หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 7)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 27, 2010 16:47 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สข/น. 58/2553

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน

(ฉบับที่ 7)

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 14 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 91/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 และข้อ 17 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และข้อ 19(1) (2) และ (6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 และข้อ 19 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18 ในการจัดการกองทุนรวมปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการ

(2) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังต่อไปนี้

(ก) วันทำการสุดท้ายของเดือน โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมปิดที่มีหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุนของวันทำการล่าสุด โดยให้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ภายในวันทำการถัดไป

(ข) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป

(ค) วันทำการก่อนวันขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน โดยให้ประกาศภายในวันขายหน่วยลงทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนที่ประกาศตามวรรคหนึ่ง (2) ต้องใช้ตัวเลขทศนิยมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 20 และต้องได้รับการรับรองโดยผู้ดูแลผลประโยชน์แล้วเว้นแต่ได้กำหนดไว้โดยเฉพาะเป็นประการอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบข้อมูลดังกล่าวในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การประกาศทางหนังสือพิมพ์ หรือการประกาศทางเว็บไซต์ เป็นต้น และภายในเวลาที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนได้

ข้อ 19 ในการจัดการกองทุนรวมเปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน และราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการ

(2) คำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ให้ใช้มูลค่าหน่วยลงทุนของสิ้นวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาดังกล่าว

(3) ประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังต่อไปนี้

(ก) วันทำการก่อนวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด โดยให้ประกาศภายในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด

(ข) วันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป

(ค) วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กองทุนรวมกำหนดวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนแต่ละครั้งห่างกันยาวกว่าหนึ่งเดือน

(ง) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไป

ความใน (ก) มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมเปิดที่ซื้อขายหน่วยลงทุนทุกวันทำการ และกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน

(4) ประกาศราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนล่าสุด โดยให้ประกาศภายในวันทำการถัดไปการประกาศมูลค่าและราคาตามวรรคหนึ่ง (3) และ (4) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ใช้ตัวเลขทศนิยมตามที่กำหนดไว้ในข้อ 20 และต้องได้รับการรับรองโดยผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว

(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบข้อมูลดังกล่าวในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การประกาศทางหนังสือพิมพ์ หรือการประกาศทางเว็บไซต์ เป็นต้น และภายในเวลาที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนได้ และ

(3) จัดให้มีข้อมูลดังกล่าวไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทจัดการกองทุนรวม และสถานที่ทุกแห่งที่ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนใช้ซื้อขายหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจัดให้มีข้อมูลดังกล่าวด้วยหรือไม่ก็ได้”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 21 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 21 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามข้อ 18 และข้อ 19 เมื่อมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน โดยให้ได้รับยกเว้นเฉพาะในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

(2) เมื่อมีเหตุที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเลิกกองทุนรวม โดยให้ได้รับยกเว้นตั้งแต่วันที่ปรากฏเหตุดังกล่าว”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 29 ข้อ 29/1 และข้อ 29/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 32/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 29 เว้นแต่จะมีประกาศกำหนดให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่นได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รับคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนตามจำนวนทั้งหมดที่มีคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่มีการสงวนสิทธิในการรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไว้ในโครงการ โดยบริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่รับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนตามกรณีที่สงวนสิทธิไว้ก็ได้

(2) ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามจำนวนทั้งหมดที่มีคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนด้วยราคาขายหน่วยลงทุนหรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนในวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนและเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนที่ขายหรือยกเลิกจำนวนหน่วยลงทุนที่รับซื้อคืน ในวันทำการถัดจากวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนดังกล่าว

(3) ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการซึ่งต้องไม่เกินห้าวันทำการนับแต่วันรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และต้องไม่ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันส่งคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้ตามข้อ 29/1

(4) จัดให้มีข้อความในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ลงทุนได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุน ผู้ลงทุนรับทราบและยินยอมเข้าผูกพันตามรายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานและที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยชอบด้วยกฎหมาย ตลอดจนข้อผูกพันระหว่างบริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนที่จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและลงนามโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับการผ่อนผันระยะเวลาการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุน หรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามประกาศนี้หรือประกาศอื่น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มจำนวนหน่วยลงทุนที่ขายหรือยกเลิกจำนวนที่รับซื้อคืนตามวรรคหนึ่ง (2) ภายในวันทำการถัดจากวันที่มีหน้าที่คำนวณเมื่อสิ้นสุดการผ่อนผัน และชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (3) ภายในห้าวันทำการนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการผ่อนผัน หรือภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดไว้ในคำสั่งผ่อนผัน

ข้อ 29/1 ในกรณีของกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ นอกจากหลักเกณฑ์ตาม ข้อ 29 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะจัดให้มีข้อกำหนดในโครงการที่มีผลให้ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนที่ประสงค์จะได้รับชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันส่งคำสั่งไม่ว่าการส่งคำสั่งนั้นจะอยู่ในเวลารับซื้อคืนปกติหรือไม่ ให้ได้รับชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนในวันดังกล่าวก็ได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การรับซื้อคืนหน่วยลงทุนต้องอยู่ภายในวงเงินรวมตามที่ระบุไว้ในโครงการ โดยการจัดสรรวงเงินดังกล่าวเป็นไปตามลำดับก่อนหลัง (first come first serve basis)

(2) การคำนวณราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนส่งคำสั่งในเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนปกติ ให้ใช้มูลค่าหน่วยลงทุน ณ สิ้นวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

(ข) กรณีที่ผู้ขายคืนหน่วยลงทุนส่งคำสั่งหลังเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนปกติจนถึงเวลาเริ่มต้นของเวลารับซื้อคืนหน่วยลงทุนปกติของวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนถัดไป ให้ใช้มูลค่าหน่วยลงทุน ณ สิ้นวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนถัดไปนั้นเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

(3) วงเงินสูงสุดที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะยินยอมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละคนขายคืนหน่วยลงทุนได้ ต้องไม่เกินวงเงินดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า

(ก) สองหมื่นบาท โดยให้คำนวณจากคำสั่งทั้งหมดที่ส่งโดยใช้ฐานของวันรับซื้อคืนหน่วยลงทุนเดียวกัน หรือ

(ข) ร้อยละแปดสิบของมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ล่าสุด โดยให้นับรวมคำสั่งขายคืนทั้งหมดที่ยังไม่ได้หักออกจากมูลค่ารวมของหน่วยลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอยู่ล่าสุดนั้น

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีข้อกำหนดในโครงการตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องจัดให้มีมาตรการในการบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมตลาดเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสม ตลอดจนเปิดเผยหลักเกณฑ์การชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน

ข้อ 29/2 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องไม่กระทำการใด หรือรู้เห็นหรือตกลงกับบุคคลอื่นในการกระทำการใด ที่ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับประโยชน์เสมือนหนึ่งว่าได้รับชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนโดยไม่เป็นไปตามกำหนดเวลาในข้อ 29 วรรคหนึ่ง (3)”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 30 ข้อ 31 และข้อ 32 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 30 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดไว้แล้วได้ เฉพาะในกรณีที่กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งต้องไม่เกินกว่ากรณีดังต่อไปนี้

(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นกรณีที่เข้าเหตุดังต่อไปนี้ โดยได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว

(ก) มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถจำหน่าย จ่ายโอน หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างสมเหตุสมผล หรือ

(ข) มีเหตุที่ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทจัดการกองทุนรวม

(2) ผู้ถือหน่วยลงทุนมีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนก่อนหรือในช่วงระยะเวลาที่บริษัทจัดการกองทุนรวมพบว่า ราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในข้อ 24 และผู้ดูแลผลประโยชน์ยังไม่ได้รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา

ข้อ 31 การเลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนตามข้อ 30 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืนได้ไม่เกินสิบวันทำการนับแต่วันที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนนั้น เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) แจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการเลื่อนกำหนดการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน ตลอดจนเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบเรื่องดังกล่าวด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลัน

(3) แจ้งการเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืน พร้อมทั้งจัดส่งรายงานที่แสดงเหตุผลของการเลื่อน และหลักฐานการได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 30(1) หรือการรับรองข้อมูลของผู้ดูแลผลประโยชน์ตามข้อ 30(2) ต่อสำนักงานโดยพลัน ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะมอบหมายให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดำเนินการแทนก็ได้

(4) ในระหว่างการเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืน หากมีผู้ถือหน่วยลงทุนสั่งขายคืนหน่วยลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรับซื้อคืนหน่วยลงทุนนั้น โดยต้องชำระค่าขายคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามลำดับวันที่ส่งคำสั่งขายคืนก่อนหลัง

ข้อ 32 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมหยุดการขายหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน ในช่วงระยะเวลาที่บริษัทพบว่าราคาขายหน่วยลงทุนไม่ถูกต้องตามข้อ 24 และผู้ดูแลผลประโยชน์ยังไม่ได้รับรองข้อมูลในรายงานการแก้ไขราคาย้อนหลังและรายงานการชดเชยราคา โดยแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการหยุดขายหน่วยลงทุน ตลอดจนเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบถึงการหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลัน”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 34 และข้อ 35 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 34 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่รับไว้แล้ว หรือจะหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนได้ เฉพาะในกรณีที่กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งต้องไม่เกินกว่ากรณีดังต่อไปนี้

(1) ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ

(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมพิจารณาแล้ว มีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่าเป็นกรณีดังต่อไปนี้ โดยได้รับความเห็นชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว

(ก) มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างสมเหตุสมผล

(ข) ไม่สามารถคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมเปิดได้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสม หรือ

(ค) มีเหตุจำเป็นอื่นใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ การไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามคำสั่งที่รับไว้แล้ว หรือการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนตาม (ก) (ข) หรือ (ค) ให้กระทำได้ไม่เกินหนึ่งวันทำการ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(3) กองทุนรวมได้ลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินในต่างประเทศ และมีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อกองทุนรวมอย่างมีนัยสำคัญ

(ก) ตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนไม่สามารถเปิดทำการซื้อขายได้ตามปกติ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในหลักทรัพย์ที่ซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์แห่งนั้นเกินกว่าร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ข) มีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้อย่างเสรี และทำให้ไม่สามารถโอนเงินออกจากประเทศหรือรับโอนเงินจากต่างประเทศได้ตามปกติ หรือ

(ค) มีเหตุที่ทำให้กองทุนรวมไม่ได้รับชำระเงินจากหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ตามกำหนดเวลาปกติ ซึ่งเหตุดังกล่าวอยู่เหนือการควบคุมของบริษัทจัดการกองทุนรวม และผู้ดูแลผลประโยชน์เห็นชอบด้วยแล้ว

(4) เป็นการไม่ขายหน่วยลงทุนตามคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนที่รับไว้แล้ว หรือเป็นการหยุดรับคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน แก่ผู้ลงทุนเฉพาะราย เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจัดการกองทุนรวมมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ลงทุนรายนั้น ๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังต่อไปนี้

1. การกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

2. การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ

3. การกระทำที่เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน โดยบุคคลผู้มีอำนาจตามกฎหมาย

(ข) บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการรู้จักลูกค้า และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้ในสาระสำคัญ

ข้อ 35 เมื่อปรากฏเหตุตามข้อ 34 และบริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) แจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยพลัน และหากเป็นเหตุตามข้อ 34(1) (2) หรือ (3) ให้เปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบถึงการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลันด้วย

(2) รายงานการไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือการหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนพร้อมทั้งแสดงเหตุผล และรายงานแผนการดำเนินการของกองทุนรวมเปิดนั้นให้สำนักงานทราบโดยพลัน

(3) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ขายหรือไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือหยุดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนตามข้อ 34(1) (2) และ (3) เกินหนึ่งวันทำการ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้ ก่อนการเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน

(ก) รายงานการเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน และรายงานฐานะการลงทุนของกองทุนรวมเปิด ณ วันทำการสุดท้ายก่อนวันรายงานนั้นให้สำนักงานทราบภายในวันทำการก่อนวันเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน

(ข) แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนไว้แล้วให้ทราบถึงการเปิดขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ตลอดจนเปิดเผยต่อผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นและผู้ลงทุนทั่วไปให้ทราบถึงการเปิดรับคำสั่งซื้อหรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนด้วยวิธีการใด ๆ โดยพลัน”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 38 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 38 ในส่วนนี้

“บริษัทนายหน้า” หมายความว่า บุคคลดังต่อไปนี้

(1) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ

(2) บุคคลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า “ฐานะการลงทุน” (exposure) หมายความว่า มูลค่าการลงทุนในทรัพย์สิน อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมผ่านการลงทุนในตราสารหรือสัญญาอื่น อันเป็นผลให้กองทุนรวมมีความเสี่ยงในทรัพย์สินนั้น”

ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 40/1 และข้อ 40/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 40/1 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและเปิดเผยข้อมูลของแต่ละกองทุนรวมทางเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวม เป็นรายเดือนดังต่อไปนี้

(1) ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนด และ

(2) ข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมโดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(ก) กรณีกองทุนรวมตราสารแห่งทุน ให้เปิดเผยชื่อหลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดห้าอันดับแรก ตลอดจนน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์และกลุ่มอุตสาหกรรมนั้น

(ข) กรณีกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ให้เปิดเผยชื่อตราสารหนี้ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดห้าอันดับแรก ตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือและน้ำหนักการลงทุนในตราสารแห่งหนี้นั้น

(ค) กรณีกองทุนรวมผสม ให้เปิดเผยชื่อหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดห้าอันดับแรก และน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่หลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นตราสารแห่งหนี้ ให้เปิดเผยอันดับความน่าเชื่อถือด้วย

(ง) กรณีกองทุนรวมที่มีฐานะการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่ง เกินกว่าร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม ให้เปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศนั้น เท่าที่กองทุนรวมต่างประเทศนั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไปหรือเท่าที่บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถเข้าถึงได้

การเปิดเผยข้อมูลตามวรรคหนึ่งให้กระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันทำการสุดท้ายของแต่ละเดือน เว้นแต่กรณีตามวรรคหนึ่ง (2) (ง) ให้กระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่กองทุนรวมต่างประเทศนั้นเปิดเผยข้อมูลการลงทุนเป็นวันแรก

ข้อ 40/2 บริษัทจัดการจะไม่จัดทำและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวมเป็นรายเดือนตามข้อ 40/1 ก็ได้ หากเป็นกรณีที่เข้าลักษณะดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมดังกล่าวมีกลยุทธ์การลงทุนเพียงครั้งเดียว (buy-and-hold fund) โดยถือทรัพย์สินที่ลงทุนไว้จนครบอายุของทรัพย์สินที่ลงทุน ครบอายุของรอบการลงทุนของกองทุนรวม หรือครบอายุของกองทุนรวม และ

(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมได้แสดงข้อมูลการลงทุนตามข้อ 40/1 วรรคหนึ่ง (2) ไว้ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ตลอดจนได้เปิดเผยให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบถึงแหล่งข้อมูลที่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลการลงทุนได้เองแล้ว”

ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 44/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 44/2 ในกรณีที่กองทุนรวมมีฐานะการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่ง เกินกว่าร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำข้อมูลของกองทุนรวม ทุกรอบระยะเวลาหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีหรือของปีปฏิทิน และทุกรอบระยะเวลาบัญชี โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) การลงทุนและผลการดำเนินงานของกองทุนรวมต่างประเทศ และ

(2) ความผันผวนของผลการดำเนินงานของกองทุนรวมต่างประเทศ

การจัดทำข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมต่างประเทศ เท่าที่กองทุนรวมต่างประเทศนั้นได้เปิดเผยไว้เป็นการทั่วไปหรือเท่าที่บริษัทจัดการสามารถเข้าถึงได้”

ข้อ 9 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 45 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 50/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) ข้อมูลตามรายการที่สำนักงานกำหนด โดยให้ส่งผ่านระบบจัดส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในข้อ 86 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 86 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใดหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควร จากผู้ซื้อหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน ผู้ขายคืนหน่วยลงทุน หรือกองทุนรวมได้ต่อเมื่อมีการกำหนดอัตราและวิธีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด หรือค่าใช้จ่ายดังกล่าวไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการโฆษณาจากกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายขั้นสูงที่จะเรียกเก็บจากกองทุนรวม และเรียกเก็บได้ไม่เกินอัตราดังกล่าว

(2) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการ ให้เลือกปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) เรียกเก็บเป็นจำนวนคงที่ หรือเป็นอัตราร้อยละของมูลค่าทรัพย์สินหรือมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม

(ข) เรียกเก็บโดยอิงกับผลการดำเนินงาน (performance based management fee) ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

(3) เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดในแต่ละครั้งจากผู้ลงทุน แทนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายรายปีจากกองทุนรวมค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ซึ่งเรียกเก็บจากกองทุนรวม เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินกว่าอัตราขั้นสูงของยอดรวมค่าธรรมเนียม เงินตอบแทน และค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่สามารถประมาณการได้ ที่ระบุไว้ในโครงการและหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม”

ข้อ 11 ให้ยกเลิกความในข้อ 91 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 91 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมเปิดเพิ่มเติมในจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าของค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายเดิมภายในระยะเวลาหนึ่งปีมิได้ เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด”

ข้อ 12 ให้ยกเลิกความในข้อ 95 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 95 เมื่อจะมีการเลิกกองทุนรวมใดเพราะเหตุครบกำหนดอายุของโครงการหรือเพราะเหตุอื่นที่ทราบกำหนดการเลิกกองทุนรวมล่วงหน้า ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนรวมนั้นดังต่อไปนี้

(1) แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ดูแลผลประโยชน์และสำนักงานทราบ และแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบในกรณีที่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ

(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและผู้ลงทุนทั่วไปทราบเรื่องดังกล่าวก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ เช่น ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่น เป็นต้น และ

(3) จำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนรวมเพื่อรวบรวมเป็นเงินสด เงินฝากประเภทกระแสรายวัน เงินฝากประเภทออมทรัพย์ และตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีกำหนดระยะเวลาใช้เงินคืนเมื่อทวงถาม ให้เสร็จสิ้นก่อนวันเลิกกองทุนรวม”

ข้อ 13 ให้ยกเลิกความในข้อ 121 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 121 ในกรณีที่มูลค่าที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่กำหนดไว้ตามข้อ 19 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จะทำให้มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ใช้ชำระเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการใช้มูลค่าในการคำนวณราคาขายและราคารับซื้อคืนให้แตกต่างจากมูลค่าที่กำหนดไว้ในข้อ 19 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ต่อสำนักงานได้”

ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับ (1) การประกาศมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าหน่วยลงทุน และราคาขาย

และรับซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (2) การขายและการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงกำหนดเวลาการ

ชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ (3) การเลื่อนกำหนดชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน การไม่ขาย ไม่รับซื้อ

คืน หรือหยุดรับคำสั่งซื้อ หรือคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (4) การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน ผลการดำเนินงาน และ

ความเสี่ยงของกองทุนรวมที่มีฐานะการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือตราสารที่มีลักษณะของ

สัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ต่อผู้ลงทุน (5) การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรวม และ (6) การเลิกกองทุนรวมเพราะเหตุ

ครบอายุโครงการหรือเหตุอื่นที่ทราบกำหนดการเลิกกองทุนรวมล่วงหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


แท็ก ตลาดทุน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ