การกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในประการที่น่าจะมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 25, 2011 15:44 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 14 /2554

เรื่อง การกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในประการที่น่าจะมีผล

ต่อการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการ

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 มาตรา 247 และมาตรา 250/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 6/2552 เรื่อง การกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในประการที่น่าจะมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการ ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“กิจการ” หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“หุ้นเพิ่มทุน” หมายความว่า หุ้นที่ออกใหม่โดยกิจการ ไม่ว่าเป็นการออกเพื่อรองรับหลักทรัพย์แปลงสภาพหรือไม่ แต่ไม่รวมถึงการออกหุ้นเพื่อรองรับการปรับสิทธิตามหลักทรัพย์แปลงสภาพที่ได้ออกอยู่ก่อนแล้ว

“หลักทรัพย์แปลงสภาพ” หมายความว่า ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ

“บริษัทย่อย” หมายความว่า

(1) บริษัทที่กิจการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น

(2) บริษัทที่บริษัทตาม (1) ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น

(3) บริษัทที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการถือหุ้นของบริษัทตาม (2) ในบริษัทที่ถูกถือหุ้น โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น

(4) บริษัทที่กิจการหรือบริษัทตาม (1) (2) หรือ (3) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น

(5) บริษัทที่กิจการหรือบริษัทตาม (1) (2) (3) หรือ (4) มีอำนาจควบคุมในเรื่องการกำหนดนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัทเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์จากกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัทนั้น

“บริษัทร่วม” หมายความว่า

(1) บริษัทที่กิจการหรือบริษัทย่อยถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ร้อยละยี่สิบแต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น

(2) บริษัทที่กิจการหรือบริษัทย่อยมีอำนาจในการมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินและการดำเนินงานของบริษัท แต่ไม่ถึงระดับที่จะควบคุมนโยบายดังกล่าว และไม่ถือเป็นบริษัทย่อยหรือกิจการร่วมค้า

“ตลาดหลักทรัพย์” หมายความว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ข้อ 3 การกระทำของกิจการที่เข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาตามข้อ 4 เข้าลักษณะเป็นการกระทำในประการที่น่าจะมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ เว้นแต่เป็นการกระทำที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 5 หรือเป็นการกระทำภายใต้ความยินยอมหรือได้รับการผ่อนผันตามข้อ 6

(1) การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหรือหลักทรัพย์แปลงสภาพ

(2) การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของกิจการ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาหรือเครื่องจักรหลักที่ใช้ในการผลิต ที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละสิบซึ่งคำนวณตามมูลค่าสูงสุดในแต่ละวิธีตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน

(3) การก่อหนี้หรือการเข้าทำ แก้ไขเพิ่มเติม หรือยกเลิกสัญญาที่มีนัยสำคัญ โดยมิได้มีลักษณะเป็นการดำเนินการปกติในทางธุรกิจของกิจการ

(4) การซื้อหุ้นคืนของกิจการ (treasury stock) หรือการก่อให้หรือสนับสนุนให้บริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมซื้อหุ้นของกิจการ

(5) การจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้แก่ผู้ถือหุ้นในลักษณะที่มิใช่การดำเนินการปกติของกิจการ

ข้อ 4 ช่วงเวลาที่กิจการกระทำการตามข้อ 3 ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำในประการที่น่าจะมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อ ให้เป็นดังนี้

(1) วันเริ่มต้นของช่วงเวลา ได้แก่ วันที่มีการประกาศต่อสาธารณชนว่าจะเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หรือวันที่ยื่นประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หรือวันที่ยื่นคำเสนอซื้อต่อสำนักงาน แล้วแต่วันใดจะเกิดก่อน

(2) วันสุดท้ายของช่วงเวลา ได้แก่ วันดังต่อไปนี้ แล้วแต่วันใดจะเกิดหลังสุด

(ก) วันที่ยื่นประกาศปฏิเสธการทำคำเสนอซื้อ

(ข) วันที่ส่งหนังสือแจ้งการยกเลิกคำเสนอซื้อพร้อมเหตุผลต่อสำนักงานและสำนักงานมิได้แจ้งทักท้วงการยกเลิกดังกล่าว

(ค) วันสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อตามคำเสนอซื้อ เว้นแต่ในกรณีที่ภายหลังการทำคำเสนอซื้อ ผู้ทำคำเสนอซื้อเป็นผู้ถือหุ้นของกิจการเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ ให้วันประชุมผู้ถือหุ้นครั้งแรกหลังจากสิ้นสุดระยะเวลารับซื้อตามคำเสนอซื้อ เป็นวันสุดท้ายของช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อ 5 ในกรณีที่การกระทำของกิจการตามที่กำหนดในข้อ 3 เป็นการดำเนินการตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการหรือมติคณะกรรมการของกิจการ ที่ได้อนุมัติไว้ก่อนแล้ว และเป็นไปตามองค์ประกอบดังต่อไปนี้ มิให้ถือว่าเป็นการกระทำในประการที่น่าจะมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อ

(1) เป็นมติที่ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ก่อนวันที่มีการประกาศต่อสาธารณชนว่าจะเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หรือวันที่ยื่นประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หรือวันที่ยื่นคำเสนอซื้อต่อสำนักงาน แล้วแต่วันใดจะเกิดก่อน

(2) มีการระบุรายละเอียดของการกระทำตามข้อ 3 ไว้อย่างชัดเจนในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหรือหลักทรัพย์แปลงสภาพตามข้อ 3(1) มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นในกรณีดังกล่าวต้องมิใช่การเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป (General Mandate) และในมตินั้นต้องมีการระบุรายละเอียดในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) วัตถุประสงค์ในการใช้เงินเพิ่มทุน รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นในการใช้เงินเพิ่มทุนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว

(ข) ลักษณะการเสนอขาย ซึ่งต้องเป็นการเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น หรือการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป หรือการเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด โดยในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนโดยเฉพาะเจาะจงที่จะมีส่วนร่วมในการบริหาร (strategic partner) ต้องระบุชื่อผู้ลงทุนดังกล่าวอย่างชัดเจน

(ค) จำนวนหุ้นที่จะเสนอขายแก่ผู้ลงทุน

(3) ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อกรรมการหรือคณะกรรมการของกิจการในเรื่องความสนใจของผู้ทำคำเสนอซื้อที่จะเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการในขณะที่มีมติดังกล่าวเพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง (2) คำว่า “การเพิ่มทุนแบบมอบอำนาจทั่วไป(General Mandate)” หมายความว่า การเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนโดยการขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้ล่วงหน้าและให้อำนาจคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนกำหนดวัตถุประสงค์ การออกและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน เช่น การกำหนดราคา วันและเวลาที่จะเสนอขาย หรือเงื่อนไขในการเสนอขายหุ้น ในแต่ละคราวตามความเหมาะสม

ข้อ 6 การกระทำของกิจการที่เข้าลักษณะเป็นการกระทำในประการที่น่าจะมีผลต่อการทำคำเสนอซื้อตามที่กำหนดในข้อ 3 หากเป็นการดำเนินการภายใต้ความยินยอมหรือการผ่อนผันดังต่อไปนี้ กิจการไม่จำต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้กระทำการดังกล่าว

(1) ได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ทำคำเสนอซื้อ ให้กระทำการเช่นนั้นได้

(2) ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่กิจการแสดงได้ว่ามีข้อจำกัดในการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ และการกระทำนั้นมิได้มีเจตนาเพื่อก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำคำเสนอซื้อ โดยต้องยื่นขอผ่อนผันต่อสำนักงานก่อนที่กิจการจะกระทำการดังกล่าว และในกรณีที่เห็นสมควร สำนักงานอาจเสนอให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการพิจารณาคำขอผ่อนผันดังกล่าวได้

ข้อ 7 ในกรณีที่กิจการต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามข้อ 3 หนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติดังกล่าว ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้อย่างชัดแจ้ง

(1) รายละเอียดเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื้อเท่าที่คณะกรรมการของกิจการทราบ

(2) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหรือหลักทรัพย์แปลงสภาพตามข้อ 3(1) ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนหรือหลักทรัพย์แปลงสภาพต่อการทำคำเสนอซื้อและต่อผู้ถือหุ้นของกิจการด้วย

(3) ในกรณีเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินตามข้อ 3(2) ต้องมีความเห็นของคณะกรรมการในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย ทั้งนี้ ในกรณีที่จะเป็นการเข้าทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละห้าสิบขึ้นไป ให้มีความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในเรื่องดังกล่าวด้วย

(ก) ความเป็นธรรมของราคาและเงื่อนไขของการทำรายการ

(ข) ความเพียงพอของเงินทุนหมุนเวียนของกิจการในกรณีที่กิจการตกลงเข้าทำรายการ

(ค) ความเห็นว่าผู้ถือหุ้นควรลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทำรายการ พร้อมระบุเหตุผลประกอบ

(4) ความเห็นของคณะกรรมการของกิจการเกี่ยวกับความสมเหตุสมผลและประโยชน์ของการทำรายการตามที่กำหนดในข้อ 3 ต่อกิจการ พร้อมระบุเหตุผลประกอบ ทั้งนี้ ในกรณีที่จะเป็นการเข้าทำรายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละห้าสิบขึ้นไป ให้มีความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระในเรื่องดังกล่าวด้วย

ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระตามวรรคหนึ่ง (3) และ (4) และการเปิดเผยความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่มีนัยสำคัญที่เข้าข่ายเป็นการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ 8 ในกรณีที่กิจการกระทำการตามข้อ 3 โดยได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการ ผู้ทำคำเสนอซื้อจะใช้สิทธิยกเลิกคำเสนอซื้อหรือลดราคาเสนอซื้อได้ต่อเมื่อผู้ทำคำเสนอซื้อได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในคำเสนอซื้อและได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้วเมื่อเกิดเหตุที่ผู้ทำคำเสนอซื้อจะใช้สิทธิตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ทำคำเสนอซื้อแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบก่อนการใช้สิทธิ และหากสำนักงานมิได้ทักท้วงเป็นประการใดภายในสามวันทำการนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแจ้ง ให้ถือว่าผู้ทำคำเสนอซื้อได้รับความเห็นชอบให้ใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ทำคำเสนอซื้อ บุคคลที่กระทำการร่วมกันตามมาตรา 247 หรือบุคคลตามมาตรา 258 ของบุคคลเหล่านั้นได้ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบด้วยกับการกระทำการตามข้อ 3 ผู้ทำคำเสนอซื้อจะใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งมิได้

ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ