ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 6, 2011 14:08 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 27/2554

เรื่อง ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

กับบริษัทจัดการกองทุนรวม

______________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 119(6) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการจัดทำข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกับบริษัทจัดการ

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกับบริษัทจัดการ

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

ข้อ 3 ข้อผูกพันอย่างน้อยต้องมีรายการที่แสดงสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) ชื่อโครงการจัดการกองทุนรวม

(2) รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งต้องมีข้อความที่ระบุให้โครงการจัดการกองทุนรวมที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงาน หรือผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 129 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่แนบท้ายข้อผูกพันถือเป็นส่วนหนึ่ง ของข้อผูกพันนี้

(3) อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทจัดการ

(4) สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ถือหน่วยลงทุน

(5) ข้อจำกัดในการจ่ายเงินปันผล (ถ้ามี)

(6) วิธีการชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่น

(7) การออกและส่งมอบเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน

(8) การจัดทำทะเบียนหน่วยลงทุน การโอนหน่วยลงทุน และข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุน

(9) การแต่งตั้ง อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์

(10) การเปลี่ยนบริษัทจัดการและผู้ดูแลผลประโยชน์

(11) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพัน

(12) หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุน และผลบังคับของมติ

(13) การชดใช้หรือเยียวยาความเสียหายแก่กองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุน ตลอดจนการระงับข้อพิพาทระหว่างบริษัทจัดการและผู้ถือหน่วยลงทุน

(14) การชำระบัญชีเมื่อเลิกกองทุนรวม

(15) รายการอื่นใดตามที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 4 รายการอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทจัดการ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า บริษัทจัดการมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อผูกพัน โครงการจัดการกองทุนรวม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่ข้อกำหนดในโครงการจัดการกองทุนรวมหรือข้อผูกพันขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว

หากบริษัทจัดการได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ กฎ หรือคำสั่งนั้น ให้ถือว่าบริษัทจัดการได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมและข้อผูกพันแล้ว

ข้อ 5 รายการสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ถือหน่วยลงทุน ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินค่าหน่วยลงทุนที่ยังส่งใช้แก่บริษัทจัดการไม่ครบ

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การที่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้แสดงความประสงค์ในการซื้อหรือลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนี้ไม่ว่าในทอดใด ๆ ให้ถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวยอมรับที่จะผูกพันตามข้อกำหนดในข้อผูกพันซึ่งลงนามโดยผู้ดูแลผลประโยชน์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการโดยชอบ

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนมีสิทธิเรียกให้บริษัทจัดการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนและคืนเงินทุนได้ไม่เกินไปกว่าส่วนของทุนของกองทุนรวมที่ตนถือ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน สิทธิในการได้รับประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยลงทุนชนิดนั้น ๆ ด้วย

ข้อ 6 รายการจ่ายเงินปันผลและข้อจำกัดในการจ่ายเงินปันผล ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า บริษัทจัดการจะไม่จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในส่วนที่ถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า บริษัทจัดการจะจัดทำบัญชีและแยกเงินที่ไม่อาจจ่ายเป็นเงินปันผลออกจากบัญชีและทรัพย์สินของกองทุนรวม และไม่นำเงินดังกล่าวรวมในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม โดยจะยกเงินดังกล่าวให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน

ข้อ 7 รายการวิธีการชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่น ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับวิธีการชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการ ผู้ดูแลผลประโยชน์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ตลอดจนผู้มีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่นให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะชำระให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ปรากฏชื่อตามทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ เวลาที่กำหนดเท่านั้น

ข้อ 8 รายการการออกและส่งมอบเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า บริษัทจัดการจะจัดทำหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการและบุคคลอื่นได้ โดยให้แสดงตัวอย่างหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนด้วย

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจำเป็นต้องใช้ใบหน่วยลงทุน บริษัทจัดการต้องจัดทำใบหน่วยลงทุนมอบให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

ข้อ 9 รายการการจัดทำทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน การโอนหน่วยลงทุนและข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุน ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า บริษัทจัดการมีหน้าที่จัดให้มีทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่ออกตามมาตรา 125(5) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทะเบียนหน่วยลงทุนถูกต้อง และการชำระเงินหรือทรัพย์สินอื่น รวมทั้งการให้สิทธิหรือการจำกัดสิทธิใด ๆ แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ปรากฏรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน หากได้กระทำตามข้อกำหนดในข้อผูกพันหรือตามกฎหมายแล้ว ให้ถือว่าบริษัทจัดการได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า บริษัทจัดการสามารถปฏิเสธการแสดงชื่อในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ในกรณีที่การถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ที่ออกตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

ข้อ 10 รายการการแต่งตั้ง อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดูแลผลประโยชน์ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมและตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งรวมถึงหน้าที่ดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวง และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้ดูแลผลประโยชน์รายเดิมมีหน้าที่ดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รายใหม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวรวมถึงการลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของสิ่งที่ส่งมอบให้ผู้ดูแลผลประโยชน์รายใหม่หากมีการเปลี่ยนผู้ดูแลผลประโยชน์

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์กระทำการ งดเว้นกระทำการหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ ในการดูแลรักษาประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจใช้สิทธิตามมาตรา 132 ประกอบกับมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในการฟ้องร้องบังคับคดีกับผู้ดูแลผลประโยชน์เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงได้

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกับผลประโยชน์ของกองทุนรวมและผู้ถือหน่วยลงทุน ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ดูแลผลประโยชน์เองหรือประโยชน์ของผู้อื่น เว้นแต่เป็นการเรียกค่าตอบแทนในการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ หรือเป็นการดำเนินการในลักษณะที่เป็นธรรมและได้เปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบก่อนอย่างเพียงพอแล้ว โดยผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้ทราบข้อมูลดังกล่าวมิได้แสดงการคัดค้าน

(4) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ดูแลผลประโยชน์กระทำการอันเป็นการขัดแย้งกับผลประโยชน์ของกองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุนที่ไม่เข้าข้อยกเว้นให้กระทำได้ หากเป็นกรณีที่มีนัยสำคัญและไม่สามารถแก้ไขให้หมดไป ให้บริษัทจัดการมีอำนาจบอกเลิกสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ได้

(5) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่การดำเนินการใดต้องได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน หากบริษัทจัดการไม่ดำเนินการขอมติ ให้ผู้ดูแลผลประโยชน์มีอำนาจดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุนได้

ข้อ 11 รายการการเปลี่ยนบริษัทจัดการ ต้องมีข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่มีการเปลี่ยนบริษัทจัดการ ไม่ว่าโดยคำสั่งของสำนักงานหรือโดยเหตุอื่นใดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 บริษัทจัดการต้องดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้บริษัทจัดการรายใหม่เข้าทำหน้าที่ต่อไปได้ ซึ่งรวมถึงการส่งมอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่บริษัทจัดการรายใหม่

ข้อ 12 รายการการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพัน ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมส่วนใดส่วนหนึ่งของข้อผูกพันที่เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อผูกพัน และมีสาระสำคัญที่เป็นไปตามและไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตลอดจนหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายดังกล่าว ให้ถือว่าข้อผูกพันในส่วนที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลผูกพันคู่สัญญา

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันในเรื่องที่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างมีนัยสำคัญต้องได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุน

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า เรื่องที่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างมีนัยสำคัญตาม (2) ให้รวมถึง

(ก) ข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์ตอบแทนและการคืนเงินทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

(ข) เรื่องที่ผู้ดูแลผลประโยชน์เห็นว่ากระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

(4) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันในลักษณะดังต่อไปนี้ให้มีผลผูกพันเมื่อได้รับความเห็นชอบจากผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยไม่ต้องได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน

(ก) เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันให้มีสาระสำคัญสอดคล้องกับโครงการจัดการกองทุนรวมที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยได้รับมติโดยเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หรือ

(ข) ผู้ดูแลผลประโยชน์แสดงความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันนั้นเหมาะสม มีความจำเป็นหรือสมควร และไม่กระทบต่อสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

(5) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันไม่ว่ากรณีใด ต้องกระทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อโดยบุคคลผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจัดการและผู้ดูแลผลประโยชน์ พร้อมทั้งประทับตราบริษัท (ถ้ามี) รวมทั้งให้มีข้อกำหนดที่แสดงว่าบริษัทจัดการจะจัดให้มีข้อผูกพันเปิดเผยไว้ ณ ที่ทำการและเว็บไซต์ของบริษัทจัดการเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถตรวจดูได้ รวมทั้งจัดส่ง

สรุปการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันในรอบปีบัญชีพร้อมทั้งเหตุผลและความจำเป็นให้ผู้ถือหน่วยลงทุนพร้อมกับการส่งรายงานประจำปีของกองทุนรวม

ข้อ 13 รายการหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอมติของผู้ถือหน่วยลงทุน และผลบังคับของมติ ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการขอมติ ซึ่งกำหนดอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) วิธีการขอมติ เช่น การขอมติจะกระทำโดยการส่งหนังสือขอมติไปยังผู้ถือหน่วยลงทุน หรือโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น

(ข) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการขอมติ

(ค) องค์ประชุม (ถ้ามี) ในกรณีที่เป็นการขอมติโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน

(ง) ข้อจำกัดสิทธิในการออกเสียงลงมติของผู้ถือหน่วยลงทุน เช่น ผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามอัตราที่กำหนดในหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมในเรื่องที่จะลงมติ เป็นต้น

(จ) จำนวนเสียงที่ใช้เป็นมติและวิธีการนับมติ โดยอย่างน้อยต้องมีข้อกำหนดเพื่อรองรับกรณีดังต่อไปนี้

1. กรณีการขอมติโดยการส่งหนังสือขอมติไปยังผู้ถือหน่วยลงทุน

2. กรณีการขอมติโดยการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน (ถ้ามี)

3. กรณีการขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมที่มีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด (ถ้ามี)

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามและไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับการขอมติและการออกเสียงลงคะแนนในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

(2) ข้อกำหนดที่แสดงว่า การดำเนินการใดที่โครงการจัดการกองทุนรวมหรือกฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน หากบริษัทจัดการได้ดำเนินการไปตามมติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับมาโดยชอบแล้ว ให้ถือว่าผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าวและมีผลผูกพันตามมติ

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า มติของผู้ถือหน่วยลงทุนที่ให้ดำเนินการใดอันเป็นการขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมาย ให้ถือว่ามตินั้นเสียไป

ข้อ 14 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

(นายชาลี จันทนยิ่งยง)

รองเลขาธิการ

รักษาการเลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ