28 ธันวาคม 2553
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการ
กองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคลทุกบริษัท
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
ผู้รับฝากทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ น.(ว) 34/2553 เรื่อง นำส่งสำเนาประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ
ด้วยสำนักงานได้ออกประกาศจำนวน 1 ฉบับ คือ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 58/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้าใจที่ตรงกันและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนดได้อย่างถูกต้อง สำนักงานจึงขอซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในประกาศและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน
(1) ประเด็นเกี่ยวกับ NAV
(ก) แก้ไขการเปิดเผย NAV ของกองทุนปิดที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ข้อ 18)
กำหนดเพิ่มเติมให้บริษัทจัดการต้องเปิดเผย NAV ของทุกสิ้นวันทำการต่อตลาดหลักทรัพย์ ภายในวันทำการถัดไป เพื่อทำให้ผู้ลงทุนได้รับข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน
(ข) ช่องทางการเปิดเผยข้อมูล NAV มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายและราคารับซื้อคืน (ข้อ 18 และข้อ 19)
กำหนดให้กองทุนรวมทุกประเภท สามารถดำเนินการดังนี้ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นเกี่ยวกับวิธีการประกาศ NAV และมูลค่าหน่วยลงทุน ให้เป็นดุลยพินิจของบริษัทจัดการ
1. ให้ประกาศข้อมูลดังกล่าวด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยทราบข้อมูลดังกล่าวในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การประกาศทางหนังสือพิมพ์ หรือการประกาศทางเว็บไซต์ เป็นต้น และภายในเวลาที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนได้
2. ปิดประกาศไว้ที่บริษัทจัดการและผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน ยกเว้นกองทุนปิด และ non-retail fund
(ค) ระยะเวลาของการประกาศ NAV มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายและราคารับซื้อคืนของกองทุนรวม (“NAV”) (ข้อ 18, 19)
กำหนดเพิ่มเติมให้กองทุนรวมประกาศ NAV ของวันทำการก่อนวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน (T-1) เพิ่มเติม โดยให้ประกาศภายในวันทำการที่เปิดซื้อขายหน่วยลงทุน เพื่อให้ผู้ถือหน่วยได้ทราบข้อมูล NAV ก่อนการตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม
(2) ประเด็นค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม
(ก) กำหนดให้บริษัทจัดการต้องระบุอัตราขั้นสูงของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ข้อ 86) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดระหว่างกองทุนได้ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน
(ข) ลดเพดานการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่ถือเป็นการแก้ไขโครงการ (ข้อ 91)
เพื่อลดผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุน จึงลดเพดานเป็นไม่เกินร้อยละ 5 ที่บริษัทจัดการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยไม่ถือเป็นการแก้ไขโครงการ
(3) การเปิดเผยผลการดำเนินงาน และข้อมูลการลงทุนเป็นรายเดือน
กำหนดให้บริษัทจัดการต้องเปิดเผยข้อมูลต่อไปนี้เป็นรายเดือนทางเว็บไซต์ของบริษัทจัดการ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างเพียงพอและทันต่อเหตุการณ์
1. ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้น ณ วันทำการสุดท้ายของเดือนตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนด
2. ข้อมูลการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกของกองทุนรวม ตามแต่กรณีดังต่อไปนี้
ประเภทกองทุนรวม ข้อมูลการลงทุน (1) กรณีกองทุนรวมตราสารแห่งทุน - ชื่อหลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุน
สูงสุด 5 อันดับแรก
- น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว
(2) กรณีกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ - ชื่อตราสารแห่งหนี้ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก
- อันดับความน่าเชื่อถือและน้ำหนักการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ดังกล่าว
(3) กรณีกองทุนรวมผสม - ชื่อหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก
- น้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าว ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็น ตราสารแห่งหนี้
ให้เปิดเผยอันดับความน่าเชื่อถือด้วย (4) กรณีกองทุนรวมที่มีฐานะการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ - ข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ เท่าที่กองทุนรวม ต่างประเทศ
กองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่ง นั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไป หรือเท่าที่บริษัทจัดการสามารถเข้าถึงได้ เกินกว่าร้อยละ 20 ของNAV
ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลข้างต้นภายใน 15 วันนับแต่วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน เว้นแต่กรณีกองทุนรวมที่มีฐานะการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศตาม 2(4) ให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลการลงทุนภายใน 15 วันนับแต่วันที่กองทุนรวมต่างประเทศเปิดเผยข้อมูลเป็นวันแรก และสำหรับกรณีกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์การลงทุนเพียงครั้งเดียว (buy-and-hold fund) โดยถือทรัพย์สินที่ลงทุนจนครบอายุของทรัพย์สิน ครบรอบการลงทุน หรือครบอายุกองทุนรวม โดยบริษัทจัดการได้แสดงข้อมูลการลงทุนตาม 2. ไว้แล้วในหนังสือชี้ชวน ตลอดจนได้เปิดเผยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบแหล่งข้อมูลที่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลการลงทุนได้เองแล้ว บริษัทจัดการจะไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเป็นรายเดือนก็ได้
(4) การเปิดเผยข้อมูลการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศทุกรอบ 6 เดือน และ 1 ปี
ในกรณีที่กองทุนรวมมีฐานะการลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 20 ของ NAV กำหนดให้บริษัทจัดการต้องจัดทำและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนรวมต่างประเทศ ตลอดจนความผันผวนของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมต่างประเทศ เท่าที่กองทุนรวมต่างประเทศนั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไปหรือเท่าที่บริษัทจัดการสามารถเข้าถึงได้ โดยให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวทุกรอบระยะเวลา 6 เดือนของรอบระยะเวลาบัญชีหรือของปีปฏิทิน และทุกรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวมต่างประเทศดังกล่าวด้วย
2. การแก้ไขประกาศเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ
(1) ประเด็นเกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าขายคืน
(ก) เหตุที่สามารถเลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าขายคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน (ข้อ 30)
เพิ่มเติมกรณีที่มีเหตุการณ์ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทจัดการ เพื่อให้การจัดการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นรองรับกรณีการลงทุนในต่างประเทศ เช่น กองทุนรวมต่างประเทศมีการเลื่อนหรือขยายเวลาการชำระเงินที่ทำให้กองทุนรวมไม่สามารถชำระเงินให้ผู้ถือหน่วยได้ตามระยะเวลาที่กำหนด
(ข) ระยะเวลาในการเลื่อนกำหนดชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุน (ข้อ 31)
เพิ่มเติมอำนาจในการผ่อนผันของสำนักงาน จากเดิมที่สามารถผ่อนผันระยะเวลาในการเลื่อนเพิ่มเติมได้เฉพาะกรณี incorrect pricing เนื่องจากอาจมีกรณีอื่น ๆ ที่ไม่สามารถกำหนดระยะเวลาแน่นอนได้และอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทจัดการ เช่น กองทุนต่างประเทศที่กองทุนลงทุนไว้มีการเลื่อนกำหนดระยะเวลาชำระเงินออกไป
(2) การไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายหน่วยลงทุน
(ก) กำหนดเหตุสำหรับการไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืน หรือหยุดรับคำสั่ง สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศให้กว้างขึ้นสำหรับกรณีกองทุนรวมที่ไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทจัดการ และผู้ดูแลผลประโยชน์เห็นชอบแล้ว จากเดิมที่จำกัดเฉพาะกรณีกองทุนต่างประเทศหยุดรับหรือปฏิเสธคำสั่งเท่านั้น (ข้อ 34(3))
(ข) กำหนดเหตุเพิ่มเติมให้บริษัทจัดการสามารถปฏิเสธคำสั่งซื้อหรือหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนในกรณีที่บริษัทจัดการมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลที่มีคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือการกระทำที่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินโดยผู้มีอำนาจตามกฎหมาย (ข้อ 34(4))
(3) การเลิกกองทุนรวมเพราะเหตุครบอายุโครงการหรือเพราะเหตุอื่นที่ทราบกำหนดการเลิกกองทุนล่วงหน้า (ข้อ 95)
ยกเลิกการกำหนดให้บริษัทจัดการแจ้งวันครบอายุโครงการต่อผู้ถือหน่วยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน โดยให้บริษัทจัดการดำเนินการโดยวิธีใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบก่อนวันเลิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ เช่น มีหนังสือหรือ หนังสือทางอิเล็กทรอนิกส์แจ้งผู้ถือหน่วย
(4) ประเด็นการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (ข้อ 29)
เพิ่มเติมข้อความในใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่แสดงได้ว่า ในกรณีที่ผู้ลงทุนได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุน ผู้ลงทุนรับทราบและยินยอมเข้าผูกพันตามรายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานและที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนข้อผูกพันระหว่างบริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนที่จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและลงนาม โดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
3. การแก้ไขประกาศเกี่ยวกับการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันที่ T ของกอง MMF ที่ลงทุนเฉพาะในประเทศ (ข้อ 29/1 และข้อ 29/2)
หลักเกณฑ์เดิมกำหนดให้กองทุนรวมตลาดเงิน (“กอง MMF”) ที่ลงทุนเฉพาะในประเทศเป็นกองทุนประเภทเดียวที่สามารถชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน (“วันที่ T”) ได้ โดยจำนวนเงินที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไถ่ถอนได้ต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ในวันทำการก่อนหน้า หรือ 20,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความรัดกุมของถ้อยคำทางกฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศดังกล่าว และเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการให้บริการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนของกอง MMF ในประเทศ สำนักงานจึงแก้ไขประกาศในประเด็นดังนี้
(1) กองทุนรวมที่ได้รับอนุญาตให้ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันที่ T คือ กอง MMF ในประเทศเท่านั้น โดยกำหนดห้ามกองทุนรวมประเภทอื่นหาช่องทางหรือร่วมมือกับบุคคลอื่นในการกระทำการที่ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลประโยชน์เสมือนหนึ่งว่าได้รับชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันที่ T ซึ่งถือเป็นการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของประกาศดังกล่าว
(2) เนื่องจากในทางปฏิบัติผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนนอกวันและเวลาทำการผ่านเครื่องมือสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการให้บริการและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของภาคเอกชน สำนักงานจึงกำหนดหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนนอกวันและเวลาทำการ ผู้ถือหน่วยลงทุนยังคงสามารถได้รับเงินในวันที่ส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน แต่ให้ใช้ราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของวันทำการถัดไปเป็นราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(ข) สำหรับการคำนวณวงเงินรวมสูงสุดที่จะขายคืนได้ ให้นำคำสั่งขายคืนนอกวันและเวลาทำการไปรวมคำนวณกับคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนในวันทำการถัดไป ซึ่งต้องไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้ คำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดที่ยังไม่ได้หักออกจากมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนล่าสุดต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ล่าสุดด้วย เช่น หากมูลค่าหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ล่าสุดในวันศุกร์เท่ากับ 40,000 บาท และผู้ถือหน่วยลงทุนได้ส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนในระหว่างเวลาทำการของวันศุกร์จำนวน 20,000 บาท และโดยที่จำนวนหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนจะยังไม่ถูกหักออกจากจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนจนกว่าจะถึงวันทำการถัดไป (วันจันทร์) ดังนั้น ระหว่างหลังเวลาทำการของวันศุกร์ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และก่อนเวลาทำการของวันจันทร์ ผู้ถือหน่วยลงทุนจะขายคืนหน่วยลงทุนได้ไม่เกิน 12,000 บาท [(80% x 40,000) — 20,000] เป็นต้น
5. วันที่มีผลใช้บังคับ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายประกิด บุณยัษฐิติ)
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
เลขาธิการแทน
ภาพถ่ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข/น. 58/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553