การรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday July 10, 1998 18:18 —ประกาศ ก.ล.ต.

                        ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สจ. 34/2541
เรื่อง การรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของ
บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000
________________________________________________
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 57(6) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้และในแบบรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ที่กำหนดตามประกาศนี้
"ปัญหา ปี ค.ศ. 2000" หมายความว่า ปัญหาเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ที่อาจจะเกิดขึ้นใน ปี ค.ศ. 2000
"บริษัทย่อย" หมายความว่า
(1) บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(2) บริษัทที่บริษัทตาม (1) ถือหุ้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(3) บริษัทที่ถูกถือหุ้นต่อไปเป็นทอด ๆ โดยเริ่มจากการถือหุ้นของบริษัทตาม (2) ในบริษัทที่ถูกถือหุ้น โดยการถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวในแต่ละทอดมีจำนวนเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
(4) บริษัทที่ถูกถือหุ้นไม่ว่าโดยบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทตาม (1) (2) หรือ (3) รวมกันเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น
การถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ให้นับรวมถึงหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
"บริษัทร่วม" หมายความว่า บริษัทที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยถือหุ้นรวมกันตั้งแต่ร้อยละยี่สิบแต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทที่ถูกถือหุ้นนั้น ทั้งนี้ การถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทย่อยให้นับรวมถึงหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
"ผู้บริหาร" หมายความว่า กรรมการ ผู้จัดการ พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายขึ้นไปรวมทั้งบุคคลที่มีตำแหน่งซึ่งมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลดังกล่าวด้วย
"ผู้ที่เกี่ยวข้อง" หมายความว่า บุคคลหรือห้างหุ้นส่วนตามมาตรา 258 (1) ถึง (7) โดยอนุโลม
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 2 ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม เพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ต่อสำนักงาน โดยในการจัดทำรายงานในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ให้รายงานเฉพาะการเตรียมความพร้อมของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ธุรกิจของบริษัทดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
การส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้เริ่มจัดส่งครั้งแรกภายในหกสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของไตรมาสที่สองของปี พ.ศ. 2541 และสำหรับครั้งต่อไปให้จัดส่งพร้อมกับการจัดส่งงบการเงินรายไตรมาส เว้นแต่ในกรณีที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ประสงค์จะส่งงบการเงินประจำงวดการบัญชีต่อสำนักงานภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นสุดงวดการบัญชีโดยจะไม่จัดส่งงบการเงินประจำไตรมาสนั้น ให้บริษัทจัดส่งรายงานดังกล่าวมาพร้อมกับงบการเงินประจำงวดการบัญชี
ข้อ 3 ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์สิ้นสุดการส่งรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ต่อสำนักงานตามประกาศนี้ ต่อเมื่อ
(1) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้รายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ว่า บริษัทได้ประเมินผลว่าปัญหา ปี ค.ศ. 2000 จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม หรือมีผลกระทบที่ไม่มีนัยสำคัญเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนเงินไม่เกินร้อยละ 5 ของส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินหรืองบการเงินรวมของบริษัท แล้วแต่กรณี ณ วันสิ้นปีบัญชีล่าสุด หรือเป็นจำนวนเงินไม่เกินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
(2) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ได้รายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ว่า บริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม ได้ดำเนินการตามแผนงานที่เปิดเผยไว้ในการแก้ไขปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ครบถ้วนแล้ว(3) บริษัทที่ออกหลักทรัพย์สิ้นสุดหน้าที่ที่จะต้องจัดทำและส่งงบการเงินและรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทตามมาตรา 56 ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
ข้อ 4 ในกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควรทำให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่สามารถส่งหรือรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์เพื่อรองรับปัญหาปี ค.ศ. 2000 ต่อสำนักงานภายในระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศนี้ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อาจมีหนังสือขอผ่อนผันการส่งรายงานดังกล่าวต่อสำนักงานก่อนวันครบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อ 2 พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลในการขอผ่อนผันและแจ้งกำหนดระยะเวลาที่จะจัดส่งรายงานดังกล่าวนั้น
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2541
(นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
แบบ 57 (Y2K)
แบบรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000
บริษัท (ชื่อไทย/อังกฤษ ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์) ประกอบธุรกิจหลักประเภท
โดยมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ที่ โทรศัพท์ โทรสาร
ขอรายงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ครั้งที่ ข้อมูลสิ้นสุด ณ วันที่ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000
1. กรณีที่เป็นการรายงานครั้งแรก
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหาปี ค.ศ. 2000 โดยอย่างน้อยให้มีรายการดังต่อไปนี้
1.1 การวิเคราะห์และประเมินผลกระทบ
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อธิบายถึงแนวทางในการวิเคราะห์และประเมินผลของปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม รวมทั้งให้ระบุถึงขั้นตอนการวิเคราะห์ปัญหา ผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทยังไม่เริ่มทำการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ให้ระบุถึงสาเหตุที่ยังไม่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว รวมทั้งแนวทางและแผนการที่จะดำเนินการต่อไป
1.2 ผลกระทบของปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ต่อการดำเนินธุรกิจ
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อธิบายโดยสรุปถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม โดยให้อธิบายถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างน้อยในประเด็นดังต่อไปนี้
(ก) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบคอมพิวเตอร์และระบบการจัดการภายในองค์กรต่าง ๆ เช่น ระบบบัญชี ระบบปฏิบัติการ ระบบจัดการฐานข้อมูลหรือการจัดทำรายงาน และระบบงานประยุกต์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินงาน
(ข) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป ได้แก่ ระบบการผลิตและบริการ รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดต่อเนื่องจากเหตุดังกล่าว เช่น การที่อาจถูกฟ้องร้องเนื่องจากไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามจำนวนหรือภายในเวลาที่กำหนด เป็นต้น
(ค) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น ระบบงานที่มีการติดต่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม กับบุคคลภายนอก หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากผู้จำหน่ายวัตถุดิบรายใหญ่ ลูกค้ารายใหญ่ หรือลูกหนี้รายใหญ่ ได้รับความเสียหายจากปัญหา ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้น
ในการอธิบายผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อธิบายถึงรายละเอียดของผลกระทบ เช่น ลักษณะของผลกระทบ ระดับความร้ายแรงของปัญหา และความสามารถในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์จัดลำดับความสำคัญหรือความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ประเมินผลว่า ปัญหา ปี ค.ศ. 2000 จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม หรือมีผลกระทบที่ไม่มีนัยสำคัญเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนเงินไม่เกินร้อยละ 5 ของส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินหรืองบการเงินรวมของบริษัท แล้วแต่กรณี ณ วันสิ้นปีบัญชีล่าสุด หรือเป็นจำนวนเงินไม่เกินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า ให้เปิดเผยถึงเหตุผลของการประเมินดังกล่าวด้วย
1.3 แผนงานในการแก้ไขปัญหา
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อธิบายแผนงานในการแก้ไขปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม โดยให้ระบุถึงขั้นตอนการดำเนินการ ผู้รับผิดชอบในการแก้ไข และลำดับขั้นในการรายงานการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อผู้บริหารระดับสูงของบริษัท บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม แล้วแต่กรณี โดยให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์อธิบายถึงแผนงานอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) แนวทางและวิธีการในการแก้ไขปัญหา เช่น การซื้อหรือเปลี่ยนระบบใหม่เพื่อทดแทนระบบเดิม เป็นต้น พร้อมทั้งให้ระบุว่าบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ บริษัทย่อย และบริษัทร่วม จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองหรือจะว่าจ้างบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ในกรณีที่จะดำเนินการให้บริษัทผู้จำหน่ายอุปกรณ์ (vendor) เป็นผู้รับรองว่าระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่สำคัญต่อการดำเนินงานของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม สามารถรองรับปัญหาปี ค.ศ. 2000 ได้ ให้ระบุให้ชัดเจนด้วย
(ข) ขั้นตอนในการแก้ไขปัญหารวมทั้งระบบการตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานโดยเทียบกับแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ทั้งนี้ ให้ระบุกำหนดเวลาในการแก้ไขปัญหาแต่ละขั้นตอน และเวลาที่คาดว่าจะแก้ไขปัญหาทั้งหมดแล้วเสร็จ
(ค) กลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมทั้งจำนวนพนักงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน
(ง) ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะต้องใช้ในการดำเนินการแก้ไขในแต่ละขั้นตอน และค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดที่ต้องใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ หากมีค่าใช้จ่ายในรายการใดมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด ให้ระบุจำนวนเงิน ลักษณะ และประเภทของค่าใช้จ่ายดังกล่าวด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแก้ไขระบบโดยทีมงานภายในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ บริษัทย่อย และบริษัทร่วม ค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนระบบ เป็นต้น - 3 -
(จ) การดำเนินการแก้ไขปัญหาและการทดสอบระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่ควบคุมด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ หากมีระบบใดแก้ไขแล้วไม่สามารถทดสอบความพร้อมของระบบได้จนกว่าจะถึง ปี ค.ศ. 2000 ให้ระบุเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ ให้ระบุถึงแผนสำรองและการสำรองข้อมูลในกรณีที่แผนงานในการแก้ไขปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือแผนงานดังกล่าวไม่อาจแก้ไขปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ได้
1.4 การดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทในปัจจุบัน
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ระบุถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม ว่าอยู่ในขั้นตอนใดของแผนงานและการดำเนินการสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้วางไว้หรือไม่ อย่างไร มีการปรับเปลี่ยนแก้ไขแผนงานดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในแต่ละขั้นตอน
1.5 บทวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายบริหาร
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยความเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม โดยให้อธิบายว่าแนวทางในการเตรียมความพร้อมดังกล่าวจะดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนที่จะเกิดปัญหา ปี ค.ศ. 2000 ได้ทันเวลาหรือไม่ อย่างไร และหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในกำหนด ให้ระบุระบบงานที่อาจมีปัญหา ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และระดับความเสียหายหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ หากสามารถระบุความเสียหายเป็นจำนวนเงินได้ ให้ระบุด้วย
2. ในกรณีที่เป็นการรายงานครั้งต่อไป
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
2.1 การดำเนินการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมา
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม เพิ่มเติมจากการรายงานในครั้งก่อน โดยให้ระบุว่าการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในขั้นตอนใดของแผนงาน และให้อธิบายรายละเอียดของการดำเนินการ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และปัญหาที่พบ (ถ้ามี) รวมทั้งให้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานดังกล่าวกับแผนงานที่วางไว้ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ อย่างไร และในกรณีที่มีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนแผนงานที่ได้วางไว้ ให้ระบุสาเหตุและรายละเอียดของแผนงานที่ได้กำหนดขึ้นใหม่ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในเรื่องดังกล่าวด้วย - 4 -
2.2 บทวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายบริหาร
ให้บริษัทที่ออกหลักทรัพย์เปิดเผยความเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม ในช่วงที่ผ่านมาว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร มีปัญหาในการดำเนินการหรือไม่ พร้อมทั้งให้ความเห็นถึงความเป็นไปได้ที่บริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วมจะดำเนินการให้สำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนแผนงานที่ได้กำหนดไว้เดิมอย่างมีสาระสำคัญ ให้ผู้บริหารแสดงความเห็นต่อแผนงานใหม่ดังกล่าว
ทั้งนี้ ในกรณีที่การรายงานครั้งก่อนยังไม่ได้รายงานข้อมูลตามรายการที่กำหนดไว้ในข้อ 1.1 - 1.3 ให้อธิบายรายละเอียดตามรายการที่กำหนดไว้ข้างต้นให้ครบถ้วนด้วย
หมายเหตุ บริษัทย่อย และบริษัทร่วม หมายถึง บริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ธุรกิจของบริษัทดังกล่าว
มีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์
การรับรองความถูกต้องของข้อมูล
ให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทุกคนลงลายมือชื่อพร้อมทั้งประทับตราบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (ถ้ามี) ไว้ในแบบรายงานนี้เพื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูล พร้อมทั้งมอบอำนาจให้บุคคลใดลงนามกำกับเอกสารทุกหน้าในแบบรายงานนี้แทนด้วย เว้นแต่
(1) ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรทำให้กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่ออกหลักทรัพย์บางรายไม่สามารถลงลายมือชื่อขณะยื่นแบบรายงานนี้ต่อสำนักงานได้ เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวหมดสิ้นไป บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ต้องดำเนินการให้บุคคลนั้นลงลายมือชื่อทันที
(2) ในกรณีที่บริษัทที่ออกหลักทรัพย์แสดงให้สำนักงานเห็นได้ว่า กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทที่ออกหลักทรัพย์รายใดอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เนื่องจากเจ็บป่วยทางร่างกายหรือทางจิต บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ไม่จำต้องให้บุคคลนั้นลงลายมือชื่อในแบบรายงานนี้
ในการรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลและการมอบอำนาจให้บุคคลใดลงนามกำกับแทนตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้ข้อความและรูปแบบดังนี้" ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบข้อความและข้อมูลในแบบรายงานฉบับนี้แล้ว ขอรับรองว่าข้อความและข้อมูลดังกล่าวถูกต้องครบถ้วน ไม่เป็นเท็จ ไม่ทำให้ผู้อื่นสำคัญผิดหรือขาดข้อความที่ควรต้องแจ้งในสาระสำคัญอันอาจทำให้ผู้ถือหรือผู้เข้าซื้อหลักทรัพย์เสียหายในกรณีนี้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าเอกสารทั้งหมดเป็นเอกสารที่ข้าพเจ้าได้รับรองความถูกต้องที่เป็นชุดเดียวกัน ข้าพเจ้าได้มอบหมายให้ ……………… เป็นผู้ลงลายมือชื่อกำกับเอกสารนี้ไว้ทุกหน้าด้วย หากเอกสารใดไม่มีลายมือชื่อของ …………………… กำกับไว้ ข้าพเจ้าจะถือว่าไม่ใช่ข้อมูลที่ข้าพเจ้าได้รับรองความถูกต้องของข้อมูลไว้ ชื่อ ตำแหน่ง ลายมือชื่อ1. …………………. ……………………. ……………………….
2. ………………….. ……………………. ……………………….
3. ………………….. ……………………. ……………………….
………………….. ……………………. ……………………….
………………….. ……………………. ……………………….ชื่อ ตำแหน่ง ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจ
………. ……………………. ………………………."

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ