ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กจ. 40/2548
เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่
(ฉบับที่ 7)
__________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 14 มาตรา 34(1) มาตรา 35 มาตรา 40(11) มาตรา 41(3) และ (4) มาตรา 42(10) มาตรา 43(3) และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 5 และมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 อันเป็นพระราชบัญญัติและพระราชกำหนดที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 45 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (1/1) (1/2) (1/3) และ (1/4) ของข้อ 3 แห่งประกาศ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544“
(1/1) “โครงการ” หมายความว่า โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(1/2) “นิติบุคคลเฉพาะกิจ” หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการ
แปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะได้กระทำภายใต้พระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 หรือไม่ก็ตาม
(1/3) “ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้” (servicer) หมายความว่า ผู้ที่ให้บริการเรียกเก็บและรับชำระหนี้ที่เกิดจากการรับโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้อง และดำเนินการอื่นใดเพื่อประโยชน์
ตามโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(1/4) “สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(ก) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(ข) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(ค) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(ง) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน”
ข้อ 2 ให้ยกเลิก (2) ของข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
ข้อ 3 ให้ยกเลิก (3) ของข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
(3) หุ้นกู้ระยะสั้นซึ่งไม่รวมถึงหุ้นกู้ที่ออกโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจ”
ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 6/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
“ข้อ 6/1 ในการขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการผู้ขออนุญาตต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวด 2 ประกอบหมวด 5 หรือหมวด 3 ประกอบหมวด 5 แล้วแต่กรณี”
ข้อ 5 ให้ยกเลิกความใน (6) ของข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 48/2545 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน“(6) เป็นหุ้นกู้ที่จัดให้มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตามที่กำหนดไว้ในข้อ 14/1”
ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 14/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
“ข้อ 14/1 หุ้นกู้ที่เสนอขายต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
(1) อันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง
(2) อันดับความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เฉพาะในกรณีที่เป็นการค้ำประกันที่
มีผลบังคับให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ โดยไม่สามารถเพิกถอนได้ก่อนครบกำหนดอายุของหุ้นกู้
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้
(1) หุ้นกู้ที่เสนอขายมีกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
(2) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานได้มีหนังสือแจ้งต่อสำนักงานว่าไม่สามารถทำการจัดอันดับความน่าเชื่อถือหุ้นกู้นั้นได้โดยมีเหตุอันสมควร และเหตุนั้นมิได้เกิดจากผู้ออกหุ้นกู้ สำนักงานอาจผ่อนผันให้การจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้นกระทำโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นที่สำนักงานกำหนดได้
(3) กรณีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน โดยมีเหตุจำเป็นและสมควร หรือเป็น
กรณีที่พิจารณาได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้จะต้องมีอยู่จนกว่าสิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้จะระงับลง เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร สำนักงานอาจผ่อนผันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ โดยกำหนดเงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ลงทุนในการมีข้อมูลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือนั้น”
ข้อ 7 ให้ยกเลิกข้อ 22 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 5 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544
“หมวด 5
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการเสนอขาย
หุ้นกู้ตามโครงการ
ส่วนที่ 1
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั่วไป
ข้อ 35/7 ให้บุคคลที่จะเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติจากสำนักงานและบริษัทที่จะเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจยื่นคำขออนุมัติโครงการและคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่มาพร้อมกัน ในแต่ละครั้งก่อนเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการ ทั้งนี้ ตามแบบและวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
ในการพิจารณาคำขออนุญาตที่ยื่นตามหมวดนี้ ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขอภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนข้อ 35/8 ผู้มีสิทธิเสนอโครงการ (originator) ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นนิติบุคคลประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) สถาบันการเงิน
(ข) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(ค) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ง) บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด
(2) มีผู้บริหารที่มีชื่ออยู่ในระบบข้อมูลรายชื่อผู้บริหารเป็นไปตามข้อ 10(3)(ก) โดยอนุโลม
(3) มีผู้มีอำนาจควบคุมที่มีลักษณะเป็นไปตามข้อ 10(3)(ข) โดยอนุโลม
ข้อ 35/9 โครงการที่จะได้รับอนุมัติจากสำนักงานต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) สินทรัพย์ที่จะโอนไปยังนิติบุคคลเฉพาะกิจต้องเป็นสิทธิเรียกร้องไม่ว่าประเภทใด ๆ
ของผู้ยื่นโครงการที่ก่อให้เกิดกระแสรายรับในอนาคต หรือสิทธิอื่นใดที่ผู้เสนอโครงการสามารถแสดงได้อย่างชัดเจนว่าจะก่อให้เกิดกระแสรายรับในอนาคต โดยสิทธิเรียกร้องหรือสิทธิอื่นใดดังกล่าวต้องเป็นประเภทเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องกัน และผู้เสนอโครงการและนิติบุคคลเฉพาะกิจต้องแสดงได้ว่าจะไม่เพิกถอนสิทธิหรือกระทำการใด ๆ ที่จะมีหรืออาจมีผลให้สิทธินั้นด้อยลง
(2) หุ้นกู้ที่จะออกและเสนอขายตามโครงการต้องมีลักษณะเป็นไปตามข้อ 14 และ
ต้องไม่เป็นหุ้นกู้แปลงสภาพ
(3) ในกรณีที่จะมีการลงทุนหรือหาผลประโยชน์จากกระแสรายรับที่เกิดขึ้นจากสิทธิเรียกร้อง ซึ่งสามารถกระทำได้ตามข้อ 35/14(3) ต้องกำหนดแนวทางและวิธีการลงทุนหรือการหาผลประโยชน์นั้นไว้อย่างชัดเจน
(4) จัดให้มีผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ โดยอาจจัดให้มีผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้สำรอง
(backup servicer) ด้วยก็ได้
ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้หรือผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้สำรอง (ถ้ามี) ที่ไม่ใช่ผู้เสนอโครงการ ต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
(ก) สถาบันการเงิน
(ข) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์
(ค) สถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินตามกฎหมายหรือนโยบายของทางการ หรือ
(ง) นิติบุคคลที่มีลักษณะตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความสามารถในการให้บริการหรือการจัดให้มีระบบเพื่อรองรับการเรียกเก็บหนี้
(5) ระบุแผนการเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการให้ชัดเจน
ข้อ 35/10 นิติบุคคลเฉพาะกิจจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามหมวดนี้ ก็ต่อเมื่อ
นิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวไม่เคยได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการอื่น เว้นแต่สิทธิเรียกร้องตามหุ้นกู้ดังกล่าวจะระงับไปทั้งหมดแล้วเมื่อได้รับอนุญาตจากสำนักงาน นิติบุคคลเฉพาะกิจอาจเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เสนอขายหุ้นกู้รุ่นหนึ่งหรือหลายรุ่นในคราวเดียว
(2) เสนอขายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นเดิมภายใต้วงเงินที่ระบุไว้ตามโครงการ โดยหุ้นกู้ที่เสนอขายเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมนั้นจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) มีกำหนดระยะเวลาการไถ่ถอนไว้ไม่เกินอายุโครงการ
(ข) เป็นหุ้นกู้ที่เสนอขายภายใต้ข้อกำหนดสิทธิหลักฉบับเดียวกันหรือที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นกู้ที่ออกใหม่ไม่ด้อยไปกว่าผู้ถือหุ้นกู้รุ่นเดิมที่จะไถ่ถอน ทั้งนี้ หุ้นกู้แต่ละรุ่นอาจมีข้อกำหนดในเชิงพาณิชย์ (commercial terms) ที่แตกต่างกันได้ เช่น อัตราดอกเบี้ย อายุ วันที่ออกวันที่ครบกำหนดไถ่ถอน เป็นต้น
สำนักงานอาจผ่อนผันการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อนี้ได้ หากผู้เสนอโครงการและ
นิติบุคคลเฉพาะกิจแสดงได้ว่าการออกและเสนอขายหุ้นกู้ที่ขออนุญาตจะไม่มีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นกู้ที่นิติบุคคลเฉพาะกิจเคยออกและเสนอขายไปแล้ว
ข้อ 35/11 สัญญาแต่งตั้งผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้อย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ดังต่อไปนี้
(1) การจัดให้มีระบบบัญชีสำหรับการปฏิบัติหน้าที่และจัดเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้อง
แยกต่างหากจากส่วนงานอื่นของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้
(2) หน้าที่ของผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้รายเดิมในการดำเนินการใด ๆ เพื่อให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้รายใหม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ โดยต้องกำหนดเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ไว้ให้ชัดเจน
(3) การโอนเงินที่เรียกเก็บได้จากสินทรัพย์เข้าบัญชีของนิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งต้องกระทำโดยเร็วที่สุด แต่ต้องไม่เกินสิบห้าวันทำการนับแต่วันที่เรียกเก็บเงินได้ดังกล่าว โดยต้องกำหนดข้อห้ามนำเงินซึ่งได้รับมาเพื่อนิติบุคคลเฉพาะกิจไปใช้เพื่อการอื่นใด ในกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจมีข้อตกลงที่จะหักกลบลบหนี้ค่าซื้อสินทรัพย์หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์กับผู้เสนอโครงการซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ด้วย ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้มีสิทธิหักค่าซื้อสินทรัพย์จากเงินที่เรียกเก็บได้แต่ต้องโอนเงินส่วนที่เหลือเข้าบัญชีของนิติบุคคลเฉพาะกิจภายในระยะเวลาเดียวกัน
(4) การจัดทำและนำส่งรายงานเป็นรายไตรมาส ซึ่งอย่างน้อยต้องแสดงรายละเอียด
เกี่ยวกับผลการเรียกเก็บเงินจากสินทรัพย์ และยอดสินทรัพย์คงเหลือของโครงการต่อนิติบุคคลเฉพาะกิจและผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (ถ้ามี) ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นไตรมาสในกรณีที่มีการแต่งตั้งผู้ให้บริการสำรอง สัญญาแต่งตั้งผู้ให้บริการสำรองต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ให้บริการสำรองตามวรรคหนึ่งด้วย โดยอนุโลม
ข้อ 35/12 นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 15 แล้ว ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ที่เสนอขายตามโครงการอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ด้วย
(1) รายการทั่วไปของโครงการ ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุถึงชื่อและที่อยู่ของผู้เสนอ
โครงการ ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้สำรอง (ถ้ามี) รวมทั้งประเภท ลักษณะและมูลค่าของสินทรัพย์ที่นิติบุคคลเฉพาะกิจรับโอนมาจากผู้เสนอโครงการ
(2) ข้อกำหนดให้นิติบุคคลเฉพาะกิจหรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อพิจารณาดำเนินการอันจำเป็นตามควรโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่ผู้เสนอโครงการ นิติบุคคลเฉพาะกิจ หรือบุคคลอื่นใดที่เป็นคู่สัญญาที่มีภาระผูกพันตามสัญญาที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามโครงการ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาในสาระสำคัญ
(3) ข้อกำหนดให้การแต่งตั้งผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้รายใหม่ ต้องได้รับความเห็นชอบ
จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก่อนการแต่งตั้ง
(4) ข้อกำหนดให้นิติบุคคลเฉพาะกิจต้องรายงานให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (ถ้ามี) ทราบถึง
การซื้อสินทรัพย์ รับโอน หรือโอนคืนสินทรัพย์ให้กับผู้เสนอโครงการ ภายในกำหนดระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นเดือนที่มีการทำรายการดังกล่าว
ข้อ 35/13 นอกจากรายการและสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในข้อ 16 แล้ว สัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายตามโครงการ ต้องมีข้อกำหนดให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องติดตามให้ผู้เสนอโครงการ นิติบุคคลเฉพาะกิจ ผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้และผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้สำรอง (ถ้ามี) หรือบุคคลอื่นใดที่เป็นคู่สัญญาที่มีภาระผูกพันตามสัญญาที่ก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการ ดำเนินการตามสัญญาที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ข้อ 35/14 นิติบุคคลเฉพาะกิจที่ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามโครงการ โดยต้องรับโอน
สินทรัพย์ตามจำนวนขั้นต่ำที่ระบุไว้ในโครงการให้แล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่สำนักงานอนุมัติโครงการ ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
(2) ต้องเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการที่ได้รับอนุญาตให้แล้วเสร็จภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้รุ่นใหม่เพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้รุ่นเดิมตามข้อ 35/10 วรรคสอง (2)
(3) ในกรณีที่มีการหาผลประโยชน์จากกระแสรายรับจากสินทรัพย์ ต้องเป็นการลงทุน
ในธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำและมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนก่อนวันถึงกำหนดชำระหนี้ตามหุ้นกู้ที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสิทธิ และต้องไม่เป็นผลให้กระแสรายรับไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึง การลงทุนในบัตรเงินฝากหรือตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่ออกโดยสถาบันการเงินตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(4) รายงานการไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนต่อสำนักงานภายในสิบห้าวัน
นับแต่วันที่มีการไถ่ถอน
ข้อ 35/15 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายที่เข้าลักษณะตามข้อ 6 วรรคสอง (1) (2) (3) หรือ (4) หรือเป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ ตามส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ มิให้นำข้อกำหนดดังต่อไปนี้มาใช้บังคับ
(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุมของผู้เสนอโครงการตามข้อ 35/8 (2) และ (3)
(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้หรือผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้สำรอง ตามข้อ 35/9(4) วรรคสอง
(3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสัญญาแต่งตั้งผู้ให้บริการเรียกเก็บหนี้ตามข้อ 35/11
(4) ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ตามข้อ 35/12
(5) สัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามข้อ 35/13
(6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการหาผลประโยชน์จากกระแสรายรับที่เกิดขึ้นจากสิทธิเรียกร้อง
ตามข้อ 35/14(3)
ในกรณีที่เป็นการเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน มิให้นำข้อกำหนดตามที่ระบุไว้ใน
วรรคหนึ่ง (2) ถึง (6) มาใช้บังคับ
ส่วนที่ 2
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะสำหรับโครงการที่จะเสนอขาย
ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ
ข้อ 35/16 ความในส่วนนี้ให้ใช้บังคับกับการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามโครงการต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ โดยหุ้นกู้ที่เสนอขายมีข้อตกลงที่จะชำระดอกเบี้ย และไถ่ถอนหุ้นกู้เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวบางส่วนต่อผู้ลงทุนสถาบันในประเทศด้วยหรือไม่
ข้อ 35/17 ผู้เสนอโครงการและนิติบุคคลเฉพาะกิจจะได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ตามส่วนนี้ก็ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) สามารถแสดงได้ว่าการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ที่ยื่นขออนุญาตจะกระทำต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ และในกรณีที่มีบางส่วนเสนอขายในประเทศ ส่วนที่เสนอขายในประเทศนั้นต้องเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น
(2) สามารถแสดงได้ว่าการซื้อขาย หรือการโอนหุ้นกู้ที่ยื่นขออนุญาตไม่ว่าทอดใด ๆ
จะกระทำในต่างประเทศ เว้นแต่เป็นการซื้อขายระหว่างผู้ลงทุนในต่างประเทศและผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ หรือระหว่างผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ
ข้อ 35/18 ในกรณีที่มีการจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ผู้เสนอโครงการและนิติบุคคลเฉพาะกิจต้องจัดให้มีการขอความเห็นชอบบุคคลที่จะแต่งตั้งเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ทั้งนี้ บุคคลดังกล่าวจะได้รับความเห็นชอบก็ต่อเมื่อสามารถแสดงได้ว่าบุคคลนั้นมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นทรัสตีได้ตามกฎหมายแห่งประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะเสนอขายหุ้นกู้นั้นหรือประเทศที่จะนำหุ้นกู้ดังกล่าวไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือ
(2) เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่งที่จะเสนอขายหุ้นกู้นั้น หรือประเทศที่จะนำหุ้นกู้ดังกล่าวไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อแสดงได้ว่ากฎหมายของประเทศดังกล่าวมีข้อห้ามการจัดตั้งทรัสต์การให้ความเห็นชอบผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามวรรคหนึ่ง ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประกาศ
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
ข้อ 35/19 ให้ผู้เสนอโครงการและนิติบุคคลเฉพาะกิจที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่แจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบถึงการขายหุ้นกู้ต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศภายในสามวันทำการนับแต่วันปิดการเสนอขายโดยให้แนบหนังสือชี้ชวนไปพร้อมกับการแจ้งดังกล่าวด้วย
ส่วนที่ 3
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเฉพาะสำหรับโครงการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์
และความคุ้มครองตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจ
เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540
ข้อ 35/20 นอกจากที่กำหนดไว้ในข้อ 10 แล้ว นิติบุคคลเฉพาะกิจที่จะได้รับอนุมัติจากสำนักงานต้องมีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มีวัตถุประสงค์จำกัดเฉพาะการประกอบธุรกิจเฉพาะเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
(2) มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้ไปชำระให้แก่
ผู้เสนอโครงการ เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการโอนสินทรัพย์ตามโครงการ
(3) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับนโยบายในการจัดสรรกระแสรายรับที่เกิดจากการรับโอนสินทรัพย์ที่เป็นสิทธิเรียกร้องในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการตลอดอายุโครงการ
(4) มีข้อกำหนดห้ามจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลเฉพาะกิจ
ข้อ 35/21 นอกจากคำเรียกชื่อหุ้นกู้ตามข้อ 14(1) แล้ว หุ้นกู้ที่เสนอขายตามส่วนนี้ต้องมีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะว่าเป็นหุ้นกู้ที่ออกภายใต้โครงการที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 ไว้ให้ชัดเจน
ข้อ 35/22 เมื่อสถานะนิติบุคคลเฉพาะกิจสิ้นสุดลง ให้นิติบุคคลเฉพาะกิจโอนสินทรัพย์และผลประโยชน์คงเหลือทั้งหมดกลับคืนให้ผู้เสนอโครงการภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นสุดสถานะดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรให้กรรมการของนิติบุคคลเฉพาะกิจรายงานการโอนสินทรัพย์และผลประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดสถานะของนิติบุคคลเฉพาะกิจ ทั้งนี้
ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด”
ข้อ 9 ให้ข้อกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 32/2544 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2544 ก่อนแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ ยังคงใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้ ต่อไป
(1) บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ก่อนวันที่ประกาศนี้
มีผลใช้บังคับ
(2) คำขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน พร้อมทั้งเอกสาร
หลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วน ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 10 ให้ข้อกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ กจ. 31/2540 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัดภายในประเทศหรือต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ ลงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งถูกยกเลิกโดยประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์โดยเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัดภายในประเทศหรือต่อผู้ลงทุนในต่างประเทศ ยังคงใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้ ต่อไป
(1) โครงการที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
(2) คำขออนุมัติโครงการและคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วน ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับข้อ 11 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2548
(นายทนง พิทยะ)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
____________________________________
หมายเหตุ : เหตุผลในการออกประกาศฉบับนี้ คือ การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการเสนอขายหุ้นกู้เพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์รองรับการเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการ securitization ซึ่งมิได้กระทำภายใต้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่มีการออกและเสนอขายหุ้นกู้ตามโครงการ securitization มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ผู้ลงทุนมีความรู้และความสนใจลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าวมากขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้หลักการรักษาดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนและการอำนวยโอกาสในการระดมทุนให้แก่ผู้ต้องการเงินทุน