หมวด 2
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมมีประกัน
ข้อ 22 ในส่วนนี้
"ผู้ประกัน" หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่จะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้
"มติของผู้ถือหน่วยลงทุน" หมายความว่า มติด้วยคะแนนเสียงข้างมากของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งคิดตามจำนวนหน่วยลงทุนรวมกันเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 23 โครงการจัดการกองทุนรวมมีประกันจะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกันที่มีคุณสมบัติตามข้อ 24 อันได้แก่
(ก) ชื่อ และที่อยู่ของผู้ประกัน
(ข) ประเภท และการประกอบธุรกิจของผู้ประกัน
(ค) ฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานของผู้ประกัน
(ง) ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ประกัน
(จ) สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ประกัน
(2) รายละเอียดเกี่ยวกับการประกัน อันได้แก่
(ก) จำนวนเงินลงทุนที่ประกัน และผลตอบแทนที่ประกัน (ถ้ามี) โดยต้องไม่มีเงื่อนไขความรับผิดและต้องสามารถฟ้องร้องบังคับกันได้ตามกฎหมายไทย
(ข) ระยะเวลาการประกัน และวันครบกำหนดระยะเวลาการประกันแต่ละงวด (ถ้ามี)
(ค) วันที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน ตามที่ประกันไว้ ทั้งนี้ ภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ขายคืนหน่วยลงทุนกรณีกองทุนรวมเปิด หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันไถ่ถอนหน่วยลงทุนกรณีเลิกกองทุนรวม แล้วแต่กรณี
(ง) ผลของการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาการประกัน
(จ) ผลของการขายคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการประกัน ในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนสุทธิสูงกว่ามูลค่าที่ประกัน
(3) การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาประกันในเรื่องใด ๆ อันมีผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียผลประโยชน์ จะต้องได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 24 ผู้ประกันของกองทุนรวมมีประกันจะต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) เป็นนิติบุคคลดังต่อไปนี้ และนิติบุคคลดังกล่าวต้องสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองได้ตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจนั้น
(ก) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ข) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์
(ค) บริษัทเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือ
(ง) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการให้สินเชื่อธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ
(2) เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในสี่อันดับแรก (category) จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
การพิจารณาความสามารถดำรงเงินกองทุนและกันเงินสำรองตาม (1) จะพิจารณาจากรายงานเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ยื่นต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบธุรกิจของนิติบุคคลนั้น
ข้อ 25 ในการระบุคำเตือนตามข้อ 13 บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ต้องระบุคำเตือนที่ว่า "ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก" ไว้ในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือในคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน
หมวด 3
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น
ข้อ 26 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ต้องเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายคุ้มครองเงินลงทุนเริ่มแรกเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่าร้อยละแปดสิบของเงินลงทุนเริ่มแรก
(2) ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการคุ้มครองเงินลงทุนเริ่มแรกอย่างชัดเจนไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งอย่างน้อยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขการคุ้มครอง จำนวนเงินที่คุ้มครองและระยะเวลาการคุ้มครอง
หมวด 4
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ
ข้อ 27 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ประสงค์จะยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
หมวด 5
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรง
เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
ข้อ 28 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ต่อเมื่อเป็นตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2549
(2) ต้องเป็นกองทุนรวมที่กำหนดอายุโครงการจัดการกองทุนรวมที่แน่นอน
หมวด 6
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ข้อ 29 กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพจะต้องเป็นกองทุนรวมเปิด
ข้อ 30 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ถือหน่วยลงทุน ประเภทของเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงื่อนไขการลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
(2) การชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับ การชำระภาษีเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน การชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนกำหนด พร้อมยกตัวอย่างประกอบ
รายการตาม (1) และ (2) ให้มีรูปแบบและรายละเอียดตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ข้อ 31 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่เป็นปัจจุบัน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดส่งและดำเนินการให้ตัวแทนสนับสนุนจัดส่งเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพให้ผู้ที่สนใจจะลงทุนพร้อมกับใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน เว้นแต่ในกรณีที่ผู้สนใจจะลงทุนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพกองทุนรวมใดกองทุนรวมหนึ่งที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทอยู่แล้วในขณะนั้น บริษัทจะไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวก็ได้ หากข้อมูลของเอกสารนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลที่ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวเคยได้รับ
(2) ให้บริษัทจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเกี่ยวกับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ ณ ที่ทำการทุกแห่งของบริษัทและ ณ สถานที่ติดต่อทุกแห่งของตัวแทนสนับสนุนเพื่อประโยชน์ในการแจกจ่ายแก่ผู้สนใจจะลงทุนได้ตลอดเวลาที่เสนอขายหน่วยลงทุน
ข้อ 32 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อจำกัดการโอนและการจำนำซึ่งระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและในร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทว่าบริษัทหรือนายทะเบียนหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนและการจำนำหน่วยลงทุน
ข้อ 33 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้ปรากฏข้อจำกัดการโอนและการจำนำของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพไว้ในคำขอเปิดบัญชีเพื่อซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนกับบริษัท โดยบริษัทต้องแจ้งให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนทราบถึงข้อจำกัดดังกล่าวด้วย
ข้อ 34 มิให้นำความในข้อ 20 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกของโครงการจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพแล้ว หากปรากฏว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสามสิบห้าราย ให้การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพนั้นสิ้นสุดลง
หมวด 7
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
ข้อ 35 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมที่จะจัดตั้งต้องเป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไปเท่านั้น
(2) กองทุนรวมที่จะจัดตั้งต้องเป็นกองทุนรวมเปิดซึ่งกำหนดระยะเวลาการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนไม่เกินปีละสองครั้ง
(3) อายุโครงการจัดการกองทุนรวมต้องไม่น้อยกว่าสิบปี
(4) ในกรณีที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวเป็นกองทุนรวมดัชนี ดัชนีที่ใช้ต้องเป็นดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) หรือ ดัชนี SET 50 (SET 50 Index)
ข้อ 36 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก ภายในหกเดือนนับแต่วันที่บริษัทได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
ข้อ 37 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนมาจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมต่อสำนักงานภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550
ข้อ 38 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อความที่ให้ผู้ลงทุนแสดงเจตนาว่าจะให้มีการโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอื่นหรือไม่ ในใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน เมื่อมูลค่าหน่วยลงทุนหรือจำนวนหน่วยลงทุนลดลงจนเป็นเหตุให้เลิกกองทุนรวมตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
ข้อ 39 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยให้นำความในข้อ 30 และข้อ 31 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ในเอกสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวไม่ต้องมีรายการเกี่ยวกับประเภทของเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุน แต่ให้มีรายการเกี่ยวกับระยะเวลาที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นรายการเพิ่มเติมในเอกสารดังกล่าว
ข้อ 40 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการเกี่ยวกับข้อจำกัดการโอนและการจำนำหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยนำความในข้อ 32 และข้อ 33 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 41 มิให้นำความในข้อ 20 วรรคหนึ่งมาใช้บังคับ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกของโครงการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาวแล้ว หากปรากฏว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสามสิบห้าราย ให้การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาวสิ้นสุดลง
เมื่อมีการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมแล้ว หากปรากฏว่าจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่าสามสิบห้ารายในวันทำการใด ๆ ให้บริษัทจัดการดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนรวมหุ้นระยะยาวให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
ข้อ 42 ตั้งแต่วันสิ้นปีปฏิทินที่สองที่จัดตั้งกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเป็นต้นไป หากปรากฏว่ามูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้แล้วทั้งหมดลดลงเหลือน้อยกว่าห้าสิบล้านบาทเป็นเวลาห้าวันทำการซื้อขายหน่วยลงทุนติดต่อกัน หรือลดลงเหลือน้อยกว่าสามสิบล้านบาทในวันทำการใด ให้บริษัทจัดการดำเนินการเพื่อเลิกกองทุนรวมหุ้นระยะยาวให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจัดการกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
การคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้มูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนในการคำนวณ
ภาค 2
การเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
ข้อ 43 ในการรับจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้แก่ลูกค้าที่เป็นคณะบุคคล คณะบุคคลดังกล่าวต้องประกอบด้วยบุคคลไม่เกินสามสิบห้าราย
ข้อ 44 ในการรับจัดการกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำข้อมูลของลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษร (customer's profile) โดยมีรายละเอียดของข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลตามที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธการให้ข้อมูลดังกล่าว ให้บริษัทแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าการเสนอนโยบายการลงทุนให้แก่ลูกค้านั้น บริษัทได้พิจารณาจากข้อมูลเพียงเท่าที่ลูกค้าให้บริษัทเท่านั้น
(2) เสนอนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับลูกค้าซึ่งได้ประเมินจากวัตถุประสงค์ในการลงทุนของลูกค้า ประสบการณ์ในการลงทุน ฐานะทางการเงิน ภาระทางการเงิน ความต้องการและข้อจำกัดการลงทุน และจัดการกองทุนส่วนบุคคลเป็นไปตามนโยบายการลงทุนดังกล่าว
ข้อ 45 สัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องมีอายุสัญญาไม่น้อยกว่าสองปี
ข้อ 46 นโยบายการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคลซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินของผู้ลงทุนรายย่อยต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือกองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้นำนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมตามข้อ 4(1) และ(2)(ก) ถึง (ช) มาใช้บังคับโดยอนุโลม
กองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจกำหนดนโยบายการลงทุนโดยไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่งก็ได้ หากบริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับตัวชี้วัด (benchmark) ที่สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดขึ้นนั้น
ข้อ 47 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-