การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 9)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday July 4, 2007 08:47 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 16/2550
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
(ฉบับที่ 9)
________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 118(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบกับข้อ 3 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสองโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และข้อ 18(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 และข้อ 6/2 ของส่วนที่ 2 การยื่นคำขอและการอนุมัติการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“ข้อ 6/1 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจแบ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมออกเป็นหลายชนิดได้ โดยบริษัทต้องกำหนดสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนชนิดเดียวกันอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ บริษัทต้องแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น
(1) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน
(2) ระยะเวลาการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
(3) สิทธิที่จะได้รับเงินปันผล
(4) อัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหน่วยลงทุน
(5) กรณีอื่นใดตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สำนักงานจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมเป็นสำคัญ โดยพิจารณาจากความเป็นไปได้ของการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามที่ขอ และผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดจะได้รับ
ข้อ 6/2 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามข้อ 6/1 ไว้ในโครงการตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก โดยต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ชนิดหน่วยลงทุนที่แบ่ง
(2) สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด รวมทั้งวิธีการคำนวณและการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนโดยละเอียด (ถ้ามี)
(3) การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนในเรื่องต่างๆ ในแต่ละชนิดหน่วยลงทุน
(4) ข้อจำกัดในการเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนระหว่างหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (ถ้ามี)
(5) การจัดสรรรายได้ รายจ่าย รวมทั้งผลกำไรและขาดทุน ที่เกิดจากการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินใด ๆ แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดไว้อย่างชัดเจน (ถ้ามี)
(6) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (ถ้ามี) โดยการกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจะต้องมีความสอดคล้องกับหน่วยลงทุนแต่ละชนิดด้วย
(7) วิธีการคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด รวมทั้งสิทธิและส่วนได้เสียของหน่วยลงทุนแต่ละชนิดในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (ถ้ามี)”
ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ 14 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 6/2549 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549
“ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (1)(3)หรือ(4) ต่อสำนักงานได้ เพื่อให้การเสนอขายเป็นไปอย่างเหมาะสมกับชนิดของหน่วยลงทุน และการผ่อนผันดังกล่าวให้มีผลต่อการดำเนินการตามวรรคสองด้วยโดยอนุโลม”
ข้อ 3 กองทุนรวมใดที่จดทะเบียนจัดตั้งก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ หากบริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะให้กองทุนรวมดังกล่าวแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด บริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องขออนุญาตจากสำนักงาน และจะได้รับอนุญาตต่อเมื่อการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิดดังกล่าวเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ เพื่อให้บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถจัดตั้งกองทุนรวมโดยมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนได้ โดย
กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งและการเสนอขายหน่วยลงทุนให้เหมาะสมกับการแบ่งชนิดหน่วยลงทุน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ