การเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพันซึ่งออกโดยสถาบันการเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 21, 2012 16:53 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทจ. 26 /2555

เรื่อง การเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์

หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน

ซึ่งออกโดยสถาบันการเงิน

___________________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 40(11) มาตรา 41(3) และ (4) มาตรา 42(10) มาตรา 43(3) มาตรา 56 มาตรา 67 มาตรา 69 และมาตรา 70(9) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพันภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนดตามประกาศนี้

เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง คำว่า “หุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน” หมายความว่า หุ้นกู้ที่มีข้อกำหนดให้ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระหนี้หรือภาระผูกพันเพิ่มเติมจากการเป็นผู้ถือหุ้นกู้ตามปกติ เช่น ผู้ถือหุ้นกู้ผูกพันที่จะยอมขยายหรือย่นระยะเวลาการไถ่ถอนหุ้นกู้ หรือผู้ถือหุ้นกู้ผูกพันที่จะต้องซื้อหุ้นกู้จากผู้ออกหุ้นกู้เพิ่มเติม เป็นต้น

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” หมายความว่า หุ้นกู้ไม่มีประกันที่มีการกำหนดสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ไว้ด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญทั่วไป

“ข้อกำหนดสิทธิ” หมายความว่า ข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้

“แบบแสดงรายการข้อมูล” หมายความว่า แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน

“สถาบันการเงิน” หมายความว่า

(1) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

(2) บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน

(3) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน คำว่า “หุ้นกู้อนุพันธ์” “บุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิง” และ “ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายตราสารหนี้ ทุกประเภท

หมวด 1

บททั่วไป

___________________

ข้อ 4 สถาบันการเงินสามารถเสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพันได้ โดยถือว่าได้รับอนุญาตจากสำนักงานเมื่อ

(1) มีการดำเนินการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 2

(2) แบบแสดงรายการข้อมูลมีผลใช้บังคับตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในหมวด 3 ในกรณีที่หุ้นกู้ตามวรรคหนึ่งมีลักษณะเป็นหุ้นกู้แปลงสภาพรวมอยู่ด้วย ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายตราสารหนี้ที่ออกใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพที่ออกใหม่และหุ้นรองรับในวงจำกัดด้วย

ข้อ 5 สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามประกาศนี้ สามารถเสนอขายหุ้นกู้ได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เสนอขายภายใต้การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าว ทั้งนี้ การเสนอขายต้องกระทำภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่แบบแสดงรายการข้อมูลนั้นมีผลใช้บังคับ

ข้อ 6 ในการเสนอขายหุ้นกู้แต่ละครั้งตามประกาศนี้ ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ด้วย

ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกันหรือหุ้นกู้ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ให้สถาบันการเงินจัดให้มีสัญญาหรือข้อกำหนดสิทธิกับผู้ถือหุ้นกู้ประกอบการเสนอขายหุ้นกู้นั้นด้วย

ข้อ 7 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจสั่งมิให้การอนุญาตตามข้อ 4 มีผลหรือสั่งระงับการเสนอขายหุ้นกู้ได้

(1) สถาบันการเงินที่จะออกหรือเสนอขายหุ้นกู้อยู่ระหว่างถูกจำกัดหรือพักการประกอบธุรกิจโดยทางการหรือหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงิน

(2) สถาบันการเงินที่จะออกหรือเสนอขายหุ้นกู้มีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน

(3) สถาบันการเงินที่จะออกหรือเสนอขายหุ้นกู้มีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามเงื่อนไขภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ หรือจะไม่สามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้

(4) การเสนอขายหุ้นกู้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุน หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน

หมวด 2

หลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์หรือ

หุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน

___________________

ข้อ 8 เมื่อมีการดำเนินการและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้สถาบันการเงินได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ที่ออกใหม่ประเภทหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน

(1) สถาบันการเงินมีมติโดยชัดแจ้งให้ออกหุ้นกู้ ทั้งนี้ มติดังกล่าวต้องเป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งหรือกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เสนอขายหุ้นกู้นั้น แล้วแต่กรณี

(2) ในกรณีเป็นการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ ไม่ว่าจะมีลักษณะเป็นหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพันด้วยหรือไม่ ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 1 ของหมวดนี้

(3) ในกรณีเป็นการอนุญาตให้เสนอขายเฉพาะหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน ให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในส่วนที่ 2 ของหมวดนี้

ส่วนที่ 1

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์

___________________

ข้อ 9 สถาบันการเงินที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ ต้องมีลักษณะและปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตหรือจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ทั้งนี้ ในกรณีที่สถาบันการเงินประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ซึ่งมีปัจจัยอ้างอิงเป็นราคาทองคำ ดัชนีราคาทองคำ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สถาบันการเงินดังกล่าวต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับอนุพันธ์ที่มีปัจจัยอ้างอิงเป็นราคาหรือดัชนีราคาทองคำ หรืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แล้วแต่กรณีด้วย

(2) เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีลักษณะตามข้อ 10

(3) เป็นการเสนอขายเฉพาะต่อผู้ลงทุนตามข้อ 11

(4) มีการจดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่จะเสนอขายกับสำนักงาน ซึ่งแสดงข้อความว่าสถาบันการเงินจะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้นั้นไม่ว่าทอดใด ๆ แก่ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตามข้อ 11 เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ทั้งนี้ ให้ถือว่าสำนักงานรับจดข้อจำกัดการโอนดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้รับหนังสือขอจดข้อจำกัดการโอนที่มีข้อความดังกล่าวของสถาบันการเงินนั้นแล้ว

(5) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น สถาบันการเงินต้องยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ในข้อ 12 และให้ถือว่าวันที่สำนักงานแจ้งยืนยันการใช้หุ้นอ้างอิงเป็นวันอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าว

ข้อ 10 หุ้นกู้อนุพันธ์ที่เสนอขายต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) มีมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ต่ำกว่าฉบับละสิบล้านบาท

(2) มีปัจจัยอ้างอิงใดปัจจัยอ้างอิงหนึ่งดังนี้

(ก) ราคาหรือผลตอบแทนของหลักทรัพย์ไทย กลุ่มหลักทรัพย์ไทย หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ไทย

(ข) ราคาหรือผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ หรือดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ต่างประเทศ

(ค) กระแสรายรับหรือรายจ่าย

(ง) ราคาสินค้าหรือดัชนีราคาสินค้า

(จ) ราคาทองคำหรือดัชนีราคาทองคำ

(ฉ) อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

(ช) อัตราดอกเบี้ย

(ซ) อันดับความน่าเชื่อถือ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของตราสารหนี้ พันธบัตร หรือตราสารแห่งหนี้อื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรืออันดับความน่าเชื่อถือ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารดังกล่าวหรือของลูกหนี้ของผู้ขออนุญาต

(ฌ) เครดิตอนุพันธ์ (credit derivatives) อื่นนอกเหนือจาก

(ซ) ทั้งนี้ ตามประเภทหรือลักษณะที่สำนักงานประกาศกำหนด

(ญ) ปัจจัยอ้างอิงอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

(3) มีมูลค่าไถ่ถอนของหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละแปดสิบของเงินต้นที่ได้รับมา เว้นแต่หุ้นกู้อนุพันธ์นั้นมีข้อกำหนดสิทธิให้ผู้ถือหุ้นกู้อนุพันธ์ไถ่ถอนหุ้นกู้อนุพันธ์โดยได้รับชำระคืนเงินต้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็น

(ก) หลักทรัพย์

(ข) สิทธิในการซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยอ้างอิงดังนี้

1. เงินตราต่างประเทศ

2. เครดิตอนุพันธ์ตาม (2) (ฌ)

3. ปัจจัยอ้างอิงอื่นที่สำนักงานประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ข้อ 11 ให้สถาบันการเงินเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ได้เฉพาะกับผู้ลงทุนดังต่อไปนี้

(1) ผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่

(ก) ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน

(ข) ธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

(ค) บริษัทหลักทรัพย์

(ง) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(จ) บริษัทประกันวินาศภัย หรือบริษัทประกันชีวิต

(ฉ) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์หรือการดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการลงทุนหรือการบริหารจัดการลงทุนในทำนองเดียวกัน

(ช) กองทุนรวม

(ซ) กองทุนส่วนบุคคล

(ฌ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ญ) ธนาคารแห่งประเทศไทย

(ฎ) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

(ฏ) กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

(ฐ) สถาบันการเงินระหว่างประเทศ

(ฑ) นิติบุคคลที่บุคคลตาม (ก) ถึง (ฐ) ถือหุ้นรวมกันเกินกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด

(ฒ) ผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งมีลักษณะเดียวกับบุคคลตาม (ก) ถึง (ฑ)

(2) ผู้ลงทุนรายใหญ่ ได้แก่

(ก) ผู้ลงทุนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

1. มีสินทรัพย์สุทธิตั้งแต่ห้าสิบล้านบาทขึ้นไป

2. มีรายได้ต่อปีเมื่อรวมรายได้ของคู่สมรสตั้งแต่สี่ล้านบาทขึ้นไป

3. มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป

(ข) ผู้ลงทุนซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

1. มีส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่หนึ่งร้อยล้านบาทขึ้นไป

2. มีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ตามงบการเงินปีล่าสุดที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบแล้วตั้งแต่ยี่สิบล้านบาทขึ้นไป

ข้อ 12 ให้สถาบันการเงินยื่นคำขอตรวจสอบการใช้หุ้นอ้างอิงต่อสำนักงานตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการขอตรวจสอบและการยืนยันการอนุญาตให้ใช้หุ้นอ้างอิง และการจัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการใช้หุ้นอ้างอิงเพื่อการออกหุ้นกู้อนุพันธ์ โดยอนุโลม ให้สถาบันการเงินชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอตรวจสอบตามวรรคหนึ่ง ตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในวันที่ยื่นคำขอ

ส่วนที่ 2

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นกู้

ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน

___________________

ข้อ 13 สถาบันการเงินที่ประสงค์จะเสนอขายหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน ต้องมีลักษณะและปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตหรือจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

(2) ต้องกำหนดมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพันที่จะเสนอขายไม่ต่ำกว่าฉบับละสิบล้านบาท

(3) ต้องกำหนดมูลค่าไถ่ถอนหุ้นกู้ตามจำนวนเงินต้นที่ได้รับมา เว้นแต่มีข้อตกลงให้สถาบันการเงินไม่ต้องชำระคืนเงินต้นเต็มจำนวนตามที่ได้รับมา เมื่อผู้ถือหุ้นกู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ผูกพันผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าว แต่ต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละแปดสิบของเงินต้นที่ได้รับมา

(4) เป็นการเสนอขายเฉพาะต่อผู้ลงทุนตามข้อ 11

(5) มีการจดข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่จะเสนอขายกับสำนักงาน ซึ่งแสดงข้อความว่าสถาบันการเงินจะไม่รับจดทะเบียนการโอนหุ้นกู้นั้นไม่ว่าทอดใด ๆ แก่ผู้ลงทุนที่มิใช่ผู้ลงทุนตามข้อ 11 เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ทั้งนี้ ให้ถือว่าสำนักงานรับจดข้อจำกัดการโอนดังกล่าวในวันที่สำนักงานได้รับหนังสือขอจดข้อจำกัดการโอนที่มีข้อความดังกล่าวของสถาบันการเงินนั้นแล้ว

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติภายหลังได้รับอนุญาต

___________________

ข้อ 14 สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามประกาศนี้ต้องดำเนินการจัดให้หุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(1) มีคำเรียกชื่อเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงถึงหุ้นกู้ที่เสนอขายในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ คำเรียกชื่อดังกล่าวต้องแสดงถึงประเภทของหุ้นกู้รวมทั้งปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน และลักษณะพิเศษของหุ้นกู้นั้น (ถ้ามี) ไว้โดยชัดเจน

(2) เป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ

(3) มีข้อความในใบหุ้นกู้ที่แสดงถึงข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ซึ่งได้จดข้อจำกัดนั้นไว้กับสำนักงาน

(4) ในกรณีเป็นการเสนอขายหุ้นกู้ที่มีลักษณะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนเมื่อมีการเลิกกิจการ (perpetual bond) หรือหุ้นกู้มีประกัน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 15 ข้อ 16 และข้อ 17 แล้วแต่กรณีด้วย

(5) ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นหุ้นกู้มีประกัน หรือเป็นหุ้นกู้ที่จัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ทั้งนี้ ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ข้อ 15 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายมีลักษณะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ สิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวต้องด้อยกว่าสิทธิของเจ้าหนี้สามัญเฉพาะในเรื่องการรับชำระหนี้ตามหุ้นกู้นั้นเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย

(2) มีการชำระบัญชีเพื่อการเลิกกิจการของสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาต

(3) กรณีอื่นใดที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน

ข้อ 16 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายมีลักษณะเป็นหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน เมื่อมีการเลิกกิจการ (perpetual bond) ต้องมีการระบุให้ชัดเจนถึงสิทธิของผู้ถือหุ้นกู้ดังกล่าวในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(1) ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีสิทธิเรียกให้สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวก่อนมีการเลิกกิจการ

(2) ผู้ถือหุ้นกู้มีสิทธิเรียกให้สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวก่อนมีการเลิกกิจการตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

ข้อ 17 ในกรณีหุ้นกู้ที่เสนอขายมีลักษณะเป็นหุ้นกู้มีประกัน ไม่ว่าหลักประกันของหุ้นกู้นั้นจะได้จัดให้มีพร้อมกับการเสนอขายหุ้นกู้ หรือจัดเพิ่มเติมขึ้นในภายหลัง หลักประกันของหุ้นกู้ดังกล่าวต้องมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังนี้

(1) เป็นทรัพย์สินหรือการค้ำประกันที่มีการดำเนินการให้มีผลบังคับได้ตามกฎหมายโดยคำนึงถึงสภาพของหลักประกันแต่ละประเภท สามารถดำรงได้ตลอดอายุหุ้นกู้ และดูแลได้โดยผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

(2) ในกรณีที่หลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสัญญาเช่าระยะยาว สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการประเมินค่าของหลักประกันดังกล่าวโดยผู้ประเมินราคาทรัพย์สินที่อยู่ในบัญชีที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ การประเมินราคาหรือการคำนวณมูลค่าของหลักประกันต้องคำนึงถึงสิทธิและภาระผูกพันใด ๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยบทกฎหมายหรือโดยสัญญาที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันนั้นด้วย และต้องจัดทำขึ้นไม่เกินกว่าหนึ่งปีก่อนวันที่ออกหุ้นกู้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่ราคาหรือมูลค่าของหลักประกันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจัดให้มีการประเมินค่าหลักประกันดังกล่าวใหม่

ข้อ 18 ในการลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้ สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องตรวจสอบความถูกต้องของการโอนหุ้นกู้ให้เป็นไปตามข้อจำกัดการโอนหุ้นกู้ที่ได้จดทะเบียนไว้กับสำนักงาน โดยหากพบว่าเป็นการโอนที่ขัดต่อข้อจำกัดการโอนดังกล่าว สถาบันการเงินต้องไม่ลงทะเบียนการโอนหุ้นกู้ เว้นแต่เป็นการโอนทางมรดก ทั้งนี้ ในกรณีที่การขอลงทะเบียนโอนหุ้นกู้กระทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ สถาบันการเงินสามารถใช้ข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบจากบริษัทหลักทรัพย์แล้วว่า ผู้รับโอนหุ้นกู้เป็นผู้ลงทุนตามข้อ 11 เป็นหลักฐานในการลงทะเบียนการโอนก็ได้ในกรณีที่สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจัดให้มีนายทะเบียนหุ้นกู้ สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการให้นายทะเบียนหุ้นกู้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในวรรคหนึ่งด้วย

ข้อ 19 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมด หรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้น สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องไม่เป็นบุคคลภายในของบริษัทที่ออกหุ้นอ้างอิงนั้น

เพื่อประโยชน์ในการรักษาความเป็นธรรมและระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ให้สำนักงานมีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะของหุ้นที่จะนำมาใช้เป็นปัจจัยอ้างอิงสำหรับการออกและเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อาจมีการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนโดยส่งมอบเป็นหุ้นได้

สำนักงานสามารถผ่อนผันข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งได้ เมื่อไม่มีเหตุให้สงสัยว่าการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่อนุญาตจะมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุน และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) หุ้นกู้อนุพันธ์ที่ได้รับอนุญาตมีข้อกำหนดให้มีการชำระหนี้ทั้งหมดโดยการส่งมอบเป็นหุ้นอ้างอิงหรือชำระเป็นเงินเท่านั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่จะชำระเป็นเงิน มูลค่าที่ชำระต้องไม่อ้างอิงกับหุ้นอ้างอิงดังกล่าว

(2) สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตแสดงได้ว่ามีหุ้นอ้างอิงในจำนวนที่เพียงพอสำหรับส่งมอบเพื่อชำระหนี้ตามหุ้นกู้อนุพันธ์ และมีกลไกในการดูแลรักษาหุ้นอ้างอิงดังกล่าว โดยกลไกนั้นจะต้องสามารถป้องกันมิให้มีการนำหุ้นอ้างอิงไปใช้เพื่อการอื่นได้

ข้อ 20 ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ที่เข้าลักษณะยกเว้นตามข้อ 10(3) ห้ามมิให้สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์ดังกล่าวแก่ผู้ลงทุนตามข้อ 11(2) เว้นแต่สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตได้ตรวจสอบแล้วว่าผู้ลงทุนดังกล่าวมีภาระสอดคล้องกับหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น

เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง คำว่า “ภาระสอดคล้อง” หมายความว่า การมีความเสี่ยงที่เกิดจากข้อตกลงหรือการประกอบธุรกิจ ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับปัจจัยอ้างอิงของหุ้นกู้อนุพันธ์และสามารถบริหารความเสี่ยงนั้นได้ด้วยการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์

ข้อ 21 สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้มีการแจกเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้ (fact sheet) ไปพร้อมกับการเสนอขายหุ้นกู้ด้วย

สรุปข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้ตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องแสดงถึงสาระสำคัญของหุ้นกู้ รวมทั้งลักษณะพิเศษและความเสี่ยงที่สำคัญของหุ้นกู้ โดยสำนักงานอาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสรุปข้อมูลสำคัญของหุ้นกู้ดังกล่าวด้วยก็ได้

ข้อ 22 สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตต้องจัดให้การชักชวน แนะนำ หรือขายหุ้นกู้ ต้องกระทำโดยบริษัทหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์หรือการค้าหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน ทั้งนี้ ตามแต่ลักษณะของการเสนอขาย โดยต้องจัดให้มี ข้อตกลงให้บริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าวปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ โดยอนุโลมด้วย

สถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตจะไม่จัดให้การเสนอขายหุ้นกู้กระทำโดยบริษัทหลักทรัพย์ตามวรรคหนึ่งก็ได้ หากสถาบันการเงินมีสถานะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ตามประเภทที่กำหนดในวรรคหนึ่งอยู่แล้ว และให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์หรือการค้าหลักทรัพย์ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม แต่มิให้นำข้อห้ามเกี่ยวกับการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ที่จัดจำหน่ายหรือหลักทรัพย์อ้างอิงตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ มาใช้บังคับกับบริษัทหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน สำหรับการซื้อขายหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นอ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับหุ้นกู้อนุพันธ์นั้น

ให้นำความในข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 8/1 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 29/2551 เรื่อง การจอง การจัดจำหน่าย และการจัดสรรหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ ลงวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มาใช้บังคับกับสถาบันการเงินที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้ตามประกาศนี้ โดยอนุโลม ทั้งนี้ ไม่ว่าการเสนอขายหุ้นกู้นั้นจะกระทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม

หมวด 3

การยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

___________________

ส่วนที่ 1

วิธีการยื่น และค่าธรรมเนียม

___________________

ข้อ 23 ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้อนุพันธ์หรือหุ้นกู้ที่ผู้ถือหุ้นกู้มีภาระผูกพัน ให้สถาบันการเงินยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามแบบ 69-SP ที่แนบท้ายประกาศนี้ และร่างหนังสือชี้ชวนตามแบบที่กำหนดตามมาตรา 72 ต่อสำนักงาน โดยให้สถาบันการเงินดำเนินการดังนี้

(1) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงานในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์จำนวนหนึ่งชุด รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการข้อมูลจำนวนหนึ่งชุด

(2) ส่งข้อมูลในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบการรับส่งข้อมูลตามที่กำหนดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน

ข้อมูลที่สถาบันการเงินยื่นต่อสำนักงานทั้งในรูปเอกสารสิ่งพิมพ์และข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความถูกต้องตรงกัน

ข้อ 24 งบการเงินของสถาบันการเงินที่เปิดเผยในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ประกาศกำหนดตามมาตรา 56 โดยอนุโลม

ข้อ 25 ให้สถาบันการเงินชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล การจดทะเบียน และการยื่นคำขอต่าง ๆ ในวันที่ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล

ส่วนที่ 2

การรับรองข้อมูล

___________________

ข้อ 26 แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นต่อสำนักงานต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันหรือกรรมการที่มีตำแหน่งบริหารสูงสุดที่ได้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันของสถาบันการเงินลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล

ในกรณีที่สถาบันการเงินเป็นธนาคารต่างประเทศซึ่งมีสาขาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นซึ่งเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน ให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศหรือสถาบันการเงินดังกล่าวลงลายมือชื่อ

ข้อ 27 ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บุคคลที่ต้องลงนามตามที่กำหนดในข้อ 26 ไม่สามารถลงลายมือชื่อรับรองได้ ให้สถาบันการเงินปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน

(1) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากการที่บุคคลดังกล่าวอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต สถาบันการเงินไม่จำต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อในแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน

(2) หากเหตุที่ทำให้บุคคลดังกล่าวคนใดไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ เกิดจากกรณีอื่นนอกจากที่ระบุใน (1) เมื่อเหตุดังกล่าวหมดสิ้นไป ให้สถาบันการเงินจัดให้บุคคลดังกล่าวลงลายมือชื่อทันที เพื่อให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับได้ตามข้อ 28

ส่วนที่ 3

วันมีผลใช้บังคับของแบบแสดงรายการข้อมูล

และร่างหนังสือชี้ชวน

___________________

ข้อ 28 ภายใต้บังคับมาตรา 75 ให้แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับในวันทำการที่สองถัดจากวันที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งหลังสุดและมีข้อมูลตามรายการครบถ้วน และได้ชำระค่าธรรมเนียมการยื่นแบบ แสดงรายการข้อมูลครบถ้วนแล้ว

ในกรณีที่สำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนตามวรรคหนึ่งภายหลังเวลา 10.00 น. ของวันทำการใด ให้ถือว่าสำนักงานได้รับแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนในวันทำการถัดไป

ประกาศ ณ วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ