หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday August 3, 2004 14:48 —ประกาศ ก.ล.ต.

                  ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กข. 42/2547
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการเป็นนายหน้าซื้อขาย
หลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์
ที่เป็นหน่วยลงทุน
_______________________
เพื่อให้การประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์การค้าหลักทรัพย์ และการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจอย่างผู้มีวิชาชีพ และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนให้ได้รับบริการอย่างซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส รวมทั้งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนอย่างถูกต้องครบถ้วน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 112 มาตรา 113 วรรคสอง มาตรา 114 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ผู้ลงทุน" หมายความว่า ผู้สนใจจะลงทุนในหน่วยลงทุนหรือผู้ถือหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี
"บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน
"การขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ" (cold calling) หมายความว่า การขายหรือชักชวนโดยบริษัทหลักทรัพย์กับบุคคลที่ไม่เคยเป็นลูกค้าเพื่อให้ซื้อหน่วยลงทุนเป็นครั้งแรก ในลักษณะที่บริษัท หลักทรัพย์ตั้งใจเข้าพบผู้ลงทุนโดยตรง หรือติดต่อผู้ลงทุนทางโทรศัพท์โดยผู้ลงทุนมิได้เป็นฝ่ายร้องขอ
"ข้อมูลภายใน" หมายความว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ที่ยังมิได้เปิดเผยต่อประชาชนและบริษัทหลักทรัพย์ได้ล่วงรู้มาเนื่องจากการประกอบธุรกิจ
"บริษัทนายหน้า" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน
"ผู้ค้าหน่วยลงทุน" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการค้าหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน
"กองทุนรวม" หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งและจัดการโดยบริษัทจัดการ
"บริษัทจัดการ" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
"ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน" หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน
"หนังสือชี้ชวน" หมายความว่า หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ในการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ที่เกี่ยวกับหน่วยลงทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ประกอบธุรกิจโดยใช้ความสามารถเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของลูกค้าอย่างเต็มที่ คำนึงถึงและรักษาผลประโยชน์สูงสุดให้แก่ลูกค้า และตั้งอยู่บนหลักแห่งความซื่อสัตย์สุจริต และความรอบคอบระมัดระวัง
(2) จัดให้มีระบบงานที่แสดงให้เห็นได้ว่ามีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน มาตรการควบคุมภายในเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทำธุรกรรมที่มีลักษณะอันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ มาตรการดูแลรักษาข้อมูลและทรัพย์สินของลูกค้ารวมทั้งการจัดเก็บเอกสารหลักฐานในการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถตรวจสอบการปฏิบัติงานได้
(3) กำกับดูแลให้บุคลากรปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์
ข้อ 3 ในการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือการให้คำแนะนำเพื่อการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเป็นผู้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนหรือให้คำแนะนำ และต้องดูแลให้ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงานและมาตรฐานในการให้คำแนะนำ
(2) ให้ข้อมูลหรือเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน รวมทั้งการแจ้งสิทธิต่าง ๆที่ควรทราบแก่ลูกค้า และต้องปฏิบัติต่อลูกค้าทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน
(3) ในการขายโดยผู้ลงทุนมิได้ร้องขอ (cold calling) หรือการขายหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ประกันชีวิต บริษัทหลักทรัพย์ต้องจัดให้มีระบบการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการขายหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้รบกวนความเป็นส่วนตัว ก่อความรำคาญ หรือเร่งรัดให้ผู้ลงทุนตัดสินใจ
(4) ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของตน
(5) ให้คำแนะนำโดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือปกปิดข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
(6) ซื้อขายหน่วยลงทุนโดยไม่ใช้ข้อมูลภายในที่อาจเป็นการเอาเปรียบต่อบุคคลภายนอกหรือโดยเปิดเผยข้อมูลภายในให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์
(7) นำข้อมูลของลูกค้าไปเปิดเผยได้เฉพาะเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกค้า หรือเป็นการเปิดเผยตามหน้าที่ตามกฎหมาย
(8) ดำเนินการอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
ข้อ 4 ในการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ ให้บริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่นดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบงานที่มั่นใจได้ว่ามีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าซึ่งเป็นอิสระจากหน่วยงานอื่น มีวิธีปฏิบัติงานและมาตรการควบคุมการปฏิบัติงานเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่ครอบคลุมถึงการรับหรือส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้า การบันทึกหรือแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า การจัดการข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า การจัดทำบัญชีแยกทรัพย์สินของลูกค้าแต่ละราย สถานที่เก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ผู้ดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า ผู้มีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้า และการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบการจัดเก็บเอกสารหลักฐานในการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้
(2) กระทำการใดอันมีผลเป็นการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิในทรัพย์สินของลูกค้าได้เฉพาะเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อนกระทำการอันจะก่อให้เกิดผลดังกล่าว
(3) นำทรัพย์สินของลูกค้ารายหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าอีกรายหนึ่งหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นหรือของบริษัทหลักทรัพย์เองได้เฉพาะเมื่อได้รับความยินยอมจากลูกค้าก่อนนำ ทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อการดังกล่าว
(4) ดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้ลูกค้าสามารถได้รับสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนภายในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ต้องไม่แสดงเจตนาใช้สิทธิประโยชน์ของลูกค้าโดยปราศจากคำสั่งหรือความยินยอมของลูกค้า
(5) รายงานทรัพย์สินของลูกค้าให้แก่ลูกค้าทราบอย่างสม่ำเสมอ
(6) ดำเนินการอื่นใดตามที่สำนักงานประกาศกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า
ข้อ 5 ในการทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้ลงทุนในการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทนายหน้าดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในการพิจารณาคำขอเปิดบัญชีและการทำสัญญากับลูกค้า ต้องจัดทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีขั้นตอนที่มั่นใจได้ว่าลูกค้าเป็นบุคคลเดียวกับที่ปรากฏตามเอกสารหลักฐานที่ใช้ประกอบการขอเปิดบัญชีหรือทำสัญญา
(2) สัญญาที่ทำกับลูกค้าต้องครอบคลุมถึงขอบเขตการให้บริการ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทนายหน้า และต้องไม่มีข้อความที่ปฏิเสธความรับผิดชอบของบริษัทนายหน้าต่อลูกค้าจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบริษัทนายหน้าหรือพนักงานของบริษัทนายหน้า
(3) เปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจนและครบถ้วนถึงการทำธุรกิจที่ปฏิบัติแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 6 ในกรณีที่บริษัทนายหน้าทำการซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (omnibus account) บริษัทนายหน้าต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มีระบบในการปฏิบัติงานที่ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะได้รับการปฏิบัติอย่างสุจริตและเป็นธรรมเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ การแยกทรัพย์สินของลูกค้าออกจากทรัพย์สินของบริษัทนายหน้า การดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า การจัดทำรายงานให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน รวมถึงการจัดส่งรายงานที่เกี่ยวข้องให้แก่ลูกค้าในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้บริษัทนายหน้าแจ้งระบบงานดังกล่าวต่อสำนักงานเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าก่อนดำเนินการ ซึ่งหากสำนักงานไม่ทักท้วงเป็นลายลักษณ์อักษรภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับแจ้ง ให้บริษัทนายหน้าดำเนินการตามระบบงานดังกล่าวได้
(2) ในกรณีที่บริษัทนายหน้าประสงค์จะปฏิบัติต่อลูกค้าในเรื่องใดซึ่งมีผลทำให้ลูกค้าได้รับเงื่อนไขหรือสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกับการซื้อขายหน่วยลงทุนแบบเปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน ให้บริษัทนายหน้าจัดให้มีหลักฐานที่แสดงว่าลูกค้าทราบและยอมรับเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นแล้ว ทั้งนี้ การปฏิบัติดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งและไม่น้อยกว่าที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
ข้อ 7 ในการค้าหน่วยลงทุน ให้ผู้ค้าหน่วยลงทุนดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) กำหนดราคาซื้อขายหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด
(2) ทำความรู้จักลูกค้า โดยอย่างน้อยต้องจัดให้มีเอกสารที่แสดงถึงความมีตัวตนของลูกค้า หรือมีผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อขายในกรณีที่ลูกค้าเป็นนิติบุคคล
(3) ในกรณีที่ได้รับแต่งตั้งจากบริษัทจัดการให้เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (market maker) ให้แก่หน่วยลงทุนของกองทุนรวมใด หากโครงการจัดการกองทุนรวมนั้นมีการกำหนดสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดูแลสภาพคล่องไว้ ผู้ค้าหน่วยลงทุนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมดังกล่าวด้วย
ข้อ 8 ในการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ให้ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน ทั้งนี้ ในกรณีที่ในหนังสือชี้ชวนไม่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนไว้ ให้ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนกำหนดรายละเอียด ขั้นตอน วิธีการจองซื้อ และเงื่อนไขในการจัดสรรหน่วยลงทุนให้ผู้ลงทุนทราบโดยเปิดเผยก่อนการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นด้วย
(2) นำเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนเข้าบัญชีเพื่อการจองซื้อหน่วยลงทุนของผู้เสนอขาย หน่วยลงทุน หรือแยกเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนออกจากบัญชีทรัพย์สินของผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน ภายในวันทำการถัดจากวันที่ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเรียกเก็บเงินจากผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ โดยต้องไม่นำเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวไปใช้ในกิจการใด ๆ
(3) คืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรภายในสิบสี่วันทำการนับแต่วันปิดการเสนอขาย หากไม่สามารถคืนเงินให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องมีข้อกำหนดให้ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลานั้น
ข้อ 9 นอกจากที่ระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ให้สำนักงานมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ ในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องที่กำหนดในประกาศนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และเพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบการปฏิบัตินั้นได้
ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2547
(นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ