว่าร้อยละห้าสิบขึ้นไปของทุนทั้งหมดของกิจการนั้น ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดในข้อ 5 ข้อ 6 หรือข้อ 7 แล้วแต่กรณีด้วย
ข้อ 5 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประกอบธุรกิจซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน (repurchase agreement หรือ repo) กับคู่สัญญาที่เป็นสถาบันการเงินหรือผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งมิได้เป็นผู้ลงทุนต่างประเทศ (non resident) ได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เป็นการทำ repo กับคู่สัญญา ดังนี้
(ก) ธนาคารพาณิชย์
(ข) บริษัทเงินทุน
(ค) บริษัทหลักทรัพย์เพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ง) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(จ) บริษัทประกันภัย
(ฉ) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ช) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(ซ) กองทุนบำเหน็จบำนาญ
(ฌ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(ญ) กองทุนรวม
(ฎ) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(ฏ) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(2) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญานำหุ้นที่ได้มาจากการซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายคืน (equity repo) ไปขายต่อ เว้นแต่เป็นการขายต่อตามสัญญา repo อื่น
ข้อ 6 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประกอบธุรกิจซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน (repurchase agreement หรือ repo) กับผู้ลงทุนทั่วไปในประเทศได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) เป็นการทำ repo เฉพาะกับหลักทรัพย์ประเภทตราสารแห่งหนี้ภาครัฐ
(2) สัญญา repo ต้องทำเป็นหนังสือและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. หรือใช้สัญญามาตรฐานที่สำนักงาน ก.ล.ต. ยอมรับ
(3) สัญญา repo ต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี
(4) คู่สัญญาต้องจัดให้มีบุคคลที่สามเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย ติดตามการเปลี่ยนแปลงมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์รวมทั้งเรียกหรือคืนเงินสดหรือหลักทรัพย์จากคู่สัญญาเพื่อรักษาอัตราส่วนระหว่างมูลค่าตามราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่ซื้อขายกับราคาที่กำหนดให้ซื้อหลักทรัพย์คืนให้เป็นไปตามที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ตลอดจนดูแลการส่งมอบผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์นั้นให้แก่คู่สัญญา บุคคลที่สามตามวรรคหนึ่งต้องเป็นนิติบุคคลดังต่อไปนี้
(ก) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(ข) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(ค) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ง) ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 7 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประกอบธุรกิจอื่นที่มิใช่ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในประเภทที่ได้รับอนุญาต โดยการลงทุนในกิจการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละห้าสิบขึ้นไปของทุนทั้งหมดของกิจการนั้นได้ โดยถือว่าได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ต่อเมื่อกิจการดังกล่าวมีลักษณะตามที่กำหนดในข้อ 4 วรรคหนึ่ง และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาได้จัดส่งรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกิจหลักและขอบเขตการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งหนังสือแสดงความยินยอมของกิจการนั้นให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบการประกอบธุรกิจต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ก่อนที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาจะลงทุนในกิจการดังกล่าวเกินกว่าสัดส่วนข้างต้น หรือก่อนที่กิจการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการ
ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาเป็นผู้จัดตั้งกิจการดังกล่าวขึ้นใหม่ ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นสมควร ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องจัดให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบการประกอบธุรกิจของกิจการตามวรรคหนึ่งได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาไม่สามารถจัดให้สำนักงาน ก.ล.ต. เข้าตรวจสอบได้ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องดำเนินการลดสัดส่วนการลงทุนในกิจการดังกล่าวให้เหลือไม่เกินร้อยละห้าสิบของทุนทั้งหมดของกิจการนั้นภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาไม่สามารถลดสัดส่วนการลงทุนได้ ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นอันสิ้นสุดลง
ในการคำนวณสัดส่วนการลงทุนในกิจการอื่นตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญานับรวมหุ้นของบุคคลที่โดยพฤติการณ์แล้วผู้ประกอบธุรกิจสัญญามีอำนาจควบคุมบุคคลนั้น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในเรื่องการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในกิจการ หรือการได้มา การจำหน่าย หรือการก่อภาระผูกพัน ในหุ้นที่บุคคลนั้นมีอยู่ในกิจการด้วย
หมวด 2
การประกอบธุรกิจอื่นที่ต้องยื่นขอรับ
ความเห็นชอบ
___________________
ข้อ 8 ภายใต้บังคับข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาจะประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยตนเองได้ ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวดนี้
ข้อ 9 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะได้รับความเห็นชอบให้ประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า ที่ปรึกษาการซื้อขายล่วงหน้า หรือตัวแทนสนับสนุนการซื้อขายล่วงหน้าได้ ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นการประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่มีลักษณะครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 วรรคหนึ่ง และ
(2) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญาอยู่ระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน รวมทั้งไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ
ข้อ 10 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประเภทตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะได้รับความเห็นชอบให้ประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้ค้าล่วงหน้าได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 9 และผู้ประกอบธุรกิจสัญญามีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) มีบุคลากรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการตัดสินใจในการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า และการบริหารความเสี่ยงจากการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในจำนวนที่เพียงพอ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานที่รับผิดชอบ
(2) มีนโยบายและมาตรการในการควบคุมและบริหารความเสี่ยงจากการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า การจัดการด้านการปฏิบัติการ และระบบการตรวจสอบและการควบคุมภายในของบริษัทที่มีประสิทธิภาพ และมีระเบียบวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การมีระบบรองรับการคำนวณความเพียงพอของเงินกองทุนตามมาตรฐานที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดหรือมาตรฐานอื่นที่สูง
กว่าตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ
(ข) การจำกัดจำนวนข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (position limit) ที่บริษัทจะถือครองได้ ณ ขณะใดขณะหนึ่งเมื่อ
พิจารณาจาก
1. จำนวนข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่ถือครองโดยรวม
2. จำนวนข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าส่วนที่บริษัทไม่มีการป้องกันความเสี่ยง
3. จำนวนข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าต่อสินค้าเกษตรประเภทใดประเภทหนึ่ง
4. จำนวนข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าต่อคู่สัญญารายใดรายหนึ่ง
5. จำนวนข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าที่มีผลขาดทุน
(ค) การมีหน่วยงานตรวจสอบภายใน (internal audit) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินกิจการของบริษัทได้อย่างมี
ประสิทธิภาพ
(ง) การมีหน่วยงานดูแลการปฏิบัติงาน (compliance unit) ที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือได้ และมีความเป็นอิสระ
ในการปฏิบัติงานเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของบริษัท
(จ) การมีระบบการบันทึกข้อมูลและการรายงานข้อมูลต่อผู้บริหารตามลำดับชั้นที่มีมาตรฐานและเชื่อถือได้
ข้อ 11 ให้นำหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 9 มาใช้บังคับกับการให้ความเห็นชอบให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประเภทผู้จัดการ
เงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าประเภทการเป็นที่ปรึกษาการซื้อขายล่วงหน้า ผู้
บริหารธุรกิจร่วมทุนซื้อขายล่วงหน้า หรือผู้จัดการการซื้อขายล่วงหน้าด้วย
ข้อ 12 ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าตามข้อ 9 ข้อ 10 หรือข้อ 11 ยื่นคำขอรับความเห็นชอบต่อสำนักงาน ก.ล.ต. ตามแบบพร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำขอตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยแบบคำขอรับความเห็นชอบการประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
สำนักงาน ก.ล.ต. จะพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานถูกต้องครบถ้วน
เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามวรรคสองแล้ว หากสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้แจ้งผลการพิจารณาหรือไม่มีคำสั่งเป็นประการอื่นใดไปยังผู้ประกอบธุรกิจสัญญา ให้ถือว่าสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ให้ความเห็นชอบให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าตามที่ขอได้
ข้อ 13 ในการประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าตามหมวดนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าและประกาศซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ในกรณีที่หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินค้าเกษตรล่วงหน้าในเรื่องการดำรงฐานะทางการเงิน วิธีการประกอบธุรกิจ (conduct) การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า หรือการเรียกและการวางหลักประกันสำหรับการถือครองข้อตกลงซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า มีความเข้มงวดน้อยกว่าหลักเกณฑ์ในเรื่องเดียวกันที่ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกำหนดโดยพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 รวมทั้งประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องซึ่งออกหรือวางแนวปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับกับการประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในเรื่องนั้นในการประกอบธุรกิจการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าโดยอนุโลม
หมวด 3
อื่นๆ
_________________
ข้อ 14 ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาต้องควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทให้เป็นไปตามลักษณะ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศนี้สำหรับการประกอบธุรกิจอื่นในแต่ละกรณีไว้ตลอดเวลา ในกรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. พบว่าผู้ประกอบธุรกิจสัญญาใดไม่สามารถควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทตามข้อกำหนดดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาหรือเงื่อนไขที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสัญญาไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้ถือว่าการให้ความเห็นชอบของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นอันสิ้นสุดลง
ประกาศ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ