หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday March 1, 2007 09:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                              ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สธ/น/ย/ข. 3/2550
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดให้มีระบบการบริหาร
ความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทาง
ในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
_________________________________________________
อาศัยอำนาจตามความใน
(1) ข้อ 4(2) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 และข้อ 25/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 42/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 23/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และการค้าหลักทรัพย์ ที่มิใช่ตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(2) ข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 และข้อ 20/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 43/2543 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กย. 26/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการค้าหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(3) ข้อ 3 และข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 24/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการควบคุมการปฏิบัติงานในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(4) ข้อ 2(1) และ (3) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547
(5) ข้อ 4(3) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 5/2539 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2539
(6) ข้อ 6(5) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กด. 29/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์
และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 27/2549 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549
(7) ข้อ 2(1) และ (2) และข้อ 9 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กข. 42/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้
(1) “บริษัทหลักทรัพย์” หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวม การจัดการกองทุนส่วนบุคคล การให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ และกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(2) “ลูกค้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่เปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์หรือทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(3) “บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของบัญชีในทอดสุดท้ายหรือมีส่วนได้เสียอย่างมีนัยสำคัญในทอดสุดท้ายจากการทำธุรกรรมของลูกค้า
(4) “บุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่มีอำนาจควบคุมหรือตัดสินใจในทอดสุดท้ายเกี่ยวกับบัญชีหรือการทำธุรกรรมของลูกค้า
(5) “ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย” หมายความว่า ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายฟอกเงิน
(6) “กฎหมายฟอกเงิน” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งกฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
(7) “แนวทางที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์” หมายความว่าแนวทางปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์เป็นสมาชิกและแนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว
(8) “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 มิให้นำความในประกาศนี้มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่นและได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในภายหลัง หากหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีข้อกำหนดหรือแนวทางปฏิบัติให้สถาบันการเงินนั้นปฏิบัติในลักษณะเดียวกับหลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามประกาศนี้
หมวด 1
ระบบการบริหารความเสี่ยง
____________________
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงเพื่อป้องกันการใช้บริการธุรกิจหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในเรื่องดังต่อไปนี้เป็นลายลักษณ์อักษร
(1) การพิจารณารับลูกค้าหรือการทำธุรกรรมกับลูกค้า
(2) การพิจารณาระงับการทำธุรกรรมกับลูกค้าเป็นการชั่วคราว การพิจารณายุติความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือการดำเนินการอื่นใด ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ทราบว่าลูกค้าเป็นบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายฟอกเงิน หรือในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าได้ในสาระสำคัญ
(3) การรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (knowyour client/client due diligence หรือ KYC/CDD)
(4) การรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (reporting of suspicious transactions) ตามกฎหมายฟอกเงิน
(5) การเก็บรักษาเอกสารหลักฐานภายใต้กระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยของลูกค้า
นโยบายที่บริษัทหลักทรัพย์จัดให้มีขึ้นตามวรรคหนึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท เว้นแต่กรณีที่บริษัทหลักทรัพย์มีลักษณะโครงสร้างการถือหุ้นและการบริหารงานเป็นแบบกลุ่มธุรกิจทางการเงิน (financial conglomerate) ซึ่งมีการกำหนดนโยบายการบริหารงานและ
การกำกับดูแลบริษัทหลักทรัพย์เสมือนเป็นสายธุรกิจหนึ่ง (business unit) ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินดังกล่าวตามที่สำนักงานยอมรับ
ขั้นตอนการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่งต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอที่บุคลากรและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์สามารถปฏิบัติได้ และสามารถรองรับการให้บริการหรือการติดต่อกับลูกค้าที่ไม่ได้มาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของบริษัทในขณะที่ขอเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์หรือทำธุรกรรมในครั้งแรก (non-face to face) รวมทั้งสามารถรองรับการทำธุรกรรมผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้
ข้อ 5 บริษัทหลักทรัพย์ต้องทบทวนนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานตามข้อ 4 ตามรอบระยะเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดอย่างเหมาะสม
ข้อ 6 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีบุคลากร (anti-money laundering officer)เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคลากรและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้การปฏิบัติงานของบริษัทหลักทรัพย์เป็นไปตามประกาศนี้
และกฎหมายฟอกเงิน รวมทั้งนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานของบริษัท ตลอดจนแนวทางที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
ข้อ 7 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการอบรมให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรและผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานให้แก่บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อให้การปฏิบัติงานของบริษัทหลักทรัพย์เป็นไปตามประกาศนี้และกฎหมายฟอกเงิน รวมทั้งนโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานของบริษัท ตลอดจนแนวทางที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ และเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับรูปแบบใหม่ ๆ ของการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ทั้งนี้ ตามรอบระยะเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนดอย่างเหมาะสม
หมวด 2
การรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
______________________
ข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้ารวมทั้งบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายและบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย เมื่อบริษัทหลักทรัพย์มีการพิจารณาเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับลูกค้าหรือทำธุรกรรมกับลูกค้าเป็นครั้งแรกในกรณีที่ไม่มีการเปิดบัญชี (initial KYC/CDD) และตลอดช่วงระยะเวลาที่ลูกค้ามีการทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ (on-going KYC/CDD)
ข้อ 9 ในการดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการดังนี้
(1) ระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า (client identification) รวมทั้งบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายและบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย
(2) สอบยันข้อมูลที่ได้รับกับหลักฐานหรือแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ (client verification)
(3) จดบันทึกข้อมูลที่ได้รวบรวมมาและความเห็นภายใต้กระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ในการระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าตาม (1) ให้บริษัทหลักทรัพย์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชื่อและนามสกุล สัญชาติ อาชีพ ที่อยู่ สถานที่ติดต่อ ชื่อและนามสกุลของบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายและบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย ชื่อนิติบุคคล โครงสร้างการถือหุ้นของนิติบุคคล ประเภทธุรกิจ สถานที่จัดตั้ง สถานที่ประกอบธุรกิจ ฐานะการเงิน วัตถุประสงค์ในการทำธุรกรรม รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงตัวตนของลูกค้าดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้ลูกค้าแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในขณะที่ดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และในกรณีที่ลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดาบริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีเอกสารแสดงตัวตนของลูกค้าที่ปรากฏภาพถ่ายของลูกค้าในเอกสารดังกล่าวด้วย
ข้อ 10 ในการดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตามข้อ 8 บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดกลุ่มลูกค้า กำหนดขอบเขตและระดับความเข้มงวดในการดำเนินการตามข้อ 9(1) และ (2) สำหรับลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า (risk-sensitive basis)
ข้อ 11 บริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่ให้ลูกค้าเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์หรือทำธุรกรรมกับลูกค้าโดยใช้ชื่อแฝงหรือชื่อปลอม
ข้อ 12 ในกรณีที่ลูกค้าเป็นสถาบันการเงินที่เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อบุคคลที่ใช้บริการของสถาบันการเงินดังกล่าวหลายรายหรือหลายทอด (omnibus account) บริษัทหลักทรัพย์อาจดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินนั้นโดยไม่ต้องดำเนินการเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวตนของบุคคลที่อยู่ภายใต้บัญชีดังกล่าว และในกรณีที่เป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศ (cross border omnibus account) บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการประเมินความรัดกุมเพียงพอของมาตรการในการ
รู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าของสถาบันการเงินในต่างประเทศนั้นก่อนพิจารณาเสนอขออนุมัติการเปิดบัญชีหรือการทำธุรกรรมในครั้งแรกต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัท
ข้อ 13 บริษัทหลักทรัพย์อาจมอบหมายให้สถาบันการเงินอื่นทำการพบลูกค้าแทนการปรากฏตัวของลูกค้าต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ (face-to-face contact) ในการขอเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์หรือการทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ในครั้งแรกภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) สถาบันการเงินดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานทางการที่มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในระดับที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่สำนักงานยอมรับ เช่น ข้อแนะนำของ Financial Action Task Force หรือ FATF เป็นต้น
(2) สถาบันการเงินดังกล่าวมีการปฏิบัติตามมาตรการในการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างรัดกุมเพียงพอ และ
(3) บริษัทหลักทรัพย์ได้จัดให้มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรกับสถาบันการเงิน ดังกล่าว เพื่อให้สถาบันการเงินนั้นทำหน้าที่พบลูกค้า รวมทั้งตรวจสอบเอกสารชุดต้นฉบับว่าถูกต้องตรงกับชุดสำเนาซึ่งใช้เป็นเอกสารประกอบการขอเปิดบัญชีหรือการทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ และทำการจัดส่งเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลเกี่ยวกับการพบลูกค้าให้แก่บริษัทหลักทรัพย์เมื่อได้รับการร้องขอโดยไม่ชักช้า
ข้อ 14 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์ต้องติดตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งจัดให้มีระบบฐานข้อมูลซึ่งมีการปรับปรุงอย่างเหมาะสมหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานในการเข้าถึงฐานข้อมูลภายนอก เกี่ยวกับข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) รายชื่อบุคคลที่เป็นผู้กระทำความผิดหรือมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามกฎหมายฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ
(2) รายชื่อบุคคลที่มีสถานะหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเมือง (politically exposed persons หรือ PEPs) หรือบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ
(3) รายชื่อเขตดินแดนหรือประเทศที่ไม่มีมาตรการหรือประยุกต์ใช้ข้อแนะนำของ FATF ในการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย รวมถึงเขตดินแดนหรือประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าว (non-cooperative countries & territories หรือ NCCTs)
ทั้งนี้ ข้อมูลตาม (1) (2) และ (3) ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน
ข้อ 15 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้ารวมทั้งบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายดังต่อไปนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้ลูกค้าอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษและต้องดำเนินการ
รู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในลักษณะที่เข้มงวดมากกว่าปกติ (enhanced KYC/CDD)
(1) ลูกค้าเป็นบุคคลที่มีรายชื่อตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลตามข้อ 14(1) หรือ (2) หรือมีสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ แหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกรรม การจัดตั้ง สถานที่ติดต่อ หรือสถานที่ประกอบธุรกิจ อยู่ในเขตดินแดนหรือประเทศที่มีรายชื่อตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลตามข้อ 14(3)
(2) ลูกค้าเป็นนิติบุคคลในกลุ่มบริษัทที่มีโครงสร้างการถือหุ้นหรือการบริหารงานที่ซับซ้อนในลักษณะที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้า บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย หรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายได้
(3) ลูกค้าเป็นกองทุนจากต่างประเทศที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ได้ผ่านขั้นตอนการอนุมัติจัดตั้งจากหน่วยงานทางการ
(4) ลูกค้าไม่ให้ความร่วมมือในการจัดส่งเอกสารหลักฐานที่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดภายใต้กระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า หรือจัดส่งเอกสารหลักฐานซึ่งมีข้อพิรุธอย่างเห็นได้ประจักษ์ว่า
ไม่ใช่เอกสารหลักฐานที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบในการออกเอกสารหลักฐานนั้น
(5) ลูกค้าเคยถูกบริษัทหลักทรัพย์รายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย
(6) ลูกค้าประกอบอาชีพหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงตามที่กำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน
(7) ลูกค้าอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษตามที่กำหนดโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงินหรือตามแนวทางที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์
การดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในลักษณะที่เข้มงวดมากกว่าปกติตามวรรคหนึ่ง หมายความถึง การขยายขอบเขตในการรวบรวมข้อมูลและการสอบยันข้อมูลเพิ่มเติมจากการดำเนินการตามปกติ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มาของ
เงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกรรม การกำหนดให้ต้องขออนุมัติหรือรายงานต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัท การจัดให้ลูกค้าหรือบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายมาแสดงตนต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ การประเมินมาตรการในการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงินที่เปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อบุคคลที่ใช้บริการของสถาบันการเงินดังกล่าวหลายรายหรือหลายทอด (omnibus account) หรือการติดตามการทำธุรกรรมของลูกค้าอย่างใกล้ชิด
ข้อ 16 ภายใต้บังคับข้อ 15 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าดังต่อไปนี้ บริษัทหลักทรัพย์อาจดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในลักษณะที่เข้มงวดน้อยกว่าปกติได้ (reduced KYC/CDD)
(1) ข้อมูลเกี่ยวกับความมีตัวตนที่แท้จริงของลูกค้ารวมทั้งบุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้ายและบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนไว้อย่างเพียงพอแล้ว
(2) ลูกค้าเป็นสถาบันการเงินหรือกองทุนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานทางการที่มีการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในระดับที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามที่สำนักงานยอมรับ และสถาบันการเงินหรือกองทุนดังกล่าวมีการปฏิบัติตามมาตรการในการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าอย่างรัดกุมเพียงพอ
(3) ลูกค้าเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(4) ลูกค้ามีลักษณะหรืออยู่ในประเภทซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์
ข้อ 17 ในการดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าตลอดช่วงระยะเวลาที่ลูกค้ามีการทำธุรกรรมกับบริษัทหลักทรัพย์ (on-going KYC/CDD) บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบการปฏิบัติงานในการตรวจสอบและทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลที่มีอยู่เดิมมีความถูกต้องครบถ้วนและเป็นปัจจุบันภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการตรวจสอบและทบทวนข้อมูลเดิมเกี่ยวกับลูกค้าเป็นประจำตามรอบระยะเวลาที่แตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า
(2) ดำเนินการตรวจสอบและทบทวนข้อมูลเดิม รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าเพิ่มเติม ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
(ก) มูลค่า รูปแบบ เงื่อนไข วิธีการ การชำระเงินหรือการรับชำระเงิน ในการทำธุรกรรมของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ (transaction monitoring)
(ข) มีเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องครบถ้วน ความเป็นปัจจุบัน ความน่าเชื่อถือ หรือความเพียงพอ ของข้อมูลหรือเอกสารหลักฐานที่บริษัทหลักทรัพย์ได้มาจากการดำเนินการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
(ค) บริษัทหลักทรัพย์รู้หรือควรรู้จากระบบฐานข้อมูลที่จัดให้มีขึ้นตามข้อ 14 ว่าลูกค้าเป็นบุคคลที่มีรายชื่อตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลตามข้อ 14(1) หรือ (2) หรือมีสัญชาติ ถิ่นที่อยู่ แหล่งที่มาของเงินทุนที่ใช้ในการทำธุรกรรม การจัดตั้ง สถานที่ติดต่อ หรือสถานที่ประกอบธุรกิจ
อยู่ในเขตดินแดนหรือประเทศที่มีรายชื่อตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลตามข้อ 14(3)
ระบบการปฏิบัติงานในการตรวจสอบและทบทวนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าตามที่กำหนดใน (2) ต้องเอื้ออำนวยต่อการดำเนินการติดตามและทบทวนข้อมูลเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ตาม (ก) และ (ข) ได้โดยเร็วภายหลังข้อเท็จจริงปรากฏหรือเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และต้องกำหนดให้มีการติดตามและทบทวนข้อมูลเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ตาม (ค)ได้ตามรอบระยะเวลาที่บริษัทหลักทรัพย์กำหนด ให้บริษัทหลักทรัพย์จดบันทึกและจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งไว้เป็นหลักฐาน และในกรณีที่ข้อมูลของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ บริษัทหลักทรัพย์ต้องพิจารณาดำเนินการตามที่กำหนดในข้อ 9(1) และ (2) ใหม่ตามความจำเป็นและต้องทบทวนการจัดกลุ่มลูกค้าให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของลูกค้านั้นด้วย (re-classification of client)
ข้อ 18 บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้ารายเดิมทุกรายให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับเว้นแต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลูกค้า บุคคลที่ได้รับประโยชน์จากการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย หรือบุคคล
ที่มีอำนาจควบคุมการทำธุรกรรมในทอดสุดท้าย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15 บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าให้แล้วเสร็จตามรอบระยะเวลาซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดโดยสมาคมที่เกี่ยวเนื่อง
กับธุรกิจหลักทรัพย์
หมวด 3
การรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย
_________________________
ข้อ 19 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ในการรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กำหนดลักษณะของธุรกรรมที่ควรจัดเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย
(2) จัดให้มีระบบและขั้นตอนในการติดตามธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์
(3) จัดให้มีขั้นตอนและวิธีการในการพิจารณารายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยที่เหมาะสม
ข้อ 20 บริษัทหลักทรัพย์อาจกำหนดให้การทำธุรกรรมของลูกค้าที่มีลักษณะดังต่อไปนี้หรือธุรกรรมอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยซึ่งต้องพิจารณาความจำเป็นในการรายงานต่อหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายฟอกเงิน
(1) ลูกค้าขอเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์หรือทำธุรกรรมในชื่อของบุคคลอื่นหรือพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อของตนเองในการเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรม
(2) ลูกค้าขอเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทเดียวกันหลายบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควรในลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าลูกค้ามีเจตนาอำพรางให้เสมือนเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลหลายราย
(3) ลูกค้าพยายามหลบเลี่ยงการมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ร้องขอภายใต้กระบวนการรู้จักลูกค้าและการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ