การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์(ฉบับที่ 3)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 5, 2012 14:34 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 13 /2555

เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์(ฉบับที่ 3)

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 98(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 43/2552 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(3) จัดให้มีสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งระบุถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ สัญญาหรือข้อตกลงดังกล่าวต้องไม่มีข้อกำหนดในลักษณะที่เป็นการปฏิเสธหรือจำกัดความรับผิดชอบต่อทรัพย์สินของลูกค้า และกรณีทรัพย์สินของลูกค้าสูญหายหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทหลักทรัพย์ ต้องมีข้อกำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์รับผิดชอบในทรัพย์สินของลูกค้าอย่างเต็มจำนวน”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 43/2552 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 40/2553 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18 การดำเนินการดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการแยกทรัพย์สินของลูกค้าตามข้อ 17 แล้ว

(1) ทรัพย์สินประเภทเงิน

(ก) แยกโดยดำเนินการดังนี้

1. ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น หรือลงทุนในบัตรเงินฝากของธนาคารดังกล่าวที่มีอายุคงเหลือไม่เกินหนึ่งปี ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1.1 ผู้รับฝากเงินหรือผู้ออกบัตรเงินฝากมีอันดับความน่าเชื่อถือ อยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ ซึ่งอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวได้รับการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน หรือมีรัฐบาลหรือกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวน

ในกรณีที่ผู้รับฝากเงินหรือผู้ออกบัตรเงินฝากตามวรรคหนึ่งเป็นธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ให้อันดับความน่าเชื่อถือตามวรรคหนึ่งหมายความรวมถึงอันดับความน่าเชื่อถือสนับสนุน (support rating) ซึ่งสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินจากแนวโน้มที่ธนาคารดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลเมื่อมีกรณีที่จำเป็นด้วย

1.2 กรณีที่เป็นเงินฝากหรือบัตรเงินฝากประเภทชำระคืนเมื่อครบกำหนดระยะเวลา เงินฝากหรือบัตรเงินฝากดังกล่าวต้องไม่มีข้อห้ามการไถ่ถอนคืนก่อนครบกำหนด

2. ลงทุนในตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยตราสารดังกล่าวต้องมีอายุคงเหลือไม่เกินหนึ่งปีและต้องไม่มีเงื่อนไขการห้ามขายหรือโอนก่อนครบกำหนดอายุของตราสารด้วย

3. ลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่กระทรวงการคลังเป็นผู้รับอาวัลทั้งจำนวนหรือเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยตราสารดังกล่าวต้องมีอายุคงเหลือไม่เกินหนึ่งปีและต้องไม่มีเงื่อนไขการห้ามขายหรือโอนก่อนครบกำหนดอายุของตราสารด้วย

4. ลงทุนในธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนซึ่งหลักทรัพย์ตาม 2. หรือ 3. ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

4.1 มีคู่สัญญาเป็นผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม

4.2 ใช้สัญญามาตรฐานตามที่สำนักงานยอมรับ

4.3 ระยะเวลาการรับชำระหนี้ของธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนไม่เกินเก้าสิบวัน

4.4 มูลค่าของหลักทรัพย์ที่ได้รับจากธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืน ณ วันเริ่มต้นสัญญาสูงกว่าราคาซื้อหลักทรัพย์ในจำนวนที่สมเหตุสมผล โดยส่วนต่างดังกล่าวต้องคำนวณจากอัตราส่วนลดของหลักทรัพย์ที่ซื้อ (initial margin) ซึ่งกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงของคู่สัญญาและหลักทรัพย์ที่ซื้อนั้น

4.5 มีการเรียกเงินหรือหลักทรัพย์เพิ่มเติมจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมูลค่าของหลักทรัพย์ที่ได้รับจากธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนลดลงต่ำกว่าราคาซื้อ x (1 + อัตราส่วนลดของหลักทรัพย์ที่ซื้อ)

4.6 ไม่มีการนำหลักทรัพย์ที่ได้รับจากธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนไปขายหรือโอนต่อ เว้นแต่เป็นการขายหรือโอนตามข้อกำหนดในธุรกรรมการซื้อโดยมีสัญญาขายคืนนั้น

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง บริษัทหลักทรัพย์ต้องระบุอย่างชัดเจน ในบัญชีเงินฝากหรือการลงทุนนั้นว่าเป็นการดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

(ข) แยกโดยการเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งต้องกระทำในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย

(2) ทรัพย์สินประเภทหลักทรัพย์

(ก) แยกโดยการฝากไว้กับศูนย์รับฝากหลักทรัพย์หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยต้องระบุอย่างชัดเจนว่าหลักทรัพย์จำนวนดังกล่าวเป็นการฝากโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของลูกค้า

(ข) แยกโดยการเก็บรักษาไว้เอง ซึ่งต้องกระทำในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย

(3) ทรัพย์สินอื่น ให้แยกไว้ในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าทรัพย์สินอื่นนั้นเป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าตามวรรคหนึ่งเป็นทรัพย์สินเพื่อการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ ในต่างประเทศ บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกทรัพย์สินดังกล่าวในลักษณะที่สามารถชี้เฉพาะได้ว่าทรัพย์สินนั้น เป็นทรัพย์สินของลูกค้าโดยปราศจากเหตุสงสัย หรือระบุอย่างชัดเจนว่าการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินดังกล่าวเป็นการดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ของลูกค้า”

ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 18/1 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 43/2552 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 18/1 ให้บริษัทหลักทรัพย์คำนวณมูลค่าของตราสารหรือหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์นำเงินของลูกค้าไปลงทุนตามข้อ 18(1) (ก) อย่างน้อยทุกวันทำการ โดยให้ใช้ราคาที่สามารถสะท้อนมูลค่าตลาดในปัจจุบันของตราสารหรือหลักทรัพย์แต่ละประเภท”

ข้อ 4 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์นำเงินของลูกค้าไปฝากหรือลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 43/2552 เรื่อง การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2552 อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ บริษัทหลักทรัพย์จะคงไว้ซึ่งการฝากเงินหรือการลงทุนดังกล่าวต่อไปเท่าระยะเวลาที่ยังเหลืออยู่ก็ได้ เว้นแต่เป็นการฝากเงินหรือการลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์ประเภทไม่มีกำหนดระยะเวลา ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการให้การฝากเงินหรือการลงทุนนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป เว้นแต่ความในข้อ 1 และข้อ 3 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ