การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 7 )

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 15, 2012 14:03 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 33/2555

เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่

(ฉบับที่ 7 )

__________________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (6) ของข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

“(6) “ธุรกิจสถาบันการเงิน” หมายความว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย ไม่ว่าเป็นการประกอบธุรกิจตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 32/2554 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตมีบริษัทย่อย ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่าบริษัทย่อยดังกล่าวสามารถจัดทำข้อมูลทางการเงินและข้อมูลการเปิดเผยอื่นให้แก่ผู้ขออนุญาตเพื่อให้ผู้ขออนุญาตสามารถจัดทำงบการเงินให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (1)”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในข้อ 18 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 18 ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตตามข้อ 11 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีลักษณะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(1) มีการประกอบธุรกิจหลัก ไม่ว่าจะมีธุรกิจเดียวหรือหลายธุรกิจผ่านบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18/1 ไม่ว่าบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท

(2) ขนาดของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1 ทุกบริษัทรวมกัน เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผู้ขออนุญาตมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้า ทั้งนี้ เฉพาะขนาดของบริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) หรือของบริษัทตามข้อ 18/1(2) มีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของขนาดของผู้ขออนุญาต

(3) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาตไม่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับ การประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่มีการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1 โดยขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัทรวมกันมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของขนาดของผู้ขออนุญาต

(4) มีกลไกการกำกับดูแลที่ทำให้ผู้ขออนุญาตสามารถควบคุมดูแลการจัดการและรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) ได้ เสมือนเป็นหน่วยงานหนึ่งของผู้ขออนุญาต รวมทั้งมีมาตรการในการติดตามการบริหารงานของบริษัทดังกล่าวเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ ในเงินลงทุนของผู้ขออนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 18/2

(5) บริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) หรือบริษัทตามข้อ 18/1(2) ต้องมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับผู้ขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11 โดยอนุโลม ยกเว้นหลักเกณฑ์ในเรื่องโครงสร้างคณะกรรมการตามข้อ 11(2) (ข) และงบการเงินตามข้อ 17 วรรคหนึ่ง

(6) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) หรือบริษัทตามข้อ 18/1(2) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ กรรมการของบริษัทดังกล่าวอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย

การพิจารณาขนาดของผู้ขออนุญาตและขนาดของบริษัทตามวรรคหนึ่ง (2) และ (3) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานกำหนด”

ข้อ 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 18/1 ข้อ 18/2 และข้อ 18/3 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

“ข้อ 18/1 บริษัทที่จะถือว่าเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18 วรรคหนึ่ง (1) ของผู้ขออนุญาตซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ตามข้อ 18 ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นบริษัทย่อยของผู้ขออนุญาต

(2) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตไม่สามารถถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวได้ถึงสัดส่วนที่จะเป็นบริษัทย่อยตาม (1) เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น หรือมีเงื่อนไขในการร่วมทุนกับภาครัฐ โดยผู้ขออนุญาตถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่ามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการบริษัทดังกล่าวอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทนั้น

(3) เป็นบริษัทร่วม ที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตถือหุ้นเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว

(ข) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละยี่สิบแต่ไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทดังกล่าว และผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าผู้ขออนุญาตสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีนัยสำคัญของบริษัทนั้นได้ไม่แตกต่างจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท

(ค) เป็นบริษัทที่ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าวเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของจำนวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ซึ่งได้รับอนุญาตในครั้งนี้

ข้อ 18/2 ผู้ขออนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีกลไกในการกำกับดูแลบริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) อย่างน้อยในลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีการส่งบุคคลเข้าเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทย่อยอย่างน้อยตามสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยนั้น และมีระเบียบปฏิบัติหรือข้อกำหนดที่ทำให้การส่งบุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการของผู้ขออนุญาต

(2) มีการกำหนดขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งตาม (1) ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึง

(ก) การกำหนดกรอบอำนาจในการใช้ดุลพินิจที่ชัดเจน และที่มีผลให้การพิจารณาของกรรมการและผู้บริหารดังกล่าวในการออกเสียงในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทย่อยในเรื่องสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ขออนุญาตก่อน

(ข) การติดตามดูแลให้บริษัทย่อยมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน การทำรายการระหว่างกัน และการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินที่มีนัยสำคัญให้ครบถ้วนถูกต้อง

(ค) การติดตามดูแลให้กรรมการและผู้บริหารของบริษัทย่อยปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่กฎหมายกำหนด

(3) มีกลไกในการกำกับดูแลที่มีผลให้การทำรายการระหว่างบริษัทย่อยกับบุคคลที่เกี่ยวโยง การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สิน หรือการทำรายการสำคัญอื่นใดของบริษัทย่อย ต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาตก่อนการทำรายการดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้พิจารณาการทำรายการดังกล่าวของบริษัทย่อยทำนองเดียวกับการทำรายการในลักษณะและขนาดเดียวกันกับที่ผู้ขออนุญาตต้องได้รับมติจากที่ประชุมคณะกรรมการหรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ขออนุญาต

ข้อ 18/3 ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อ 18/2(1) และ (2) มาใช้บังคับกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1(2) และ (3) ด้วย โดยอนุโลม”

ข้อ 5 ให้ยกเลิก (ก) ของ (4) ในข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ข้อ 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (6) ของข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

“(6) ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง ผู้ขออนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) มีการประกอบธุรกิจหลักผ่านบริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) หรือผ่านบริษัทตามข้อ 18/1(2)

(ข) มีกลไกการกำกับดูแลบริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) ให้เป็นไปตามข้อ 18/2 หรือบริษัทตามข้อ 18/1(2) ให้เป็นไปตามข้อ 18/3 แล้วแต่กรณี

(ค) การดำเนินงานของผู้ขออนุญาตไม่เป็นการลงทุนในบริษัทอื่นในลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (investment company) และไม่มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของผู้ขออนุญาต การบริหารงานของกรรมการและผู้บริหาร ตลอดจนการเปิดเผยนโยบายการดำเนินงานของผู้ขออนุญาตต่อสาธารณชน มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะเช่นเดียวกับการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน เว้นแต่เป็นการลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1 โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 20 หรือเป็นการลงทุนในบริษัทอื่นที่ไม่เป็นไปตามข้อ 20 ก่อนวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555และตั้งแต่วันดังกล่าวผู้ขออนุญาตไม่มีการลงทุนเพิ่มในบริษัทอื่นอีก

(ง) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) หรือบริษัทตามข้อ 18/1(2) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ กรรมการของบริษัทดังกล่าวอย่างน้อยหนึ่งคนต้องมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย”

ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 42/2553 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

“ข้อ 20 การลงทุนในบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1 ซึ่งได้รับยกเว้นตามข้อ 19(6) (ค) ต้องเป็นการลงทุนที่เมื่อคำนวณขนาดของบริษัทอื่นดังกล่าวทุกบริษัทรวมกันแล้วมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละยี่สิบห้าของขนาดของผู้ขออนุญาต ทั้งนี้ การพิจารณาสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวมิให้นับรวมสัดส่วนการลงทุนดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีที่บริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน มิให้นับรวมการลงทุนของบริษัทย่อยดังกล่าวในหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทอื่นซึ่งไม่เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลัก (portfolio investment)

(ข) การลงทุนในบริษัทอื่นที่ผู้ขออนุญาตแสดงได้ว่าประสงค์จะลงทุนในบริษัทดังกล่าวเป็นเวลามากกว่าหนึ่งปี ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่บริษัทอื่นนั้นเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียวกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1

(ค) การลงทุนในบริษัทอื่นเนื่องจากการใช้สิทธิซื้อหลักทรัพย์ตามสัดส่วนการถือหุ้น (right offering)

(ง) สัดส่วนที่เพิ่มขึ้นซึ่งไม่ได้เกิดจากการลงทุนเพิ่มในบริษัทอื่นของผู้ขออนุญาต เช่น การเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดของเงินลงทุน หรือการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักตามข้อ 18/1”

ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ 23 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ในกรณีที่ผู้ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ผู้ได้รับอนุญาตต้องมีกลไกการกำกับดูแลให้บริษัทย่อยตามข้อ 18/1(1) หรือบริษัทตามข้อ 18/1(2) ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคหนึ่ง (5) และ (6) โดยอนุโลมด้วย”

ข้อ 9 ในกรณีที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่โดยบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ภายในระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ หากผู้ที่ยื่นคำขออนุญาตดังกล่าวแจ้งเป็นหนังสือพร้อมกับการยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงาน แสดงความประสงค์ที่จะปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 28/2551 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ก่อนการแก้ไขโดยประกาศนี้ ให้การพิจารณาอนุญาตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ในประกาศดังกล่าว

ข้อ 10 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ