การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 17, 2013 17:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทธ. 25/2556

เรื่อง การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 100 วรรคสอง มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และข้อ 16 วรรคหนึ่ง (6) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 และข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวงการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุนหรือการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ และผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

“บริษัทในเครือ” หมายความว่า บริษัทที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจ โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นระหว่างกันไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น

(2) บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจด้วยการมีอำนาจควบคุมระหว่างกัน

(3) บริษัทที่มีผู้มีอำนาจควบคุมกิจการเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีอำนาจควบคุมกิจการของผู้ประกอบธุรกิจ

“อำนาจควบคุมกิจการ” หมายความว่า อำนาจควบคุมกิจการตามบทนิยามคำว่า “อำนาจควบคุมกิจการ” ที่กำหนดในมาตรา 89/1 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

“ธุรกิจทางการเงิน” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือบริษัทประกันชีวิต ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายต่างประเทศ

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“ผู้บริหาร” หมายความว่า ผู้บริหารตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอย่างอื่นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการและผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับกับการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยสามารถให้บุคคลอื่น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น สถาบันการเงิน หรือบริษัทในเครือที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งมีความพร้อมในด้านบุคลากรและระบบงานที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะรับดำเนินการ เป็นผู้รับดำเนินการภายใต้ขอบเขตของงานและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้

ข้อ 4 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น

ข้อ 5 ในการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) การให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ ให้ปฏิบัติตามหมวด 1

(2) การให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ให้ปฏิบัติตามหมวด 2

(3) การให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานอื่นนอกเหนือจาก (1) หรือ (2) และมิได้มีลักษณะดังต่อไปนี้ ให้สามารถทำได้ตามความจำเป็นของผู้ประกอบธุรกิจ

(ก) เป็นการตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนหรือนายหน้าของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือ

(ข) เป็นการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในเรื่องที่มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามประกาศอื่นอยู่แล้ว

หมวด 1

การให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ

ข้อ 6 การให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานของผู้ประกอบธุรกิจ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจมีประสิทธิภาพและต้องไม่มีผลเสมือนเป็นการไม่ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(1) มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ

(2) มีมาตรการรองรับให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องในกรณีที่ผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

(3) งานที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นดำเนินการได้ ต้องไม่ใช่งานที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือเป็นเรื่องที่ตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการเองหรือต้องไม่ใช่งานที่มีข้อกำหนดไว้เป็นการเฉพาะตามประกาศอื่น

(4) ในกรณีที่การให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเป็นผู้รับดำเนินการเป็นงานเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ให้ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทการเป็นผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แล้วแต่กรณี เป็นผู้รับดำเนินการ โดยต้องระบุรายละเอียดของการดำเนินการดังกล่าวอย่างชัดเจนไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม หรือต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน แล้วแต่กรณี

(ข) จัดให้มีการรายงานการควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นไว้ในรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี (annual compliance report)

หมวด 2

การให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงาน

ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ

ข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจอาจให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ประเภทของงานและลักษณะของบุคคลที่จะเป็นผู้รับดำเนินการต้องเป็นไปตามที่กำหนดในส่วนที่ 1

(2) ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตามที่กำหนดในส่วนที่ 2 เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะให้ดำเนินการได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต

(3) ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามที่กำหนดในส่วนที่ 3

ส่วนที่ 1

ประเภทของงานและลักษณะของบุคคลที่จะเป็นผู้รับดำเนินการ

ข้อ 8 งานที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามหมวดนี้ ได้แก่งานดังต่อไปนี้

(1) งานจัดการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของลูกค้า

(2) งานบริหารความเสี่ยง

(3) งานตรวจสอบและควบคุมภายใน

(4) งานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน

(5) งานจัดระบบและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

(6) งานที่มีลักษณะในการรวบรวม เรียบเรียง หรือแยกแยะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า

(7) งานจัดทำทะเบียนของลูกค้า

(8) งานปฏิบัติการภายหลังการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

(9) งานปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการลงทุนของกองทุน

(10) งานการลงทุนในต่างประเทศของกองทุน

(11) งานอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับงานตาม (1) ถึง (9) .

ข้อ 9 งานตามข้อ 8 ที่ต้องให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นตามที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะเป็นผู้รับดำเนินการ ได้แก่งานดังต่อไปนี้

(1) งานบริหารความเสี่ยงและงานกำกับดูแลการปฏิบัติงาน ต้องให้บริษัทในเครือเป็นผู้รับดำเนินการ

(2) งานตรวจสอบและควบคุมภายใน ต้องให้บริษัทในเครือหรือสำนักงานสอบบัญชีเป็นผู้รับดำเนินการ

(3) งานปฏิบัติการเพื่อสนับสนุนการลงทุนของกองทุน ต้องให้บริษัทในเครือหรือสถาบันการเงินเป็นผู้รับดำเนินการ

(4) งานที่มีลักษณะตามข้อ 8(6) ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและการเงินของลูกค้าต้องให้บริษัทในเครือหรือสำนักงานสอบบัญชีเป็นผู้รับดำเนินการ

(5) งานการลงทุนในต่างประเทศของกองทุน ต้องให้บุคคลที่เป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 11 เป็นผู้รับดำเนินการ ทั้งนี้ การให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้รับดำเนินการต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อช่วยให้การประกอบธุรกิจมีประสิทธิภาพและต้องไม่มีผลเสมือนเป็นการไม่ประกอบธุรกิจ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(ก) ระบุรายละเอียดของการดำเนินการดังกล่าวอย่างชัดเจนไว้ในรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม หรือต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือที่เป็นกองทุนส่วนบุคคลอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน แล้วแต่กรณี

(ข) มีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ

(ค) มีการรายงานการควบคุมดูแลบุคคลอื่นที่เป็นผู้รับดำเนินการไว้ในรายงานการกำกับดูแลการปฏิบัติงานประจำปี (annual compliance report)

ส่วนที่ 2

การอนุญาตให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ

ในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ

ข้อ 10 ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นผู้รับดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตตามข้อ 12

(1) สถาบันการเงิน หรือบริษัทในเครือของผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบุคคลใดบุคคลหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) สำนักงานหรือธนาคารแห่งประเทศไทย

(ข) หน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) หรือหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือกับสำนักงานในระดับไม่น้อยกว่าความช่วยเหลือที่กำหนดตาม MMOU และหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานได้ตามบันทึกความเข้าใจนั้น ทั้งนี้ การให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ลงทุนตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของประเทศที่หน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวตั้งอยู่ต้องไม่ด้อยกว่าหลักเกณฑ์ของสำนักงาน

(ค) ธนาคารกลางที่เป็นสมาชิกของ Bank for International Settlement (BIS)

(2) สำนักงานสอบบัญชีที่มีผู้สอบบัญชีในสังกัดเป็นบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานให้เป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ทั้งนี้ เฉพาะการเป็นผู้รับดำเนินการในงานการตรวจสอบและควบคุมภายใน หรืองานที่เกี่ยวข้องกับบัญชีและการเงินของลูกค้า

(3) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นและถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบห้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทนั้น

(4) นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจาก (1) (2) หรือ (3) ที่มีประสบการณ์ในการทำงานไม่น้อยกว่าห้าปีในงานที่จะรับดำเนินการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ การนับประสบการณ์ในการทำงานของผู้รับดำเนินการดังกล่าว อาจนับประสบการณ์การทำงานต่อเนื่องจากประสบการณ์ของกิจการอื่นได้ หากนิติบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับกิจการอื่นในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(ก) กรรมการและผู้บริหารของนิติบุคคลดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับกรรมการและผู้บริหารของกิจการอื่น

(ข) นิติบุคคลดังกล่าวเกิดจากการควบเข้ากันของกิจการอื่นหรือปรับโครงสร้างทางธุรกิจของกิจการอื่น

(ค) นิติบุคคลดังกล่าวได้รวมเอาธุรกิจของกิจการอื่นมาเป็นธุรกิจของนิติบุคคลนั้น

(ง) นิติบุคคลดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับกิจการอื่นในลักษณะที่สามารถนำประสบการณ์ของกิจการอื่นมาใช้ในการประกอบธุรกิจของตนได้

ข้อ 11 ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บุคคลต่างประเทศทำการลงทุนในต่างประเทศเพื่อกองทุนภายใต้การจัดการของผู้ประกอบธุรกิจได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตตามข้อ 12 หากบุคคลนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) สามารถประกอบธุรกิจการจัดการลงทุนได้โดยชอบด้วยกฎหมายของประเทศที่บุคคลต่างประเทศนั้นประกอบธุรกิจอยู่

(2) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลตามข้อ 10(1)(ข) (3) เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงาน

ข้อ 12 นอกเหนือจากกรณีตามข้อ 10 และข้อ 11 ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตาม ข้อ 8(1) ถึง (9) และ (11) ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก่อนการมอบหมายให้ดำเนินการดังกล่าว โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามแบบที่จัดไว้บนเว็บไซต์ของสำนักงาน พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ให้สำนักงานพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณาคำขอดังกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วน

ข้อ 13 ผู้ประกอบธุรกิจที่ยื่นคำขออนุญาตตามข้อ 12 จะได้รับอนุญาตต่อเมื่อผู้รับดำเนินการมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) มีความพร้อมในด้านบุคลากรและระบบงานในการดำเนินงานอย่างเพียงพอที่จะทำให้งานของผู้ประกอบธุรกิจยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบ วิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยต้องมีระบบที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(ก) ระบบการบริหารความเสี่ยง

(ข) ระบบการควบคุมภายใน

(ค) ระบบการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันมิให้บุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง ล่วงรู้ หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล รวมทั้งเพื่อป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลอันมิพึงเปิดเผยระหว่างหน่วยงานและบุคลากร

(ง) ระบบการรองรับเหตุฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนและผู้รับผิดชอบในแต่ละกรณีไว้อย่างชัดเจน

(2) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือมีพฤติการณ์อื่นที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน

(3) ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ

ส่วนที่ 3

เงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติ

ข้อ 14 ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตงานที่ให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นตามข้อ 10 รับดำเนินการต่อสำนักงาน โดยต้องแจ้งล่วงหน้าภายในสิบห้าวัน ก่อนวันเริ่มการดำเนินงานดังกล่าว

ข้อ 15 ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติและดูแลให้บุคลากรของตนปฏิบัติตามนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติดังกล่าวด้วย

(1) มีการกำหนดนโยบายในเรื่องดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยตามที่กำหนดในข้อ 18

(2) มีมาตรการรองรับที่ทำให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่ผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้

(3) มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง

(4) มีการพิจารณาด้วยความรอบคอบและระมัดระวังเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในการคัดเลือกผู้รับดำเนินการ

ข้อ 16 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร โดยสัญญาดังกล่าวต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับดำเนินการ ซึ่งรวมถึงความรับผิดต่อผู้ประกอบธุรกิจอันเนื่องมาจากการกระทำหรือการละเลยการปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของผู้รับดำเนินการ

(2) ให้ผู้รับดำเนินการยินยอมให้สำนักงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับดำเนินการ เรียกดู หรือตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้

(3) เหตุ เงื่อนไข และวิธีการ ในการเลิกสัญญาหรือระงับการดำเนินการ

(4) ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่มีการเรียกเก็บ

ข้อ 17 ในกรณีที่สัญญาตามข้อ 16 เป็นสัญญาที่บริษัทในเครือของผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำสัญญากับผู้รับดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องมั่นใจได้ว่าสัญญาดังกล่าวจะรองรับ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ผู้รับดำเนินการมีต่อผู้ประกอบธุรกิจเช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ทำสัญญาด้วยตนเอง และผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) ดำเนินการให้บริษัทในเครือมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้รับดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายซึ่งผู้ประกอบธุรกิจกำหนดไว้ตามข้อ 18(2)

(2) ดำเนินการให้บริษัทในเครือกำหนดสาระสำคัญในสัญญาให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อ 16 และเพิ่มเติมข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้ไว้ในสัญญาด้วย

(ก) ให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้รับประโยชน์ในงานที่บุคคลอื่นจะดำเนินการให้

(ข) ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจากผู้รับดำเนินการได้

(ค) ให้ผู้รับดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบ วิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว

(3) ตรวจสอบความถูกต้องของสัญญาให้เป็นไปตาม (2) และจัดเก็บสำเนาสัญญาดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อ 19(3)

ข้อ 18 นโยบายการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการตามข้อ 15(1) ต้องระบุรายละเอียดและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ขอบเขตและลักษณะงานที่จะให้ดำเนินการ

(2) หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับดำเนินการซึ่งมีรายละเอียดของแนวทางการพิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) ฐานะทางการเงิน ซึ่งต้องกำหนดในลักษณะที่จะทำให้สามารถกลั่นกรองหรือคัดเลือกผู้รับดำเนินการ

ที่ไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีฐานะทางการเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีพฤติการณ์อื่น

ที่แสดงให้เห็นได้ว่าอยู่ในระหว่างประสบปัญหาทางการเงิน

(ข) ความสามารถและความพร้อมในการปฏิบัติงาน ซึ่งต้องกำหนดในลักษณะที่จะทำให้สามารถกลั่นกรอง

หรือคัดเลือกผู้รับดำเนินการที่มีระบบงานในการดำเนินการที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ

(ค) ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และชื่อเสียงในทางธุรกิจ

(ง) ความพร้อมของผู้รับดำเนินการในกรณีที่รับดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจหลายราย

(จ) ประวัติการถูกร้องเรียนหรือถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในเรื่องที่เกี่ยวกับงานที่จะให้ดำเนินการ

(ฉ) ความเกี่ยวข้องกับกรรมการหรือผู้บริหารของผู้ประกอบธุรกิจ

(3) หลักเกณฑ์การทบทวนและการเปลี่ยนตัวผู้รับดำเนินการ

(4) แนวทางการพิจารณาในกรณีที่ผู้รับดำเนินการจะให้บุคคลอื่นรับดำเนินการช่วงซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องดังต่อไปนี้

(ก) กำหนดให้บุคคลอื่นที่รับดำเนินการช่วงต้องเป็นบุคคลตามข้อ 10 หรือข้อ 11 หรือบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาต

จากสำนักงานตามข้อ 12

(ข) มีขั้นตอนการขออนุมัติจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

จากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจก่อนดำเนินการ

(5) แนวทางการประเมินความเสี่ยงที่เหมาะสมตามระดับความสำคัญของงานที่ให้ดำเนินการ

(6) ระบบรักษาความปลอดภัยของผู้รับดำเนินการในการดูแลรักษาข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้า

(7) มาตรการตรวจสอบดูแลให้ผู้รับดำเนินการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุน หรือสำนักงาน กำหนดเกี่ยวกับงานที่รับดำเนินการ รวมทั้งระเบียบวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยอย่างน้อยมาตรการดังกล่าวต้องสามารถควบคุมให้ผู้รับดำเนินการไม่มีลักษณะที่จะทำให้มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อบกพร่องหรือมีความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานอันดีของธุรกิจ

ข้อ 19 ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำกับดูแลการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ อย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีการติดตามและทบทวนความเหมาะสมของนโยบายและการดำเนินการของผู้รับดำเนินการเป็นประจำ โดยอย่างน้อยต้องทบทวนทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้รับดำเนินการ หรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ และต้องเปลี่ยนตัวผู้รับดำเนินการทันทีหากบุคคลดังกล่าวขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับดำเนินการอีกต่อไป

(2) จัดทำสรุปการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน เสนอต่อผู้บริหารสูงสุดที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ

(3) จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจไว้ให้ครบถ้วนและเป็นปัจจุบัน โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้สำนักงานเรียกดูหรือตรวจสอบได้โดยไม่ชักช้า

(4) จัดให้สำนักงานเข้าตรวจสอบการปฏิบัติงานของผู้รับดำเนินการได้ เมื่อสำนักงานร้องขอ

ข้อ 20 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานว่าผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ หรือบุคคลที่ประกอบกิจการอื่นซึ่งเป็นผู้รับดำเนินการไม่สามารถดำรงคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในประกาศนี้ หรือบุคคลดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นผู้รับดำเนินการ ให้สำนักงานแจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจรายนั้นแก้ไข กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการใด ๆ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศนี้ หรือสั่งระงับการให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการ

หมวด 3

บทเฉพาะกาล

ข้อ 21 ให้ถือว่าการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกับที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการโดยชอบอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เป็นการให้บุคคลที่ประกอบกิจการอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่กระทำได้โดยชอบตามประกาศนี้

ในกรณีที่นโยบายหรือสัญญาให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายหรือข้อสัญญาดังกล่าวให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

ประกาศ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ