ที่ สน. 15 /2556
เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน
(ฉบับที่ 11)
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 129 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับข้อ 17 โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน และข้อ 19(2) และ (6) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 8/1 หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ข้อ 123/1 ข้อ 123/2 ข้อ 123/3 และข้อ 123/4 ของภาค 2 การจัดการกองทุนรวม แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สข/น. 23/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552
“หมวด 8/1
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม
ที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ข้อ 123/1 ความในหมวดนี้มิให้ใช้บังคับกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ข้อ 123/2 ในกรณีที่กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินปันผลหรือเงินตอบแทนอื่นในลักษณะเดียวกันจากการลงทุนในทรัพย์สินประเภทใดประเภทหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมนำเงินดังกล่าวจ่ายเป็นเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม อย่างน้อยหนึ่งครั้งในรอบปีบัญชีที่ได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 123/3 และข้อ 123/4
(1) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
(2) หน่วยทรัสต์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
(3) ตราสารของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง หรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (1) หรือหน่วยทรัสต์ตาม (2) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนนั้น
(4) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยตรง หรือโดยอ้อมผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนตาม (1) หน่วยทรัสต์ตาม (2) หรือตราสารตาม (3) รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสามสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิล่าสุด ณ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนนั้น
ข้อ 123/3 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าผลลัพธ์ที่คำนวณจากประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับหักด้วยค่าใช้จ่ายทุกประเภทในรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผล เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) กรณีที่กองทุนรวมมีกำไรสุทธิหรือกำไรสะสมในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผล แต่รายการกำไรสุทธิหรือกำไรสะสมทั้งสองรายการดังกล่าวมียอดเงินน้อยกว่าจำนวนเงินปันผลที่คำนวณได้ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลเท่ากับยอดกำไรสุทธิหรือกำไรสะสมนั้น แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า
(2) กรณีที่เงินปันผลที่จะจ่ายเมื่อคำนวณแล้วเป็นจำนวนเงินน้อยกว่ายี่สิบห้าสตางค์ต่อหน่วยลงทุน บริษัทจัดการกองทุนรวมอาจงดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับกองทุนรวมที่มีนโยบายในการจ่ายเงินปันผลมากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปีบัญชี ให้นำยอดเงินปันผลที่คำนวณได้น้อยกว่ายี่สิบห้าสตางค์ต่อหน่วยลงทุนนั้นไปรวมคำนวณกับการจ่ายเงินปันผลในครั้งต่อไปของรอบปีบัญชีเดียวกันด้วย
ข้อ 123/4 ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจ่ายเงินปันผลตามหมวดนี้ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีที่จะจ่ายเงินปันผล”
ข้อ 2 ในกรณีที่กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับอนุมัติให้จัดตั้งก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับและโครงการจัดการกองทุนรวมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 8/1 ที่เพิ่มเติมโดยประกาศนี้ กองทุนรวมดังกล่าวอาจขอรับความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการเพื่อให้เป็นไปตามที่กำหนดต่อสำนักงานได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นคำขอต่อสำนักงานเป็นหนังสือโดยระบุระยะเวลาซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจะมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นขอรับความเห็นชอบต่อสำนักงาน
(2) ในการยื่นคำขอตาม (1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นรายละเอียดของโครงการที่จะแก้ไขเพิ่มเติมพร้อมทั้งคำรับรองของผู้ดูแลผลประโยชน์ด้วย
เมื่อสำนักงานได้รับคำขอและเอกสารหลักฐานที่ครบถ้วนตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ถือว่าสำนักงานให้ความเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมโครงการได้ โดยให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติดังนี้
(1) แจ้งรายละเอียดการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย และประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันแห่งท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งฉบับภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
(2) งดเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ถือหน่วยลงทุนทุกรายจนกว่าโครงการที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมจะมีผลใช้บังคับ
ข้อ 3 ให้กองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรมที่มุ่งลงทุนในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับและโครงการจัดการกองทุนรวมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 8/1 ที่เพิ่มเติมโดยประกาศนี้ และไม่ได้ขอรับความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการตามข้อ 2 ยังคงสามารถดำเนินการตามโครงการดังกล่าวต่อไปได้ แต่จะเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมนั้นเพิ่มเติมได้ต่อเมื่อได้ดำเนินการแก้ไขโครงการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 8/1 แล้ว
ข้อ 4 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์