ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กค. 17 / 2554
เรื่อง การเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546
และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550
________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9(1) และมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และมาตรา 8(1) และมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 และมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ความผิดตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ซึ่งไม่มีผลเสียหาย ร้ายแรงต่อลูกค้า ประชาชน ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือระบบการเงินของประเทศ ที่คณะกรรมการ เปรียบเทียบความผิดมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ในบทบัญญัติที่เป็นความผิดของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคล ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลดังกล่าว ข้อเท็จจริงในกรณีนั้นต้องมิใช่กรณีที่
(ก) ก่อให้เกิดผลเสียหายจนถึงขนาดที่ทำให้ระบบการซื้อขายและระบบการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการต่อไปไม่ได้
(ข) ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อระบบการซื้อขายและระบบการชำระหนี้ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างร้ายแรง หรือ
(ค) แสดงถึงการมีเจตนาทุจริต
(2) ในบทบัญญัติที่เป็นความผิดของผู้สอบบัญชี ข้อเท็จจริงในกรณีนั้นต้องมิใช่กรณีที่
(ก) แสดงถึงการมีเจตนาทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผู้ใช้งบการเงิน หรือ
(ข) แสดงถึงการมีส่วนรู้เห็นหรือปกปิดข้อมูลการปฏิบัติงานโดยมิชอบด้วยกฎหมายของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลที่ตนเป็นผู้สอบบัญชี
(3) ในบทบัญญัติที่เป็นความผิดของผู้ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือ ไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ข้อเท็จจริงในกรณีนั้นต้องมิใช่กรณีที่แสดงว่า ผู้นั้นมีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำความผิดมิให้ถูกดำเนินการตามกฎหมายในความผิดที่เปรียบเทียบไม่ได้
ข้อ 2 ความผิดตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ซึ่งไม่มีผลเสียหายร้ายแรงต่อกองทรัสต์ ที่คณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ในบทบัญญัติที่เป็นความผิดของผู้ใช้ชื่อว่าเป็นทรัสตีโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี ข้อเท็จจริงในกรณีนั้นต้องไม่ปรากฏว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 77 ด้วย
(2) ในบทบัญญัติที่เป็นความผิดของผู้สอบบัญชี หรือผู้ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 1(2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี
ข้อ 3 เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า เป็นความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามข้อ 1 หรือข้อ 2 ให้สำนักงาน ก.ล.ต. เสนอคณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบ
ข้อ 4 ในการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 ให้คณะกรรมการเปรียบเทียบความผิดพิจารณาเปรียบเทียบปรับในแต่ละกรณีโดยคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้
(1) พฤติการณ์แห่งความผิด โดยให้พิจารณาจาก
(ก) ความจงใจในการกระทำความผิด
(ข) ประโยชน์ที่ผู้ต้องหาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด หรือบุคคลอื่นได้รับหรือจะได้รับจากการกระทำนั้น
(ค) ระดับความสำคัญของความผิดที่ฝ่าฝืนต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของตลาดทุนหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
(2) ระดับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้นทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน
(3) ข้อเท็จจริงอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยให้พิจารณาจาก
(ก) ช่วงระยะเวลาและความถี่ของการกระทำความผิด
(ข) ระดับของความบกพร่องของระบบบริหารจัดการหรือระบบควบคุมภายในของผู้ต้องหาที่เป็นเหตุให้เกิดการกระทำความผิด
(ค) ความเกี่ยวข้องของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ต้องหาที่เป็นนิติบุคคล เกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น
(ง) การดำเนินการของผู้ต้องหาในการป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดนั้น หรือการติดตามดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย และการรายงานหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดดังกล่าวต่อสำนักงาน
(จ) การดำเนินการของผู้ต้องหาเพื่อแก้ไขเยียวยาความเสียหาย
(ฉ) ระดับความร่วมมือที่ผู้ต้องหาให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล ระดับความร่วมมือดังกล่าวให้หมายความรวมถึง ระดับความร่วมมือของกรรมการ ผู้จัดการ บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงาน หรือพนักงานของผู้ต้องหานั้นด้วย
(ช) ประวัติการถูกลงโทษทางอาญาของผู้ต้องหาตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 หรือพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 แล้วแต่กรณี หรือในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นนิติบุคคล ให้หมายความรวมถึงประวัติการกระทำของบุคคล ที่การกระทำนั้นเป็นต้นเหตุของความผิดของนิติบุคคลด้วย ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะเคยถูกลงโทษหรือไม่
(ซ) ระดับการเปรียบเทียบความผิดกับบุคคลที่ได้เคยเปรียบเทียบความผิดที่มีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าเป็นการเปรียบเทียบความผิดตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 พระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 หรือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป
ข้อ 6 ประกาศ ณ วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554
(นางสาวนวพร เรืองสกุล)
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์