การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday June 11, 2004 14:17 —ประกาศ ก.ล.ต.

               ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 23/2547
เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล
________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 118 (1) และ มาตรา 139 (4) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบกับข้อ 3 ข้อ 6 และข้อ 16 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. และ ข้อ 4 ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 18 (1) และ (2) และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"การบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์" หมายความว่า การบริการธุรกรรมที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน เช่น เครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (automatic teller machine) บริการธนาคารทางโทรศัพท์ (telebanking) อินเทอร์เน็ต หรือสื่ออื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน
"เงินทุนโครงการ" หมายความว่า วงเงินที่บริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถจำหน่ายหน่วยลงทุนได้ไม่เกินวงเงินดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
"เงินทุนจดทะเบียน" หมายความว่า เงินทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน
"ตัวแทนสนับสนุน" หมายความว่า บุคคลซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมตั้งให้เป็นตัวแทนในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน
"บริษัทจดทะเบียน" หมายความว่า บริษัทที่มีหุ้นได้รับการจดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
"ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน" หมายความว่า
(1) ธนาคารพาณิชย์
(2) บริษัทเงินทุน
(3) บริษัทหลักทรัพย์ที่ซื้อหน่วยลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของตนเอง หรือเพื่อการบริหารกองทุนส่วนบุคคล หรือเพื่อการจัดการโครงการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
(4) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(5) บริษัทประกันภัย
(6) นิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งมิได้เป็นบุคคลตาม (9)
(7) ธนาคารแห่งประเทศไทย
(8) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ
(9) ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
(10) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
(11) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(12) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(13) กองทุนรวมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(14) นิติบุคคลที่มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป
(15) นิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลตาม (1) ถึง (14) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด
(16) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับผู้ลงทุนตาม (1) ถึง (15) โดยอนุโลม
(17) นิติบุคคลตามที่สำนักงานอนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งนิติบุคคลนั้นต้องประกอบธุรกิจหลักสอดคล้องกับธุรกิจหลักที่กองทุนรวมต้องการลงทุนตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการลงทุน
"หนังสือชี้ชวน" หมายความว่า หนังสือชี้ชวนที่มีรายละเอียดตามที่กำหนดโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามภาค 1 และการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลให้เป็นไปตามภาค 2
ภาค 1
การจัดตั้งกองทุนรวมและการขายหน่วยลงทุน
หมวด 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
ส่วนที่ 1
ลักษณะและประเภทของกองทุนรวม
ข้อ 3 การยื่นคำขอจัดตั้งกองทุนรวมจะกระทำได้ต่อเมื่อกองทุนรวมที่จะจัดตั้งนั้นมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป (retail fund)
(2) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน (non-retail fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนประเภทสถาบัน
ข้อ 4 กองทุนรวมที่ยื่นคำขอจัดตั้งตามข้อ 3 จะต้องเป็นกองทุนรวมประเภทดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมทั่วไป อันได้แก่
(ก) กองทุนรวมตราสารแห่งทุน (equity fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารแห่งทุนโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(ข) กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ (fixed income fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน
(ค) กองทุนรวมผสม (mixed fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินตลอดจนการหาดอกผลโดยวิธีอื่น โดย สัดส่วนการลงทุนตามนโยบายดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบริษัทจัดการกองทุนรวมตามความเหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ หรือกำหนดสัดส่วนการลงทุนในตราสารแห่งทุนในขณะใดขณะหนึ่งน้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(2) กองทุนรวมพิเศษ อันได้แก่
(ก) กองทุนรวมหน่วยลงทุน (fund of funds) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนและใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
(ข) กองทุนรวมตลาดเงิน (money market fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งเงินฝาก ตราสารแห่งหนี้ หรือหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ซึ่งมีกำหนดชำระคืนเมื่อทวงถามหรือจะครบกำหนดชำระคืนหรือมีอายุสัญญาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น
(ค) กองทุนรวมมีประกัน (guaranteed fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีบุคคลอื่นประกันว่าหากผู้ถือหน่วยลงทุนได้ถือหน่วยลงทุนจนครบตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน จากการไถ่ถอนหรือการขายคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนเงินที่ประกันไว้
(ง) กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น (capital protected fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่บริษัทจัดการกองทุนรวมวางแผนการลงทุนเพื่อให้ความคุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
(จ) กองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายในการกระจายการลงทุนน้อยกว่ามาตรฐานการกระจายการลงทุนที่สำนักงานกำหนดสำหรับกองทุนรวมทั่วไปตาม (1)
(ฉ) กองทุนรวมดัชนี (index fund) ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาหลักทรัพย์ที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม โดยดัชนีราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวต้องได้รับการยอมรับจากสำนักงาน
(ช) กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (foreign investment fund) ซึ่งหมายถึงกองทุนรวมที่มีนโยบายเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ
(ซ) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
(ฌ) กองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
(ญ) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพของผู้ถือหน่วยลงทุน
(ฎ) กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดแก่บุคคลซึ่งไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย
(ฏ) กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ซึ่งหมายถึง กองทุนรวมตราสารแห่งทุนที่นำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม
ข้อ 5 การตั้งชื่อกองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งและจัดการ จะต้องไม่มีข้อความที่อาจทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเข้าใจผิดในลักษณะและประเภทของกองทุนรวมนั้น
ส่วนที่ 2
การยื่นคำขอและการอนุมัติการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
ข้อ 6 การขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอเป็นหนังสือพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมตามรายการที่กำหนดไว้ในระบบพิจารณาคำขอจัดตั้งกองทุนรวม (Mutual Fund Approval System (MFAS)) ซึ่งบริษัทต้องยื่นรายละเอียดของโครงการดังกล่าวผ่านระบบข้างต้นที่สำนักงานจัดไว้เพื่อการดังกล่าวด้วย
(2) ร่างข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ซึ่งมีสาระสำคัญอย่างน้อยตามที่กำหนดในมาตรา 119 และในกรณีที่เป็นการขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน ร่างข้อผูกพันต้องมีข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนว่าบริษัทหรือนายทะเบียนหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุน หากมีการโอนหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในโครงการ
(3) ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม
(4) ร่างหนังสือชี้ชวน
ข้อ 7 ในการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม สำนักงานอาจแจ้งให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งหรือแก้ไขเอกสารตามข้อ 6 ให้ครบถ้วนถูกต้อง หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้
ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่สำนักงานแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมไม่ประสงค์จะขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอีกต่อไป เว้นแต่บริษัทจะแสดงให้เห็นได้ว่าการที่มิได้ดำเนินการตามที่สำนักงานแจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุสมควร
ข้อ 8 การยื่นคำขอจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน เมื่อสำนักงานรับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องและครบถ้วนตามข้อ 6 แล้ว ให้ถือว่าสำนักงานอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมดังกล่าวได้
ข้อ 9 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ต้องจัดให้มีข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัท สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม และหนังสือชี้ชวน โดยมีสาระสำคัญไม่ต่างจากร่างข้อผูกพัน ร่างสัญญาแต่งตั้ง และร่างหนังสือชี้ชวนที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงาน
ส่วนที่ 3
การเสนอขายหน่วยลงทุน
ข้อ 10 ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกหรือก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมปิด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดส่งหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญให้สำนักงานไม่น้อยกว่าหนึ่งวันทำการก่อนการเริ่มจัดส่ง แจกจ่าย หรือจัดให้มีหนังสือชี้ชวนให้แก่ผู้ลงทุน และให้จัดส่งเอกสารดังกล่าวผ่านระบบรับและเผยแพร่ข้อมูลหนังสือชี้ชวน และการรายงานของกองทุนรวม (Mutual Fund Report and Prospectus (MRAP)) ของสำนักงานด้วย และหากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าว ให้บริษัทดำเนินการให้ข้อมูลที่จัดส่งนั้นมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันโดยไม่ชักช้าและให้กระทำผ่านระบบข้างต้นด้วย
ข้อ 11 ในการเสนอขายหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีการแจกจ่ายข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับหน่วยลงทุนและกองทุนรวมให้แก่ผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ สำหรับข้อมูลที่เป็นรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดเตรียมไว้เพื่อให้ผู้ลงทุนตรวจดูหรือร้องขอได้ ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
ข้อ 12 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องเสนอขายหน่วยลงทุนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมและต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในหนังสือชี้ชวน และในระหว่างระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมครั้งแรก บริษัทอาจเสนอขายหน่วยลงทุนเกินเงินทุนโครงการได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินทุนโครงการ หากบริษัทแสดงความประสงค์ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม และให้ถือว่าจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนเกินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินทุนโครงการแทน
ข้อ 13 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีใบจองซื้อหน่วยลงทุนหรือใบคำสั่งซื้อหน่วยลงทุน โดยใบจองซื้อและใบคำสั่งซื้อดังกล่าวต้องมีคำเตือนว่า"การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับเงินลงทุนคืนมากกว่าหรือน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก และผู้ลงทุนควรซื้อขายหน่วยลงทุนกับบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบ" และสำหรับกองทุนรวมเปิดให้มีคำเตือนเพิ่มเติมว่า "และอาจไม่ได้รับชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนภายในระยะเวลาที่กำหนด หรืออาจไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตามที่ได้มีคำสั่งไว้"
ข้อ 14 ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้ด้วย
(1) ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขการซื้อหน่วยลงทุนขั้นต่ำของผู้ลงทุนแต่ละราย ต้องไม่กำหนดไว้สูงกว่าห้าหมื่นบาท
(2) กำหนดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรกไม่ต่ำกว่าเจ็ดวัน
(3) ประชาสัมพันธ์การขายหน่วยลงทุนอย่างกว้างขวางและผ่านสื่อที่มีการกระจายในวงกว้าง เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ใบปลิว แผ่นพับ เป็นต้น
(4) จัดให้มีระบบในการจัดสรรหน่วยลงทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ซื้อหน่วยลงทุน
(5) การกำหนดเงื่อนไขหรือข้อสงวนสิทธิในการจำหน่ายหน่วยลงทุน ต้องไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดกลุ่มผู้ลงทุนอันทำให้ไม่มีการกระจายการจำหน่ายหน่วยลงทุนอย่างเพียงพอ
ในกรณีที่มีบุคคลใดซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่เสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนในวงกว้างทั้งหมดเพื่อขายต่อ หรือเป็นการซื้อขายหน่วยลงทุนในบัญชีบริษัทหลักทรัพย์แบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อกำหนดให้บุคคลนั้นปฏิบัติให้เป็นไปตาม (1) (2) (3) และ (4) ด้วย โดยอนุโลม
ส่วนที่ 4
การขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนผ่านการบริการ
ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อ 15 บริษัทจัดการกองทุนรวมจะขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ต่อเมื่อ
(1) จัดให้มีกระบวนการที่เพียงพอในการตรวจสอบความมีตัวตนของผู้ลงทุนว่าเป็นบุคคลที่เข้าทำรายการซื้อขายหน่วยลงทุนจริง โดยบุคคลดังกล่าวได้รับทราบคำเตือนตาม (2) และข้อมูลตาม (3) ก่อนการทำรายการ
(2) จัดให้มีคำเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนตามข้อ 13 และคำเตือนที่จำเป็นเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
(3) จัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญเกี่ยวกับหน่วยลงทุนและกองทุนรวมผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวจะเอื้ออำนวยต่อการเผยแพร่ข้อมูลนั้น โดยอาจระบุให้ทราบถึงวิธีการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวแทนการเผยแพร่ก็ได้
(4) จัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลการซื้อขายหน่วยลงทุน
(5) จัดให้มีระบบการเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของกองทุนรวมทุกรายการไว้ และจัดให้มีระบบการเก็บรักษาข้อมูลดังกล่าวสำรองไว้ด้วย
ข้อ 16 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งวันเริ่มให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รายละเอียดของการให้บริการ และชื่อของบริการ พร้อมทั้งนำส่งเอกสารเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยในการทำงานของระบบงานคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านการบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และเอกสารเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ลงทุน ให้สำนักงานทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มให้บริการดังกล่าว
ส่วนที่ 5
หลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนและข้อจำกัดการโอน
ข้อ 17 ในการจัดให้มีหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้อง
(1) ดำเนินการให้หลักฐานดังกล่าวแสดงข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนและใช้อ้างอิงต่อบริษัทและบุคคลอื่นได้
(2) มีข้อมูลของบุคคลต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกองทุนรวมเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถติดต่อกับบุคคลเหล่านั้นได้
(3) ในกรณีที่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน ให้ระบุข้อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นไว้ให้ชัดเจน
ข้อ 18 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแจ้งให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนทราบถึงข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ในกรณีที่นายทะเบียนหน่วยลงทุนทำการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนโดยฝ่าฝืนข้อจำกัดการโอน ให้บริษัทดำเนินการให้นายทะเบียนหน่วยลงทุนเพิกถอนการลงทะเบียนการโอนหน่วยลงทุนโดยไม่ชักช้า
ส่วนที่ 6
การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการ
ข้อ 19 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมปิดได้โดยต้องระบุไว้ให้ชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก แต่ต้องไม่เกินกว่าเงินทุนโครงการที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน และในการเสนอขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน บริษัทจะต้องเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าวในราคาที่กำหนดตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมของวันที่เสนอขายหน่วยลงทุน
บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจเพิ่มเงินทุนโครงการของกองทุนรวมเปิดได้ตามที่ระบุไว้ในโครงการ และบริษัทจะเสนอขายหน่วยลงทุนตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นของเงินทุนโครงการได้ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงเงินทุนโครงการต่อสำนักงานแล้ว
ส่วนที่ 7
การสิ้นสุดลงของการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
ข้อ 20 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมครั้งแรก หากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้ ให้การอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมนั้นสิ้นสุดลง
(1) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสามสิบห้าราย
(2) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ไม่ถึงสิบราย เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการจำหน่ายหน่วยลงทุนทั้งหมดให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนประกันสังคม
(3) จำหน่ายหน่วยลงทุนได้มีมูลค่าน้อยกว่าห้าสิบล้านบาท ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งให้สำนักงานทราบกรณีตามวรรคหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าว และคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้นตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน หากบริษัทไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลานั้นได้อันเนื่องจากความผิดพลาดของบริษัทเอง ให้บริษัทชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทชำระเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้แล้วตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ
ข้อ 21 สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม หากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้
(1) มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตามประกาศนี้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน
(2) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน หากมีผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเป็นบุคคลอื่นใดที่มิใช่ผู้ลงทุนประเภทสถาบันตามที่ระบุไว้ในโครงการ
(3) มีการจำหน่ายหน่วยลงทุนโดยบริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้ปฏิบัติหรือดูแลให้มีการปฏิบัติตามข้อ 14 เมื่อมีการเพิกถอนการอนุมัติตามวรรคหนึ่ง หากได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้วแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยให้นำความในวรรคสองของข้อ 20 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากมีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที
(ยังมีต่อ)
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ