การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 (ฉบับที่ 2)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 21, 2011 11:46 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ กค. 2/2554

เรื่อง การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญา

ซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์

เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

(ฉบับที่ 2)

_____________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9(1) มาตรา 121 และมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และมาตรา 8(1) มาตรา 74 และมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. 12/2551 เรื่อง การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 7 ให้ส่วนงานที่สำนักงาน ก.ล.ต. มอบหมายปฏิบัติงานธุรการรวมทั้งดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้วแต่กรณี มอบหมาย”

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 14/1 และข้อ 14/2 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. 12/2551 เรื่อง การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“ข้อ 14/1 การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่มีโทษทางปกครอง หากมิใช่กรณีที่สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นสมควรลงโทษโดยการภาคทัณฑ์หรือการตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจทั่วไป ให้ลงโทษปรับทางปกครอง

(2) ให้พิจารณาดำเนินการลงโทษจำกัดการประกอบการ พักการประกอบการ หรือเพิกถอนใบอนุญาต การจดทะเบียน หรือการให้ความเห็นชอบด้วย เมื่อการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนหรือลูกค้า ต่อระบบการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือต่อระบบตลาดทุนโดยรวม

(ก) การขาดจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจอย่างร้ายแรง

(ข) การขาดการบริหารจัดการ หรือการกำกับดูแลที่เพียงพออย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมี

ประสิทธิภาพ เป็นไปตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และมีการปฏิบัติกับผู้ลงทุนหรือลูกค้าอย่างเป็นธรรม หรือ

(ค) การขาดความมั่นคงทางฐานะการเงินเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจ

ข้อ 14/2 การกำหนดค่าปรับทางปกครองให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงของการกระทำในแต่ละกรณี ทั้งนี้ ให้นำอัตราการเปรียบเทียบปรับทางอาญาสำหรับความผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่มีลักษณะเดียวกัน มาเป็นฐานในการคำนวณ

การพิจารณาระดับความร้ายแรงของการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาตามปัจจัยที่กำหนดในข้อ 14

ในกรณีที่การกระทำความผิดเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นผลให้ผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนหรือลูกค้า ต่อระบบการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือต่อระบบตลาดทุนโดยรวม ให้นำผลประโยชน์ที่ได้รับหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นมารวมคำนวณเป็นค่าปรับทางปกครองด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินค่าปรับสูงสุดที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดแต่ละกรรม”

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

(นายวิจิตร สุพินิจ)

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อผ่อนคลายให้สำนักงาน ก.ล.ต. มอบหมายให้ส่วนงานใดปฏิบัติงานธุรการเพื่อคณะกรรมการ

พิจารณาโทษทางปกครองได้ และเพื่อเพิ่มหลักเกณฑ์ในการพิจารณากำหนดโทษทางปกครองให้สอดคล้องกับลักษณะของความผิด รวมทั้ง

หลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าปรับทางปกครอง จึงจำเป็นต้องออกประกาศนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ