กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน (ฉบับที่ 2)

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 18, 2013 11:51 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สอ. 8 /2556

เรื่อง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน

(ฉบับที่ 2)

โดยที่สำนักงานมีความจำเป็นต้องปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการของสำนักงานให้สะดวก รวดเร็ว และมีความสอดคล้องกับทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้นสำนักงานจึงออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “ตลาดหลักทรัพย์” ในข้อ 3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 6 และข้อ 7 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 6 ข้อพิพาทที่ผู้ร้องจะเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกร้องไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(2) เป็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องแต่ละรายเรียกร้องค่าเสียหายไม่เกินหนึ่งล้านบาท

(3) ในกรณีเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการให้บริการทางด้านหลักทรัพย์ หรือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกฎเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ข้อพิพาทที่ผู้ร้องจะเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้ร้องรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งข้อพิพาทนั้น แต่ทั้งนี้ ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันเกิดเหตุที่ใช้เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องสิทธิเว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร

(ข) เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ตกลงรับ เข้ารับ หรือใช้บริการ หรือเข้าทำสัญญา กับผู้ถูกร้องเกี่ยวกับหลักทรัพย์หรือธุรกิจหลักทรัพย์ หรือเป็นข้อพิพาทระหว่างสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับผู้ถูกร้อง โดยผู้ร้องต้องแสดงหลักฐานเป็นหนังสือหรือข้อสัญญาที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องตกลงยินยอมให้มีการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน

(ค) เป็นข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ยื่นข้อร้องเรียนผ่านระบบการรับข้อร้องเรียนตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เกี่ยวกับการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า แล้วแต่กรณีแล้ว และปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ผู้ร้องไม่ได้รับการติดต่อจากผู้มีหน้าที่แก้ไขข้อร้องเรียนตามที่ประกาศดังกล่าวกำหนดภายใน

สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน

2. ผู้ร้องไม่ได้รับการแก้ไขข้อร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นข้อร้องเรียน

เว้นแต่ผู้ร้องตกลงขยายระยะเวลาดังกล่าว

3. ผู้ร้องเห็นว่าการแก้ไขข้อร้องเรียนเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม และแสดงได้ว่าได้มีการสงวนสิทธิ

ว่าอาจนำเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ

ข้อ 7 ในการเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงาน ให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามแบบ อญ. 1 ที่สำนักงานกำหนด พร้อมแนบเอกสารหลักฐานประกอบตามที่ระบุในแบบดังกล่าว และสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทในจำนวนที่เพียงพอเพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (1) ของข้อ 9 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(1) ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องถูกต้องครบถ้วนตามข้อ 7 และได้วางเงินประกันค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 32 และค่าตอบแทนในการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการตามข้อ 34 ครบถ้วนแล้ว สำนักงานจะลงทะเบียนรับคำร้องเสนอข้อพิพาทและส่งสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทดังกล่าวไปยังผู้ถูกร้อง ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำร้องเสนอข้อพิพาทโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 10 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 10 เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทแล้ว อาจยื่นคำคัดค้านข้อพิพาทตามแบบ อญ. 3 ที่สำนักงานกำหนด ต่อสำนักงานพร้อมแนบสำเนาคำคัดค้านข้อพิพาทในจำนวนที่เพียงพอที่จะส่งให้แก่ผู้ร้องภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาท โดยให้ผู้ถูกร้องวางเงินประกันค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 32 และค่าตอบแทนในการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการตามข้อ 34 มาพร้อมกับการยื่นคำคัดค้าน หรือภายในวันสุดท้ายที่ยื่นคำคัดค้านได้เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากสำนักงานได้รับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่ผู้ถูกร้องได้ยื่นคำคัดค้านข้อพิพาทถูกต้องครบถ้วนตามแบบ อญ. 3 และได้วางเงินประกันค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 32 และค่าตอบแทนในการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการตามข้อ 34 ครบถ้วนแล้ว สำนักงานจะลงทะเบียนรับคำคัดค้านข้อพิพาท และส่งสำเนาคำคัดค้านข้อพิพาทดังกล่าวไปยังผู้ร้องตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำร้องเสนอข้อพิพาทโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

(2) ในกรณีที่คำคัดค้านข้อพิพาทไม่เป็นไปตามแบบ อญ. 3 หรือไม่ครบถ้วน หรือไม่ชัดเจน ให้ผู้ถูกร้องแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกหมวด 3 การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อ 12 และข้อ 13 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 14 และข้อ 15 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 14 ในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ให้มีอนุญาโตตุลาการจำนวนหนึ่งคนเป็นผู้ชี้ขาด โดยให้คู่กรณีเลือกรายชื่ออนุญาโตตุลาการจากทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ เว้นแต่กรณีที่มีผู้ร้องหลายรายร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาท ผู้ร้องอาจดำเนินการตามข้อ 15 ก็ได้

(1) ให้ผู้ร้องเลือกรายชื่ออนุญาโตตุลาการโดยเรียงลำดับตามความพอใจสามลำดับ และแจ้งรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาท หากผู้ร้องไม่แจ้งรายชื่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไปและสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร

(2) เมื่อสำนักงานจัดส่งรายชื่ออนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องเลือกไว้สามชื่อให้แก่ผู้ถูกร้องแล้ว ให้ผู้ถูกร้องเลือกอนุญาโตตุลาการจากรายชื่อดังกล่าวโดยให้จัดลำดับรายชื่อตามความพอใจสามลำดับและแจ้งต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องได้รับรายชื่อนั้นโดยให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์จะตั้งอนุญาโตตุลาการในรายชื่อลำดับที่หนึ่งเป็นอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ หากผู้ถูกร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์จะตั้งอนุญาโตตุลาการตามลำดับรายชื่อที่ผู้ร้องเลือกไว้

(3) ในกรณีที่ผู้ถูกร้องประสงค์จะคัดค้านรายชื่อทั้งสามที่ผู้ร้องเลือกไว้เนื่องจากมีเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นอิสระหรือความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการนั้น ให้ผู้ถูกร้องยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการพร้อมด้วยเหตุผลของการคัดค้านตามแบบ อญ. 6 ที่สำนักงานกำหนดต่อสำนักงานภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้ถูกร้องได้รับรายชื่อนั้น และให้สำนักงานดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าการคัดค้านดังกล่าวมีเหตุที่อาจกล่าวอ้างได้ให้สำนักงานดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) โดยอนุโลมจนกว่าจะไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการจากรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานได้

(ข) ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าการคัดค้านดังกล่าวไม่มีเหตุที่อาจกล่าวอ้างได้ให้แจ้งให้ผู้ถูกร้องจัดลำดับรายชื่ออนุญาโตตุลาการตามความพอใจจากลำดับรายชื่อที่ผู้ร้องเลือกไว้ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งการไม่มีเหตุคัดค้านให้ผู้ถูกร้องทราบ และหากผู้ถูกร้องไม่แจ้งผลการจัดลำดับรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์จะตั้งอนุญาโตตุลาการตามลำดับรายชื่อที่ผู้ร้องเลือกไว้

(4) ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีได้เลือกไว้แล้วไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ถือว่าคู่กรณีประสงค์จะตั้งอนุญาโตตุลาการตามลำดับรายชื่อที่ผู้ถูกร้องจัดลำดับไว้ถัดไป ทั้งนี้ ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีได้เลือกไว้ทั้งสามลำดับไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) อีกครั้งจนกว่าจะไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการจากรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานได้ในกรณีที่คู่กรณีไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการจากทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานได้ หรือไม่สามารถเลือกอนุญาโตตุลาการให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำร้องเสนอข้อพิพาทที่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การรับข้อพิพาท ให้ถือว่าคู่กรณีไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป และสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร

ข้อ 15 ในกรณีที่มีผู้ร้องหลายรายร่วมกันยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทตามข้อ 8 และมีการเรียกร้องค่าเสียหายรวมกันเกินกว่าหนึ่งล้านบาท ผู้ร้องอาจแสดงความประสงค์ให้มีคณะอนุญาโตตุลาการที่ประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนได้ โดยให้แสดงความประสงค์เช่นนั้นมาในคำร้องเสนอข้อพิพาท และผู้ถูกร้องอาจแสดงเจตนาว่าตกลงจะมีอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคนหรือไม่ มาในคำคัดค้านตามข้อ 10

ในกรณีที่คู่กรณีตกลงกันให้มีคณะอนุญาโตตุลาการที่ประกอบด้วยอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคน ให้คู่กรณีเลือกอนุญาโตตุลาการจากทะเบียนรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

(1) ให้ผู้ร้องเลือกอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนโดยแจ้งรายชื่อให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำคัดค้านของผู้ถูกร้อง หากผู้ร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป และสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร

(2) ให้ผู้ถูกร้องเลือกอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนโดยแจ้งรายชื่อให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำคัดค้าน หากผู้ถูกร้องไม่แจ้งรายชื่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สำนักงานจะเป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการให้ผู้ถูกร้องแทน

(3) ให้อนุญาโตตุลาการที่ได้รับเลือกตามวรรคสอง (1) และ (2) ร่วมกันเลือกอนุญาโตตุลาการอีกหนึ่งคนเพื่อทำหน้าที่เป็นประธานอนุญาโตตุลาการ หากผู้ถูกร้องปฏิเสธการมีอนุญาโตตุลาการจำนวนสามคน หรือผู้ถูกร้องไม่แสดงเจตนาว่าตกลงจะมีอนุญาโตตุลาการสามคนหรือไม่ภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าผู้ถูกร้องประสงค์จะมีอนุญาโตตุลาการจำนวนหนึ่งคน และให้ผู้ร้องเลือกรายชื่ออนุญาโตตุลาการโดยเรียงลำดับตามความพอใจสามลำดับ และแจ้งรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานทราบเป็นหนังสือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานแจ้งให้ผู้ร้องทราบถึงการปฏิเสธ หรือการไม่แสดงเจตนาของผู้ถูกร้อง หากผู้ร้องไม่แจ้งรายชื่อภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป และสำนักงานจะยุติการดำเนินการสำหรับคำร้องเสนอข้อพิพาทนั้น เว้นแต่สำนักงานเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการที่ได้รับเลือกไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้นำความในข้อ 14 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ข้อ 7 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 29 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

“ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้เป็นดุลยพินิจของอนุญาโตตุลาการที่จะขยายระยะเวลาออกไปได้อีกตามสมควร”

ข้อ 8 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 30 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 30 ในกรณีที่อนุญาโตตุลาการมิได้ชี้ขาดในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญใดคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อให้อนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเพิ่มเติมในประเด็นนั้น โดยยื่นผ่านสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คู่กรณีฝ่ายนั้นได้รับสำเนาคำชี้ขาดทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นให้เป็นดุลยพินิจของอนุญาโตตุลาการที่จะขยายระยะเวลาออกไปได้อีก ตามสมควร”

ข้อ 9 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 32 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 32 ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการให้คิดในอัตราร้อยละสองของค่าเสียหายที่เรียกร้อง ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาท โดยอนุญาโตตุลาการจะกำหนดผู้มีหน้าที่ในการชำระค่าป่วยการดังกล่าว”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในข้อ 33 และข้อ 34 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 33 หากผู้ร้องไม่วางเงินประกันค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าตอบแทนในการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดในข้อ 9(1) ให้ถือว่าผู้ร้องไม่ประสงค์จะดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการต่อไป

ข้อ 34 อนุญาโตตุลาการที่ได้รับการแต่งตั้งจากคู่กรณีให้เป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการพิจารณาข้อพิพาทหนึ่งหมื่นบาทต่อข้อพิพาท โดยให้คู่กรณีรับภาระฝ่ายละกึ่งหนึ่ง”

ข้อ 11 ให้ยกเลิกความในข้อ 36 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 36 ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ ให้คู่กรณีรับภาระฝ่ายละกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งนี้ สำนักงานจะรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ร้องตามที่สำนักงานเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง สำนักงานจะถือว่ากระบวนการอนุญาโตตุลาการเริ่มตั้งแต่วันแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ”

ข้อ 12 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 8 การผ่อนผันระยะเวลา และข้อ 37 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 “หมวด 8

การผ่อนผันระยะเวลา

_________________

ข้อ 37 ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรที่ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องไม่อาจดำเนินการดังต่อไปนี้ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาต่อสำนักงานก่อนสิ้นสุดระยะเวลาดังกล่าว และให้สำนักงานมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาได้ตามสมควร

(1) การแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องเสนอข้อพิพาทตามข้อ 9(3) หรือคำคัดค้านข้อพิพาทตามข้อ 10 วรรคสอง (2) ก่อนการเริ่มกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการตามหมวด 5

(2) การยื่นคำคัดค้านข้อพิพาทตามข้อ 10

(3) การแจ้งและการคัดค้านรายชื่ออนุญาโตตุลาการ และการเลือกอนุญาโตตุลาการตามข้อ 14 และข้อ 15

(4) การคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการตามข้อ 18”

ข้อ 13 ค่าตอบแทนในการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการสำหรับข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ สำนักงานจะยังคงรับภาระค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ร้องและผู้ถูกร้องตั้งแต่เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการจนกระทั่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดลงเมื่อมีคำชี้ขาดเสร็จเด็ดขาด หรืออนุญาโตตุลาการมีคำสั่งให้ยุติกระบวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน ลงวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้

ข้อ 14 สำหรับข้อพิพาทที่ผู้ร้องได้ยื่นข้อร้องเรียนผ่านระบบการรับข้อร้องเรียนตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า แล้วแต่กรณีแล้วและปรากฏว่าผู้ร้องไม่ได้รับการแก้ไขข้อร้องเรียนให้เป็นที่พอใจ ก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ใช้ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะเงื่อนไขของข้อพิพาทที่ผู้ร้องจะเสนอเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสำนักงานได้ ตามหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับต่อไปได้ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้แก้ไขตามข้อ 2 ของประกาศนี้

ข้อ 15 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ