(ต่อ1) หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 1, 2007 09:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    (4)  ลูกค้าทำธุรกรรมในมูลค่าที่มีนัยสำคัญภายหลังจากที่ไม่มีความเคลื่อนไหวของธุรกรรมต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง   
(5) ลูกค้าทำธุรกรรมในมูลค่าที่มีนัยสำคัญโดยไม่สอดคล้องกับข้อมูลฐานะการเงินของลูกค้าที่บริษัทมีอยู่ และลูกค้าไม่สามารถแสดงแหล่งที่มาของเงินได้อย่างชัดเจน
(6) ลูกค้าทำธุรกรรมที่ไม่มีความสมเหตุสมผลหรือไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ เช่น การขอทำธุรกรรมเร่งด่วนในมูลค่าที่มีนัยสำคัญเป็นประจำ การทำธุรกรรมที่เป็นผลให้ลูกค้าขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญเป็นประจำโดยลูกค้าไม่สนใจกับผลขาดทุนดังกล่าว การทำธุรกรรมหรือเงื่อนไขการทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อนกว่าปกติโดยไม่มีเหตุจำเป็น เป็นต้น
(7) ลูกค้าส่งคำสั่งซื้อและขายหลักทรัพย์เดียวกันในเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกันในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีเจตนาให้คำสั่งดังกล่าวมีการจับคู่ซื้อขายกัน (matched order) โดยลูกค้าไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน
(8) ลูกค้านำเงินสดในจำนวนที่มีนัยสำคัญมาฝากไว้กับบริษัทหลักทรัพย์โดยไม่มีคำสั่งหรือไม่ได้แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าจะให้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือไม่อย่างไร หรือแม้มีคำสั่งให้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนในหลักทรัพย์แต่ก็เป็นจำนวนเล็กน้อยเมื่อเทียบสัดส่วนกับจำนวนเงินที่ฝากอยู่ทั้งหมด
(9) ลูกค้ามีพฤติกรรมในการชำระเงินหรือรับชำระเงินในการทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบบัญชีของธนาคาร หรือมีการชำระเงินสดเป็นเช็คธนาคาร (cashier’s cheque) เป็นประจำ
(10) ลูกค้ามีการชำระเงินหรือรับชำระเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีบุคคลอื่น หรือโอนหรือรับโอนทรัพย์สินจากบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย ผ่านบริษัทหลักทรัพย์
เป็นประจำหรือในมูลค่าที่มีนัยสำคัญโดยไม่สามารถชี้แจงเหตุผลได้อย่างชัดเจน
(11) ลูกค้าปฏิเสธที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริง หรือไม่ให้ความร่วมมือในการจัดส่งเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงความมีตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดภายใต้กระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า หรือจัดส่งเอกสารหลักฐานซึ่งมีข้อพิรุธอย่างเห็นได้ประจักษ์ว่าไม่ใช่เอกสารหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกเอกสารหลักฐานนั้น
(12) ลูกค้าเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายฟอกเงินซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวจากกระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ทั้งนี้ ไม่ว่าการมีส่วนเกี่ยวข้องของบุคคลดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศหรือต่างประเทศ
(13) ลูกค้าขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานในการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการถูกรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย หรือลูกค้าขอให้บริษัทหลักทรัพย์ไม่รายงานการทำธุร
กรรมของลูกค้า
ข้อ 21 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้บุคลากรและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือการรายงานข้อมูลอื่นใดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน ให้ลูกค้าหรือผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ
หมวด 4
การเก็บรักษาเอกสารหลักฐาน
____________________
ข้อ 22 บริษัทหลักทรัพย์ต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานรวมทั้งบันทึกข้อมูลและความเห็นภายใต้กระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า ตลอดจนรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยของลูกค้าไว้ให้ครบถ้วนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชีหรือยุติความสัมพันธ์กับลูกค้า โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้โดยเร็วเมื่อได้รับการร้องขอ
ประกาศ ณ วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2550
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันความเสียหายจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจให้อยู่ในระดับที่จะไม่มีผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจและความน่าเชื่อถือของบริษัทหลักทรัพย์ ประกอบกับผู้กระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (“กฎหมายฟอกเงิน”) อาจใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางหนึ่งในการฟอกทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ซึ่งการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินเพื่อบังคับตามกฎหมายดังกล่าว เช่น การยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เป็นต้น เป็นความเสี่ยงประการหนึ่งของบริษัทหลักทรัพย์นอกจากนี้ การที่บริษัทหลักทรัพย์ถูกกำหนดให้มีหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน อาทิเช่น การจัดให้ลูกค้าแสดงตนก่อนการทำธุรกรรม การรายงานธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนดต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน เป็นต้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงอีกประการหนึ่งกับบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากผลของการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดความรับผิดตามกฎหมาย สำนักงานจึงเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของภาคธุรกิจหลักทรัพย์ จากการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ตลอดจนส่งเสริมให้บริษัทหลักทรัพย์มีระบบการบริหารความเสี่ยงที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ