การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 8)

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 27, 2011 15:13 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 21/2554

เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

(ฉบับที่ 8)

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 126(4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 12 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) ใน (2) ของข้อ 2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“(ค) “ตราสารแห่งหนี้” หมายความรวมถึงศุกูก เว้นแต่ข้อกำหนดในประกาศนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ง) “ศุกูก” หมายความว่า ตราสารทางการเงินที่มีลักษณะผลตอบแทนและความเสี่ยงเทียบเคียงได้กับตราสารหนี้ทั่วไป และเป็นไปตามหลักชาริอะห์ (จ) “เงินฝาก” หมายความรวมถึงเงินฝากอิสลาม เว้นแต่ข้อกำหนดในประกาศนี้จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น (ฉ) “เงินฝากอิสลาม” หมายความว่า ข้อตกลงที่เป็นไปตามหลักชาริอะห์ และมีลักษณะที่เทียบเคียงได้กับเงินฝาก โดยคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียงได้กับผู้ฝากสามารถเรียกคืนเงินต้นจากคู่สัญญาฝ่ายที่เทียบเคียงได้กับผู้รับฝากได้เต็มจำนวน ณ เวลาใด ๆ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความใน (ซ) ของ (3) ในข้อ 2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(ซ) “สถาบันการเงินตามกฎหมายไทย” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย”

ข้อ 3 ให้ยกเลิก (ก) ของ (4) ในข้อ 2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 3/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 3/1 เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในประกาศนี้ การพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือของทรัพย์สินตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นอันดับความน่าเชื่อถือครั้งล่าสุดที่ได้รับการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สำนักงานยอมรับ

(2) เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สิน ให้ใช้อันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหรือคู่สัญญา ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ให้หมายความรวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือสนับสนุน (support credit) ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินจากแนวโน้มที่ธนาคารดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเมื่อมีกรณีจำเป็น

(ข) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในข้อ 5 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 35/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 5 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยได้

(1) ตราสารแห่งทุนตามส่วนที่ 1 ในหมวด 3

(2) ตราสารแห่งหนี้ตามส่วนที่ 2 ในหมวด 3

(3) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามส่วนที่ 3 ในหมวด 3

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามส่วนที่ 4 ในหมวด 3

(5) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศตามส่วนที่ 5 ในหมวด 3

(6) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมทองคำ ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนรวมทองคำเป็นกองทุนรวมต่างประเทศ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามส่วนที่ 4 ในหมวด 3

(7) เงินฝากตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3

(8) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในส่วนที่ 7 ของหมวด 3

(9) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 10 ของหมวด 3

(10) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 11 ของหมวด 3

(11) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (10) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ในกรณีที่กองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นกองทุนรวมทองคำ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและข้อ 5/1

ในกรณีที่กองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและข้อ 5/2

ในกรณีที่กองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งและข้อ 6”

ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 5/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 5/2 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหรือเข้าเป็นคู่สัญญาตามข้อ 5 เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ให้บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ เฉพาะทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(1) ตราสารแห่งหนี้ตามส่วนที่ 2 ในหมวด 3

(2) เงินฝากตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3

(3) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ถือเป็นตราสารแห่งหนี้

ในกรณีที่กองทุนตามวรรคหนึ่งเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ให้อยู่ภายใต้บังคับข้อ 6 ด้วย”

ข้อ 7 ให้ยกเลิกความใน (1) ของวรรคหนึ่ง ในข้อ 6 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) เป็นการลงทุนในตราสารแห่งหนี้ในประเทศ หรือเงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย ที่มีอายุของตราสารหรือสัญญา หรือระยะเวลาการฝากเงิน แล้วแต่กรณี ต่ำกว่าหนึ่งปี โดยเป็นการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือ รักษาสภาพคล่องของกองทุน”

ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในข้อ 8 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 8 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหรือเข้าเป็นคู่สัญญาดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนส่วนบุคคลที่มิใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อย

(1) หลักทรัพย์ ตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ทุกประเภท ที่เสนอขายในประเทศ หรือมีผู้ออกหรือคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

(2) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศตามข้อ 11

(3) ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศตามข้อ 18

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศตามส่วนที่ 4 ในหมวด 3

(5) ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศตามส่วนที่ 5 ในหมวด 3

(6) เงินฝากตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3

(7) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวด 3

(8) ธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ ทั้งนี้ ในกรณีของธุรกรรมการยืมหลักทรัพย์ ต้องมีคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบันเท่านั้น และในกรณีของธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ในหมวด 3

(9) การขายชอร์ต ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง โดยอนุโลม

(10) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกลักษณะ ทั้งนี้ การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 38(4) ด้วย

(11) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงทุกประเภท

(12) ทรัพย์สินอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกับ (1) ถึง (11) โดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน”

ข้อ 9 ให้ยกเลิกความใน (5) ของวรรคหนึ่งในข้อ 8/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(5) เงินฝากตามส่วนที่ 6 ในหมวด 3 แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเงินฝากอิสลาม”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในข้อ 8/3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 8/3 ตราสารแห่งหนี้ตามข้อ 8/2(1) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามข้อ 8/2(2) ที่กองทุนจะลงทุนหรือมีไว้ได้ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) มีกำหนดวันชำระหนี้ตามตราสารเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น หรือไม่เกินสามร้อยเก้าสิบเจ็ดวันนับแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญา

(2) มีอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่เป็นตราสารภาครัฐไทย

(ก) อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสองอันดับแรกที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้น

(ข) อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในสามอันดับแรกที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาว

(ค) อันดับความน่าเชื่อถือที่เทียบเคียงได้กับสองอันดับแรกของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นตามที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้เปรียบเทียบไว้

(3) ไม่ใช่ตราสารแห่งหนี้ดังต่อไปนี้

(ก) หุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือตราสารอื่นที่มีลักษณะด้อยสิทธิในทำนองเดียวกัน

(ข) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้

(ค) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

(ง) ศุกูกความในวรรคหนึ่ง (2) ให้ใช้บังคับกับการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งเงินฝากตามข้อ 8/2(5) และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 8/2(6) เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนด้วย”

ข้อ 11 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 และข้อ 15 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 14 ตราสารแห่งหนี้ที่มีลักษณะคล้ายเงินฝาก ได้แก่

(1) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน บัตรเงินฝาก ศุกูก หรือหุ้นกู้ระยะสั้น ที่ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัลผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน

(2) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ที่ประกอบธุรกิจประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นผู้ออก ซึ่งกำหนดวันใช้เงินตามตั๋วไม่เกินสองร้อยเจ็ดสิบวันนับแต่วันออกตั๋ว และเป็นตั๋วเมื่อทวงถามหรือเมื่อได้เห็น

(3) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือศุกูก ที่มีอายุไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันที่ออก ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือดังต่อไปนี้

(ก) อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับแรก ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสาร ต้องเป็นอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้มาจากการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นด้วย หรือ

(ข) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ ทั้งนี้ โดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือภายใต้ชื่อ Standard & Poor’s หรือ Moody’s หรือ Fitch หรือสถาบันอื่นที่สำนักงานกำหนดเพิ่มเติม

ข้อ 15 ตราสารแห่งหนี้ทั่วไป ได้แก่

(1) ตราสารภาครัฐไทย อันได้แก่

(ก) ตั๋วเงินคลัง

(ข) พันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

(ค) พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ศุกูก หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่กระทรวงการคลังหรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้ค้ำประกัน

(2) ตราสารภาครัฐต่างประเทศ อันได้แก่ ตราสารที่มีรูปแบบทำนองเดียวกับตราสารภาครัฐไทยที่รัฐบาลต่างประเทศ องค์การหรือหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ เป็นผู้ออกหรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวต้องมีลักษณะตามข้อ 16 ด้วย

(3) ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ ซึ่งหมายถึง พันธบัตร ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ศุกูก หรือหุ้นกู้ที่ไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นกู้อนุพันธ์ ที่สำนักงานอนุญาตให้เสนอขายในลักษณะทั่วไปหรือในลักษณะจำกัด หรือที่ออกภายใต้ข้อผูกพันที่กำหนดและอนุญาตโดยกระทรวงการคลัง หรือที่นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นเป็นผู้ออก หรือที่เป็นหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ซึ่งผู้ออกหลักทรัพย์ได้เสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่นั้นทั้งหมดต่อผู้ถือหุ้นโดยได้รับชำระราคาเต็มมูลค่าที่เสนอขายจากผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตราสารที่เปลี่ยนมือได้ต้องมีลักษณะตามข้อ 16 ด้วย

(4) ใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทยที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็นพันธบัตร หรือหุ้นกู้ที่ไม่ใช่หุ้นกู้อนุพันธ์

(5) ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ศุกูก หุ้นกู้ หรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้ ที่เสนอขายในต่างประเทศโดยมีผู้ออกเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวไม่รวมถึงหุ้นกู้แปลงสภาพและหุ้นกู้อนุพันธ์

(6) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือของกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนเฉพาะเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นที่สำนักงานกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

(7) ธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 8 ของหมวดนี้

(8) ธุรกรรมการให้ยืมหลักทรัพย์โดยหลักทรัพย์ที่ให้ยืมเป็นตราสารแห่งหนี้ตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (6) หรือข้อ 14 ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในส่วนที่ 9 ของหมวดนี้”

ข้อ 12 ให้ยกเลิกความซึ่งเป็นชื่อของส่วนที่ 6 และข้อ 23 ในหมวด 3 ของภาค 1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ส่วนที่ 6

เงินฝาก

______________________________

ข้อ 23 เงินฝากที่บริษัทจัดการจะลงทุนหรือมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ ต้องเป็นเงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย หรือในสถาบันการเงินต่างประเทศ”

ข้อ 13 ให้ยกเลิก (2) ของข้อ 56 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 35/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

ข้อ 14 ให้ยกเลิกความในข้อ 61 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 61 ภายใต้บังคับข้อ 58 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ดังต่อไปนี้ ซึ่งธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะธนาคารหรือบริษัทเงินทุนรายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(1) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศ

(2) ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน

(3) เงินฝากในสถาบันการเงินตามกฎหมายไทย

(4) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(5) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับมูลค่าของทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้ดังต่อไปนี้ ซึ่งธนาคารหรือบริษัทเงินทุนรายเดียวกันเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา รวมในอัตราส่วนดังกล่าว

(1) ทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (1) (2) หรือ (5)

(2) ทรัพย์สินตามข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1)

ในกรณีที่กองทุนมีเงินฝากในนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงานของกองทุน มิให้นับมูลค่าของเงินฝากดังกล่าวรวมในอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง”

ข้อ 15 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 61/1 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 61/1 ภายใต้บังคับข้อ 58 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งเงินฝากในสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะสถาบันการเงินต่างประเทศรายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับมูลค่าของทรัพย์สินที่กองทุนลงทุนหรือมีไว้ดังต่อไปนี้ รวมในอัตราส่วนดังกล่าว

(1) ทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ที่สถาบันการเงินต่างประเทศรายเดียวกันเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา

(2) ทรัพย์สินตามข้อ 61 วรรคหนึ่ง ข้อ 62 วรรคหนึ่ง และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสาขาของสถาบันการเงินต่างประเทศรายนั้นเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา

ในกรณีที่กองทุนมีเงินฝากตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการดำเนินงานของกองทุน มิให้นับมูลค่าของเงินฝากดังกล่าวรวมในอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง”

ข้อ 16 ให้ยกเลิกความในข้อ 62 และข้อ 63 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 62 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ ที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(1) ตราสารแห่งทุนในประเทศที่บริษัทจดทะเบียนเป็นผู้ออกหรือคู่สัญญา ทั้งนี้ ไม่รวมถึงตราสารแห่งทุนของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป

(2) หุ้นที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สั่งรับเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ออกหุ้นดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการกระจายการถือหุ้นรายย่อยตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน

(3) ตราสารแห่งหนี้ในประเทศ หรือตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ทั้งนี้ เฉพาะที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

(5) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(6) ตราสารแห่งทุนต่างประเทศ ตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศ หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ หรือตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นตราสารแห่งทุนต่างประเทศ หรือตราสารแห่งหนี้ต่างประเทศ ต้องมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(7) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่คู่สัญญามีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

(8) ตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้

ตราสารแห่งทุนตามวรรคหนึ่ง (1) ตราสารแห่งหนี้ตามวรรคหนึ่ง (3) มิให้หมายความรวมถึงหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ถูกจัดให้เป็นตราสารแห่งทุน หรือถูกจัดให้เป็นตราสารแห่งหนี้ ตามข้อกำหนดในภาค 1

การคำนวณอัตราส่วนตามวรรคหนึ่ง ให้นับมูลค่าของทรัพย์สินตามข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ที่บุคคลรายเดียวกันเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ซึ่งกองทุนได้ลงทุนหรือมีไว้รวมในอัตราส่วนตามวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 63 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินอื่นนอกเหนือจากกรณีที่กำหนดไว้ในข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 61/1 และข้อ 62 เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวซึ่งบุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา ต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(2) การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตาม (1) เมื่อคำนวณรวมทุกบุคคลที่เป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญาแล้ว ต้องมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535”

ข้อ 17 ให้ยกเลิกความในข้อ 69 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 69 การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่บริษัทในกลุ่มกิจการใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน หากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นองค์ประกอบที่ใช้ในการคำนวณตัวชี้วัด (benchmark) ของกองทุนนั้น บริษัทจัดการจะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินนั้นโดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินผลรวมของน้ำหนักของทรัพย์สินดังกล่าวในตัวชี้วัดและร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ทั้งนี้ แทนอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 หรือข้อ 63 แล้วแต่กรณี ก็ได้”

ข้อ 18 ให้ยกเลิกความในข้อ 87 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 87 ในการคำนวณอัตราส่วนตามข้อ 58 ข้อ 60 ข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 และข้อ 63 วรรคหนึ่ง (1) ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ รวมทั้งเงื่อนไขตามข้อ 88 ด้วย

(1) ในกรณีที่ทรัพย์สินดังกล่าวมีผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน บริษัทจัดการจะคำนวณอัตราส่วนที่ผู้ออกทรัพย์สินหรือผู้ที่เป็นคู่สัญญาดังกล่าว หรือคำนวณอัตราส่วนผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน แล้วแต่กรณี ก็ได้

(2) ในกรณีที่ทรัพย์สินมีบุคคลมากกว่าหนึ่งรายเป็นผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน บริษัทจัดการจะเลือกคำนวณอัตราส่วนที่ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกันรายใดรายหนึ่งก็ได้”

ข้อ 19 ให้ยกเลิกหมวด 3 หลักเกณฑ์อัตราส่วนเพิ่มเติมสำหรับกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น และกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกัน และข้อ 92 ในภาค 2 หลักเกณฑ์เกี่ยวกับอัตราส่วนการลงทุนของกองทุน แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 20 ให้ยกเลิกความในข้อ 93 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 93 มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 ข้อ 63 ข้อ 74 ข้อ 75 และข้อ 90 แล้วแต่กรณี มาใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(1) อัตราส่วนตามข้อ 61 ข้อ 61/1 หรือข้อ 62 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมตามหมวดนี้ โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามข้อกำหนดดังกล่าวที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนได้ โดยมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(2) ในกรณีที่กองทุนตามหมวดนี้เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุนหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมหน่วยลงทุน

(ก) มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (6) มาใช้บังคับกับการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ หากกองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(ข) มิให้นำอัตราส่วนตามข้อ 74 ข้อ 75 และข้อ 90 มาใช้บังคับกับการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นแต่ละกองทุนรวมที่บริษัทจัดการอื่นเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ทั้งนี้ บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน

(3) อัตราส่วนตามข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 หรือข้อ 63 มิให้นำมาใช้บังคับในกรณีที่กองทุนตามหมวดนี้เป็นกองทุนรวมมีประกันหรือกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว โดยบริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลได้โดยไม่จำกัดอัตราส่วน เว้นแต่เป็นการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่มีผู้ประกันของกองทุนนั้นเป็นผู้ออกหรือเป็นคู่สัญญา กรณีนี้ให้ยังคงอยู่ภายใต้บังคับของอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 หรือข้อ 63 แล้วแต่กรณี”

ข้อ 21 ให้ยกเลิกความในข้อ 100 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 100 อัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 ข้อ 63 ข้อ 74 และข้อ 90 มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ

นอกจากกรณีตามวรรคหนึ่งแล้ว ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจขอผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวด 1 ของภาคนี้ ต่อสำนักงานได้”

ข้อ 22 ให้ยกเลิกความในข้อ 106/1 และข้อ 106/2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 106/1 มิให้นำอัตราส่วนการลงทุนที่กำหนดในข้อ 61 ข้อ 61/1 ข้อ 62 และข้อ 69 มาใช้บังคับกับกองทุนรวมตลาดเงินและกองทุนส่วนบุคคลที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว โดยให้บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามข้อกำหนดดังกล่าวตามอัตราส่วนที่กำหนดในข้อ 106/2 และข้อ 106/3

ข้อ 106/2 บริษัทจัดการอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่บุคคลใดเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นเมื่อคำนวณเฉพาะผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญารายนั้น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนตามข้อ 106/1 ได้ ไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้

(1) ร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามข้อ 61 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) และข้อ 61/1

(2) ร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในกรณีที่เป็นทรัพย์สินตามข้อ 62 วรรคหนึ่ง (3) และ (7)

(3) ร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ในกรณีที่เป็นตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน”

ข้อ 23 ในกรณีที่บริษัทจัดการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของกองทุนเป็นไปตามประเภทและอัตราส่วนโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ไม่เป็นไปตามประเภทหรืออัตราส่วนในข้อกำหนดที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ บริษัทจัดการจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่หากทรัพย์สินนั้นเป็นตราสารที่มีกำหนดอายุซึ่งได้หมดอายุลง หรือได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการอาจคงทรัพย์สินอื่นนั้นไว้ได้เพียงจำนวนที่เหลือ

ข้อ 24 ให้บรรดาคำสั่งและหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ยังคงใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีคำสั่งหรือหนังสือเวียนเป็นอย่างอื่นตามข้อกำหนดซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ใช้บังคับ

ข้อ 25 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ