การแจ้งแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนต่างประเทศและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday March 16, 2007 14:24 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                            16  มีนาคม  2550
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ กลต.น.(ว) 14 /2550
เรื่อง การแจ้งแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนต่างประเทศและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศ
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
ตามที่สำนักงานได้มีหนังสือที่ กลต.น.(ว) 6/2550 ลงวันที่ 30 มกราคม 2550 แจ้งแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศครั้งที่ 1/2550 และธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) ได้มีหนังสือที่ ธปท.ฝกช.(21) 346/2550 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 แจ้งระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ตามประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับ
การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ลงวันที่ 12 มกราคม 2550 (“ประกาศเจ้าพนักงาน”) เพื่อผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ ซึ่งมีผลให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ซึ่งได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม (ไม่รวมกองทุนส่วนบุคคล) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (“ผู้ลงทุนสถาบัน”) สามารถลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศเพิ่มเติมได้ นั้น
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันและมีความชัดเจนในวิธีปฏิบัติ สำนักงานขอเรียนดังนี้
1. การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประกาศเจ้าพนักงานผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศในขอบเขต ดังนี้
1.1 ยอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศและการนับวงเงิน ให้พิจารณาแยกตามประเภทของผู้ลงทุนสถาบัน
อย่างชัดเจน เช่น กรณีที่บริษัทจัดการบริหารจัดการกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศหลายกองทุน และมี
การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนด้วย ให้บริษัทจัดการนับยอดคงค้างการลงทุนแยกแต่ละ
กองทุน และการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทอย่างชัดเจน
1.2 การลงทุนในหลักทรัพย์ไทยในต่างประเทศสามารถลงทุนได้โดยไม่จำกัดจำนวนวงเงิน (ไม่นับรวมวงเงิน)
1.3 การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศสามารถลงทุนได้โดยต้องมียอดคงค้างการลงทุนทั้งสิ้นไม่เกิน 50 ล้านเหรียญ
สหรัฐ ทั้งนี้ กรณีที่บริษัทจัดการบริหารจัดการหลายกองทุน สามารถลงทุนในต่างประเทศกองทุนละไม่เกิน 50 ล้าน
เหรียญสหรัฐ
อนึ่ง หากบริษัทจัดการเดิมเคยได้รับจัดสรรวงเงินเพื่อลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศสำหรับกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากสำนักงานแล้ว ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ดังนี้
(1) บริษัทจัดการที่ได้รับจัดสรรวงเงินและมียอดคงค้างการลงทุนของแต่ละกองทุนภายใต้การจัดการไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ลงทุนเพิ่มเติมได้แต่มียอดคงค้างการลงทุนของแต่ละกองทุนไม่เกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
(2) บริษัทจัดการที่ได้รับจัดสรรวงเงินและมียอดคงค้างการลงทุนของแต่ละกองทุนภายใต้การจัดการเกิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว ถือว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินให้สามารถลงทุนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้วงเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงาน
(3) บริษัทจัดการที่ประสงค์จะลงทุนในวงเงินเพิ่มเติมจาก (1) และ (2) จะต้องยื่น
ขอวงเงินลงทุนเพิ่มเติมจากสำนักงานตามแนวทางการจัดสรรวงเงินของสำนักงานในข้อ 2 และขออนุญาต
เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในครั้งแรกที่ลงทุนเกินวงเงินจาก (1) และ (2) ด้วย
1.4 ให้ผู้ลงทุนสถาบันจัดทำรายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศตามแบบรายงานยอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์
ในต่างประเทศ และแบบรายงานการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่าง
ประเทศ และจัดส่งให้เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินผ่านทาง E- mail Address:
FOG_RR@bot.or.th ภายใน 10 วันของเดือนถัดไป ตามตัวอย่างแบบรายงานที่แนบมาด้วยนี้ โดยให้
download แบบรายงานได้ที่ website ของ ธปท. ที่ www.bot.or.th ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนสถาบันเป็นกองทุนรวม
และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการรายงานแยกแต่ละกองทุนด้วย
อนึ่ง ให้บริษัทจัดการเริ่มรายงานตามรูปแบบข้างต้นตั้งแต่ข้อมูลของเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งจะต้องรายงานภายในวันที่ 10 เมษายน 2550 เป็นต้นไป
1.5 ให้ผู้ลงทุนสถาบันปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นใดตามที่ประกาศเจ้าพนักงานกำหนด
2. แนวทางอื่นที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
2.1 แนวทางการจัดสรรวงเงินของสำนักงาน
ตามที่สำนักงานได้มีหนังสือที่ กลต.น.(ว) 6/2550 ลงวันที่ 30 มกราคม 2550 แจ้งการทบทวนวงเงินสำหรับ MF และ
PVD ครั้งที่ 2/2549 และแจ้งแนวทางการจัดสรรวงเงินลงทุนในต่างประเทศ ครั้งที่ 1/2550 นั้น
(1) ให้ยกเลิกหนังสือสำนักงานที่ กลต.น.(ว) 6/2550
(2) เนื่องจากผู้ลงทุนสถาบันสามารถลงทุนในต่างประเทศได้ตามประกาศเจ้าพนักงานที่กำหนดข้างต้น สำนักงาน
ขอเรียกคืนวงเงินคงเหลือที่บริษัทจัดการได้รับจัดสรรสำหรับ MF และ PVD และยังมิได้ลงทุนในหลักทรัพย์ใน
ต่างประเทศทั้งหมด เพื่อนำมารวมกับวงเงินคงเหลือที่สำนักงาน ทั้งนี้ พิจารณายอดวงเงินคงเหลือที่บริษัท
จัดการจากการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศเดือนมกราคม 2550 โดยวงเงินที่บริษัทจัดการได้
รับจัดสรรจากสำนักงานที่คงเหลืออยู่ที่บริษัทจัดการแต่ละรายมีรายละเอียดสรุปตามที่แนบมาด้วยนี้
อย่างไรก็ดี หากบริษัทจัดการรายใดมีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศแล้วเกินกว่าวงเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนัก
งานตามที่สรุปข้างต้น ให้ถือว่าเป็นการใช้วงเงินตามแนวทางอนุญาตที่กำหนดตามประกาศเจ้าพนักงาน
(3) กำหนดแนวทางการจัดสรรวงเงินเพิ่มเติม ดังนี้
ผู้ลงทุนสถาบันสามารถขอวงเงินลงทุนเพิ่มเติมได้ครั้งละ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หากมียอดคงค้างการลงทุนหลักทรัพย์ต่าง
ประเทศเกินกว่าร้อยละ 75 ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร โดยพิจารณาแยกตามประเภทของผู้ลงทุนและกองทุนตามข้อ 1.1
เช่น กรณีของกองทุนในวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ สำนักงานจะพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมให้ต่อเมื่อบริษัทจัดการสามารถ
แสดงได้ว่ามียอดคงค้างการลงทุนของกองทุนนั้นตั้งแต่ร้อยละ 75 ของวงเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐ (37.5 ล้านเหรียญ
สหรัฐ) ทั้งนี้ สำนักงานจะพิจารณาจากความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานเป็นสำคัญ
2.2 หลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนสามารถลงทุนได้
(1) กรณีการลงทุนเพื่อกองทุน สำนักงานมีแนวคิดที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
เพื่อขยายช่องทางการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและสอดคล้องตามแนวทางการผ่อนคลายระเบียบการลงทุนในหลัก
ทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ ให้บริษัทจัดการลงทุน
ในหลักทรัพย์ในต่างประเทศถือปฏิบัติตามประกาศสำนักงานที่ สน. 28/2549 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้
เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2549
(2) กรณีการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ ซึ่งได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม และบริษัทจำกัด
หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามข้อ 2(6) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 15 (พ.ศ. 2543) ให้บริษัทจัดการที่อาจลง
ทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศเพื่อพอร์ตการลงทุนของตนถือปฏิบัติตามประกาศสำนักงานที่ สน.
29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์และหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวัน
ที่ 19 กรกฎาคม 2549 กล่าวคือ การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศเพื่อเป็นทรัพย์สินของบริษัทจัดการ
ต้องมีลักษณะเป็นเงินลงทุนระยะยาวเกิน 1 ปี เว้นแต่เป็นการลงทุนในเงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงิน
ฝากเพื่อบริหารสภาพคล่องของบริษัทจัดการ และตราสารที่มีอายุคงเหลือต่ำกว่า 1 ปี
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. ประกาศเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่าง
ประเทศ ลงวันที่ 12 มกราคม 2550
2. ตัวอย่างแบบรายงานยอดคงค้างการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ และรายงานการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศเกี่ยวกับ
การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ
3. รายงานสรุปสถานะวงเงินลงทุนในต่างประเทศที่บริษัทจัดการได้รับจัดสรรจากสำนักงาน
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2695-9537
โทรสาร 0-2695-9746
สำเนาเรียน เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ