หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 10, 2011 16:46 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 1 /2554

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการ

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

_________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 100 มาตรา 109 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัย อำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

(1) “กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(2) “บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

(3) “ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า

(ก) กรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือสิทธิการเช่าในที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนทรัพย์สินอื่นใดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) สิทธิสัมปทานในการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ค) สิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต หรือสิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตของกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หรือการบริหารจัดการทรัพย์สินอื่นใดที่ได้จากการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ง) สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ หรือสัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาซื้อขายผลิตภัณฑ์หรือบริการของกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(จ) หุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

1. มีการลงทุนในทรัพย์สินตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของบริษัทดังกล่าว หรือมีรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) ไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายได้รวมในแต่ละปีบัญชี และ

2. มีกองทุนรวมเป็นผู้ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้นและเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น

(4) “กิจการโครงสร้างพื้นฐาน” หมายความว่า กิจการดังต่อไปนี้

(ก) ระบบขนส่งทางราง

(ข) ไฟฟ้า

(ค) ประปา

(ง) ถนน ทางพิเศษ หรือทางสัมปทาน

(จ) ท่าอากาศยานหรือสนามบิน

(ฉ) ท่าเรือน้ำลึก

(ช) โทรคมนาคม

(ซ) พลังงานทางเลือก

(5) “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด

(6) “พลังงานทางเลือก” หมายความว่า กิจการที่ผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไปและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าพลังงานจากฟอสซิล

(7) “หน่วยลงทุนคล้ายหนี้” หมายความว่า หน่วยลงทุนที่มีข้อกำหนดที่แสดงว่า หากกองทุนรวมมีรายได้หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกองทุนรวมเพียงพอ ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนหรือรับคืนเงินทุน ตามจำนวนหรืออัตราที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

(8) “ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

(9) “โครงการที่แล้วเสร็จ” หมายความว่า กิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเริ่มมีรายได้ในเชิงพาณิชย์แล้ว

(10) “โครงการที่ไม่แล้วเสร็จ” หมายความว่า กิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ใช่โครงการที่แล้วเสร็จ

(11) “ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า บุคคลที่ได้มาซึ่งหน่วยลงทุนครั้งแรกเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท ทั้งนี้ ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้หน่วยลงทุนมาเพิ่มเติมเมื่อรวมกับหน่วยลงทุนที่ถืออยู่แล้วต้องคิดเป็นมูลค่าหน่วยลงทุนทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท

การคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามมูลค่าการซื้อขายหน่วยลงทุนในแต่ละครั้ง

(12) “หน่วยลงทุนคล้ายทุน” หมายความว่า หน่วยลงทุนที่มิใช่หน่วยลงทุนคล้ายหนี้

(13) “บุคคลที่เกี่ยวข้อง” หมายความว่า บุคคลที่เข้าลักษณะเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องตามประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม

(14) “ที่ปรึกษาทางการเงิน” หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ

(15) “ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

(16) “กลุ่มบุคคลเดียวกัน” หมายความว่า กลุ่มบุคคลเดียวกันที่มีลักษณะตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(17) “เงินทุนจดทะเบียน” หมายความว่า เงินทุนที่บริษัทจัดการได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน

(18) “สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการลงทุน

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การขออนุมัติและการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(2) การจัดสรรและเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(3) การลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(4) การบริหารและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องที่นอกเหนือจาก (3)

ข้อ 3 นอกจากการปฏิบัติตามประกาศนี้แล้ว ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศอื่นที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม

(2) รายการในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ

(3) หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

(4) การจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม

(5) การจัดทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน

(6) การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างบริษัทจัดการและผู้ถือหน่วยลงทุน

(7) การกู้ยืมเงินหรือการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม

(8) การชำระบัญชีของกองทุนรวม

ในกรณีที่ไม่มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งสำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามประกาศอื่นที่กำหนดหลักเกณฑ์ตามวรรคหนึ่งสำหรับกองทุนรวมทั่วไป

ข้อ 4 การจัดตั้งและการจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักการดำเนินธุรกิจตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทจัดการเกี่ยวกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และการดำเนินการ เมื่อมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนด และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในเรื่องดังต่อไปนี้เพิ่มเติม

(1) การจัดตั้งกองทุนรวมและการดำเนินการเมื่อได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 1

(2) ข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 2

(3) หลักเกณฑ์การบริหารและจัดการกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 3

ข้อ 5 บริษัทจัดการต้องบริหารและจัดการกองทุนรวมด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย โครงการจัดการกองทุนรวม ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ และมติผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย

ข้อ 6 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีระบบงานสำหรับการบริหารและจัดการกองทุนรวม อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การคัดเลือกและดูแลบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของกองทุนรวม ให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับการบริหารและจัดการกองทุนรวม

(2) การวิเคราะห์และศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งกองทุนรวม รวมทั้งการตรวจสอบและสอบทาน (การทำ due diligence) ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุน ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนรวมและทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน

(3) การกำกับดูแลบริหารและจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน

ข้อ 7 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ได้ และเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวให้ถือว่าบริษัทจัดการได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว

ภาค 1

การขออนุมัติและการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

__________________________

ข้อ 8 บริษัทจัดการที่ประสงค์จะจัดตั้งกองทุนรวม ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามข้อกำหนดในหมวด 1

(2) เมื่อได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามหมวด 2 ในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) ปฏิบัติตามข้อกำหนดทั่วไปในส่วนที่ 1

(ข) จัดสรรและเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 2 และ

(ค) ลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 4 ในกรณีที่การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมสิ้นสุดลงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 3 ของหมวด 2 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว

หมวด 1

ข้อกำหนดสำหรับการขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม

__________________________

ส่วนที่ 1

ลักษณะของกองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้ง

___________________________

ข้อ 9 กองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้ง ต้องมีข้อกำหนดในเอกสารของกองทุนรวมที่แสดงลักษณะของกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) เป็นกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน เว้นแต่เป็นการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งบริษัทจัดการสามารถแสดงได้ว่าการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความอยู่รอดของกองทุนรวม

(2) ชื่อของกองทุนรวม ซึ่งมีคำว่า “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน” นำหน้า และคำแสดงประเภทกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุน

(3) มีเงินทุนโครงการไม่ต่ำกว่าสองพันล้านบาท และมีนโยบายที่จะลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งพันห้าร้อยล้านบาท และในกรณีที่มีนโยบายจะลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ แต่ละโครงการต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่าหนึ่งพันล้านบาท

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีมูลค่าที่ตราไว้เป็นมูลค่าเท่ากัน และในกรณีที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11

(5) มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก ซึ่งกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะในวงกว้าง ของประเทศไทย และในขณะที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้ง กองทุนรวมมีทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนอย่างแน่นอนแล้ว ทั้งนี้ ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานต้องผ่านการดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ผ่านการตรวจสอบหรือสอบทาน (การทำ due diligence) โดยบริษัทจัดการร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินได้จัดให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานหรือกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ข้อมูลด้านการเงิน กฎหมาย และเทคนิคเฉพาะทาง เป็นต้น

(ข) ผ่านการประเมินค่าตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12

(6) ในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งชำระราคาทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ต้องมีข้อกำหนดให้กองทุนรวมนำเงินส่วนที่กันไว้สำหรับการชำระราคาในคราวถัด ๆ ไป ไปลงทุนในทรัพย์สินตามข้อ 46(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6)

(7) ในกรณีที่กองทุนรวมมีนโยบายที่จะกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น หรือก่อภาระผูกพันใด ๆ แก่ทรัพย์สินของกองทุนรวม หรือออกหน่วยลงทุนคล้ายหนี้ ต้องมีข้อกำหนดที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไว้ไม่เกินกว่าสามเท่า เว้นแต่ในกรณีที่การเกินอัตราส่วนมิได้เกิดจากการกู้ยืมเงิน การก่อภาระผูกพัน หรือการออกหน่วยลงทุนคล้ายหนี้เพิ่มเติม และกำหนดวิธีการคำนวณอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนซึ่งเป็นไปตามประกาศเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมและการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโดยอนุโลม และ

(ข) กำหนดให้การกู้ยืมเงินหรือการก่อภาระผูกพันในนามของกองทุนรวม เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมและการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(8) มีวัตถุประสงค์ในการนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมชนิดที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

(9) โครงการจัดการกองทุนรวมและข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการมีข้อกำหนดที่รองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้ง ซึ่งเป็นไปตามภาค 2 และประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และประกาศเกี่ยวกับข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ

ข้อ 10 บริษัทจัดการต้องแสดงได้ว่ากองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งมีข้อกำหนดในโครงการจัดการกองทุนรวมที่แสดงลักษณะเพิ่มเติมของกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่แล้วเสร็จทั้งหมด บริษัทจัดการจะเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป

(2) กรณีที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จไม่เกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม หากมีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) หน่วยลงทุนชนิดที่จะเสนอขายต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไปต้องไม่มีความเสี่ยงสูงกว่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จเท่ากับร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวมนั้น และกองทุนรวมดังกล่าวไม่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน

(ข) หน่วยลงทุนชนิดที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นการเฉพาะเจาะจงต้องมีมูลค่าไม่เกินร้อยละห้าสิบของมูลค่าหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวมหรือไม่เกินสองเท่าของมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ แล้วแต่มูลค่าใด จะต่ำกว่า และหากมีหน่วยลงทุนชนิดที่ได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนในลำดับหลังหน่วยลงทุนชนิดอื่น ต้องเสนอขายหน่วยลงทุนชนิดดังกล่าวต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นการเฉพาะเจาะจงเท่านั้น

(3) กรณีที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จเกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม บริษัทจัดการจะเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น

(4) หน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่ตาม (2) (ข) หรือ (3) ต้องมีข้อกำหนดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(ก) ในระหว่างที่กิจการโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ

1. บริษัทจัดการจะไม่นำหน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

2. บริษัทจัดการหรือนายทะเบียนหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนตาม 1. ให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ลงทุนรายใหญ่ เว้นแต่เป็นการได้มาทางมรดก

(ข) เมื่อทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาแล้วเสร็จ บริษัทจัดการจะดำเนินการด้วยวิธีใด ๆ เพื่อให้หน่วยลงทุนของกองทุนรวมทั้งหมดกระจายต่อผู้ลงทุนทั่วไป และนำหน่วยลงทุนทั้งหมดนั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในสามปีนับแต่วันที่กิจการโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาแล้วเสร็จ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

กองทุนรวมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) ให้รวมถึงกรณีดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ โดยบางโครงการเป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ หรือ

(2) กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโครงการเดียว ซึ่งมีแผนพัฒนาโครงการเป็นส่วน ๆ (phase) โดยบางส่วนยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ

ข้อ 11 การแบ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมออกเป็นหลายชนิด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) หน่วยลงทุนชนิดเดียวกันต้องมีสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนที่เท่าเทียมกัน

(2) หน่วยลงทุนแต่ละชนิดจะมีสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนที่แตกต่างกันได้เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) การกำหนดประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งรวมถึงการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเป็นหน่วยลงทุนคล้ายหนี้และหน่วยลงทุนคล้ายทุน

(ข) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

(ค) กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน บริษัทจัดการต้องแสดงได้ว่าการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้จริง และได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม ตลอดจนผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดจะได้รับแล้ว

ข้อ 12 ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะได้มาต้องผ่านการประเมินค่าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นทรัพย์สินตามข้อ 1(3) (ก) ถึง (ง)

(ก) ผู้ประเมินค่าต้องเป็นนิติบุคคลที่มีประสบการณ์หรือความรู้ความเชี่ยวชาญในการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) เป็นการประเมินค่าอย่างเต็มรูปแบบที่มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิและเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะในการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน

(ค) การประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. ดำเนินการล่วงหน้าก่อนการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปี

2. กรณีทรัพย์สินมีมูลค่าตั้งแต่ห้าสิบล้านบาทขึ้นไป ต้องผ่านการประเมินค่าโดยผู้ประเมินค่าอย่างน้อยหนึ่งราย

3. กรณีการได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเข้าลักษณะของการทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องตามประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม ต้องผ่านการประเมินค่าโดยผู้ประเมินค่าอย่างน้อยสองราย

(2) กรณีทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเป็นหุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยบริษัทตามข้อ 1(3) (จ)

(ก) ผู้ประเมินค่าต้องเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นอิสระ

(ข) มีการประเมินค่าทรัพย์สินดังต่อไปนี้

1. หุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ที่เป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้น โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน (1) (ค) โดยอนุโลม และ

2. ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทดังกล่าวลงทุน โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใน (1) โดยอนุโลม

ข้อ 13 ในกรณีที่กองทุนรวมที่ขอจัดตั้งมีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสิทธิในการรับประโยชน์จากรายได้ในอนาคต หรือสิทธิตามสัญญาแบ่งรายได้ในอนาคตตามข้อ 1(3) (ค) หากกองทุนรวมมิได้เป็นบุคคลเดียวที่มีสิทธิได้รับรายได้ในอนาคตทั้งจำนวน บริษัทจัดการต้องแสดงได้ว่ามีการวิเคราะห์สิทธิได้เสียทางทรัพย์สินของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด โดยเปรียบเทียบกับสิทธิของเจ้าหนี้หรือผู้มีสิทธิอื่นในรายได้ในอนาคตนั้น พร้อมทั้งแสดงบทวิเคราะห์และความเห็นทางกฎหมายในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นพร้อมกับคำขอจัดตั้งกองทุนรวม

ส่วนที่ 2

การยื่นคำขออนุมัติและการอนุมัติ

_________________________

ข้อ 14 บริษัทจัดการที่ประสงค์จะขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ต้องยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมเป็นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุมัติดังต่อไปนี้ โดยการจัดทำเอกสารหลักฐานดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 15 ด้วย

(1) โครงการจัดการกองทุนรวม พร้อมทั้งเอกสารประกอบโครงการจัดการกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(ก) สรุปสาระสำคัญของร่างสัญญาที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(ข) รายงานการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุน ซึ่งจัดทำขึ้นตามข้อ 12

(ค) เอกสารแสดงความเห็นของบริษัทจัดการและที่ปรึกษาทางการเงินเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของรายงานการประเมินค่าตาม (ข) ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจัดการหรือที่ปรึกษาทางการเงินมีการจัดทำประมาณการทางการเงินของกิจการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งแสดงการวิเคราะห์ในกรณีพื้นฐาน (base case) และการวิเคราะห์ความไวต่อการเปลี่ยนแปลง (sensitivity analysis) ให้บริษัทจัดการหรือที่ปรึกษาทางการเงินอธิบายความแตกต่างระหว่างรายงานการประเมินค่าตาม (ข) กับประมาณการทางการเงินดังกล่าว (ถ้ามี) ด้วย

(ง) ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญอิสระเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ใช้กับกิจการโครงสร้างพื้นฐาน (technological feasibility) เฉพาะในกรณีที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยใช้ในประเทศไทยมาก่อน หรือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญเฉพาะด้านเป็นพิเศษ โดยต้องระบุรายละเอียด ข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยีดังกล่าว ตลอดจนตัวอย่างของโครงการอื่นที่ใช้เทคโนโลยีนั้น (ถ้ามี)

(จ) เอกสารแสดงข้อมูลว่ากิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เข้าทำธุรกรรมกับกองทุนรวมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินกิจการของรัฐหรือไม่ โดยในกรณีที่กิจการโครงสร้างพื้นฐานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ให้บริษัทจัดการแสดงข้อมูลว่าได้มีการดำเนินการไปแล้วอย่างไร พร้อมทั้งแนบหนังสือรับรองจากกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุน หรือจากหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการโครงสร้างพื้นฐานนั้นที่แสดงว่ากิจการโครงสร้างพื้นฐานได้ปฏิบัติตามกฎหมายนั้นแล้ว

(2) ร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ

(3) ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ ซึ่งมีข้อกำหนดให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) หน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการบริหารจัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการอย่างเคร่งครัด ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โดยใช้ความรู้ความสามารถเยี่ยงผู้มีวิชาชีพ เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม

(ข) หน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตลอดจนประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(4) ร่างหนังสือชี้ชวน

ข้อ 15 การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รายละเอียดโครงการจัดการกองทุนรวมและร่างหนังสือชี้ชวนต้องร่วมจัดทำโดยที่ปรึกษาทางการเงินที่สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเป็นอิสระจากบุคคลดังต่อไปนี้

(ก) ผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กองทุนรวม

(ข) กลุ่มบุคคลเดียวกันของบุคคลตาม (ก)

(2) คำขอและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอต้องมีบุคคลดังต่อไปนี้ ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน

(ก) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจัดการ

(ข) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้ควบคุมการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาทางการเงิน

(ค) กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่เป็นผู้จัดทำรายงานการประเมินค่าตามข้อ 14(1) (ข)

(ง) ผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กองทุนรวม

ข้อ 16 ให้ผู้ขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมต่อสำนักงานในวันยื่นคำขอ ทั้งนี้ ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ

ข้อ 17 ในการพิจารณาคำขอ ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทจัดการมาชี้แจง แก้ไข หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ในกรณีที่บริษัทจัดการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่สำนักงานแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทจัดการไม่ประสงค์จะขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมอีกต่อไป เว้นแต่บริษัทจัดการจะแสดงให้เห็นได้ว่าการที่มิได้ดำเนินการตามที่สำนักงานแจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นและสมควร

ข้อ 18 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานครบถ้วน

ส่วนที่ 3

อำนาจสำนักงานเกี่ยวกับการอนุมัติ

_________________________

ข้อ 19 กองทุนรวมที่จะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูล ข้อกำหนด หรือข้อสัญญา ในคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอ เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว และต้องไม่มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์นั้น

(2) บริษัทจัดการแสดงได้ว่า การจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุน รวมทั้งมีนโยบายการจัดหาผลประโยชน์ที่เป็นธรรมและไม่เป็นการเอาเปรียบผู้ถือหน่วยลงทุน

(3) บริษัทจัดการที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งระงับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมเป็นการชั่วคราว

ข้อ 20 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมตามคำขอได้

(1) กองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุมัติตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการจัดตั้งกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือประกาศนี้

(2) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ

(3) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม หรือ

(4) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 21 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณากับคำขอ หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการขอจัดตั้งกองทุนรวม

(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว

(2) บริษัทจัดการมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) บริษัทจัดการมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

การผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทจัดการต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ข้อ 22 ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทจัดการมีข้อมูลไม่ครบถ้วน มีข้อความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือกรณีอื่นใดที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน สำนักงานอาจสั่งการให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนรวมเพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบ

(2) จัดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนใหม่

(3) จัดให้มีการตรวจสอบและสอบทาน (การทำ due diligence) หรือการให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุน

(4) จัดให้มีความเห็นทางกฎหมายในประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญหรือที่ไม่ชัดเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับกองทุนรวมดังกล่าว

หมวด 2

การดำเนินการเมื่อได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

___________________________

ส่วนที่ 1

ข้อกำหนดทั่วไป

___________________________

ข้อ 23 ให้บริษัทจัดการที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ โครงการจัดการกองทุนรวม สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์และหนังสือชี้ชวน ที่มีสาระไม่ต่างจากฉบับร่างที่ยื่นต่อสำนักงาน

(2) จัดให้กองทุนรวมมีลักษณะไม่ต่างไปจากสาระสำคัญที่แสดงไว้ล่าสุดต่อสำนักงาน ตลอดอายุของกองทุนรวม และในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องดำเนินการให้กองทุนรวมดังกล่าวมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในภาคนี้ด้วย

(3) จัดให้มีการยื่นคำขอจดทะเบียนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม หรือนับแต่วันปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมเพื่อการเพิ่มเงินทุนของกองทุนรวม แล้วแต่กรณี

ข้อ 24 บริษัทจัดการต้องดูแลให้ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการและโครงการจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ และคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว โดยในกรณีที่ข้อกำหนดในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการหรือโครงการจัดการกองทุนรวมขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ประกาศ กฎ หรือคำสั่งนั้น ให้บริษัทจัดการดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการและโครงการจัดการกองทุนรวมโดยไม่ชักช้า

ส่วนที่ 2

การจัดสรรและเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

___________________________

ข้อ 25 ในการจัดสรรหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ใช้กระบวนการจัดสรรหน่วยลงทุนที่ให้โอกาสแก่ผู้จองซื้อทุกรายอย่างเป็นธรรม

“กระบวนการจัดสรรหน่วยลงทุนที่ให้โอกาสแก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนทุกรายอย่างเป็นธรรม” ตามวรรคหนึ่งหมายความว่า กระบวนการที่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์หรือบริษัทจัดการกำหนดหน่วยการจองซื้อ (board lot) ไว้ และจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนทุกรายอย่างเท่าเทียมกันครั้งละหนึ่งหน่วยการจองซื้อจนครบจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่าย หรือกระบวนการอื่นที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) จัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ในข้อ 26 ข้อ 27 ข้อ 28 และข้อ 29

ความในวรรคหนึ่ง (1) มิให้นำมาใช้บังคับกับการจัดสรรที่เข้าลักษณะดังต่อไปนี้

(1) การจัดสรรหน่วยลงทุนชนิดที่เสนอขายต่อผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นการเฉพาะเจาะจง หรือ

(2) การจัดสรรหน่วยลงทุนในส่วนที่แบ่งแยกไว้สำหรับบุคคลดังต่อไปนี้ และได้เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวนแล้ว

(ก) บุคคลที่เข้าลักษณะเป็นผู้จองซื้อพิเศษตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือ

(ข) ผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กองทุนรวม

ข้อ 26 ให้บริษัทจัดการจัดสรรหน่วยลงทุนของกองทุนรวมให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดได้ ไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้

(1) หนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม และ

(2) ร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด ในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน

ข้อ 27 บริษัทจัดการอาจจัดสรรหน่วยลงทุนของกองทุนรวมให้แก่บุคคลที่ได้รับยกเว้นเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 26(1) ได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม

บุคคลที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า

(1) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(2) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(3) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

(4) กองทุนประกันสังคม

(5) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ข้อ 28 มิให้นำความในข้อ 26 มาใช้บังคับกับบริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนที่รับหน่วยลงทุนไว้ในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นการรับหน่วยลงทุนตามสัญญารับประกันการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และ

(2) การรับหน่วยลงทุนอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนจะถือหน่วยลงทุนในส่วนที่เกินอัตราที่กำหนดในข้อ 26 ไว้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่รับหน่วยลงทุน

(ข) ในช่วงระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รับหน่วยลงทุน บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนจะถูกจำกัดสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน ในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราดังต่อไปนี้

1. ร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม และ

2. ร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด ในกรณีที่กองทุนรวมนั้นมีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน

(ค) ในกรณีที่การถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตาม (ก) บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนจะถูกจำกัดสิทธิในการรับเงินปันผลและการออกเสียงลงคะแนน ในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนดในข้อ 26

ข้อ 29 ในกรณีกฎหมาย กฎ หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกิจการโครงสร้างพื้นฐานมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของคนต่างด้าวไว้ ให้บริษัทจัดการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่คนต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ หรือข้อกำหนดนั้นด้วย

ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการและบรรดากฎหมาย กฎ หรือข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกิจการโครงสร้างพื้นฐานมีการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของคนต่างด้าวไว้แตกต่างกัน ให้บริษัทจัดการจัดสรรหน่วยลงทุนตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ต่ำสุดของบรรดากฎหมาย กฎ หรือข้อกำหนดนั้น

ข้อ 30 ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เปิดเผยร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อสำนักงานด้วยวิธีการที่ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงได้ ก่อนวันเริ่มเสนอขายหน่วยลงทุน โดยร่างหนังสือชี้ชวนดังกล่าวต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง เพียงพอ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน

(2) จัดส่งหนังสือชี้ชวนที่มีสาระสำคัญไม่ต่างจากฉบับร่างให้แก่สำนักงานไม่น้อยกว่าหนึ่งวันทำการก่อนการเริ่มจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนแก่ผู้ลงทุน

(3) จัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนแก่ผู้ลงทุนที่สนใจจะลงทุนในหน่วยลงทุน โดยต้องมีระยะเวลาที่พอสมควรแก่การที่ผู้ลงทุนจะศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุนในหน่วยลงทุน ทั้งนี้ เมื่อรวมกับระยะเวลาการเปิดเผยร่างหนังสือชี้ชวนตาม (1) ต้องไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน

(4) การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนโดยการโฆษณา ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องและไม่มีลักษณะที่ทำให้ผู้ลงทุนสำคัญผิด ทั้งนี้ ให้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาเพื่อสนับสนุนการขายหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มาใช้บังคับโดยอนุโลม

(5) ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะตั้งบริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเป็นผู้ทำหน้าที่ในการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม บริษัทจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนดังกล่าวต้องไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า หรือให้สิทธิในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมจะลงทุนในลักษณะของการเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน

(6) ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) จัดให้มีผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเพื่อทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนหรือให้คำแนะนำกับผู้ลงทุนรายย่อย

(ข) ประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุนอย่างกว้างขวางเพื่อให้มีการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนอย่างแพร่หลาย

ข้อ 31 ในกรณีที่บริษัทจัดการประสงค์จะยกเลิกการจัดตั้งกองทุนรวมที่อยู่ระหว่างการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก หากบริษัทจัดการได้ระบุกรณีดังกล่าวไว้ในหนังสือชี้ชวนแล้ว บริษัทจัดการอาจยุติการขายหน่วยลงทุนได้

ให้บริษัทจัดการรายงานให้สำนักงานทราบถึงการยุติการขายหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ยุติการขายหน่วยลงทุนนั้น และให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมสิ้นสุดลงในวันที่รายงานให้สำนักงานทราบ

ให้บริษัทจัดการคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมสิ้นสุดลงตามวรรคสอง และหากบริษัทจัดการไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่บริษัทจัดการต้องรับผิดชอบ ให้บริษัทจัดการชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการคืนเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วน

ข้อ 32 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงแก่บริษัทจัดการว่ามีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุน ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ภายหลังการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม เกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28 แล้วแต่กรณี ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไป

(1) รายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการรู้หรือควรรู้ถึงเหตุดังกล่าว

(2) แจ้งให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันจำหน่ายหน่วยลงทุนในส่วนที่ไม่เป็นไปตามข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28 แล้วแต่กรณี

ข้อ 33 บริษัทจัดการต้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการถือหน่วยลงทุนของคนต่างด้าว ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ภายหลังการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 29

การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) การจัดให้มีระบบงานที่สามารถควบคุมการถือหน่วยลงทุนของคนต่างด้าว หรือการแต่งตั้งนายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีระบบงานดังกล่าว

(2) การจัดให้มีข้อกำหนดหรือข้อสัญญาที่มีผลให้บริษัทจัดการหรือนายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี สามารถปฏิเสธไม่รับคนต่างด้าวลงทะเบียนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนได้ หากว่าการรับลงทะเบียนดังกล่าวจะเป็นเหตุให้การถือหน่วยลงทุนของคนต่างด้าวไม่เป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนดในข้อ 29

ทั้งนี้ การจัดให้มีนายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย

ส่วนที่ 3

การสิ้นสุดการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

_____________________________

ข้อ 34 ในกรณีที่บริษัทจัดการมิได้เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานให้จัดตั้งกองทุนรวม ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลง

ข้อ 35 เมื่อสิ้นสุดการเสนอขายหน่วยลงทุน แต่ยังมิได้จดทะเบียนกองทุนรวมหากปรากฏกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลง

(1) มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ไม่ถึงห้าร้อยราย ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(ก) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่แล้วเสร็จทั้งหมด

(ข) กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จไม่เกินร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม

(2) มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ไม่ถึงสามสิบห้าราย ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จเกินกว่าร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม

(3) มูลค่าหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้มีมูลค่าไม่ถึงสองพันล้านบาท

(4) มูลค่าหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้เมื่อรวมกับมูลค่าการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น (ถ้ามี) มีมูลค่าไม่เพียงพอที่จะลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

(5) มีการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดไม่เป็นไปตามข้อ 26 ข้อ 27 ข้อ 28 หรือข้อ 29

ให้บริษัทจัดการแจ้งให้สำนักงานทราบกรณีตามวรรคหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าว และคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนภายในสิบสี่วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้นตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน ทั้งนี้ หากบริษัทจัดการไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลานั้นได้เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่บริษัทจัดการต้องรับผิดชอบ ให้บริษัทจัดการชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการคืนเงินค่าจองซื้อครบถ้วน

เพื่อประโยชน์ในการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้แล้วตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

ข้อ 36 สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมได้ หากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้

(1) มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม หรือข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ ที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตามประกาศนี้

(2) มีการดำเนินการเมื่อได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมไม่เป็นไปตามหมวด 2 ของภาคนี้

(3) มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้งตามภาค 2

(4) มีการลงทุนหรือการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานไม่เป็นไปตามแผนการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นกรณีที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินการของกองทุนรวม

(5) มีการบริหารจัดการกองทุนรวมโดยฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในภาค 3

ข้อ 37 เมื่อมีการเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม หากได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว แต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยให้นำความในข้อ 35 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากมีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทจัดการดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที

ส่วนที่ 4

การลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

__________________________

ข้อ 38 ให้บริษัทจัดการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานภายในหกเดือนนับแต่วันที่จดทะเบียนกองทุนรวม โดยคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

ข้อ 39 บริษัทจัดการต้องดำรงมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี โดยมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้บริษัทจัดการจะไม่ดำรงมูลค่าดังกล่าวก็ได้

(1) กรณีที่เป็นรอบปีบัญชีสุดท้ายที่กองทุนรวมสิ้นอายุโครงการ

(2) กรณีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 40 การคำนวณมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่เป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของโครงการที่แล้วเสร็จ ให้คำนวณตามราคาที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้น

(2) กรณีที่เป็นทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ ให้คำนวณตามผลรวมของราคาที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นและมูลค่าเงินลงทุนที่กองทุนรวมต้องใช้ในการพัฒนาให้เป็นโครงการที่แล้วเสร็จ

ในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งชำระราคาทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน หากกองทุนรวมนำเงินส่วนที่กันไว้สำหรับการชำระราคาในคราวถัด ๆ ไป ไปลงทุนในทรัพย์สินตามข้อ 46(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) บริษัทจัดการอาจนับเงินส่วนที่กันไว้รวมคำนวณเป็นมูลค่า ของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามวรรคหนึ่งได้

ภาค 2

ข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของ

กองทุนรวมภายหลังการจัดตั้ง

_________________________

ข้อ 41 โครงการจัดการกองทุนรวมและข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ ต้องมีข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้ง ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการได้มาเพิ่มเติมและการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 42

(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 43

(3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 44

(4) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินอื่น ซึ่งเป็นไปตามข้อ 45 ถึงข้อ 47

(5) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำธุรกรรมระหว่างกองทุนรวมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามข้อ 48

(6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเพิ่มหรือลดเงินทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 49 ถึงข้อ 54

(7) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 55 ถึงข้อ 60

(8) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผล และการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามข้อ 61 และข้อ 62

(9) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิในการรับเงินปันผล การจัดการกับเงินปันผล และสิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเป็นไปตามข้อ 63

(10) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลิกกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามข้อ 64

(11) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบหน่วยลงทุนหรือหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 65

(12) ข้อกำหนดอื่นตามประกาศเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานและประกาศเกี่ยวกับข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการ

ข้อ 42 การได้มาเพิ่มเติมและจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 1 ของหมวด 1 ของภาค 1 โดยอนุโลม และมีข้อกำหนดเพิ่มเติมที่มีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) การได้มาเพิ่มเติมหรือการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือตั้งแต่ร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวมขึ้นไป จะกระทำได้เมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(ก) การได้มาเพิ่มเติมหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามข้อตกลงหรือสัญญาที่มีกับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณซึ่งได้ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงแล้วในโครงการจัดการกองทุนรวม

(ข) การได้มาเพิ่มเติมหรือการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมูลค่าเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท แต่น้อยกว่าร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว

การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาจากมูลค่าการลงทุนในแต่ละกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ทุกรายการภายในรอบระยะเวลาหกเดือน

(2) การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตาม (1) ให้รวมถึงการได้มาหรือจำหน่ายไปไม่ว่าโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมผ่านบริษัทที่กองทุนรวมเป็นผู้ถือหุ้นตามข้อ 1(3) (จ)

ข้อ 43 การจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่มีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมจะไม่ประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐานเอง โดยจะจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโดยการให้เช่า ให้สิทธิ หรือให้ผู้อื่นดำเนินการเท่านั้น

(2) การเข้าทำ แก้ไข หรือยกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีมูลค่าของสัญญาเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท หรือตั้งแต่ร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวมขึ้นไป จะกระทำได้เมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

(ก) การเข้าทำ แก้ไข หรือยกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ ซึ่งได้ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจงแล้วในโครงการจัดการกองทุนรวม

(ข) การเข้าทำ แก้ไข หรือยกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ที่มีมูลค่าของสัญญาเกินกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท แต่น้อยกว่าร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว

การคำนวณมูลค่าของสัญญาตามวรรคหนึ่ง (2) ให้พิจารณาจากมูลค่าของสัญญาทุกรายการภายในรอบระยะเวลาหกเดือน

ข้อ 44 การประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่มีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) บริษัทจัดการจะจัดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(ก) การประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามข้อ 1(3) (ก) ถึง (ง) ของกองทุนรวมจะกระทำทุกสามปีนับแต่วันที่มีการประเมินค่าครั้งล่าสุด

(ข) การประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน จะกระทำโดยผู้ประเมินค่ารายเดียวกันติดต่อกันเกินสองครั้งมิได้

(ค) ในกรณีที่ปรากฏแก่บริษัทจัดการว่ามีเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญ หรือกรณีที่ได้รับการร้องขอจากผู้ดูแลผลประโยชน์หรือผู้สอบบัญชีของกองทุนรวม บริษัทจัดการจะจัดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโดยไม่ชักช้า

(2) ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยบริษัทตามข้อ 1(3) (จ) บริษัทจัดการจะจัดให้มีการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่บริษัทดังกล่าวลงทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ใน (1) โดยอนุโลม

ข้อ 45 การลงทุนในทรัพย์สินอื่น บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ประเภทของทรัพย์สินอื่นที่กองทุนรวมสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 46 และข้อ 47

(2) อัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินอื่น ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินของกองทุนรวมทั่วไปโดยอนุโลม

ข้อ 46 นอกจากการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานแล้ว กองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นดังต่อไปนี้ได้

(1) พันธบัตรรัฐบาล

(2) ตั๋วเงินคลัง

(3) พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เป็นผู้ออก และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข

(4) เงินฝากในธนาคาร หรือบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

(5) บัตรเงินฝากที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก ทั้งนี้ หากเป็นบัตรเงินฝากที่เข้าลักษณะของตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการลงทุน

(6) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ย หรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ หากเป็นตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่เข้าลักษณะของตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการลงทุน

(7) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ หรือเงินฝาก

(8) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอื่น

(9) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือเป็นหน่วยลงทุนของ กองทุนรวมในต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE)

(ข) กองทุนรวมในต่างประเทศนั้นมีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภทและชนิดเดียวกับทรัพย์สินที่กองทุนรวมสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ และ

(ค) กองทุนรวมในต่างประเทศนั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

(10) หุ้นที่ออกโดยบริษัทที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทนั้นมีการลงทุนทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามข้อ 1(3) (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของบริษัทดังกล่าว หรือมีรายได้จากการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามข้อ 1(3) (ก) (ข) (ค) หรือ (ง) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของรายได้รวมในแต่ละปีบัญชี

(ข) บริษัทนั้นมิใช่บริษัทตามข้อ 1(3) (จ)

(11) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งการเข้าทำสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงของกองทุนรวม

ข้อ 47 กองทุนรวมอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหุ้นของนิติบุคคลที่เป็นผู้เช่า ผู้รับสิทธิ หรือผู้รับจ้างที่นำทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวมไปจัดหาผลประโยชน์ได้ไม่เกินหนึ่งหุ้น โดยเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) หุ้นนั้นให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ถือหุ้นในการอนุมัติการดำเนินงานบางประการของนิติบุคคลดังกล่าว (golden share) ทั้งนี้ ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับของนิติบุคคลนั้น และ

(2) นิติบุคคลดังกล่าวตกลงชำระค่าตอบแทนให้แก่กองทุนรวมในอัตราผันแปรตามผลประกอบการของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปจัดหาผลประโยชน์

ข้อ 48 การทำธุรกรรมระหว่างกองทุนรวมกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่มีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการจะปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนรวม และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(ก) เป็นธุรกรรมที่ใช้ราคาที่เป็นธรรม

(ข) เป็นธุรกรรมที่บุคคลที่มีส่วนได้เสียกับการทำธุรกรรมไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเข้าทำธุรกรรม

(ค) การคิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเข้าทำธุรกรรมจากกองทุนรวมอยู่ในอัตราที่เป็นธรรมและเหมาะสม

(2) การดำเนินการดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการจะกระทำได้เมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน

(ก) การเข้าทำธุรกรรมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องที่เป็นการได้มาเพิ่มเติม หรือการจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่าของทรัพย์สินไม่น้อยกว่ายี่สิบล้านบาท หรือไม่น้อยกว่าร้อยละสามของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญาที่มีกับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ซึ่งได้ระบุไว้เป็นการเฉพาะเจาะจงแล้วในโครงการจัดการกองทุนรวม

(ข) การเข้าทำ แก้ไข หรือยกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่าของสัญญาไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน (ก)

(ค) การตกลง ยินยอม หรือใช้สิทธิออกเสียง เพื่อให้บริษัทที่กองทุนรวมเป็นผู้ถือหุ้นตามข้อ 1(3) (จ) ทำธุรกรรมตาม (ก) หรือ (ข) กับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 49 การเพิ่มหรือลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 50

(2) การลดเงินทุนจดทะเบียน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 51 ถึงข้อ 54

ข้อ 50 การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการจะกระทำได้ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว

(2) การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมไม่ขัดหรือแย้งกับโครงการจัดการกองทุนรวม หรือกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าวด้วย

(3) ในกรณีที่เป็นการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมโดยเสนอขายหน่วยลงทุนเป็นการเฉพาะเจาะจงให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนบางราย ต้องไม่ปรากฏว่ามีผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งถือหน่วยลงทุนรวมกันเกินกว่าร้อยละสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด คัดค้านการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม และ

(4) ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน เว้นแต่เป็นการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมโดยการเสนอขายหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ทั้งหมดต่อผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน และได้รับชำระราคาค่าหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุน

(5) ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีมติให้เสนอขายหน่วยลงทุนที่ออกใหม่ทั้งหมดต่อผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน หากบริษัทจัดการมิได้เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องดำเนินการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุนอีกครั้งหนึ่ง

ข้อ 51 การลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการอาจกระทำได้ เฉพาะเมื่อเข้ากรณีดังต่อไปนี้

(1) เป็นการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมตามแผนที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม

(2) กองทุนรวมมีสภาพคล่องส่วนเกินที่เหลืออยู่ภายหลังจากการจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานและการจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ ต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่ากองทุนรวมไม่มีกำไรสะสมเหลืออยู่แล้ว

(3) กองทุนรวมมีรายการค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด และไม่มีเหตุต้องนำไปใช้ในการคำนวณกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วของกองทุนรวม

(4) กรณีอื่นใดที่มีมติของผู้ถือหน่วยลงทุนให้ลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

ข้อ 52 ให้บริษัทจัดการดำเนินการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมโดยไม่ชักช้าในกรณีที่กองทุนรวมมีการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนเพื่อลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมแล้ว แต่ปรากฏเหตุขัดข้องในภายหลังอันทำให้ไม่สามารถได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวได้

ข้อ 53 การลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมที่เป็นกรณีตามข้อ 51(2) หรือ (3) บริษัทจัดการจะกระทำได้เมื่อได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน

ข้อ 54 การลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการอาจกระทำโดยการลดมูลค่าหน่วยลงทุนหรือลดจำนวนหน่วยลงทุน และจะเฉลี่ยเงินคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน โดยไม่หักเงินที่เฉลี่ยคืนดังกล่าวจากกำไรสะสมของกองทุนรวม

ข้อ 55 การขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องจัดให้ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการมีข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดทั่วไปในการขอมติและการออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 56

(2) ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามข้อ 57 และข้อ 58

(3) ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามข้อ 59

(4) ข้อกำหนดเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมที่มีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด ซึ่งเป็นไปตามข้อ 60

ข้อ 56 การขอมติและการออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) บริษัทจัดการอาจขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยการส่งหนังสือขอมติไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนหรือโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนก็ได้

(2) บริษัทจัดการจะจัดให้มีการขอมติโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อมีผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งถือหน่วยลงทุนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม เข้าชื่อกันทำหนังสือขอให้บริษัทจัดการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนโดยระบุเหตุผลในการขอให้เรียกประชุมไว้อย่างชัดเจน

(3) การขอมติโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน องค์ประชุมต้องประกอบด้วยผู้ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคน หรือไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมด โดยมีหน่วยลงทุนนับรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม

(4) ผู้ถือหน่วยลงทุนมีคะแนนเสียง เสียงหนึ่งต่อหน่วยลงทุนหนึ่งที่ตนถือ โดยผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนต้องไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้

(ก) ผู้ถูกจำกัดสิทธิออกเสียงเนื่องจากการถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในข้อ 26 ข้อ 27 หรือข้อ 28 แล้วแต่กรณี หรือ

(ข) ผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในเรื่องที่จะลงมตินั้น

(5) มติของผู้ถือหน่วยลงทุนให้ถือตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิออกเสียง เว้นแต่เป็นกรณีตาม (6)

(6) ในกรณีที่เป็นการขอมติโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน มติของผู้ถือหน่วยลงทุนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีปกติ ให้ถือตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

(ข) ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

1. การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

2. การเพิ่มเงินทุนหรือการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

3. การเข้าทำ แก้ไข หรือยกเลิกสัญญาเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

4. การตกลง ยินยอม หรือใช้สิทธิออกเสียง ในกรณีที่บริษัทที่กองทุนรวมเป็นผู้ถือหุ้นตามข้อ 1(3) (จ) จะดำเนินการตาม 1. 2. หรือ 3.

ความในวรรคหนึ่ง (3) (5) และ (6) มิให้นำมาใช้บังคับกับการขอมติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรา 129

ข้อ 57 การขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องจัดให้ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ในหนังสือนัดประชุม หรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ แล้วแต่กรณี

(1) วัตถุประสงค์ในการเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

(2) จำนวนหน่วยลงทุนเพิ่มทุน ราคาเสนอขาย วิธีการเสนอขายและการจัดสรรหน่วยลงทุน

(3) ในกรณีที่ราคาเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนต่ำกว่าราคาที่เสนอขายต่อผู้ถือหน่วยลงทุน หรือต่ำกว่าราคาตลาด (ถ้ามี) บริษัทจัดการจะแสดงเหตุผลที่จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนในราคาดังกล่าว

(4) ผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม โดยบริษัทจัดการจะระบุข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อราคาตลาดของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (price dilution)

(ข) ผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรหรือสิทธิออกเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนเดิม (control dilution)

(ค) ข้อมูลอื่นใดที่อาจมีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน

ข้อ 58 การขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนในกรณีที่เป็นการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมเพื่อให้ได้มาเพิ่มเติมซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการต้องจัดให้ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ในหนังสือนัดประชุม หรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ แล้วแต่กรณี

(1) ลักษณะของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

(2) หลักเกณฑ์การกำหนดราคาทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

(3) สรุปรายงานการประเมินค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว และสมมติฐานที่สำคัญในการประเมินค่า

(4) ความเห็นของบริษัทจัดการเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลของสมมติฐานในการประเมินค่าตาม (3)

(5) สรุปสาระสำคัญของข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว และร่างสัญญาอื่นที่เกี่ยวข้อง

(6) การกู้ยืมเงินและผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุน (ถ้ามี) เช่น แหล่งที่มาและจำนวนเงินที่จะกู้ยืม ทรัพย์สินที่จะนำไปเป็นหลักประกัน ลำดับสิทธิของเจ้าหนี้เงินกู้ยืมและผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด เป็นต้น

บริษัทจัดการอาจกำหนดว่า ในกรณีที่บริษัทจัดการพิจารณาแล้วมีความเชื่อโดยสุจริตและสมเหตุสมผลว่า การเปิดเผยข้อมูลบางรายการตามวรรคสองก่อนการเข้าทำรายการที่ได้รับมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน จะส่งผลกระทบต่อประโยชน์ของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม บริษัทจัดการอาจไม่ระบุข้อมูลนั้น โดยจะแสดงเหตุผลในการไม่ระบุข้อมูลดังกล่าวไว้ในหนังสือนัดประชุมหรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อความจำเป็นในการไม่เปิดเผยข้อมูลนั้นหมดไป บริษัทจัดการจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยไม่ชักช้า

ข้อ 59 การขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องจัดให้ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้ ในหนังสือนัดประชุม หรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ แล้วแต่กรณี

(1) เหตุแห่งการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

(2) จำนวนเงินทุนจดทะเบียนและจำนวนเงินทุนจดทะเบียนต่อหน่วยลงทุนที่ลดลงในแต่ละครั้ง

(3) ผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมจากการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

ข้อ 60 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อกำหนดเพิ่มเติมในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการที่ให้ผลดังต่อไปนี้

(1) การขอมติในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกชนิด เช่น การเลิกกองทุนรวม เป็นต้น ต้องได้รับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของชนิดนั้น

(2) การขอมติในเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดหนึ่งชนิดใด เช่น การคิดค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของหน่วยลงทุนแต่ละชนิดเพิ่มเติม เป็นต้น ให้บริษัทจัดการขอมติเฉพาะจากผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดนั้น โดยต้องได้รับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของชนิดดังกล่าว

การขอมติและการออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ต้องกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 55 ถึงข้อ 59 โดยอนุโลม

ข้อ 61 การจ่ายเงินปันผล บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่มีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) บริษัทจัดการจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เมื่อรวมแล้วในแต่ละงวดปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผล ทั้งนี้ การคำนวณกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว บริษัทจัดการจะคำนวณโดยหักกำไรสุทธิของกองทุนรวมด้วยรายการดังต่อไปนี้

(ก) กำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized gain) จากการประเมินราคาทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวม

(ข) เงินสำรองที่กันไว้เพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา หรือปรับปรุงกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวมตามแผนที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในโครงการของกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน หรือที่บริษัทจัดการได้แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบล่วงหน้า

(ค) เงินสำรองที่กันไว้เพื่อการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ยืมหรือภาระผูกพันของกองทุนรวมตามนโยบายการกู้ยืมเงินที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมและหนังสือชี้ชวน หรือที่บริษัทจัดการได้แจ้งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบล่วงหน้า

ในกรณีที่กองทุนรวมมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ค่าใช้จ่ายที่ทยอยตัดจ่ายหรือผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้น (unrealized loss) เป็นต้น บริษัทจัดการจะหักรายการตามวรรคหนึ่ง (ข) และ (ค) จากกำไรสุทธิของกองทุนรวมได้ตามมูลค่าของรายการดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เกินกว่าค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสดเท่านั้น

(2) ในกรณีที่กองทุนรวมยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ บริษัทจัดการจะไม่จ่ายเงินปันผล

ข้อ 62 บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด หรือค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวม หรือผู้ถือหน่วยลงทุนไว้อย่างชัดเจน โดยค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดการจะหักจากเงินของกองทุนรวมจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนรวมโดยตรงเท่านั้น

ข้อ 63 การจำกัดสิทธิในการรับเงินปันผล การจัดการกับเงินปันผล และการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุน ต้องมีข้อกำหนดในข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการที่แสดงสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) จำกัดสิทธิในการรับเงินปันผลของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28 และกำหนดวิธีดำเนินการกับเงินปันผลในส่วนที่ไม่อาจจ่ายแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวดังต่อไปนี้

(ก) จะยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวให้เป็นรายได้แผ่นดิน โดยถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงรับทราบและยินยอมให้ดำเนินการแล้ว และ

(ข) ในระหว่างที่ยังมิได้ดำเนินการตาม (ก) บริษัทจัดการจะจัดทำบัญชีและแยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวออกจากทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวม โดยไม่นำมารวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม

(2) จำกัดสิทธิในการใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนของผู้ถือหน่วยลงทุนดังต่อไปนี้

(ก) ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนเกินกว่าอัตราที่กำหนด ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 26 ข้อ 27 และข้อ 28

(ข) ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในเรื่องที่ขอมติ

ข้อ 64 การเลิกกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่แสดงว่า เมื่อปรากฏเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม และในกรณีดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการจะเลิกกองทุนรวม

(1) เมื่อจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่าสามสิบห้าราย เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวมและบริษัทจัดการนำเงินไปลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม จนทำให้กองทุนรวมมีเงินทุนจดทะเบียนต่ำกว่าสองพันล้านบาทเมื่อคำนวณจากมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุน

(3) เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวม และบริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมลงทุนมีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งพันห้าร้อยล้านบาท และไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(4) เมื่อสำนักงานมีคำสั่งเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

ข้อ 65 บริษัทจัดการต้องจัดให้ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการมีข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนร้องขอให้บริษัทจัดการออกใบหน่วยลงทุนหรือหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะออกใบหน่วยลงทุนหรือหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนที่เป็นปัจจุบัน และมีข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนและใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการและบุคคลอื่นได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนจะระบุข้อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นไว้อย่างชัดเจน

ภาค 3

หลักเกณฑ์การบริหารและจัดการกองทุนรวม

_________________________

หมวด 1

การจัดการทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

_________________________

ข้อ 66 ให้บริษัทจัดการจัดให้มีคณะกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนอย่างน้อยหนึ่งคณะ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการจัดการทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมลงทุน คณะกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ต้องประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ผู้แทนจากบริษัทจัดการ โดยผู้แทนอย่างน้อยหนึ่งรายต้องเป็นผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีประสบการณ์ในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

ข้อ 67 ในการขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทจัดการต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการให้กรรมการแจ้งการมีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณา

(2) ห้ามมิให้กรรมการผู้ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องที่พิจารณาไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เข้าร่วมพิจารณาในเรื่องนั้น

ข้อ 68 ในการจัดการทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทจัดการต้องดำเนินการและควบคุมดูแลให้การจัดการเป็นไปตามสาระสำคัญที่ได้ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม

ข้อ 69 ในการจัดการทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามข้อ 1(3) (ก) ถึง (ง) บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อกำหนดในเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เช่า ผู้รับสิทธิ หรือผู้รับจ้างที่นำทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของกองทุนรวมไปจัดหาผลประโยชน์ มีหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงและเหตุผลต่อบริษัทจัดการโดยไม่ชักช้า เมื่อมีเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อ 70 ในการจัดการทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหุ้นของบริษัทตามข้อ 1(3) (จ) บริษัทจัดการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ส่งบุคลากรเข้าร่วมบริหารในกิจการของบริษัทนั้น โดยบุคลากรดังกล่าวต้องเป็นผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

(2) ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนเพื่อให้

(ก) ผู้บริหารและบุคคลผู้มีอำนาจควบคุมกิจการโครงสร้างพื้นฐาน มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะขาดความน่าไว้วางใจของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

(ข) การกู้ยืมเงินของบริษัทดังกล่าว (ถ้ามี) เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในนามของกองทุนรวมและการก่อภาระผูกพันแก่ทรัพย์สินของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโดยอนุโลม

หมวด 2

การเพิ่มหรือลดเงินทุนจดทะเบียน

___________________________

ข้อ 71 การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การขออนุมัติเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานเป็นหนังสือ โดยต้องแสดงได้ว่ากองทุนรวมมีลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดในภาค 1 ของประกาศนี้

(2) การเสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไปเพื่อเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 30 และ 31 โดยอนุโลม

(3) การขอแก้ไขเพิ่มเติมเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ต้องยื่นคำขอต่อสำนักงานภายในสิบห้าวันทำการนับแต่วันปิดการเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ทั้งนี้ ตามแบบที่จัดไว้ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน

ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้ ให้การอนุมัติให้เพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลง

(1) บริษัทจัดการมิได้เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน

(2) มูลค่าหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้ เมื่อรวมกับมูลค่าการกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น (ถ้ามี) มีมูลค่าไม่เพียงพอที่จะลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานตามที่ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อ 35 วรรคสอง โดยอนุโลม

ข้อ 72 การลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่เฉลี่ยเงินคืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ตามแบบที่จัดไว้ในระบบงานอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน

บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการลดเงินทุนจดทะเบียนทุกครั้งของกองทุนรวมไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวมและรายงานประจำปีของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบได้ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เหตุแห่งการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

(2) จำนวนเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมและจำนวนเงินทุนจดทะเบียนต่อหน่วยลงทุนที่ลดในแต่ละครั้ง

(3) วันปิดสมุดทะเบียน และวันที่ดำเนินการเฉลี่ยเงินคืนผู้ถือหน่วยลงทุน

หมวด 3

การขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน

____________________________

ข้อ 73 ในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องแสดงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงความเห็นของบริษัทจัดการและผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมในเรื่องที่ขอมติ และผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับจากการลงมติในเรื่องดังกล่าว

การแสดงข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการแสดงไว้ในหนังสือนัดประชุม หรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ

หมวด 4

การเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานของกองทุนรวม

____________________________

ข้อ 74 ให้บริษัทจัดการจัดทำ จัดส่ง และเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) มูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 75

(2) งบการเงินและงบการเงินรวมของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ในข้อ 76 ข้อ 77 และข้อ 78

(3) รายงานความคืบหน้าของโครงการ ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ 79

(4) รายงานประจำปีของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ในข้อ 80

ข้อ 75 ให้บริษัทจัดการคำนวณและเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวม เป็นรายไตรมาสภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาส ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ออกตามมาตรา 117 โดยอนุโลม

ข้อ 76 ให้บริษัทจัดการส่งงบการเงินของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ ในข้อ 77 ต่อสำนักงานดังต่อไปนี้

(1) งบการเงินรายไตรมาสที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว ทั้งนี้ ภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันสุดท้ายของแต่ละไตรมาส

(2) งบการเงินประจำงวดการบัญชีที่ผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้ว ทั้งนี้ ภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของกองทุนรวมในกรณีที่บริษัทจัดการได้จัดทำและนำส่งงบการเงินประจำงวดการบัญชีของกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง (2) ต่อสำนักงานภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของกองทุนรวม ให้ถือว่าบริษัทจัดการได้ส่งงบการเงินรายไตรมาสที่สี่ตามวรรคหนึ่ง (1) ต่อสำนักงานแล้ว แต่ทั้งนี้ ถ้าบริษัทจัดการส่งงบการเงินประจำงวดการบัญชีเมื่อพ้นหกสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีของกองทุนรวม ให้ถือว่าบริษัทจัดการส่งงบการเงินสำหรับไตรมาสที่สี่ล่าช้านับแต่วันที่ครบหกสิบวันดังกล่าว

ในกรณีที่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการส่งงบการเงินตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ 77 งบการเงินของกองทุนรวม ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดสำหรับการทำธุรกรรมในแต่ละลักษณะ ทั้งนี้ ในกรณีที่มาตรฐานการบัญชีให้ทางเลือกในการบันทึกบัญชีด้วยวิธีการมูลค่ายุติธรรม (fair value) หรือวิธีการต้นทุน (cost) บริษัทจัดการต้องบันทึกบัญชีด้วยวิธีการมูลค่ายุติธรรมเท่านั้น

(2) ผ่านการตรวจสอบ หรือสอบทาน แล้วแต่กรณี จากผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ โดยผู้สอบบัญชีดังกล่าวได้ปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชี

(3) ข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีในรายงานการสอบทานงบการเงินรายไตรมาสต้องไม่มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า ผู้สอบบัญชีไม่อาจสอบทานงบการเงินดังกล่าวได้ตามมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดโดยสภาวิชาชีพบัญชี อันเนื่องจากบริษัทจัดการ กรรมการ ผู้บริหารหรือผู้จัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการไม่ให้ความร่วมมือ

(4) งบการเงินประจำงวดการบัญชี ต้องมีรายงานการสอบบัญชีที่ไม่มีความหมายในลักษณะไม่แสดงความเห็นต่อการจัดทำงบการเงินของกองทุนรวม หรือที่ไม่แสดงความเห็น อย่างมีเงื่อนไขในรายการบัญชีที่เป็นสาระสำคัญ อันเนื่องมาจากผู้สอบบัญชีถูกจำกัดขอบเขตการสอบบัญชี เว้นแต่การถูกจำกัดขอบเขตการสอบบัญชีดังกล่าวมิได้เกิดจากการกระทำหรือไม่กระทำการของบริษัทจัดการ กรรมการ ผู้บริหารหรือผู้จัดการกองทุนรวมของบริษัทจัดการ

ข้อ 78 ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหุ้นหรือตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยบริษัทตามข้อ 1(3) (จ) ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้เป็นการเพิ่มเติม

(1) งบการเงินของบริษัทตามข้อ 1(3) (จ) ต้องจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด และตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ที่ออกตามมาตรา 56 โดยอนุโลม

(2) จัดทำและนำส่งงบการเงินรวมของกองทุนรวมและบริษัทย่อยพร้อมกับงบการเงินตามข้อ 76 โดยงบการเงินรวมดังกล่าวต้องจัดทำขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 77

ข้อ 79 ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานความคืบหน้าของโครงการทุก ๆ หกเดือนนับแต่มีการลงทุนในทรัพย์สินนั้น และส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของกำหนดเวลาหกเดือน

รายงานความคืบหน้าของโครงการตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลเปรียบเทียบความคืบหน้าของโครงการกับแผนงานของโครงการ

(2) ในกรณีที่ความคืบหน้าของโครงการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนงาน ให้ระบุแนวทางแก้ไขและผลกระทบที่กองทุนรวมได้รับหรืออาจได้รับไว้ด้วย

ในกรณีที่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการจัดส่งรายงานตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ 80 ให้บริษัทจัดการจัดทำ และส่งรายงานประจำปีของกองทุนรวมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีของกองทุนรวม

รายงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อมูลของกองทุนรวมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลที่กำหนดตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานของกองทุนรวมทุกวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(2) รายงานความคืบหน้าของโครงการ ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ

ในกรณีที่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการจัดส่งรายงานตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ 81 ให้บริษัทจัดการรายงานพร้อมด้วยเหตุผลต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้า เมื่อปรากฏเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

ในกรณีที่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีการจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการจัดส่งรายงานตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งให้ตลาดหลักทรัพย์ด้วย

หมวด 5

การดำเนินงานและการมอบหมายงานของบริษัทจัดการ

_________________________

ข้อ 82 บริษัทจัดการต้องจัดให้มีบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน เพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด

(1) ผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(2) ผู้จัดการกองทุน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(3) ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน เพื่อทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานตามวรรคหนึ่ง (1) และผู้จัดการกองทุนตามวรรคหนึ่ง (2) อาจเป็นบุคคลเดียวกันก็ได้ความในวรรคหนึ่ง (3) มิให้นำมาใช้บังคับกับการขายหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนตามข้อ 25 วรรคสอง

ข้อ 83 บริษัทจัดการต้องกำกับดูแลและตรวจสอบให้บุคลากรของตนปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 84 บริษัทจัดการอาจมอบหมายให้ผู้อื่นบริหารจัดการกองทุนรวมเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิบัติการด้านงานสนับสนุน

ในการมอบหมายการบริหารจัดการกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง บริษัทจัดการต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง โดยในกรณีที่เป็นการมอบหมายการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินอื่นที่มิใช่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ได้รับมอบหมายต้องเป็นบุคคลที่สามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี และหากเป็นการจัดการลงทุนในต่างประเทศ บุคคลที่ได้รับมอบหมายต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทดังกล่าวจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

(2) กำกับและตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับมอบหมายอย่างเพียงพอ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สำนักงานประกาศกำหนด หรือที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 85 บริษัทจัดการต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลผลประโยชน์หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้ดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในส่วนที่เกี่ยวกับกองทุนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หมวด 6

การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกกองทุนรวม

___________________________

ข้อ 86 เมื่อเกิดกรณีตามข้อ 64 หรือกรณีอื่นใดที่อาจทำให้ต้องเลิกกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการรายงานต่อสำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์โดยไม่ชักช้า และในกรณีที่กองทุนรวมมีหน่วยลงทุนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้บริษัทจัดการรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย

ข้อ 87 การเลิกกองทุนรวมเพราะเหตุครบกำหนดอายุของโครงการหรือเพราะเหตุอื่นที่ทราบกำหนดการเลิกกองทุนรวมล่วงหน้า ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ สำนักงาน และตลาดหลักทรัพย์ ทราบเป็นหนังสือก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ

(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบเรื่องดังกล่าวก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ เช่น ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่น เป็นต้น

ภาค 4

อำนาจสั่งการของสำนักงานเกี่ยวกับการดำเนินงานของ

บริษัทจัดการหรือกองทุนรวม

_________________________

ข้อ 88 ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทหรือลักษณะของค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดการไม่สามารถจ่ายจากเงินของกองทุนรวมได้

ข้อ 89 ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการปฏิบัติของบริษัทจัดการตามข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ได้ เมื่อบริษัทจัดการสามารถแสดงได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร

(1) ระยะเวลาในการเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน

(2) การดำรงมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี

(3) การกระจายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไป และการนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในกรณีของกองทุนรวมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการที่ไม่แล้วเสร็จ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นโครงการ ที่แล้วเสร็จ

(4) การเลิกกองทุนรวมเพราะเหตุที่มีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนน้อยกว่าสามสิบห้าราย

ภาค 5

วันมีผลใช้บังคับของประกาศ

___________________________

ข้อ 90 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นกองทุนรวม

ที่มีวัตถุประสงค์ในการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุน ไปลงทุนทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินดังกล่าว

เป็นผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน จึงจำเป็นต้องออกประกาศฉบับนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ