แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ฉบับที่ 2) (กรณีที่บริษัทจัดการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) ด้วยตนเอง)

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday January 29, 2007 08:17 —ประกาศ ก.ล.ต.

                                                                      29  มกราคม  2550
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทหลักทรัพย์ทุกบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
ประเภทการจัดการกองทุนรวม/กองทุนส่วนบุคคล
ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมทุกราย
นายกสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน
ที่ กลต.น.(ว) 5/2550
เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ฉบับที่ 2)
(กรณีที่บริษัทจัดการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) ด้วยตนเอง)
ตามที่สำนักงานได้ออกแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ไปพร้อมกับประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 (“ประกาศ ที่ สน. 29/2549”) โดยเป็นภาคผนวก ก. ของประกาศดังกล่าว นั้น
แนวทางปฏิบัติข้างต้นได้กำหนดเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) ด้วยตนเอง ซึ่งระบบงานดังกล่าวเป็นกรณีทั่วไปที่ใช้ได้สำหรับการลงทุนตามข้อ 8 แห่งประกาศ ที่ สน. 29/2549 ในทรัพย์สินทุกประเภทอย่างไม่มีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บริษัทจัดการมีนโยบายที่ชัดเจนในการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยจำกัดเฉพาะทรัพย์สินดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการอาจใช้ระบบงานตามแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติม
ที่แนบท้ายนี้ได้
1. เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากเพื่อบริหารสภาพคล่องตามข้อ 8(1) แห่งประกาศ ที่ สน. 29/2549
2. ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
3. หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามข้อ 8(3) แห่งประกาศ ที่ สน. 29/2549
อนึ่ง บริษัทจัดการใดที่จัดให้มีระบบงานเทียบเท่ากับแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมที่แนบท้ายนี้ก่อนวันที่ประกาศที่ สน.29/2549 มีผลใช้บังคับ และบริษัทประสงค์จะลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินตามที่กำหนดข้างต้น ให้บริษัทมีหนังสือแจ้งยืนยันการมีระบบงานดังกล่าวให้สำนักงานทราบ ซึ่งถือได้ว่าได้รับความเห็นชอบระบบงานตามประกาศที่ สน. 29/2549 แล้ว
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ฉบับที่ 2)
(กรณีที่บริษัทจัดการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) ด้วยตนเอง)
ฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน
โทรศัพท์ 0-2695-9537
โทรสาร 0-2695-9746
แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ
ระบบงานในการป้องกันการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์
(ฉบับที่ 2)
(กรณีที่บริษัทจัดการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการ
(proprietary trading) ด้วยตนเอง)
___________________________________
ตามที่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน.29/2549 เรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 (ประกาศ COI) ได้กำหนดให้
บริษัทจัดการจัดให้มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันมิให้การลงทุนหรือเข้าทำสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทจัดการ (proprietary trading) ด้วยตนเอง ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับกองทุน ซึ่งสำนักงานได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ตาม
ส่วนที่ 2 ของภาคผนวก ก. ที่แนบท้ายประกาศ COI ซึ่งระบบงานดังกล่าวเป็นกรณีทั่วไปที่ใช้ได้สำหรับการลงทุนตามข้อ 8 แห่งประกาศ COI ในทรัพย์สินทุกประเภทอย่างไม่มีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บริษัทจัดการมีนโยบายที่ชัดเจนในการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยจำกัดเฉพาะทรัพย์สินดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการอาจใช้ระบบงานตามแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมนี้ได้
1. เงินฝากหรือตราสารเทียบเท่าเงินฝากเพื่อบริหารสภาพคล่องตามข้อ 8(1) แห่งประกาศ COI
2. ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย และพันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
3. หน่วยลงทุนของกองทุนรวมเปิดที่บริษัทจัดการเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการตามข้อ 8(3) แห่งประกาศ COI
ในกรณีที่บริษัทจัดการได้ทำการลงทุนจำกัดเฉพาะทรัพย์สินข้างต้นโดยได้จัดให้มีระบบงานตามแนวทางปฏิบัติฉบับนี้แล้ว สำนักงานจะถือว่าบริษัทจัดการได้จัดให้มีระบบงานที่เป็นไปตามประกาศ COI แล้ว ทั้งนี้ แม้บริษัทจัดการจะจำกัดการลงทุนไว้เฉพาะทรัพย์สินข้างต้น แต่บริษัทจัดการ
จะจัดให้มีระบบงานตามแนวทางปฏิบัติในส่วนที่ 2 ของภาคผนวก ก. ที่แนบท้ายประกาศ COI ก็ได้ หรือบริษัทจัดการอาจดำเนินการในทางปฏิบัติอื่นที่แตกต่างจากแนวทางในส่วนที่ 2 ของภาคผนวก ก. ที่แนบท้ายประกาศ COI หรือแนวทางปฏิบัติฉบับนี้ก็ได้ หากแสดงต่อสำนักงานได้ว่าทางปฏิบัติอื่นนั้นเป็นการจัดระบบงานที่สามารถป้องกันมิให้การลงทุนในทรัพย์สินข้างต้นก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับกองทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการ
ระบบงานสำหรับการลงทุนในทรัพย์สินข้างต้นต้องมีลักษณะดังนี้
1. ที่ทำการที่บริษัทจัดการจะใช้เป็นสถานที่ดำเนินงานสำหรับการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวต้องกำหนดไว้เพียงแห่งเดียว เว้นแต่กรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรซึ่งบริษัทจัดการได้กำหนดเหตุดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนและได้กำหนดสถานที่สำรองเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวไว้ ซึ่งสถานที่สำรอง
เพื่อการดังกล่าวต้องมีหลักแหล่งที่ชัดเจนและสำรองไว้เพียงแห่งเดียวเพื่อการลงทุนนั้น
2. มีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การลงทุน (investment guideline) ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
3. มีการกำหนดหลักปฏิบัติในการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างการลงทุนของบริษัทจัดการกับกองทุนภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
4. มีการกำหนดหลักปฏิบัติในการรายงานการลงทุนให้ผู้บริหารของบริษัททราบ
5. มีการกำหนดให้มีการรายงานให้ compliance officer ทราบเมื่อมีการลงทุนไม่เป็นไปตามราคาตลาด หรือไม่ใช้ราคาตลาด
การจัดระบบงานข้างต้นต้องได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการของบริษัทจัดการด้วย
29 มกราคม 2550

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ