หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมคาร์บอน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 5, 2012 17:07 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 42 /2555

เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมคาร์บอน

__________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 100 มาตรา 109 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมคาร์บอน

“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่

“คาร์บอนเครดิต” หมายความว่า หน่วยที่แสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกลด ดูดซับ หรือกักเก็บโดยโครงการหรือกิจกรรม ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่ออกมาตรฐานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ

“โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” หมายความว่า โครงการหรือกิจกรรมที่ทำให้ผู้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมนั้นได้รับคาร์บอนเครดิต และให้หมายความรวมถึงโครงการหรือกิจกรรมที่ผู้ประสงค์จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวอยู่ระหว่างแสดงความจำนงที่จะพัฒนาโครงการหรือกิจกรรมนั้นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

“ผู้ดูแลผลประโยชน์” หมายความว่า ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม

“สัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต” หมายความว่า สัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งส่งมอบคาร์บอนเครดิตให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ชำระราคา ณ เวลาใดเวลาหนึ่งในอนาคต เป็นจำนวนและราคาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา

“กองทุนรวมปิด” หมายความว่า กองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน

“กองทุนรวมเปิด” หมายความว่า กองทุนรวมประเภทรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

“เงินทุนจดทะเบียน”หมายความว่าเงินทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนและนำมาจดทะเบียนไว้กับสำนักงาน

“เงินทุนโครงการ” หมายความว่า วงเงินที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นขอจดทะเบียนไว้กับสำนักงานเพื่อการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

“สมาคม” หมายความว่า สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทที่เกี่ยวกับการลงทุน

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมคาร์บอนในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การขออนุมัติและการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 1

(2) หลักเกณฑ์การบริหารและจัดการกองทุนรวมที่กำหนดในภาค 2

(3) อำนาจสั่งการของสำนักงานเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในภาค 3

นอกจากข้อกำหนดตามประกาศนี้แล้ว บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศอื่น ๆ ที่กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบริษัทจัดการกองทุนรวม หรือการบริหารจัดการกองทุนรวม เป็นการทั่วไปด้วย

ข้อ 4 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) ในรายละเอียดเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ได้ และเมื่อมีการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวให้ถือว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้แล้ว

ภาค 1

การขออนุมัติและการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

_________________

ข้อ 5 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ประสงค์จะจัดตั้งกองทุนรวมตามประกาศนี้ ให้กระทำได้เฉพาะที่เป็นการเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยเท่านั้น โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในภาคนี้

หมวด 1

การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม

________________

ข้อ 6 บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ประสงค์จะขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ต้องยื่นคำขอเป็นหนังสือ พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอดังต่อไปนี้

(1) โครงการจัดการกองทุนรวม

(2) ร่างข้อผูกพัน

(3) ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์

(4) ร่างหนังสือชี้ชวน

การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทจัดการกองทุนรวมลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลด้วย

ข้อ 7 ให้บุคคลที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมชำระค่าธรรมเนียมคำขอตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ พร้อมกับการยื่นคำขอดังกล่าว

ข้อ 8 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขอพร้อมเอกสารหลักฐานครบถ้วน

หมวด 2

หลักเกณฑ์การอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม

________________

ข้อ 9 กองทุนรวมที่จะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ และหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูล ข้อกำหนด หรือข้อสัญญา ในคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว และต้องไม่มีข้อความที่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์นั้น

(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมไม่อยู่ระหว่างถูกสั่งระงับการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมตามประกาศนี้หรือไม่ เป็นการชั่วคราว

ส่วนที่ 1

ลักษณะของกองทุนรวม

_____________________

ข้อ 10 กองทุนรวมที่จะได้รับอนุมัติให้จัดตั้งต้องมีข้อกำหนดในเอกสารของกองทุนรวมที่แสดงลักษณะของกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) มีผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดเป็นผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย และมีข้อกำหนดว่า บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือนายทะเบียนหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการโอนหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อย

(2) เป็นกองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน เว้นแต่เป็นการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนตามที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถแสดงได้ว่าการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวจะไม่กระทบต่อความอยู่รอดของกองทุนรวม

(3) ชื่อของกองทุนรวมซึ่งแสดงถึงลักษณะของการเป็นกองทุนรวมคาร์บอน

(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีมูลค่าที่ตราไว้เป็นมูลค่าเท่ากัน โดยในกรณีที่มีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 11

(5) เป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) กองคาร์บอนทั่วไป ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต หรือตราสารที่มีผู้ออกหรือสัญญาที่มีคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นหลัก โดยจะชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน เฉลี่ยคืนทุน และจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดหรือเทียบเท่า

(ข) กองคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก โดยจะชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน เฉลี่ยคืนทุน และจ่ายเงินปันผลเป็นคาร์บอนเครดิต เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องชำระบางส่วนเป็นเงินสดหรือเทียบเท่าเนื่องจากมีคาร์บอนเครดิตไม่เพียงพอ หรือเพื่อให้ครบถ้วนตามมูลค่าหน่วยลงทุน

(6) ในกรณีของกองคาร์บอนเครดิตที่จะเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีการแบ่งชำระหนี้ตามสัญญาเป็นงวด ๆ บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงได้ว่าความอยู่รอดของกองทุนรวมจะไม่ได้รับผลกระทบหากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้ตามสัญญา

(7) มีข้อกำหนดเพื่อรองรับการลงทุนของกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามส่วนที่ 2 ของหมวดนี้

(8) มีข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้ง ซึ่งเป็นไปตามส่วนที่ 3 ของหมวดนี้ และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวมคาร์บอน ตลอดจนประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมคาร์บอนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

(9) มีข้อกำหนดให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) หน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และประกาศนี้

(ข) หน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมคาร์บอนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

ข้อ 11 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งหน่วยลงทุนออกเป็นหลายชนิด ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) หน่วยลงทุนชนิดเดียวกันต้องมีสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนที่เท่าเทียมกัน

(2) หน่วยลงทุนแต่ละชนิดจะมีสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนที่แตกต่างกันได้เฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) การกำหนดประโยชน์ตอบแทนหรือการคืนเงินทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

(ข) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน

(ค) ระยะเวลาการขายและรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

(ง) กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการขอรับความเห็นชอบจากสำนักงาน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงได้ว่าการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนดังกล่าวสามารถปฏิบัติได้จริง และได้คำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม ตลอดจนผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดอาจได้รับ

ส่วนที่ 2

ข้อกำหนดเพื่อรองรับการลงทุนของกองทุนรวม

_____________________

ข้อ 12 โครงการจัดการกองทุนรวมต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนรวมตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินหลักที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ได้ โดยในกรณีของกองคาร์บอนทั่วไป ให้เป็นไปตามข้อ 13 ข้อ 14 และข้อ 16 และในกรณีของกองคาร์บอนเครดิตให้เป็นไปตามข้อ 15 และข้อ 16

(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 17

(3) ข้อกำหนดที่แสดงว่า ก่อนการลงทุนในทรัพย์สินหลักที่มีบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญา บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีการตรวจสอบและสอบทาน (ทำ due diligence) โครงการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่โครงการนั้นยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับการรับรองแล้วแต่ยังไม่ได้รับคาร์บอนเครดิต

ข้อ 13 ในกรณีของกองคาร์บอนทั่วไป โครงการจัดการกองทุนรวมต้องมีข้อกำหนดให้กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหลัก ซึ่งเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) คาร์บอนเครดิต

(2) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรอ้างอิงเป็นคาร์บอนเครดิต

(3) สัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(4) หลักทรัพย์หรือตราสารดังต่อไปนี้ ที่มีผู้ออกหรือผู้สั่งจ่ายเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(ก) หุ้น

(ข) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น

(ค) ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้

(ง) ตั๋วแลกเงิน

(จ) ตั๋วสัญญาใช้เงิน

(ฉ) หุ้นกู้

(ช) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นกู้

ข้อ 14 ห้ามมิให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดให้กองทุนรวมสามารถส่งบุคลากรเข้าร่วมบริหารในกิจการของนิติบุคคลที่กองทุนรวมถือหุ้น เว้นแต่เป็นโครงการจัดการกองทุนรวมของกองคาร์บอนทั่วไปที่มีการลงทุนระยะยาวในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข้อ 15 ในกรณีของกองคาร์บอนเครดิต โครงการจัดการกองทุนรวมต้องมีข้อกำหนดให้กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหลัก ซึ่งเข้าลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) คาร์บอนเครดิต

(2) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรอ้างอิงเป็นคาร์บอนเครดิต

(3) สัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข้อ 16 การกำหนดอัตราส่วนการลงทุนในทรัพย์สินหลักของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมต้องลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหลักโดยเฉลี่ยในแต่ละปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุนรวม เว้นแต่ในช่วงระยะเวลาดังต่อไปนี้ กองทุนรวมจะไม่ดำรงมูลค่าการลงทุนดังกล่าวก็ได้

(ก) รอบปีบัญชีแรกของกองทุนรวม

(ข) รอบปีบัญชีสุดท้ายที่กองทุนรวมสิ้นอายุโครงการ

(ค) รอบปีบัญชีที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน เมื่อมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนดังกล่าวได้

(2) ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่ออกหรือสั่งจ่ายโดยบริษัทที่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบธุรกิจในส่วนอื่น บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวไม่เกินอัตราดังต่อไปนี้

(ก) ร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เมื่อคำนวณรวมทุกหลักทรัพย์และตราสาร

(ข) ร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม เมื่อคำนวณเฉพาะหลักทรัพย์และตราสารที่ออกโดยผู้ออกหรือผู้สั่งจ่ายรายใดรายหนึ่ง

(3) ในกรณีที่กองทุนรวมประสงค์จะลงทุนในทรัพย์สินหลักที่มีผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากโครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ระบุอัตราขั้นสูงที่กองทุนรวมจะลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินหลักดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

(4) ในกรณีที่กองทุนรวมมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่นตามข้อ 17 หากเป็นการลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับแผนการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้นับมูลค่าการลงทุนดังกล่าวรวมคำนวณเป็นมูลค่าการลงทุนในทรัพย์สินหลักได้

ข้อ 17 ในกรณีที่กองทุนรวมจะมีการลงทุนในทรัพย์สินอื่น ต้องกำหนดขอบเขตของทรัพย์สินอื่นที่สามารถลงทุนหรือมีไว้ได้ในโครงการจัดการกองทุนรวม โดยจะกำหนดได้เฉพาะทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังต่อไปนี้

(1) พันธบัตรรัฐบาล

(2) ตั๋วเงินคลัง

(3) พันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่รัฐวิสาหกิจ หรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เป็นผู้ออก และมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไข

(4) เงินฝากในธนาคาร หรือบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

(5) บัตรเงินฝากที่ธนาคารหรือบริษัทเงินทุนเป็นผู้ออก ทั้งนี้ หากเป็นบัตรเงินฝากที่เข้าลักษณะของตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการลงทุน

(6) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคาร บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลังโอนประเภทมีสิทธิไล่เบี้ย หรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ หากเป็นตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่เข้าลักษณะของตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนการลงทุน

(7) หน่วยลงทุนหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ หรือกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารแห่งหนี้หรือเงินฝาก

(8) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมคาร์บอนอื่น

(9) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศ โดยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) เป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสามัญของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) หรือเป็นหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ World Federation of Exchanges (WFE)

(ข) กองทุนรวมในต่างประเทศนั้นมีนโยบายการลงทุนในทรัพย์สินประเภทและชนิดเดียวกับทรัพย์สินที่กองทุนรวมสามารถลงทุนหรือมีไว้ได้

(10) สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งการเข้าทำสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงของกองทุนรวม

ส่วนที่ 3

ข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้ง

_______________

ข้อ 18 โครงการจัดการกองทุนรวมหรือข้อผูกพันต้องมีข้อกำหนดเพื่อรองรับการดำเนินการของกองทุนรวมภายหลังการจัดตั้ง ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนหรือเงินทุนโครงการ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 19

(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมปิด ซึ่งเป็นไปตามข้อ 20

(3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน เฉลี่ยคืนทุน และจ่ายเงินปันผล ซึ่งเป็นไปตามข้อ 21 และข้อ 22

(4) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามข้อ 23

(5) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลิกกองทุนรวม ซึ่งเป็นไปตามข้อ 24

(6) ข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกใบหน่วยลงทุนหรือหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน ซึ่งเป็นไปตามข้อ 25

ข้อ 19 การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนและเงินทุนโครงการของกองทุนรวมต้องไม่ขัดหรือแย้งกับโครงการจัดการกองทุนรวม หรือพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตลอดจนประกาศ กฎ หรือคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว

(2) การเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ได้รับมติของผู้ถือหน่วยลงทุนแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมดังต่อไปนี้

1. กองทุนรวมเปิด

2. กองทุนรวมปิดที่ระบุการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวมตั้งแต่ก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก

(ข) จำนวนเงินทุนจดทะเบียนที่เพิ่มต้องไม่เกินกว่าจำนวนเงินทุนโครงการของกองทุนรวม โดยในกรณีที่เงินทุนจดทะเบียนที่เพิ่มจะเกินกว่าเงินทุนโครงการต้องปรากฏว่า สำนักงานรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมเงินทุนโครงการเพื่อรองรับการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนนั้นแล้ว

(3) การเพิ่มเงินทุนโครงการ บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจกระทำได้โดยการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเงินทุนโครงการต่อสำนักงาน

ข้อ 20 การลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การลดเงินทุนจดทะเบียนจะกระทำได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนในโครงการจัดการกองทุนรวม

(ข) กรณีอื่นนอกจาก (ก) ที่มีมติผู้ถือหน่วยลงทุนให้ลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม เช่น กรณีกองทุนรวมมีสภาพคล่องส่วนเกินที่เหลืออยู่ภายหลังจากการจำหน่ายทรัพย์สินหลัก และกองทุนรวมไม่มีกำไรสะสมเหลืออยู่

(2) เป็นการลดจำนวนหน่วยลงทุนหรือลดมูลค่าที่ตราไว้ และเฉลี่ยคืนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน โดยจะเฉลี่ยคืนให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อ 21

ข้อ 21 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน เฉลี่ยคืนทุน และจ่ายเงินปันผลตามหลักเกณฑ์ในข้อ 10(5) และตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) การจ่ายเงินปันผล ให้จ่ายได้จากกำไรสะสมเท่านั้น

(2) ในกรณีของกองคาร์บอนเครดิต บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีข้อกำหนดในโครงการจัดการกองทุนรวมที่แสดงถึงข้อจำกัดของการชำระค่าขายคืนหน่วยลงทุน เฉลี่ยคืนทุน และจ่ายเงินปันผลเป็นคาร์บอนเครดิต และขั้นตอนการดำเนินการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 22 ข้อผูกพันต้องระบุข้อห้ามมิให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินปันผลที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ใช้สิทธิขอรับภายในอายุความใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไปใช้เพื่อการอื่นใด นอกจากเพื่อประโยชน์ของกองทุนรวมนั้น

ข้อ 23 โครงการจัดการกองทุนรวมต้องมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม เงินตอบแทนอื่นใด หรือค่าใช้จ่าย จากกองทุนรวมหรือผู้ถือหน่วยลงทุนไว้อย่างชัดเจน โดยค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะหักจากเงินของกองทุนรวมจะเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกองทุนรวมโดยตรงเท่านั้น

ข้อ 24 การเลิกกองทุนรวม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้โครงการจัดการกองทุนรวมมีข้อกำหนดที่แสดงว่า เมื่อปรากฏเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมและในกรณีดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการกองทุนรวมจะเลิกกองทุนรวม

(1) เมื่อจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนลดลงเหลือน้อยกว่าสิบราย เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(2) เมื่อมีการจำหน่ายทรัพย์สินของกองทุนรวม และบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้ทรัพย์สินของกองทุนรวมมีมูลค่ารวมกันเป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทุนที่กำหนดในข้อ 16 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว

(3) เมื่อสำนักงานมีคำสั่งเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

ข้อ 25 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้ข้อผูกพันมีข้อกำหนดที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนร้องขอให้บริษัทจัดการกองทุนรวมออกใบหน่วยลงทุนหรือหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะออกใบหน่วยลงทุนหรือหลักฐานแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนที่เป็นปัจจุบัน และมีข้อมูลที่จำเป็นและเพียงพอเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนใช้เป็นหลักฐานแสดงสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนและใช้อ้างอิงต่อบริษัทจัดการกองทุนรวมและบุคคลอื่นได้ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมจะระบุข้อจำกัดสิทธิเช่นว่านั้นไว้อย่างชัดเจน

ส่วนที่ 4

อำนาจของสำนักงานเกี่ยวกับการอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวม

_______________________

ข้อ 26 ในการพิจารณาคำขอ ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้บริษัทจัดการกองทุนรวมมาชี้แจง แก้ไข หรือส่งเอกสารหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้ภายในระยะเวลาที่สำนักงานประกาศกำหนด

ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่สำนักงานแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ประสงค์จะขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมอีกต่อไปเว้นแต่บริษัทจัดการกองทุนรวมจะแสดงให้เห็นได้ว่า การที่มิได้ดำเนินการตามที่สำนักงานแจ้งภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย หรือมีเหตุจำเป็นและสมควร

ข้อ 27 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมตามคำขอได้

(1) กองทุนรวมที่ขออนุมัติจัดตั้งมีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุมัติตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการจัดตั้งกองทุนรวมนั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือประกาศนี้

(2) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตลาดทุน

(3) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม

(4) การจัดตั้งกองทุนรวมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

ข้อ 28 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้พิจารณากับคำขอ หรือไม่นำเงื่อนไขตามประกาศนี้มาใช้บังคับกับการขอจัดตั้งกองทุนรวม

(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันให้ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการพิจารณาอนุญาตในกรณีนั้น และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว

(2) บริษัทจัดการกองทุนรวมมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่นที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

(3) บริษัทจัดการกองทุนรวมมีมาตรการอื่นที่เพียงพอ และสามารถทดแทนการปฏิบัติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน

การผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนและมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องปฏิบัติด้วยก็ได้

ข้อ 29 ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่า เอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทจัดการกองทุนรวมมีข้อมูลไม่ครบถ้วน มีข้อความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือกรณีอื่นใดที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน สำนักงานอาจสั่งการให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและจัดส่งเอกสารหรือข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกองทุนรวมได้ตามที่เห็นสมควร

หมวด 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

________________

ข้อ 30 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีข้อผูกพัน โครงการจัดการกองทุนรวม สัญญาแต่งตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์ และหนังสือชี้ชวนที่มีสาระไม่ต่างจากฉบับร่างที่ยื่นต่อสำนักงาน และที่แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุด

(2) ในการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำหนังสือชี้ชวนที่มีข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง เพียงพอ และไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) จัดส่งหนังสือชี้ชวนให้สำนักงาน โดยดำเนินการผ่านระบบรับและเผยแพร่ข้อมูลหนังสือชี้ชวนและการรายงานของกองทุนรวม ก่อนเริ่มการเสนอขายหน่วยลงทุน

(ข) จัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนแก่ผู้ลงทุนที่สนใจจะลงทุนในหน่วยลงทุน โดยต้องมีระยะเวลาที่พอสมควรแก่การที่ผู้ลงทุนจะศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนก่อนการตัดสินใจลงทุนในหน่วยลงทุน

(ค) ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในหนังสือชี้ชวน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้หนังสือชี้ชวนมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและจัดส่งให้สำนักงานภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการแก้ไขข้อมูลในหนังสือชี้ชวน

(3) ดูแลให้ข้อผูกพันและโครงการจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ตลอดจนประกาศ กฎ และคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายดังกล่าว โดยในกรณีที่ข้อกำหนดในข้อผูกพันหรือโครงการจัดการกองทุนรวมขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ในกฎหมาย ประกาศ กฎ หรือคำสั่งนั้น ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการแก้ไขโดยไม่ชักช้า

(4) การแก้ไขข้อผูกพันหรือโครงการจัดการกองทุนรวมต้องไม่ขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ทั้งนี้ ในกรณีประกาศนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติม บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้ข้อผูกพันและโครงการจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามประกาศนี้ที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย

หมวด 4

การสิ้นสุดการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม

_____________

ข้อ 31 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมิได้เริ่มเสนอขายหน่วยลงทุนภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานให้จัดตั้งกองทุนรวม ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลง

ข้อ 32 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมประสงค์จะยกเลิกการจัดตั้งกองทุนรวมที่อยู่ระหว่างการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก และได้ระบุกรณีดังกล่าวไว้ในหนังสือชี้ชวนแล้ว บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจยุติการขายหน่วยลงทุนได้ โดยต้องรายงานให้สำนักงานทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ยุติการขายหน่วยลงทุนนั้น ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมสิ้นสุดลงในวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานให้สำนักงานทราบตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน (ถ้ามี) ตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน ภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมสิ้นสุดลงตามวรรคสอง และหากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องรับผิดชอบ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วน

ข้อ 33 เมื่อสิ้นสุดการเสนอขายหน่วยลงทุน แต่ยังมิได้จดทะเบียนกองทุนรวม หากปรากฏว่ามีการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ไม่ถึงสิบราย อันเป็นเหตุให้สำนักงานไม่รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม ให้การอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเป็นอันสิ้นสุดลง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งให้สำนักงานทราบกรณีตามวรรคหนึ่งภายในสิบห้าวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาเสนอขายหน่วยลงทุนดังกล่าว และให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน (ถ้ามี) ภายในสิบสี่วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาเสนอขายหน่วยลงทุนนั้นตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน ทั้งนี้ หากบริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถคืนเงินและผลประโยชน์ภายในกำหนดเวลานั้นได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องรับผิดชอบ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อจนครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้ตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ของหน่วยลงทุนเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

ข้อ 34 สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมได้ หากปรากฏกรณีดังต่อไปนี้

(1) มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจัดการกองทุนรวมหรือข้อผูกพันที่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดตามประกาศนี้

(2) มีการลงทุนในทรัพย์สินหลักไม่เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่ได้กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม ซึ่งเป็นกรณีที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินการของกองทุนรวม หรือขัดต่อเจตนารมณ์ในการจัดตั้งกองทุนรวม

(3) มีการดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในภาค 1

(4) มีการบริหารจัดการกองทุนรวมโดยฝ่าฝืนหรือมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในภาค 2

ข้อ 35 ในการใช้ดุลพินิจสั่งการตามข้อ 34 ให้สำนักงานนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

(1) พฤติกรรมของบริษัทจัดการกองทุนรวมในการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวม

(2) การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุน เพื่อแก้ไข เยียวยา หรือป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมเดียวกันนั้นซ้ำอีก

(3) พฤติกรรมอื่นของบริษัทจัดการกองทุนรวมเพื่อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของสำนักงาน

(4) ประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดของบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ไม่เหมาะสม

ข้อ 36 เมื่อมีการเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม หากได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว แต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน และผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุน โดยให้นำความในข้อ 33 วรรคสองและวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่หากมีการจดทะเบียนกองทุนรวมแล้ว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการให้มีการเลิกกองทุนรวมทันที

ภาค 2

หลักเกณฑ์การบริหารและจัดการกองทุนรวม

_______________

ข้อ 37 ในการบริหารและจัดการกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมและข้อผูกพัน และที่กำหนดเพิ่มเติมในภาคนี้

ข้อ 38 ในกรณีที่กองทุนรวมมีการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนหรือเงินทุนโครงการของกองทุนรวม และการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียนต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม และการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน

ข้อ 39 ในการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม นอกจากการปฏิบัติตามข้อ 38 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดให้มีข้อมูลเกี่ยวกับการลดเงินทุนจดทะเบียนทุกครั้งของกองทุนรวมไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทจัดการกองทุนรวมและรายงานประจำปีของกองทุนรวม เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบได้ โดยข้อมูลดังกล่าวต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) เหตุแห่งการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวม

(2) จำนวนเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมและจำนวนเงินทุนจดทะเบียนต่อหน่วยลงทุนที่ลดในแต่ละครั้ง

(3) วันปิดสมุดทะเบียน และวันที่ดำเนินการชำระคืนคาร์บอนเครดิต หรือชำระคืนเงินแล้วแต่กรณี คืนแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน

ข้อ 40 ในการขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องแสดงข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเพียงพอ ซึ่งรวมถึงความเห็นของบริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมในเรื่องที่ขอมติ และผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับจากการลงมติในเรื่องดังกล่าว

การแสดงข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงไว้ในหนังสือนัดประชุม หรือหนังสือแจ้งผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขอมติ

ข้อ 41 การจ่ายเงินปันผลของกองคาร์บอนทั่วไป บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องประกาศการจ่ายเงินปันผล วันปิดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล และอัตราเงินปันผลโดยไม่ชักช้า และให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบถึงการจ่ายเงินปันผลและข้อมูลการจ่ายเงินปันผล วันปิดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล และอัตราเงินปันผล

(2) ส่งหนังสือแจ้งให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน และผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนชนิดไม่ระบุชื่อผู้ถือเมื่อได้รับการร้องขอ

ข้อ 42 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุน ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล สะท้อนราคาที่เป็นธรรม สามารถนำมาใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมได้ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์เพิ่มเติมดังต่อไปนี้

(1) กรณีที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งคาร์บอนเครดิต สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรอ้างอิงเป็นคาร์บอนเครดิต และสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ใช้ราคาอ้างอิงที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและมีการประกาศอย่างแพร่หลาย

(2) กรณีที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือตราสารที่มีผู้ออกหรือผู้สั่งจ่ายเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือทรัพย์สินอื่น ให้ใช้ราคาตามประกาศสมาคมว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุนเพื่อใช้ในการคำนวณมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวมโดยอนุโลม

ข้อ 43 ในกรณีของกองคาร์บอนทั่วไป ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุน ตามกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

(1) คำนวณมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุนของวันดังต่อไปนี้ และเปิดเผยมูลค่าดังกล่าวภายในวันทำการถัดไป

(ก) วันทำการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน

(ข) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการจ่ายเงินปันผล

(ค) วันทำการก่อนวันขายหน่วยลงทุนเพื่อการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียน

(ง) วันปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อการลดเงินทุนจดทะเบียน

(2) คำนวณมูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีของกองทุนรวม และเปิดเผยมูลค่าดังกล่าวพร้อมการจัดส่งรายงานประจำปีของกองทุนรวม

มูลค่าทรัพย์สิน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และมูลค่าหน่วยลงทุนที่เปิดเผยตามวรรคหนึ่งต้องได้รับการรับรองจากผู้ดูแลผลประโยชน์แล้ว

ข้อ 44 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและส่งรายงานประจำปีของกองทุนรวมให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานภายในสี่เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของกองทุนรวม

รายงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อมูลของกองทุนรวมตามที่กำหนดในประกาศนี้ และตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดทำรายงานรอบระยะเวลาบัญชีประจำปีของกองทุนรวมในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 โดยอนุโลม

ข้อ 45 การจัดทำงบการเงินของกองทุนรวม ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดสำหรับการทำธุรกรรมในแต่ละลักษณะ

(2) ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ

ข้อ 46 ในกรณีที่กองทุนรวมลงทุนในทรัพย์สินหลักที่มีผู้ออก ผู้สั่งจ่าย หรือคู่สัญญาเป็นบริษัทที่ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากโครงการหรือกิจกรรมที่จะทำให้บริษัทนั้นได้รับคาร์บอนเครดิตยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับการรับรองแล้วแต่ยังไม่ได้รับคาร์บอนเครดิต ให้บริษัทจัดการจัดทำรายงานความคืบหน้าของโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว และจัดส่งรายงานดังกล่าวให้ผู้ถือหน่วยลงทุนและสำนักงานพร้อมกับรายงานประจำปีของกองทุนรวม

รายงานความคืบหน้าตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลเปรียบเทียบความคืบหน้าของโครงการหรือกิจกรรมกับแผนงานของโครงการหรือกิจกรรม

(2) ในกรณีที่ความคืบหน้าของโครงการหรือกิจกรรมไม่เป็นไปตามแผนงาน ให้ระบุแนวทางแก้ไขและผลกระทบที่กองทุนรวมได้รับหรืออาจได้รับไว้ด้วย

ข้อ 47 เมื่อปรากฏเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าของทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนหรือมีไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือตามที่สำนักงานประกาศกำหนด ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานเหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลต่อสำนักงานโดยไม่ชักช้า

ข้อ 48 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดให้มีบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานเพื่อทำหน้าที่ดังต่อไปนี้

(1) ผู้จัดการกองทุนรวมเพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนหรือจำหน่ายไปซึ่งทรัพย์สินของกองทุนรวม

(2) ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนเพื่อทำหน้าที่ขายหน่วยลงทุนหรือให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุน

ข้อ 49 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำกับดูแลและตรวจสอบให้บุคลากรของตนปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 50 บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจมอบหมายให้ผู้อื่นบริหารจัดการกองทุนรวมในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนในทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุนรวมและการปฏิบัติการด้านงานสนับสนุนได้ โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่จะดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายด้วยความรอบคอบ และระมัดระวัง โดยผู้ได้รับมอบหมายต้องเป็นบุคคลที่สามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี และหากเป็นการจัดการลงทุนในต่างประเทศ บุคคลที่ได้รับมอบหมายต้องเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทดังกล่าวจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) ที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

(2) กำกับและตรวจสอบการดำเนินการของผู้รับมอบหมายอย่างเพียงพอ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรฐานการปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงานประกาศกำหนด หรือที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 51 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องอำนวยความสะดวกแก่ผู้ดูแลผลประโยชน์หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้ดูแลผลประโยชน์ เพื่อให้บุคคลดังกล่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนในส่วนที่เกี่ยวกับกองทุนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อ 52 เมื่อเกิดกรณีตามข้อ 24 หรือกรณีอื่นใดที่อาจทำให้ต้องเลิกกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมรายงานต่อสำนักงาน และผู้ดูแลผลประโยชน์โดยไม่ชักช้า

ข้อ 53 การเลิกกองทุนรวมเพราะเหตุครบกำหนดอายุของโครงการหรือเพราะเหตุอื่นที่ทราบกำหนดการเลิกกองทุนรวมล่วงหน้า ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) แจ้งเป็นหนังสือ ให้สำนักงานและผู้ดูแลผลประโยชน์ทราบเป็นหนังสือก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ

(2) ดำเนินการด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบเรื่องดังกล่าวก่อนวันเลิกกองทุนรวมเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ เช่น ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่น เป็นต้น

ภาค 3

อำนาจสั่งการของสำนักงานเกี่ยวกับการดำเนินงานของ

บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนรวม

_______________

ข้อ 54 เพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นไปตามนโยบายหรือหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลที่มีผลใช้บังคับในขณะนั้น หรือเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ลงทุน ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งการให้บริษัทจัดการกองทุนรวมกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่สำนักงานเห็นสมควรภายในระยะเวลาที่กำหนด

(1) ข้อเท็จจริงตามข้อ 27(1) (2) (3) หรือ (4)

(2) การดำเนินการของกองทุนรวมไม่สอดคล้องกับโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน

อำนาจสั่งการตามวรรคหนึ่งให้รวมถึงการสั่งการในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม

(2) แก้ไขลักษณะของกองทุนรวมให้ถูกต้อง

(3) ระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้อง

ข้อ 55 ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดประเภทหรือลักษณะของค่าใช้จ่ายที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่สามารถจ่ายจากเงินของกองทุนรวมได้

ข้อ 56 ให้สำนักงานมีอำนาจผ่อนผันการปฏิบัติของบริษัทจัดการกองทุนรวมตามข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ได้ เมื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมสามารถแสดงได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร

(1) การดำรงมูลค่าการลงทุนของกองทุนรวมตามที่กำหนดในข้อ 16

(2) การเลิกกองทุนรวมเพราะเหตุที่มีจำนวนผู้ถือหน่วยลงทุนน้อยกว่าสิบรายตามข้อ 24(1)

ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ