ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
ที่ ทธ/น/ข. 47 /2553
เรื่อง หลักเกณฑ์ในการให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการ
เกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน
___________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 112 มาตรา 114 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 55/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552
(2) ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 36/2553 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553
ข้อ 2 ในประกาศนี้
(1) คำว่า “ผู้ลงทุนสถาบัน” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(2) “บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
(3) “ผู้ลงทุน” หมายความว่า ผู้สนใจจะลงทุนในหน่วยลงทุน หรือผู้ถือหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี
(4) “ข้อมูลภายใน” หมายความว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและบริษัทหลักทรัพย์ได้ล่วงรู้มาเนื่องจากการประกอบธุรกิจ
(5) “หนังสือชี้ชวน” หมายความว่า หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
(6) “ขาย” ให้หมายความรวมถึง การเสนอขายด้วย
(7) “หน่วยลงทุน” หมายความว่า หน่วยลงทุน และหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์
(8) “หน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์” หมายความว่า หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ขายควบคู่ไปกับการขายกรมธรรม์ประกันชีวิตในรูปแบบของกรมธรรม์ประกันชีวิตควบคู่การลงทุน
(9) “กรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน” หมายความว่า กรมธรรม์ที่บริษัทประกันชีวิตออกให้ผู้เอาประกันภัย เพื่อเป็นหลักฐานว่าผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันชีวิตได้มีการทำสัญญาประกันชีวิตและสัญญาการลงทุนในหน่วยลงทุน โดยมีการตกลงว่าผู้เอาประกันภัยจะชำระค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่บริษัทประกันชีวิตสำหรับการให้ความคุ้มครองต่อการมรณะหรือการจ่ายเงินเมื่อมีการทรงชีพ และผู้เอาประกันภัยจะชำระเงินค่าหน่วยลงทุนเพื่อการลงทุนในกองทุนรวมโดยผ่านบริษัทประกันชีวิต
(10) “ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หมวด 1
บททั่วไป
_______________________
ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน
(2) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน และ
(3) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
ในกรณีที่มีข้อกำหนดเป็นการเฉพาะสำหรับธุรกรรมประเภทใด บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวเพิ่มเติม เมื่อให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุนในธุรกรรมประเภทนั้น
ข้อ 4 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ และเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวให้ถือว่าได้ปฏิบัติตามประกาศนี้แล้ว
หมวด 2
หลักในการดำเนินธุรกิจ
___________________________
ข้อ 5 เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมในฐานะเป็นผู้มีวิชาชีพที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ให้คำแนะนำการลงทุน และให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ต้องประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) ดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ใช้ความรู้ ความสามารถ และความชำนาญ ด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวัง รวมทั้งเป็นไปตามมาตรฐานของผู้มีวิชาชีพในลักษณะเดียวกันนั้น พึงกระทำ
(2) ดำเนินธุรกิจโดยคำนึง และดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดโดยรวม
(3) มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอ เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
(4) มีเงินทุนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
(5) ปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ
(6) มีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ทราบตัวตนที่แท้จริงและความต้องการของผู้ลงทุน
(7) ให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจน ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด
(8) ใช้ความระมัดระวังอย่างสมเหตุสมผลเพื่อให้มั่นใจถึงความเหมาะสมของข้อมูลการลงทุนและคำแนะนำที่ให้แก่ผู้ลงทุน ตลอดจนการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ เพื่อผู้ลงทุน
(9) ในกรณีที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เกิดขึ้น ต้องดำเนินการให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทหลักทรัพย์กับผู้ลงทุน หรือระหว่างผู้ลงทุนด้านธุรกิจหลักทรัพย์กับผู้ลงทุนในธุรกิจด้านอื่นของบริษัทหลักทรัพย์
(10) มีมาตรการอย่างเพียงพอในการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้ลงทุน
(11) ดำเนินธุรกิจและควบคุมดูแลพนักงานให้ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจ
(12) ให้ความร่วมมือกับสำนักงานอย่างเต็มที่ โดยต้องแจ้งหรือเปิดเผยข้อเท็จจริงทุกประการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทหลักทรัพย์และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบดูแลของบริษัทหลักทรัพย์อันเป็นประโยชน์หรือจำเป็นต่อการกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์หรือตลาดทุนโดยรวม
หมวด 3
ระบบงาน
__________________________
ข้อ 6 เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์มีการจัดโครงสร้างและระบบงานของบริษัทหลักทรัพย์ให้สามารถรองรับงานในการรับผิดชอบตามประเภทธุรกิจได้อย่างมีคุณภาพและสามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามหลักในการดำเนินธุรกิจในหมวด 2 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนจึงวางแนวทางในการจัดให้มีโครงสร้างและระบบงานของบริษัทไว้ดังต่อไปนี้
(1) โครงสร้างการบริหารงาน
(ก) การแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบภายในหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบงานให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน
(ข) บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้บริหารระดับสูง
(ค) การคัดเลือกและดูแลบุคลากรให้เหมาะสมตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ
(2) การให้คำแนะนำและให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน
(ก) การเปิดบัญชีและการให้คำแนะนำ
(ข) การติดต่อชักชวนและการให้คำแนะนำ
(ค) การรับคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุน
(ง) การปฏิบัติการด้านงานสนับสนุน
(จ) การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากร
(ฉ) การจัดการเรื่องร้องเรียน
(3) การดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้ลงทุน
(ก) การแยกทรัพย์สินของผู้ลงทุนออกจากทรัพย์สินส่วนตัวของบริษัทหลักทรัพย์
(ข) การเก็บรักษา ตรวจสอบ ดูแล เบิกจ่าย และการจัดทำบัญชีทรัพย์สินผู้ลงทุน รวมทั้งการดูแลและติดตามสิทธิประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สิน
(4) การบริหารความเสี่ยง
(5) การกำกับดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎกระทรวงและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
(6) การควบคุมภายใน
(7) การจัดการและจัดเก็บข้อมูล ตลอดจนการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
หมวด 4
การดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนและ
การให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน
_____________________________
ส่วนที่ 1
บททั่วไป
_____________________________
ข้อ 7 ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหมวด 2 และหมวด 3 ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการเกี่ยวกับการให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) การเปิดบัญชีและการรู้จักกับผู้ลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 2
(2) การให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 3
ข้อ 8 ข้อมูลหรือคำแนะนำที่ผู้ลงทุนได้รับจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับลักษณะความเสี่ยงและความเหมาะสมในการลงทุนในหน่วยลงทุนต้องครบถ้วน
(2) ได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำที่เหมาะสมกับข้อมูลผู้ลงทุนที่มีความถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน
(3) ได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และไม่ปกปิดข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
(4) ได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำอย่างต่อเนื่องภายหลังจากที่ได้ลงทุนในหน่วยลงทุนนั้นแล้ว
ส่วนที่ 2
การเปิดบัญชีและการรู้จักกับผู้ลงทุน
__________________________
ข้อ 9 ก่อนการเปิดบัญชี บริษัทหลักทรัพย์ต้องแจ้งสิทธิต่าง ๆ ที่ควรทราบแก่ผู้ลงทุน รวมทั้งตรวจสอบความมีตัวตนของผู้ลงทุน และดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วย
ข้อ 10 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดทำข้อมูลผู้ลงทุน โดยต้องขอข้อมูลจากผู้ลงทุนเพื่อประกอบการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ข้อมูลผู้ลงทุนที่ใช้ในการประมวลผลตามข้อ 11 ต้องจัดทำขึ้นล่วงหน้าก่อนการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนไม่เกินกว่าสองปี
ข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบในการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากผู้ลงทุนแต่ละรายในเรื่องดังต่อไปนี้ เพื่อประกอบการให้คำแนะนำที่สอดรับกับระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหนังสือชี้ชวนการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
(1) วัตถุประสงค์ในการลงทุน
(2) ประสบการณ์ในการลงทุน
(3) ฐานะการเงิน
(4) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน
(5) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
(6) ปัจจัยอื่น ๆ ของผู้ลงทุนที่จำเป็นต่อการให้คำแนะนำที่สอดรับกับระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 12 ในกรณีที่ผู้ลงทุนรายใดปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ตามที่กำหนดในข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิเสธไม่ให้คำแนะนำการลงทุนและไม่ขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนรายดังกล่าว
ข้อ 13 การขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีนโยบายการลงทุนในประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์จะไม่ดำเนินการตามข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 12 ก็ได้
ข้อ 14 สัญญาที่ทำกับผู้ลงทุนต้องครอบคลุมถึงขอบเขตการให้บริการ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทหลักทรัพย์ และต้องไม่มีข้อความที่ปฏิเสธความรับผิดชอบของบริษัทหลักทรัพย์ต่อผู้ลงทุนจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทหลักทรัพย์หรือพนักงานของบริษัทหลักทรัพย์
ส่วนที่ 3
การให้คำแนะนำการลงทุนและการให้บริการ
ซื้อขายหน่วยลงทุน
__________________________
ข้อ 15 ก่อนการขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีการให้คำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์และความต้องการของผู้ลงทุน โดยพิจารณาจากผลของการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากผู้ลงทุน
(2) จัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน และใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อ หน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้ลงทุน
การขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินที่มีนโยบายการลงทุนในประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์จะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง(1) ก็ได้
ข้อ 16 ในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ประสงค์จะลงทุนในหน่วยลงทุนตามคำแนะนำของบริษัทหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมที่ผู้ลงทุนประสงค์จะลงทุน ในกรณีที่กองทุนรวมดังกล่าวมีระดับความเสี่ยงที่สูงกว่าระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้
(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้สามารถยืนยันได้ว่าผู้ลงทุนได้รับทราบถึงระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมตาม (1) แล้ว
ข้อ 17 ในการจัดให้มีการให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนโดยผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศ ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) พิจารณาคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศว่ามีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถดำเนินการให้คำแนะนำได้ตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจในต่างประเทศนั้น
(2) แจ้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศทราบ
(3) แจ้งชื่อและที่อยู่ของบริษัทหลักทรัพย์เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการให้คำแนะนำได้ และ
(4) ในกรณีที่มีการแปลบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องดูแลให้การแปลเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่สำนักงานยอมรับ ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์จากหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO)
ข้อ 18 การให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด ในจำนวนที่เพียงพอเพื่อเป็นผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือให้คำแนะนำกับผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนสถาบัน หรือวิเคราะห์การลงทุนในหน่วยลงทุน
(2) ควบคุมดูแลให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้ข้อมูลหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนอย่างเหมาะสม
(3) จัดให้มีช่องทางอย่างเพียงพอและเหมาะสมที่ทำให้ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อขายหน่วยลงทุนได้
(4) จัดให้มีระบบการดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้รบกวนความเป็นส่วนตัว ก่อความรำคาญ หรือเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจ
(5) ในการขายหน่วยลงทุนที่มีการส่งเสริมการขายหรือบริการเสริม บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรมและไม่โน้มน้าวจูงใจให้ผู้ลงทุนเข้าใจผิด หรือเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจลงทุนโดยมิได้คำนึงถึงความเสี่ยงหรือความเหมาะสมในการลงทุน
(6) ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตนดังต่อไปนี้
(ก) การจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใด และ
(ข) การประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าหน่วยลงทุน ราคาขายหน่วยลงทุนและราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตน
(7) เปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบอย่างครบถ้วนและชัดเจนกรณีที่มีการให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 19 การให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนทางอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องมีวิธีดำเนินการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนได้รับข้อมูลและคำแนะนำครบถ้วน ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งวันเริ่มให้บริการและรายละเอียดของการให้บริการ พร้อมทั้งนำส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สำนักงานทราบก่อนวันเริ่มให้บริการตามวรรคหนึ่ง
ข้อ 20 การขายหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ที่บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินค่าสั่งซื้อหน่วยลงทุนให้บริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ต้องนำส่งเงินค่าสั่งซื้อหน่วยลงทุนให้บริษัทจัดการกองทุนรวมภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ต่อประชาชนครั้งแรก ให้นำส่งเงินค่าสั่งซื้อหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ภายในสามวันทำการนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาจองซื้อ
(2) ในกรณีอื่นใดนอกจากกรณีตาม (1) ให้นำส่งเงินค่าสั่งซื้อหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ระบุในใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์นั้น
ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์เป็นครั้งแรกสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนแต่ละกรมธรรม์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนในการยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุน โดยในกรณีที่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนยกเลิกคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ บริษัทหลักทรัพย์จะเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้
หมวด 5
การเก็บเอกสารหลักฐาน
__________________________
ข้อ 21 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดเก็บเอกสารตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคำขอเปิดบัญชี ข้อมูลผู้ลงทุน และผลของการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจากผู้ลงทุนทั้งหมด โดยให้จัดเก็บตลอดระยะเวลาที่ผู้ลงทุนเป็นลูกค้า และจัดเก็บต่อไปอีกเป็นระยะเวลาอย่างน้อยห้าปีนับแต่วันที่มีการปิดบัญชี ทั้งนี้ การจัดเก็บดังกล่าวต้องอยู่ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า
(2) เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งรวมถึงเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ตามข้อ 15 และข้อ 16 โดยให้จัดเก็บไว้ให้ครบถ้วนอย่างน้อยเป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ซื้อขาย ทั้งนี้ การจัดเก็บในระยะเวลาหนึ่งปีแรกต้องอยู่ในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า
(3) เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้คำแนะนำ ซึ่งรวมถึงบทวิเคราะห์หรือเอกสารประกอบการให้คำแนะนำอื่นใด โดยให้จัดเก็บไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ให้คำแนะนำ
ในกรณีที่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการให้คำแนะนำหรือการซื้อขายหน่วยลงทุน หากการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนยังไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาจัดเก็บเอกสารหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อร้องเรียนไว้ต่อไป จนกว่าการดำเนินการเกี่ยวกับข้อร้องเรียนจะแล้วเสร็จ
หมวด 6
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมสำหรับการประกอบธุรกิจการเป็น
นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์
และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
ที่เป็นหน่วยลงทุน
__________________________
ส่วนที่ 1
บททั่วไป
___________________________
ข้อ 22 บริษัทหลักทรัพย์จะซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในตลาดรองได้ เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) โครงการจัดการกองทุนรวม และข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ต้องไม่มีข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนที่บริษัทหลักทรัพย์จะให้บริการซื้อขาย
(2) ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนตรงกับวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ต้องซื้อขายหน่วยลงทุนในราคาเดียวกับราคาขายหรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ได้คำนวณตามวิธีการที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
(3) การให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนในกรณีอื่นนอกเหนือจาก (2) บริษัทหลักทรัพย์ต้องเปิดเผยมูลค่าหน่วยลงทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศล่าสุด ตลอดจนข้อมูลอื่นที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งสามารถทำให้ผู้ลงทุนทราบถึงความแตกต่างระหว่าง การซื้อขายหน่วยลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์กับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมได้
ความในวรรคหนึ่ง (2) และ (3) มิให้นำมาใช้บังคับกับการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ
ส่วนที่ 2
การเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน
_________________________
ข้อ 23 ในการทำหน้าที่เป็นนายหน้าหรือตัวแทนของผู้ลงทุนในการซื้อขายหน่วยลงทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุน รวมทั้งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนดังกล่าว โดยอนุโลม
ส่วนที่ 3
การเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน
แบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน
(Omnibus Account)
__________________________
ข้อ 24 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) ให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบในการปฏิบัติงานที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ลงทุนจะได้รับการปฏิบัติอย่างสุจริตและเป็นธรรมในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ลงทุน
(ข) การแยกทรัพย์สินของผู้ลงทุนออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์
(ค) การดูแลรักษาทรัพย์สินของผู้ลงทุน
(ง) การจัดทำรายงานให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน และ
(จ) การจัดส่งรายงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ผู้ลงทุนในระยะเวลาที่เหมาะสม ให้บริษัทหลักทรัพย์แจ้งระบบงานตามวรรคหนึ่งต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าก่อนดำเนินการ
(2) ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ประสงค์จะปฏิบัติต่อผู้ลงทุนในเรื่องใดซึ่งมีผลทำให้ผู้ลงทุนได้รับเงื่อนไขหรือสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกับการซื้อขายหน่วยลงทุนแบบเปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีหลักฐานที่แสดงว่าผู้ลงทุนทราบและยอมรับเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นแล้ว ทั้งนี้ การปฏิบัติดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งและไม่น้อยกว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว
ข้อ 25 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน สำหรับการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราการจัดสรรและการถือหน่วยลงทุนของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกัน ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเจ้าของบัญชีดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ตรวจสอบหรือดำเนินการให้มีการตรวจสอบว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในบัญชีดังกล่าวถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าอัตราที่กำหนด
(2) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบโดยพลันเมื่อปรากฏว่าบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในบัญชีนั้นถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าอัตราที่กำหนด
ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นให้ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราดังกล่าว บริษัทหลักทรัพย์ต้องระบุด้วยว่าเป็นบุคคลที่ได้รับยกเว้นตามกรณีใด
(3) แจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมทราบ เมื่อบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดที่ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมใดเกินกว่าอัตราที่กำหนด มีการลดสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนจนเป็นไปตามอัตราที่กำหนดแล้ว
(4) ไม่นับคะแนนเสียงของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นในส่วนที่ต้องห้ามมิให้นับรวมในจำนวนเสียงในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในบัญชีดังกล่าว
การพิจารณาความเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
ข้อ 26 ในกรณีที่ผู้ลงทุนไม่ได้รับเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนที่ออกให้โดยบริษัทจัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีหลักฐานที่ผู้ลงทุนสามารถใช้แสดงสิทธิในความเป็นเจ้าของหน่วยลงทุนและใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการกองทุนรวมและบุคคลอื่นได้ และในกรณีที่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้ลงทุน ให้ระบุข้อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นในหลักฐานดังกล่าวด้วย
ส่วนที่ 4
การค้าหน่วยลงทุน
_________________________
ข้อ 27 ในการค้าหน่วยลงทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) แจ้งราคาเสนอซื้อขายและกำหนดเวลาที่ราคาเสนอซื้อขายจะสิ้นผลให้ผู้ลงทุนทราบ โดยกรณีที่การเสนอซื้อขายดังกล่าวมีเงื่อนไข บริษัทหลักทรัพย์ต้องชี้แจงเงื่อนไขให้ผู้ลงทุนทราบโดยชัดเจนด้วย
(2) รับซื้อหรือขายตามราคาเสนอซื้อขาย โดยบริษัทหลักทรัพย์จะปฏิเสธไม่รับซื้อหรือขายได้เฉพาะกรณีที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขเท่านั้น ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการปฏิเสธแก่ผู้ลงทุนได้อย่างชัดเจนด้วย
(3) ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทจัดการให้เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องให้แก่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมใด หากโครงการจัดการกองทุนรวมนั้นมีการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดูแลสภาพคล่องไว้ ผู้ค้าหน่วยลงทุนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวด้วย
ส่วนที่ 5
การจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน
___________________________
ข้อ 28 ในการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ ในกรณีที่ในหนังสือชี้ชวนไม่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนไว้ ให้ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน วิธีการจองซื้อ และเงื่อนไขในการจัดสรรหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบโดยเปิดเผยก่อนการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นด้วย
(2) นำเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนเข้าบัญชีเพื่อการจองซื้อหน่วยลงทุนของผู้เสนอขาย หน่วยลงทุน หรือแยกเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนออกจากบัญชีทรัพย์สินของผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ภายในวันทำการถัดจากวันที่ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเรียกเก็บเงินจากผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ โดยต้องไม่นำเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวไปใช้ในกิจการใด ๆ
(3) คืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรภายในสิบสี่วันทำการนับแต่วันปิดการเสนอขาย หากไม่สามารถคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องมีข้อกำหนดให้ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลานั้น
หมวด 7
บทเฉพาะกาลและวันมีผลใช้บังคับของประกาศ
___________________________
ข้อ 29 ให้บรรดาประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้า ซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 55/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 43/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน และการชักชวนลูกค้าให้เข้าทำสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2547 แล้วแต่กรณี ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะมีประกาศ คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 30 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดที่อ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทข. 55/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข. 43/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนและการชักชวนลูกค้าให้เข้าทำสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้
ข้อ 31 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน
กับการซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งจะทำให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถให้บริการแก่ผู้ลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจ และเกิด
ความเชื่อมั่นในภาพรวมของธุรกิจหลักทรัพย์ จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้