การจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 30, 2012 15:44 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 39/2555

เรื่อง การจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ

_______________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 114 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับ มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ในประกาศนี้

“กฎเกณฑ์” หมายความว่า กฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับ มาตรฐาน จรรยาบรรณ และแนวปฏิบัติหรือคู่มือการปฏิบัติงาน (compliance manual) ที่บังคับใช้กับธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ

“คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย” หมายความว่า คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีความเป็นอิสระจากการบริหารจัดการของผู้ประกอบธุรกิจ

“ผู้บริหารระดับสูง” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อใดก็ตาม และให้หมายความรวมถึงบุคคลที่ผู้ดูแลรับผิดชอบสูงสุดมอบหมายด้วย

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจดังต่อไปนี้

(1) การเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์

(2) การค้าหลักทรัพย์

(3) การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์

(4) การจัดการกองทุนรวม

(5) การจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(6) การเป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(7) การเป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(8) การเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 3 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ได้ และเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว

ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งเพื่อป้องกันการกระทำใด ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจที่อาจเป็นการช่วยเหลือหรือสนับสนุนการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และต้องสนับสนุนให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอย่างน้อยผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีโครงสร้างการบังคับบัญชาที่ทำให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถทำหน้าที่ได้โดยอิสระ

จากการบริหารจัดการของผู้ประกอบธุรกิจ

(2) มีโครงสร้างการดำเนินงานที่ทำให้หน่วยงานดังกล่าวสามารถรายงานการปฏิบัติงาน

โดยตรงต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

(3) มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร

ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายแล้ว

ทั้งนี้ ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นไปตามข้อ 5

(4) จัดให้บุคลากรของหน่วยงานดังกล่าวมีความพร้อมในการปฏิบัติงานอย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในจำนวนที่เพียงพอกับลักษณะของธุรกิจ

(business model) และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ และไม่เป็นบุคลากร

ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับการ

ทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ

(ข) ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 6

และสามารถทำงานในประเทศไทยได้เต็มเวลา

(ค) ดำเนินการให้บุคลากรในหน่วยงานดังกล่าวได้รับการอบรมเกี่ยวกับการกำกับดูแล

การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ และต้องจัดให้ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงาน

นั้นได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการกำกับดูแลการปฏิบัติงานตามหลักสูตรที่สำนักงาน

เห็นชอบ (refresher course) อย่างน้อยทุกสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งให้

ดำรงตำแหน่งครั้งแรก

(ง) มีการมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานดังกล่าวสามารถ

เข้าถึงข้อมูลและบุคลากรที่จำเป็นเพื่อการปฏิบัติงานได้

ข้อ 5 ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้และคำแนะนำแก่บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้บุคคลดังกล่าว

เข้าใจและสามารถปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน

(compliance manual) และการจัดอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ดังกล่าวให้แก่บุคลากร

ของผู้ประกอบธุรกิจด้วย

(2) ติดตามกฎเกณฑ์ที่มีการแก้ไข และรายงานให้คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจทราบ

(3) ระบุความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการพัฒนาหรือทำธุรกรรมใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจ

(4) ติดตามดูแลให้บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจมีการปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์

(5) ระบุและประเมินปัจจัยที่อาจมีผลทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ได้

ทั้งนี้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการแก้ไขด้วย

(6) ตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ และรายงานผล

การตรวจสอบหรือสอบทานต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

และผู้บริหารระดับสูงของผู้ประกอบธุรกิจ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการรายงานผลการตรวจสอบหรือ

สอบทานการปฏิบัติงานทั่วไป (day to day operation) อาจรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง

ของผู้ประกอบธุรกิจก่อนการรายงานต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบ

หมายก็ได้ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่คณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

ได้กำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงประโยชน์ในการแก้ไขข้อบกพร่องและผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์

ตลอดจนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

(7) จัดทำแผนการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานประจำปี (compliance plan) ซึ่งมีรายละเอียด

เกี่ยวกับขอบเขตและระยะเวลาการตรวจสอบหรือสอบทานหน่วยงานของผู้ประกอบธุรกิจ

ทั้งนี้ แผนการตรวจสอบหรือสอบทานดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ

หรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

(8) จัดทำรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี (annual compliance report)

เสนอต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และผู้บริหารระดับสูง

ของผู้ประกอบธุรกิจ และจัดส่งรายงานดังกล่าวให้สำนักงานภายในสองเดือนนับแต่วันสิ้นปีปฏิทิน

โดยรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) แผนการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานประจำปี

(ข) ผลการปฏิบัติตามแผนการตรวจสอบหรือสอบทานการปฏิบัติงานประจำปี

(ค) การกระทำความผิด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติงานตามกฎเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไข

(ง) การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของสำนักงาน หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่น

(จ) การทบทวนนโยบายด้านกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

(9) เป็นผู้ประสานงานและรายงานให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่พบการปฏิบัติ

ที่เข้าข่ายหรืออาจเข้าข่ายฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างมีนัยสำคัญ เช่น

การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ข้อ 6 ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน

เช่น กฎหมาย บัญชี การเงิน เศรษฐศาสตร์ และการบริหารธุรกิจ เป็นต้น

และมีประสบการณ์ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า

สองปีในช่วงระยะเวลาเจ็ดปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว

2. ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนที่เป็นประโยชน์

ต่อการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าสี่ปีในช่วงระยะเวลาเจ็ดปีก่อนวันที่ได้รับการ

แต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว

(ข) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาอื่นใด และมีประสบการณ์ทำงานอย่างใด

อย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า

สี่ปีในช่วงระยะเวลาเจ็ดปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว

2. ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินหรือตลาดทุนที่เป็นประโยชน์

ต่อการปฏิบัติงานไม่น้อยกว่าเจ็ดปีในช่วงระยะเวลาสิบปีก่อนวันที่ได้รับ

การแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว

(2) ผ่านการอบรมความรู้ตามหลักสูตรที่สำนักงานเห็นชอบมาแล้วไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง

ในตำแหน่งดังกล่าว เว้นแต่เป็นกรณีตามวรรคสอง

(3) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยลักษณะต้องห้ามของบุคลากร

ในธุรกิจตลาดทุน ในกรณีที่ผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ

ไม่เคยผ่านการอบรมความรู้ตามหลักสูตรที่สำนักงานเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง (2) มาก่อน

ผู้ประกอบธุรกิจอาจตั้งบุคคลดังกล่าวให้เป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานได้

แต่ต้องจัดให้บุคคลนั้นเข้ารับการอบรมความรู้ตามหลักสูตรที่สำนักงานเห็นชอบภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่

ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งดังกล่าว

ข้อ 7 ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายงานการแต่งตั้งและการสิ้นสุดการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย และสำนักงาน โดยการรายงานดังกล่าวต่อสำนักงานให้ดำเนินการภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันที่มีการแต่งตั้งหรือวันสิ้นสุดการแต่งตั้ง แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ในกรณีที่เป็นการรายงานการสิ้นสุดการแต่งตั้ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจระบุเหตุแห่งการสิ้นสุดนั้นด้วย

ข้อ 8 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้รับผิดชอบสูงสุดในหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 4(4) (ข) หรือได้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แต่งตั้งบุคลากรรายใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในประกาศนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้ถึง

ข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะได้รับผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) แต่งตั้งบุคลากรที่รับผิดชอบแทนชั่วคราวในระหว่างที่ยังดำเนินการตาม (1)ไม่แล้วเสร็จ

โดยบุคคลดังกล่าวต้องไม่ได้ปฏิบัติงานในตำแหน่งอื่นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์

กับการทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ

ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ