การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 13)

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 5, 2013 14:22 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 14/2556

เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล

(ฉบับที่ 13)

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 118(1) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 4 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และข้อ 19(6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสองของข้อ 16/7 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 14/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

“การแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) ครอบคลุมถึงกรณีที่มีการกำหนดสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนตามสกุลเงินที่แตกต่างกันอันเนื่องมาจากการชำระค่าขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ถือหน่วยลงทุน การจ่ายเงินปันผลหรือการให้สิทธิและผลประโยชน์อื่นใดในหน่วยลงทุน”

ข้อ 2 ให้ยกเลิกความในข้อ 16/8 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 22/2552 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 14/2553 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 16/8 บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องกำหนดการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามข้อ 16/7 ไว้อย่างชัดเจนในโครงการ ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดไว้ในโครงการในการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อกำหนดการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนเพิ่มเติมได้ แต่การกำหนดดังกล่าวจะต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนเดิม

การกำหนดการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) ชนิดหน่วยลงทุนที่แบ่ง

(2) สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด รวมทั้งวิธีการคำนวณและการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนโดยละเอียด (ถ้ามี)

(3) การขอมติผู้ถือหน่วยลงทุนในเรื่องต่าง ๆ ในแต่ละชนิดหน่วยลงทุน

(4) ข้อจำกัดในการเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนในหน่วยลงทุนระหว่างหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (ถ้ามี)

(5) การจัดสรรรายได้ รายจ่าย รวมทั้งผลกำไรและขาดทุน ที่เกิดจากการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินใด ๆ แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิดไว้อย่างชัดเจน (ถ้ามี)

(6) ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่จะเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนแต่ละชนิด (ถ้ามี) โดยการกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจะต้องมีความสอดคล้องกับหน่วยลงทุนแต่ละชนิดด้วย

(7) วิธีการคำนวณและการประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของหน่วยลงทุนแต่ละชนิด รวมทั้งสิทธิและส่วนได้เสียของหน่วยลงทุนแต่ละชนิดในมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (ถ้ามี)”

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ