ที่ ทธ. 35/2556
เรื่อง มาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน
และการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์
และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 และมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 98(3) (5) และ (7) มาตรา 100 วรรคสอง มาตรา 109 วรรคหนึ่ง มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 116 และมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 133 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 และมาตรา 18 มาตรา 33 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 มาตรา 45 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และข้อ 16(6) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2551 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 และข้อ 5 วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวงการอนุญาตการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป เว้นแต่
(1) ข้อ 42(8) ที่เกี่ยวกับข้อมูลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป
(2) ข้อ 34 วรรคสอง ในส่วนที่เกี่ยวกับการให้คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจความสำคัญในการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
หมวด 1
ข้อกำหนดทั่วไป
ส่วนที่ 1
วัตถุประสงค์การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ
ข้อ 2 เนื่องจากการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการในระบบตลาดทุน ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนไทย หลักเกณฑ์ตามประกาศนี้จึงกำหนดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นมาตรฐานที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินธุรกิจในลักษณะที่เป็นการให้บริการที่คำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้าเป็นสำคัญ ปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า และป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนและภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทย
ส่วนที่ 2
หลักการในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ
ข้อ 3 ในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการแห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักการดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยในการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจในเรื่องใดที่ประกาศนี้หรือประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนฉบับอื่น รวมทั้งประกาศหรือแนวทางที่ออกตามประกาศนี้หรือประกาศดังกล่าว มิได้มีข้อกำหนดไว้ หรือมีข้อกำหนดแต่จำเป็นต้องพิจารณาหรือตีความข้อกำหนดดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินธุรกิจ พิจารณา หรือตีความให้เป็นไปตามหลักการของประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว
ส่วนที่ 3
สาระสำคัญของข้อกำหนด
ข้อ 4 ประกาศนี้มีข้อกำหนดในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจ ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การประกอบธุรกิจในฐานะผู้มีวิชาชีพ โดยมีรายละเอียดตามหมวด 2
(2) โครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงาน โดยมีรายละเอียดตามหมวด 3
(3) การป้องกันและการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยมีรายละเอียดตามหมวด 4
(4) การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า โดยมีรายละเอียดตามหมวด 5
(5) การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย โดยมีรายละเอียดตามหมวด 6
(6) ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ โดยมีรายละเอียดตามหมวด 7
ในการออกข้อกำหนดตามประกาศนี้มีผลเป็นการยกเลิกข้อกำหนดตามประกาศที่มีรายชื่ออยู่ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 34 /2556 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 และรวมถึงประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แนวทาง คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศที่ยกเลิกดังกล่าว การปฏิบัติตามประกาศนี้ในระยะแรกให้เป็นไปตามบทเฉพาะกาล โดยมีรายละเอียดตามหมวด 8
ส่วนที่ 4
อำนาจสำนักงาน
ข้อ 5 เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ประกอบธุรกิจจะสามารถปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ในแนวเดียวกัน ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจกำหนดตามประเภทธุรกิจหรือประเภทผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนก็ได้
(2) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบางประเภทได้รับการผ่อนผันการปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามประกาศนี้เป็นการทั่วไปเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) ไม่มีนัยสำคัญสำหรับการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจ
(ข) ไม่สอดคล้องหรือไม่เหมาะสมกับสภาพการประกอบธุรกิจ
(ค) ไม่มีความจำเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนบางประเภท
(3) กำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้ และหากผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าผู้ประกอบธุรกิจมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น
(4) เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศนี้ สำนักงานอาจกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจขอความเห็นชอบการดำเนินการใดตามประกาศนี้ก่อนการดำเนินการนั้นก็ได้
(5) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ หรือข้อกำหนดที่สำนักงานออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศนี้ ให้สำนักงานมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้นแก้ไขหรืองดเว้นการกระทำ หรือสั่งให้กระทำการ ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนดอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้อง
(6) เพื่อให้สำนักงานสามารถติดตามการปฏิบัติตามประกาศนี้ได้ ให้สำนักงานกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดส่งข้อมูล รายงาน หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานภายในระยะเวลาที่เหมาะสมได้ หรือจะสั่งการเป็นรายกรณีโดยต้องไม่เป็นภาระต่อผู้ประกอบธุรกิจจนเกินสมควร ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สำนักงานจะกำหนดให้เป็นไปตามกรอบ ดังต่อไปนี้
(ก) ในกรณีที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและมีผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ลงทุน หรือตลาดทุน อย่างมีนัยสำคัญ สำนักงานอาจกำหนดให้ดำเนินการภายในวันทำการที่เกิดกรณีดังกล่าวได้
(ข) ในกรณีอื่นนอกจาก (ก) ให้กำหนดระยะเวลาอย่างสมเหตุสมผลตามสภาพการณ์ เรื่อง และประเด็นที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 5
บทนิยาม
ข้อ 6 ในประกาศนี้
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แต่ไม่รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการเงินร่วมลงทุนหรือการเป็นนายหน้าระหว่างผู้ค้าหลักทรัพย์ และผู้ได้รับการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“ลูกค้า” หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ และให้หมายความรวมถึง กองทุน ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย
“กองทุน” หมายความว่า กองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล
“ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน” หมายความว่า หลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“การโฆษณา” หมายความว่า การทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการหรือการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน โดยทางข้อความ ภาพ เสียง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ใด ๆ และไม่ว่าจะกระทำผ่านสื่อ หรือเครื่องมือใด ๆ
“การส่งเสริมการขาย” หมายความว่า การให้ของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใดแก่ลูกค้า เพื่อจูงใจให้ลูกค้าใช้บริการหรือตอบแทนที่ลูกค้าใช้บริการ ซึ่งรวมถึงการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจนำเสนอ
“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่
“ผู้ลงทุนรายใหญ่” หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่
“สมาคม” หมายความว่า
(1) สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งและจดทะเบียนกับสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์
(2) สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ประเภทที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
หมวด 2
การประกอบธุรกิจในฐานะผู้มีวิชาชีพ
ข้อ 7 ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังต่อไปนี้
(1) ประกอบธุรกิจและให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และใช้ความรู้ความสามารถ และความชำนาญ ด้วยความเอาใจใส่และระมัดระวังตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ
(2) ดำเนินธุรกิจโดยรักษาภาพลักษณ์และชื่อเสียงของผู้ประกอบธุรกิจ รวมทั้งรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุนเป็นสำคัญ ตลอดจนดำเนินธุรกิจด้วยความสมเหตุสมผลซึ่งเหมาะสมกับเวลา ลักษณะหรือสภาพของธุรกิจ และการให้บริการ
(3) ให้บริการอย่างมีคุณภาพ และปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันโดยคำนึงถึงประเภท ลักษณะ และเงื่อนไขของลูกค้า
(4) ไม่กระทำการใดที่จะเป็นผลให้ลูกค้าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดหรือหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่ลูกค้าแจ้งว่ามีข้อจำกัดหรือมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้น
(5) ไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือที่จะทำให้การทำธุรกิจไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพในลักษณะเดียวกันจะพึงกระทำ เว้นแต่เป็นการกระทำที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในส่วนที่ 4 ของหมวด 4 หรือเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำตามกฎหมาย
(6) ไม่รับหรือให้ค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าในรูปเงิน สิ่งของ หรือบริการยิ่งกว่าค่าตอบแทนหรือประโยชน์ปกติที่พึงได้รับหรือให้เนื่องจากการประกอบธุรกิจ
(7) ดูแลไม่ให้มีการนำทรัพยากรของผู้ประกอบธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วมหรือถูกนำไปใช้ในทางที่มิชอบ
ข้อ 8 ผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากร กระทำการให้เป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้ และต้องมีมาตรการอย่างเหมาะสมที่ทำให้บุคคลดังกล่าวผูกพันที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดนั้น
ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีมาตรการแก้ไข ควบคุม และลงโทษ ตามความร้ายแรงของการกระทำของบุคคลตามวรรคหนึ่งที่เป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติการตามประกาศนี้
ข้อ 9 ในกรณีที่สมาคมมีการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานการประกอบธุรกิจ โครงสร้างการบริหารงาน ระบบงาน หรือการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยแนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางของสมาคมนั้นด้วย
ในกรณีที่สมาคมมีการกำหนดแนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงานของบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจ โดยแนวทางดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้บุคลากรปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานการปฏิบัติงานนั้นด้วย
ข้อ 10 ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่ทำข้อตกลงกับลูกค้าในลักษณะเป็นการตัดหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับลูกค้า อันเนื่องจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากร ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือปฏิบัติงานให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศนี้
หมวด 3
โครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน และบุคลากร
ข้อ 11 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีโครงสร้างการบริหารจัดการ ระบบงาน ตลอดจนบุคลากร ที่เหมาะสมและเพียงพอให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นไปตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องการพิจารณาความเหมาะสมและเพียงพอตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงลักษณะ ขนาด ปริมาณ ความซับซ้อน และความหลากหลาย ของธุรกิจและบริการ ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับธุรกิจและบริการดังกล่าวด้วย
ข้อ 12 โครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงานตามข้อ 11 ต้องครอบคลุมอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การกำหนดแผนกลยุทธ์ นโยบาย เป้าหมาย และระเบียบวิธีปฏิบัติของผู้ประกอบธุรกิจอย่างชัดเจน ครบถ้วน และเข้าใจได้ง่าย
(2) การกำหนดโครงสร้างองค์กร บทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรที่ชัดเจน โดยอย่างน้อยต้องมีกรรมการอิสระซึ่งสามารถดูแล ตรวจสอบ และถ่วงดุลการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในได้ ในสัดส่วนที่เหมาะสมความในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการมีกรรมการอิสระ มิให้ใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน
(3) ระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องมีความเหมาะสม น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการเพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า และเพื่อให้บุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจสามารถปฏิบัติงานได้ถูกต้องตรงตามหน้าที่และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง
(4) ระบบในการตรวจสอบและถ่วงดุลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ
(5) ระบบตรวจสอบและควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ
(6) การบริหารและจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในทุกด้านอย่างรัดกุม โดยต้องมีมาตรการอย่างเพียงพอที่จะป้องกันและจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
(7) ระบบงานและมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในข้อ 18(2)
(8) ระบบงานในการดูแลการลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ (proprietary trading) ซึ่งเหมาะสมและเพียงพอที่สามารถป้องกันมิให้การลงทุน
(ก) ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ
(ข) เป็นผลให้การซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนผิดไปจากสภาพปกติของตลาด
(ค) มีลักษณะเป็นการลงทุนที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้มีวิชาชีพ
(ง) ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่ลูกค้าหรือความไม่เป็นธรรมกับลูกค้า
(9) ระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้า โดย
(ก) ในกรณีที่ทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลรักษาหรือจัดการของผู้ประกอบธุรกิจ ต้องจัดให้มีระบบการจัดการอย่างเพียงพอในการคุ้มครองทรัพย์สินของลูกค้า และปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศเฉพาะที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
(ข) ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ทรัพย์สินของลูกค้าอยู่ภายใต้การดูแลรักษาของบุคคลที่สาม ต้องจัดให้มีระบบการรับและส่งมอบทรัพย์สินของลูกค้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับบุคคลที่สามที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถติดตามผลการรับและส่งมอบนั้นได้ โดยระหว่างรอการ ส่งมอบดังกล่าวหรือรอการลงทุนเพื่อลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบควบคุมดูแลทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อมิให้สูญหาย เสียหาย หรือมีการทุจริตในทรัพย์สินของลูกค้า
(10) ระบบงานในการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ (compliance) ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจัดให้มีหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจ
(11) ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ
(12) ระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้ และปลอดภัย โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามข้อ 14
(13) ระบบงานเพิ่มเติมสำหรับการให้บริการที่มีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้
(ก) การวิเคราะห์การลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตามข้อ 49
(ข) การให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อลูกค้า (omnibus account) ตามข้อ 57
(ค) ระบบงานเพิ่มเติมที่ประกาศอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะให้บุคคลอื่นดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะด้วย
ข้อ 13 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในจำนวนที่เพียงพอกับการประกอบธุรกิจ โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์อย่างเหมาะสมซึ่งสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่มีประวัติในทางที่เสื่อมเสีย ในกรณีที่บุคลากรตามวรรคหนึ่งต้องได้ความเห็นชอบจากสำนักงานก่อนปฏิบัติหน้าที่ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้บุคลากรดังกล่าวผ่านการให้ความเห็นชอบของสำนักงานและต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวข้องกำหนดด้วย
ข้อ 14 ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานซึ่งเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บที่รัดกุม เป็นระเบียบ และพร้อมนำข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน มาใช้งานหรือตรวจสอบได้ภายในระยะเวลาอันสมควร
(2) ระบบตาม (1) ต้องสามารถป้องกัน
(ก) การแก้ไข การสูญหาย หรือการถูกทำลาย อย่างไม่เหมาะสม
(ข) การใช้หรือการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือขัดกับกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูล ที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือข้อมูลที่ไม่เปิดเผยหรือยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป
(3) จัดให้มีบุคลากรทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลและรับผิดชอบการเก็บรักษาเอกสาร หลักฐาน และข้อมูล เพื่อให้การจัดการและจัดเก็บข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานเป็นไปตามระบบใน (1) และสามารถป้องกันกรณีตาม (2) ได้
(4) ในกรณีที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐาน ในประกาศฉบับใดไว้เป็นการเฉพาะ ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วย
หมวด 4
การป้องกันและการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ส่วนที่ 1
ลักษณะความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ข้อ 15 การกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ให้หมายความถึงผลประโยชน์ที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของบุคคลดังต่อไปนี้
(1) ผลประโยชน์ของลูกค้ากับผู้ประกอบธุรกิจ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ
(2) ผลประโยชน์ระหว่างลูกค้าด้วยกันของผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการหลายประเภทหรือหลายลักษณะธุรกิจซึ่งลูกค้าในแต่ละประเภทหรือลักษณะธุรกิจมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน
ข้อ 16 การกระทำที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามหมวดนี้ ให้ครอบคลุมถึงการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจในลักษณะดังต่อไปนี้ด้วย
(1) แสวงหาประโยชน์โดยให้ลูกค้าเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่าย
(2) ทำธุรกรรมโดยอาศัยข้อมูลที่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจล่วงรู้มาจากการประกอบธุรกิจ และข้อมูลดังกล่าวไม่เปิดเผยเป็นการทั่วไป
(3) ได้รับหรือจะได้รับค่าตอบแทนหรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าในรูปเงิน สิ่งของ หรือบริการจากบุคคลใด ๆ ยิ่งกว่าประโยชน์ปกติที่พึงได้รับจากการประกอบธุรกิจ
(4) ได้รับหรือจะได้รับค่าตอบแทน โดยเอื้อประโยชน์แก่ลูกค้ารายใด ๆ ยิ่งกว่าประโยชน์ของลูกค้าอีกรายหนึ่ง ซึ่งทำให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกค้าอีกรายหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มลูกค้าประเภทเดียวกันซึ่งควรจะได้รับบริการที่เท่าเทียมกัน
(5) ไม่สามารถให้บริการแก่ลูกค้าในแต่ละประเภทหรือลักษณะธุรกิจ ให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้รับอย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจได้รับประโยชน์จากผลของการให้บริการแก่ลูกค้าหรือการทำธุรกรรมเพื่อลูกค้า ซึ่งไม่สอดคล้องกับประโยชน์ที่ลูกค้าพึงได้รับ หรือเนื่องจากมีประโยชน์ที่ขัดกันเองระหว่างลูกค้า
(6) ทำธุรกรรมเพื่อลูกค้ากับผู้ประกอบธุรกิจนั้นเองหรือกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ส่วนที่ 2
มาตรการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ข้อ 17 ผู้ประกอบธุรกิจต้องกำหนดนโยบายป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ และมีการสื่อสารให้ทั่วถึงในองค์กร รวมทั้งต้องดำเนินการและควบคุมดูแลให้กรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าวด้วย
ข้อ 18 นโยบายป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 17 ต้องมีสาระอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) กำหนดลักษณะความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นในการประกอบธุรกิจทุกขั้นตอน
(2) กำหนดระบบงานและมาตรการเพื่อป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างน้อยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(ก) ทำให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าแต่ละประเภทจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าในแต่ละประเภทนั้น
(ข) สามารถป้องกันได้อย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้มีการใช้ข้อมูลหรือโอกาสจากการให้บริการไปใช้ในทางมิชอบ
(ค) จัดให้หน่วยงานและบุคลากรของหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แยกส่วนการปฏิบัติงานหรือแบ่งแยกพื้นที่การปฏิบัติงาน และกำหนดวิธีปฏิบัติงานเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่จะเกิดจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานและบุคลากรดังกล่าว
(ง) กำหนดระเบียบปฏิบัติหรือป้องกันการมีพฤติกรรมที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
1. การห้ามการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่มีลักษณะตามข้อ 16 เว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมที่ประกาศนี้ให้กระทำได้
2. การรับของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดจากลูกค้า ผู้ให้บริการ หรือบุคคลอื่น
3. การเปิดบัญชี และการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของกรรมการ ผู้บริหาร และบุคลากรของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถติดตามและตรวจสอบการลงทุนของบุคคลดังกล่าวได้
(3) มีมาตรการในการติดตาม ควบคุม และตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรการและระบบงานที่กำหนดไว้ตาม (2)
(4) กำหนดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของมาตรการและระบบงานเพื่อป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตาม (2) เป็นประจำ โดยอย่างน้อยต้องทบทวนทันทีเมื่อมีเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจ และรายงานการทบทวนความเหมาะสมดังกล่าวต่อคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจหรือคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการของผู้ประกอบธุรกิจ
(5) มีการกำหนดมาตรการดังต่อไปนี้ สำหรับกรณีที่ปรากฏว่ากรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากรมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระบบงานหรือมาตรการที่กำหนดไว้
(ก) ลงโทษกรรมการ ผู้บริหาร หรือบุคลากร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามความเหมาะสม
(ข) เยียวยาความเสียหายหรือชดเชยผลประโยชน์แก่ลูกค้า (ถ้ามี)
(ค) ทบทวนระบบงานและมาตรการดังกล่าว รวมทั้งเสนอการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระบบงานและมาตรการที่กำหนดไว้
(ง) รายงานการดำเนินการตาม (ก) ถึง (ค) ให้สำนักงานทราบโดยไม่ชักช้า
ส่วนที่ 3
ธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องห้ามมิให้กระทำ
ข้อ 19 ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่กระทำการที่มีลักษณะเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามที่กำหนดในข้อ 16 เว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมที่ให้กระทำได้ตามส่วนที่ 4 ของหมวดนี้
ข้อ 20 ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่กระทำการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือผู้ลงทุนทั่วไป โดยการใช้ข้อมูลหรือโอกาสจากการให้บริการ ในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) ทำธุรกรรมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนดำเนินการเพื่อลูกค้า โดยอาศัยข้อมูลการสั่งซื้อ ขาย หรือเข้าทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้าหรือการตัดสินใจลงทุนเพื่อลูกค้า (front run)
(2) อาศัยข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์การลงทุนที่ตนเองจัดทำหรือได้รับมาเพื่อจะเผยแพร่ ก่อนมีการเผยแพร่การวิเคราะห์ดังกล่าว เพื่อซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น
(3) ซื้อขายหรือเข้าทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนโดยใช้ข้อมูลภายในที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบต่อผู้ลงทุนทั่วไป หรือเปิดเผยข้อมูลภายในนั้นให้บุคคลอื่นได้ใช้ประโยชน์เพื่อประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง (3) คำว่า “ข้อมูลภายใน” หมายความว่า ข้อมูลหรือข้อเท็จจริงใด ๆ อันเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่ยังไม่ได้เปิดเผยเป็นการทั่วไป
ข้อ 21 ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่ใช้บัญชีซื้อขายหรือบัญชีเพื่อการทำธุรกรรมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้า เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น
ส่วนที่ 4
ธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์
ที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกระทำได้
ข้อ 22 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีเหตุอันสมควรที่จะทำธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามข้อ 16(6) ผู้ประกอบธุรกิจจะทำธุรกรรมดังกล่าวได้เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) เป็นธุรกรรมที่คำนึงถึงประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า หรือจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าในสถานการณ์ขณะนั้น
(2) เป็นการทำธุรกรรมในลักษณะที่เป็นธรรมเนียมทางค้าปกติเสมือนเป็นการทำธุรกรรมกับบุคคลทั่วไปที่มิได้มีความเกี่ยวข้องกันเป็นพิเศษ (at arm’s length transactions)
(3) ปฏิบัติตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่สำนักงานประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติก่อนการทำธุรกรรม เพื่อให้มีความโปร่งใสหรือเป็นธรรมกับลูกค้า (ถ้ามี)
ข้อ 23 เมื่อผู้ประกอบธุรกิจได้ทำธุรกรรมตามข้อ 22 เรียบร้อยแล้ว ให้เปิดเผยผลการทำธุรกรรมดังกล่าวให้ลูกค้าหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนลูกค้าทราบอย่างเพียงพอและเหมาะสมด้วย
ข้อ 24 ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวมหรือกองทุนส่วนบุคคล ประสงค์จะทำธุรกรรมที่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกองทุน หรือระหว่างลูกค้า ที่อยู่ภายใต้การจัดการของตนเอง (cross trade) ธุรกรรมที่จะทำนั้นต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) เป็นธุรกรรมที่มีความเหมาะสมต่อลักษณะ นโยบายการลงทุน และความจำเป็นในการลงทุนของกองทุนหรือลูกค้า ทั้งด้านผู้ซื้อและด้านผู้ขาย
(2) ธุรกรรมดังกล่าวต้องไม่ใช่การซื้อขายหน่วยลงทุนระหว่างกองทุนรวมภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 126(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
(3) ธุรกรรมดังกล่าวเป็นไปตามข้อ 22
ข้อ 25 ในกรณีที่การลงทุนเพื่อเป็นทรัพย์สินของผู้ประกอบธุรกิจ (proprietary trading) อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับลูกค้าได้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องลงทุนด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าก่อนประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจ
หมวด 5
การติดต่อและให้บริการแก่ลูกค้า
ข้อ 26 ในการติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้ให้ลูกค้าทราบ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ และพิจารณาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการดังกล่าว
(1) ข้อมูลโดยทั่วไปของผู้ประกอบธุรกิจ
(2) ลักษณะ ขอบเขต และเงื่อนไขการให้บริการที่เสนอต่อลูกค้า
(3) ช่องทางการให้บริการ และการติดต่อสื่อสาร
(4) สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และเงื่อนไข ที่ลูกค้ามีหรือต้องปฏิบัติเมื่อใช้บริการ
(5) ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี)
(6) วิธีปฏิบัติระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นไปตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้น
ข้อ 27 การติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้า การแจ้งเตือนเรื่องต่าง ๆ หรือการให้ลูกค้าลงนามรับทราบหรือยอมรับการให้บริการหรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้อยู่ในรูปเอกสารหรือรูปแบบที่สามารถจัดเก็บข้อมูลและตรวจดูข้อมูลได้
ข้อ 28 ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าที่มีระบบการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม รวมทั้งกระทำในเวลาที่เหมาะสม โดยข้อมูลที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารต้องชัดเจน น่าเชื่อถือ และไม่ทำให้ลูกค้าสำคัญผิด
ข้อ 29 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีการประกอบธุรกิจอื่นหรือให้บริการอื่นนอกเหนือจากการให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนด้วย ผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้การให้บริการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) มีการแบ่งแยกพื้นที่ในการติดต่อหรือให้บริการลูกค้าออกจากพื้นที่การประกอบธุรกิจอื่นหรือให้บริการอื่นอย่างเป็นสัดส่วน และจัดให้มีป้ายหรือแสดงสัญลักษณ์ให้ลูกค้าเห็นได้อย่างชัดเจน
(2) จัดให้บุคคลที่ทำหน้าที่ติดต่อหรือให้บริการแก่ลูกค้าแสดงตนต่อลูกค้าว่าเป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากผู้ประกอบธุรกิจให้ทำหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
ทั้งนี้ ต้องแสดงตนตามวิธีการและช่องทางที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนด
ส่วนที่ 1
การรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้า
ข้อ 30 ก่อนเริ่มให้บริการแก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) ทำความรู้จักลูกค้า
(2) จัดประเภทลูกค้า
(3) ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(4) พิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการ ในกรณีที่ลูกค้าเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการเฉพาะวรรคหนึ่ง (3) ในการเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับการเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อ 31 ในการรวบรวมและประเมินข้อมูลของลูกค้าเพื่อวัตถุประสงค์ตามข้อ 30 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้ได้มาซึ่งข้อมูลของลูกค้าอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง และข้อมูลของผู้มีอำนาจกระทำการแทนบุคคลดังกล่าว (ถ้ามี)
(2) ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถและแหล่งที่มาของรายได้ที่นำมาใช้ในการชำระหนี้และการวางหลักประกันของลูกค้า ในกรณีที่ลูกค้าประสงค์จะใช้บริการที่จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องดังกล่าวประกอบด้วย
(3) ข้อมูลอื่น ๆ อย่างน้อย ดังนี้
(ก) ฐานะทางการเงิน
(ข) ประสบการณ์ในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม
(ค) ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรม
(ง) วัตถุประสงค์ในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม
(จ) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้
ข้อ 32 ในการทำความรู้จักกับลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 31 เพื่อระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการให้บริการ
ข้อ 33 ในการจัดประเภทลูกค้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 31 เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับประเภทลูกค้า รวมทั้งการให้ข้อมูลและการแจ้งเตือนต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละประเภทในกรณีที่ลูกค้าปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล หรือข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอหรือไม่เป็นปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีเหตุอันควรสงสัยอื่นใด ที่อาจทำให้ไม่สามารถจัดประเภทลูกค้าได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการลูกค้าโดยจัดเป็นประเภทลูกค้าทั่วไป เมื่อได้ทำการจัดประเภทลูกค้าแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงผลการจัดประเภทของลูกค้า และต้องแจ้งให้ทราบถึงสิทธิ ข้อจำกัดสิทธิ และระดับความเสี่ยง ของลูกค้าแต่ละประเภทด้วย รวมทั้งแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าอาจขอเปลี่ยนประเภทเพื่อรับการบริการเช่นเดียวกับประเภทลูกค้าทั่วไปได้
ข้อ 34 ในการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 31 เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ เว้นแต่ ในกรณีที่เป็นการให้บริการแก่ลูกค้าดังต่อไปนี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะไม่ประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมของลูกค้าก็ได้
(1) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนสถาบัน
(2) ลูกค้าเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่และมีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งแสดงเจตนาเป็นลายลักษณ์อักษรที่จะไม่รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม
(3) ลูกค้าประสงค์จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินในประเทศ
(4) ลูกค้าประสงค์จะลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น โดยลูกค้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่แล้วในวันที่ทำการลงทุน หรือในวันที่ได้รับสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นเมื่อได้ทำการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้าตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม พร้อมทั้งให้คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจความสำคัญในการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) โดยพิจารณาจากการประเมินความเหมาะสมดังกล่าว ในกรณีที่ลูกค้าตามวรรคหนึ่ง (1) แสดงความประสงค์ที่จะได้รับการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรม ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการประเมินข้อมูลของลูกค้าตามวรรคหนึ่ง และดำเนินการตามข้อ 35 โดยอนุโลมในกรณีที่ลูกค้าไม่เหมาะสมที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนประเภทใด
ข้อ 35 ในกรณีที่ไม่สามารถประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมของลูกค้าได้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการให้บริการ เว้นแต่ในกรณีที่ลูกค้าเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและดำเนินการเท่าที่จำเป็นเพื่อให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบถึงประโยชน์และความจำเป็นในการประเมินความเหมาะสมในการเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมในกรณีที่ข้อมูลจากการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมของลูกค้าแสดงผลว่าลูกค้าไม่เหมาะสมที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนประเภทใด ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้ลูกค้าทราบ
(2) ในกรณีที่ลูกค้ายืนยันที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีคำแนะนำเกี่ยวกับลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของการลงทุนหรือการทำธุรกรรมนั้นเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้าทบทวนหรือพิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง หากลูกค้ายังคงยืนยันที่จะลงทุนหรือทำธุรกรรมนั้น ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้ลูกค้าลงนามยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนหรือการทำธุรกรรมดังกล่าว
ข้อ 36 ในการพิจารณาความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการ ให้ผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาข้อมูลที่ได้ตามข้อ 31 เพื่อให้สามารถนำเสนอบริการที่สอดคล้องกับความสามารถดังกล่าวของลูกค้าในกรณีที่ไม่สามารถประเมินหรือพบข้อจำกัดเกี่ยวกับความสามารถของลูกค้าในการปฏิบัติตามข้อตกลงในการใช้บริการไม่ว่าในขณะใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิเสธการให้บริการหรือจำกัดขอบเขตการให้บริการ
ข้อ 37 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงข้อมูลที่ได้รับตามข้อ 31 ให้เป็นปัจจุบันในระยะเวลาที่เหมาะสม หรือเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นไม่ถูกต้องหรือมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง และต้องมีระบบการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าวที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำข้อมูลนั้นมาใช้ประกอบการให้บริการกับลูกค้าได้โดยไม่ชักช้า
ส่วนที่ 2
การวิเคราะห์และการแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า
ข้อ 38 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะทำการวิเคราะห์และการแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 13 เป็นผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว หรือดำเนินการให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่มีบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 13 เป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวแทน หรือจัดให้มีช่องทางที่ลูกค้าสามารถติดต่อกับบุคลากรที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตามข้อ 13 ให้ทำหน้าที่ดังกล่าว
(2) พิจารณาความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนของลูกค้าตามข้อมูลที่ได้จากการจัดประเภทลูกค้าและการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตามข้อ 33 และข้อ 34
(3) ดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่จะแนะนำให้แก่ลูกค้าหรือที่ลูกค้าสนใจลงทุน โดยมีข้อมูลอย่างน้อยตามข้อ 42 อย่างเพียงพอ ไม่บิดเบือน และไม่ทำให้สำคัญผิด
(4) ดำเนินการให้มีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนหรือข้อมูลเกี่ยวกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ ในตลาดทุน รวมทั้งเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (fact sheet) แก่ลูกค้า ให้เป็นไปตามหน้าที่ซึ่งผู้ออกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนต้องปฏิบัติ
(5) ดูแลให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน เป็นไปตามความประสงค์ของลูกค้า โดยอย่างน้อยผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) มีการให้คำแนะนำเกี่ยวกับบริการหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแก่ลูกค้าอย่างถูกต้อง ครบถ้วน สมเหตุสมผล และไม่ทำให้สำคัญผิด
(ข) มีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจลักษณะ ความเสี่ยง และผลตอบแทนของบริการหรือผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนเป็นอย่างดี ก่อนตัดสินใจใช้บริการ
(6) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุน โดยต้องให้เวลาลูกค้าอย่างเพียงพอที่จะทำให้ลูกค้าศึกษาข้อมูลและตัดสินใจใช้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องควบคุมและป้องกันมิให้มีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันความถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการตัดสินใจใช้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือทำธุรกรรมของลูกค้า จนกว่าจะได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในระหว่างรอการตรวจสอบ ผู้ประกอบธุรกิจต้องเตือนให้ลูกค้าใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกรรมด้วย
ข้อ 39 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้มีการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าโดยบุคคลต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย
(1) พิจารณาคัดเลือกบุคคลต่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถในการให้คำแนะนำ รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำได้ตามกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจในต่างประเทศนั้น
(2) พิจารณาคัดเลือกบุคคลต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลที่เป็นสมาชิกของ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) โดยหน่วยงานดังกล่าวต้องเป็นพหุภาคีประเภท Signatory A ใน Multilateral Memorandum of Understanding Concerning Consultation and Cooperation and the Exchange of Information (MMOU) หรือหน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือด้านการบังคับใช้กฎหมายและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานในลักษณะทำนองเดียวกับที่กำหนดตาม MMOU และหน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่สำนักงานได้ตามบันทึกความเข้าใจนั้น
(3) แจ้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้คำแนะนำตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้บุคคลต่างประเทศทราบ
(4) แจ้งชื่อและที่อยู่ของบุคคลต่างประเทศดังกล่าวเพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามเกี่ยวกับการให้คำแนะนำได้ และ
(5) ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการแปลบทวิเคราะห์ที่กำหนดโดยสมาคม
ข้อ 40 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประสงค์จะนำเสนอการให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนใดให้แก่ลูกค้า ผู้ประกอบธุรกิจต้องนำเสนอเฉพาะบริการที่มีความเหมาะสมกับลูกค้า โดยคำนึงถึงกรณีดังต่อไปนี้ประกอบกัน
(1) ผลการจัดประเภทลูกค้า
(2) ผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(3) คำแนะนำเบื้องต้นเพื่อให้ลูกค้าเข้าใจความสำคัญในการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เหมาะสม
(4) บทวิเคราะห์การลงทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำขึ้นเอง
(5) การที่ลูกค้าจะได้รับข้อมูลหรือบริการที่เกี่ยวข้องหลังการลงทุนหรือการทำธุรกรรมผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่สนับสนุนหรือให้ความร่วมมือกับลูกค้าในการใช้บริการที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะทางการเงิน หรือความสามารถชำระหนี้ของบุคคลดังกล่าวต่อระบบการชำระราคาและส่งมอบผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
ส่วนที่ 3
การศึกษาและทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
ของผู้ประกอบธุรกิจ
ข้อ 41 ผู้ประกอบธุรกิจต้องศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่จะนำมาให้บริการต่อลูกค้า และต้องมีกระบวนการที่ทำให้มั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่แนะนำบริการของผู้ประกอบธุรกิจรู้และเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนดังกล่าวเป็นอย่างดี และสามารถนำเสนอข้อมูลนั้นได้
ข้อ 42 ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนตามข้อ 41 ได้แก่ข้อมูลอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ลักษณะ โครงสร้าง เงื่อนไข และผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(2) ความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการลงทุนหรือการทำธุรกรรมในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(3) สภาพคล่องของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(4) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ออกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน หรือข้อมูลของผู้ที่จะทำธุรกรรมอีกฝ่ายหนึ่ง (ถ้ามี)
(5) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(6) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
(7) ข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการให้บริการ (ถ้ามี)
(8) ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวม (fund performance) ที่ให้บริการเทียบกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในกลุ่มเดียวกัน โดยต้องเป็นข้อมูลที่แสดงผลการดำเนินงานสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ย และเทียบกับตัวชี้วัดการดำเนินงาน(benchmark) ของกองทุนรวมที่ให้บริการนั้น (ถ้ามี)
(9) ข้อมูลอื่นที่จำเป็นซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนหรือทำธุรกรรม (ถ้ามี)
ส่วนที่ 4
การดำเนินการเมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการ
ข้อ 43 เมื่อลูกค้าตัดสินใจใช้บริการแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการตามความประสงค์ของลูกค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการด้วยความรวดเร็วตามสภาพ และดูแลตรวจสอบให้การให้บริการนั้นตรงตามความประสงค์ของลูกค้า
(2) ดำเนินการให้การให้บริการเกี่ยวกับการลงทุนหรือการทำธุรกรรมเป็นไปตามกลไกตลาด และได้รับเงื่อนไขดีที่สุดตามสภาพตลาด (duty of best execution)
(3) รายงานหรือแจ้งผลการดำเนินการให้ลูกค้าทราบโดยมีรายละเอียดอย่างเพียงพอภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
ข้อ 44 ในกรณีที่การให้บริการประเภทใดจำเป็นต้องจัดให้มีการทำข้อตกลงก่อนเริ่มให้บริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้เอกสารที่เกี่ยวกับข้อตกลงที่ทำกับลูกค้ามีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีการใช้ภาษาและขนาดตัวอักษรเพื่อแสดงเนื้อหาที่อ่านได้ง่าย ชัดเจน และเหมาะสมกับรูปแบบของเอกสาร และมีการเน้นตัวอักษรเมื่อเป็นข้อความสำคัญ เช่น คำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยง เป็นต้น
(2) เลือกใช้ข้อความที่ไม่ทำให้เข้าใจผิดหรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
(3) ไม่มีลักษณะเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
(4) ครอบคลุมลักษณะ ขอบเขต เงื่อนไข และช่องทางในการติดต่อการให้บริการ
(5) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจและลูกค้า
(6) มีข้อมูล คำเตือน ข้อจำกัด ข้อห้าม หรือความเสี่ยงใดๆ ที่เกิดจากการใช้บริการ
(7) จัดให้ลูกค้ารับทราบและยอมรับเงื่อนไขหรือข้อจำกัดการให้บริการที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดขึ้น เช่น การให้ลูกค้าจัดหาข้อมูลเพิ่มเติม การงดให้บริการ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและยับยั้งการกระทำอันไม่เป็นธรรม หรือพฤติกรรมการลงทุนหรือทำธุรกรรมที่ไม่เหมาะสม
(8) มีข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการให้บริการ
หมวด 6
การโฆษณาและการส่งเสริมการขาย
ส่วนที่ 1
การโฆษณา
ข้อ 45 ความในส่วนนี้ไม่ใช้บังคับกับการโฆษณาดังต่อไปนี้
(1) การโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการให้ความรู้ ทำความเข้าใจ หรือแจ้งข้อเท็จจริง เกี่ยวกับตลาดทุน การลงทุน ภาคการผลิตและบริการ หรือภาพรวมของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนแต่ละประเภทหรือโดยรวม
(2) การโฆษณาชี้ชวนให้ซื้อหลักทรัพย์โดยการจัดส่งหรือแจกจ่ายหนังสือชี้ชวน
ข้อ 46 ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะจัดให้มีการโฆษณา ต้องดำเนินการให้การโฆษณานั้น มีความเหมาะสมทั้งในด้านเนื้อหา สัดส่วนของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอ เพื่อทำให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหรือต่อการตัดสินใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน โดยการโฆษณาต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีลักษณะเป็นเท็จ เกินความจริง บิดเบือน ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ
(2) ไม่เร่งรัดให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหรือตัดสินใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(3) ไม่มีลักษณะชี้นำหรือประกันผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน เว้นแต่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน หรือเป็นการแสดงผลการดำเนินงานในอดีตอย่างเหมาะสม หรือเป็นการประมาณการผลตอบแทนในอนาคตที่มีลักษณะครบถ้วนดังต่อไปนี้
(ก) มีข้อมูลประกอบการประมาณการอย่างเหมาะสม
(ข) มีข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประมาณการผลตอบแทนในแต่ละเงื่อนไข
(ค) ข้อมูลตาม (ก) และ (ข) อยู่ในรูปแบบที่ลูกค้าสามารถเข้าใจได้อย่างถูกต้องโดยไม่สำคัญผิด
(4) มีคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนอย่างเหมาะสม และมีการแจ้งสถานที่สำหรับการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการหรือการลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
(5) หากเป็นการโฆษณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหรือจะเสนอขายหลักทรัพย์ก่อนวันที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับ ข้อมูลที่โฆษณาต้องเป็นข้อมูลที่สามารถดำเนินการได้โดยชอบ และต้องจัดให้มีข้อความที่แสดงว่าเป็นการโฆษณาในระหว่างที่แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนสำหรับการเสนอขายหลักทรัพย์ยังไม่มีผลใช้บังคับ
(6) หากเป็นการโฆษณาโดยใช้หรืออ้างอิงข้อมูลของบุคคลอื่น จะต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน โดยต้องมีการระบุแหล่งที่มาอย่างชัดเจน
(7) ในกรณีที่เป็นการโฆษณาการจัดรายการส่งเสริมการขาย ข้อมูลที่โฆษณาต้องมีข้อมูลของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เสนอขายรวมอยู่ด้วย โดยข้อมูลผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนต้องเป็นเนื้อหาหลัก และข้อมูลการจัดรายการส่งเสริมการขายเป็นข้อมูลประกอบที่มีสาระเป็นส่วนน้อย
(8) หากเป็นการโฆษณาเพื่อการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม จะกระทำได้ต่อเมื่อได้มีการยื่นคำขอจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมต่อสำนักงานแล้ว และในกรณีที่คำขอดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ต้องจัดให้มีข้อความที่แสดงว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาคำขอนั้น จากสำนักงาน
(9) หากเป็นการโฆษณาเพื่อการเสนอขายหน่วยลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม ผู้ประกอบธุรกิจจะนำค่าโฆษณามาหักเป็นค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมใด ๆ ได้เฉพาะเมื่อการโฆษณานั้นเป็นไปเพื่อกองทุนรวมหรือจะเกิดประโยชน์ต่อกองทุนรวมนั้น ทั้งนี้ หากเป็นการโฆษณาเพื่อกองทุนรวมหลายกองรวมกัน ต้องมีหลักเกณฑ์การคิดค่าใช้จ่ายดังกล่าวจากกองทุนรวมแต่ละกองอย่างเป็นธรรมด้วย
(10) ดูแลให้ผู้จัดทำโฆษณาร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้จัดให้มีการโฆษณาเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ ดำเนินการให้เป็นไปตาม (1) ถึง (8)
ข้อ 47 ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้ข้อความ คำเตือน หรือข้อมูลใด ๆ ในการโฆษณาสามารถรับฟังหรือมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยมีความเหมาะสมกับรูปแบบการนำเสนอ และต้องให้ความสำคัญในการแสดงคำเตือนในเรื่องต่าง ๆ เช่นเดียวกับการแสดงข้อความหรือข้อมูลส่วนใหญ่ ในโฆษณานั้น ๆ ด้วย
ส่วนที่ 2
การส่งเสริมการขาย
ข้อ 48 ผู้ประกอบธุรกิจอาจจัดให้มีการส่งเสริมการขายได้ โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ไม่เป็นการจูงใจหรือเร่งรัดลูกค้าโดยใช้การส่งเสริมการขาย เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจใช้บริการของผู้ประกอบธุรกิจหรือตัดสินใจลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน โดยไม่คำนึงถึงข้อมูลที่เป็นพื้นฐานซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจลงทุน
(2) ไม่เป็นการชิงโชคหรือจับฉลากเพื่อสุ่มหาผู้ได้รับของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใด
(3) มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ลูกค้าจะได้รับของสมนาคุณ สิทธิ หรือประโยชน์อื่นใด ที่มีความชัดเจน ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไม่ทำให้สำคัญผิด เหมาะสม และเป็นธรรม
(4) มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าเป็นการทั่วไปในระยะเวลาที่เหมาะสมเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย
(5) หากเป็นการส่งเสริมการขายหน่วยลงทุนของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม ผู้ประกอบธุรกิจต้องไม่คิดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายจากกองทุนรวม
หมวด 7
ข้อกำหนดตามลักษณะเฉพาะของการให้บริการ
ส่วนที่ 1
การวิเคราะห์การลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
ข้อ 49 ผู้ประกอบธุรกิจที่จัดให้มีการวิเคราะห์การลงทุนในผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนให้กับลูกค้าต้องจัดให้มีระบบงานและมาตรการเพิ่มเติมจากที่กำหนดในข้อ 12 ในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) มาตรการป้องกันมิให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนนำข้อมูลที่มีนัยสำคัญและยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน ไปหาประโยชน์หรือเปิดเผยต่อบุคคลอื่น
(2) มาตรการป้องกันมิให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนรับค่าตอบแทนจากบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียกับการวิเคราะห์การลงทุนนั้น
(3) ระบบควบคุมดูแลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ โดยไม่ถูกครอบงำหรือได้รับอิทธิพลจากผู้ออกผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนหรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียในการจัดทำการวิเคราะห์การลงทุน
(4) ระบบควบคุมดูแลให้บุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้เป็นไปตามประเภทหรือขอบเขตการวิเคราะห์การลงทุนตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 50 ในกรณีที่เป็นการวิเคราะห์การลงทุนโดยใช้ข้อมูลของบุคคลอื่น ผู้ประกอบธุรกิจต้อง
(1) พิจารณาคัดเลือกข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นปัจจุบัน
(2) ตรวจสอบและระบุแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมได้
(3) ดูแลให้การใช้ข้อมูลเป็นไปตามกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดสิทธิของบุคคลที่เป็นเจ้าของข้อมูล
ข้อ 51 การวิเคราะห์การลงทุนที่จัดทำในรูปบทวิเคราะห์หรือรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรอื่นใด ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
(1) มีการกำหนดลักษณะความเสี่ยงและความเหมาะสมในการลงทุนอย่างครบถ้วน
(2) มีการแสดงข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ที่ชัดเจน โดยข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นปัจจุบัน ไม่มีลักษณะที่อาจทำให้สำคัญผิด และมีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ
(3) ไม่อ้างอิงกับข้อมูลที่ไม่มีแหล่งที่มาหรือที่มีการปฏิเสธว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
(4) ไม่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นหรือยุยงให้ลูกค้าใช้บริการเพื่อลงทุนหรือทำธุรกรรมบ่อยครั้ง หรือเร่งรัดให้มีการใช้บริการเพื่อการลงทุนหรือเข้าทำธุรกรรม
(5) จัดทำโดยอาศัยหลักวิชาอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป
(6) ในสาระที่เป็นการตีความ คาดการณ์ ประเมิน หรือความเห็น จะต้องมีการระบุลักษณะเช่นนั้นไว้อย่างชัดเจน และต้องแสดงเหตุผลหรือที่มาของการตีความ คาดการณ์ ประเมิน หรือความเห็นนั้นด้วยในการวิเคราะห์การลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำบทวิเคราะห์ขององค์กรหรือสถาบันที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดทำบทวิเคราะห์ที่สำนักงานยอมรับ หรือเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดโดยสมาคมด้วย
ข้อ 52 ในการเผยแพร่การวิเคราะห์การลงทุนไม่ว่าช่องทางหรือวิธีการอื่นใด ที่จัดทำในรูปแบบบทวิเคราะห์หรือรูปแบบลายลักษณ์อักษรอื่นใด ผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติดังนี้
(1) ตรวจสอบความถูกต้องและเหมาะสมของการวิเคราะห์การลงทุนก่อนนำไปเผยแพร่
(2) จัดให้บุคลากรที่ทำหน้าที่แนะนำการลงทุนทำความเข้าใจและนำบทวิเคราะห์การลงทุนนั้นไปใช้ประกอบการให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้อย่างเหมาะสม
(3) นำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าแต่ละประเภท โดยให้พิจารณาจากข้อมูลของลูกค้าที่ได้จากการทำความรู้จักลูกค้าตามส่วนที่ 1 ของหมวด 5
(4) เมื่อมีการเสนอการวิเคราะห์การลงทุนตาม (3) แล้ว ต้องมีการนำเสนอการวิเคราะห์การลงทุนต่อลูกค้านั้นอย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมกับภาวะการลงทุนหรือความต้องการของลูกค้า
ข้อ 53 ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีการมอบหมายบุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนผ่านสื่อไว้อย่างชัดเจน โดยบุคลากรดังกล่าวต้องมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์อย่างเพียงพอที่จะทำหน้าที่วิเคราะห์การลงทุนดังกล่าวได้ ก่อนการวิเคราะห์การลงทุนผ่านสื่อ ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้บุคลากรตามวรรคหนึ่งแสดงตนและให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเภทนักวิเคราะห์ที่ตนได้รับความเห็นชอบให้ทำหน้าที่ได้
ข้อ 54 ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะตราสารแห่งหนี้หรือหน่วยลงทุนต้องจัดทำบทวิเคราะห์หุ้นด้านปัจจัยพื้นฐาน (fundamental analysis) และนำเสนอข้อมูลตามบทวิเคราะห์ดังกล่าวต่อลูกค้า โดยการจัดทำ และนำเสนอข้อมูลบทวิเคราะห์ให้เป็นไปตามแนวทางเกี่ยวกับการจัดทำบทวิเคราะห์ที่สมาคมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน
ส่วนที่ 2
การให้บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
ที่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุน
ข้อ 55 ก่อนการขายหน่วยลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีการให้คำแนะนำที่เหมาะสมถูกต้องตรงตามวัตถุประสงค์และความต้องการของลูกค้า โดยพิจารณาจากผลการประเมินความเหมาะสมตามข้อ 34
ข้อ 56 ในการให้บริการเพื่อซื้อขายหน่วยลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย
(1) จัดให้การซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นไปตามโครงการจัดการกองทุน โดยหากจำเป็นต้องให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนที่แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการลงทุน ต้องเป็นการแตกต่างในรายละเอียดที่ไม่เกินกว่าที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุน และต้องเปิดเผยให้ลูกค้าทราบอย่างครบถ้วนและชัดเจน
(2) จัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นไปตามข้อกำหนดแห่งประกาศที่เกี่ยวข้อง
(3) จัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยลงทุนที่ให้บริการซื้อขายให้ลูกค้าทราบอย่างต่อเนื่อง
(4) จัดการและจัดเก็บเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนเพื่อใช้ในการซื้อขายหน่วยลงทุนของลูกค้าอย่างเหมาะสมเพื่อมิให้เงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนปะปนกับทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ประกอบธุรกิจ
(5) คืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนให้แก่ลูกค้าโดยไม่ชักช้าในกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับการจัดสรรหน่วยลงทุนเพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากเงินดังกล่าวได้โดยเร็วที่สุด
ข้อ 57 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อลูกค้า (omnibus account) ผู้ประกอบธุรกิจต้องมีระบบงานที่รองรับการให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในการให้บริการดังกล่าว ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะได้รับการปฏิบัติต่อลูกค้าในเรื่องใดที่มีผลให้ลูกค้าได้รับเงื่อนไขหรือสิทธิประโยชน์แตกต่างจากลูกค้าที่ใช้บริการจากบริษัทจัดการกองทุนรวม รวมทั้งต้องจัดให้มีหลักฐานที่แสดงได้ว่าลูกค้าได้รับทราบและยอมรับเงื่อนไขการให้บริการที่แตกต่างดังกล่าวด้วย ผู้ประกอบธุรกิจต้องดูแลให้การให้บริการตามวรรคหนึ่งไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย และต้องไม่ทำให้ลูกค้าเสียสิทธิความเป็นเจ้าของหรือเสียผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้บริการด้วย
ข้อ 58 ในกรณีที่เป็นการขายหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ที่ผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินค่าสั่งซื้อหน่วยลงทุนให้หรือรับเงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนจากบริษัทจัดการกองทุนรวม ผู้ประกอบธุรกิจต้องนำส่งเงินให้หรือรับเงินจากบริษัทจัดการกองทุนรวมโดยไม่ชักช้า
ข้อ 59 ในกรณีที่ลูกค้าใช้บริการเพื่อซื้อขายหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์เป็นครั้งแรกสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุนแต่ละกรมธรรม์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้สิทธิแก่ลูกค้าในการยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายคืนหน่วยลงทุนดังกล่าว โดยในกรณีที่ลูกค้าใช้สิทธิขายคืนหน่วยลงทุนควบคู่กรมธรรม์ ผู้ประกอบธุรกิจจะเก็บค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนดังกล่าวมิได้
ข้อ 60 ผู้ประกอบธุรกิจจะซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในตลาดรองได้ เมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) โครงการจัดการกองทุนรวม และข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม ต้องไม่มีข้อจำกัดการโอนหน่วยลงทุนที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้บริการซื้อขาย
(2) ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนตรงกับวันที่บริษัทจัดการกองทุนรวมเปิดขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจต้องซื้อขายหน่วยลงทุนในราคาเดียวกับราคาขายหรือราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุนที่ได้คำนวณตามวิธีการที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
(3) การให้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนในกรณีอื่นนอกเหนือจาก (2) ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปิดเผยมูลค่าหน่วยลงทุนที่บริษัทจัดการกองทุนรวมคำนวณและประกาศล่าสุด ตลอดจนข้อมูลอื่นที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งสามารถทำให้ลูกค้าทราบถึงความแตกต่างระหว่างการซื้อขายหน่วยลงทุนกับผู้ประกอบธุรกิจกับการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมได้ ความในวรรคหนึ่ง (2) และ (3) มิให้นำมาใช้บังคับกับการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟ
ส่วนที่ 3
การค้าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็น
หลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้
ข้อ 61 ในกรณีที่เป็นการให้บริการเพื่อค้าผลิตภัณฑ์ในตลาดทุนที่เป็นหลักทรัพย์ ประเภทตราสารหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องให้ข้อมูลแก่ลูกค้าอย่างเพียงพอเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อขาย โดยอย่างน้อยต้องมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบราคาที่เสนอซื้อขาย เงื่อนไข ระยะเวลาการซื้อขาย และเหตุแห่งการปฏิเสธไม่รับซื้อขาย อย่างชัดเจนด้วย
ข้อ 62 ผู้ประกอบธุรกิจที่ค้าหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ต้องเป็นสมาชิกของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เพื่อประโยชน์ในการรายงานข้อมูลการซื้อขายตราสารหนี้
ข้อ 63 ผู้ประกอบธุรกิจที่ค้าหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ต้องแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการซื้อขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงาน สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือหน่วยงานอื่นที่สำนักงานยอมรับ
ส่วนที่ 4
การให้บริการที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน
ที่เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 64 ในส่วนนี้
“ผู้ลงทุนสถาบัน” หมายความว่า ผู้ลงทุนสถาบันตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดประเภทนิติบุคคลที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเพิ่มเติม
“ศูนย์ซื้อขายสัญญา” หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.
ข้อ 65 การให้บริการนอกศูนย์ซื้อขายสัญญาของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการได้เฉพาะกับลูกค้าที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น การให้บริการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับคู่สัญญาที่เป็นผู้ลงทุนสถาบันเท่านั้น
ข้อ 66 การให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นผู้ค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าเป็นคู่สัญญาในการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้เฉพาะกับลูกค้าดังต่อไปนี้
(1) ผู้ลงทุนสถาบัน
(2) นิติบุคคลอื่นที่ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหรือมูลค่าของสินทรัพย์ หนี้สิน หรือภาระผูกพันที่นิติบุคคลดังกล่าวมีอยู่หรือจะมีในอนาคตอันใกล้อันเนื่องมาจากการประกอบธุรกิจในเชิงพาณิชย์
ข้อ 67 ในการให้บริการแก่ลูกค้าตามข้อ 66(2) ให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าเป็นคู่สัญญากับลูกค้าได้เฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีลักษณะเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการป้องกันความเสี่ยงของลูกค้า โดยต้องมีความเสี่ยง (risk profile) ในทางตรงกันข้ามกับความเสี่ยงของลูกค้าที่มีอยู่ในขณะทำสัญญา หรือเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สามารถลดหรือจำกัดความเสี่ยงของลูกค้าที่มีอยู่ในขณะทำสัญญาอย่างมีนัยสำคัญ และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงอื่นเพิ่มเติม ยกเว้นความเสี่ยงที่เกิดจากคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นเองในการให้บริการตามวรรคหนึ่ง ผู้ประกอบธุรกิจต้องตรวจสอบจนมั่นใจว่าผู้บริหารสูงสุดหรือผู้ได้รับมอบอำนาจของลูกค้าได้ให้ความเห็นชอบในการเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับผู้ประกอบธุรกิจก่อนเข้าทำสัญญาแล้ว
ส่วนที่ 5
การให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 68 ในการให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการดังต่อไปนี้เพิ่มเติมด้วย
(1) เมื่อลูกค้ามอบหมายให้ขายหลักทรัพย์โดยที่ผู้ประกอบธุรกิจยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง ผู้ประกอบธุรกิจต้อง
(ก) ให้ลูกค้านำหลักทรัพย์หรือใบตอบรับการโอนหลักทรัพย์ที่นายทะเบียนเป็นผู้ออกหรือตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์มามอบไว้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้ขายหลักทรัพย์นั้น
(ข) บันทึกบัญชีการขายหลักทรัพย์นั้นให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริงไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้ขายหลักทรัพย์นั้น
(ค) ดำเนินการส่งมอบเงินค่าขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าในวันทำการที่สามนับแต่วันที่ขายหลักทรัพย์นั้น
(2) เมื่อลูกค้ามอบหมายให้ซื้อหลักทรัพย์ใด ผู้ประกอบธุรกิจต้อง
(ก) ให้ลูกค้าทำสัญญายินยอมว่าในกรณีที่ลูกค้าไม่ชำระราคาหลักทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตาม (2)(ค) ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายหลักทรัพย์นั้นได้ทันทีและยินยอมชดใช้ค่าเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายหลักทรัพย์นั้น
(ข) บันทึกบัญชีการซื้อหลักทรัพย์นั้นให้ครบถ้วนและตรงต่อความเป็นจริง พร้อมทั้งแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงจำนวนและราคาของหลักทรัพย์ที่ซื้อได้ ไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ได้ซื้อหลักทรัพย์นั้น
(ค) ดำเนินการให้ลูกค้าชำระราคาทันทีหรืออย่างช้าไม่เกินสามวันทำการนับแต่วันที่ซื้อหลักทรัพย์ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการซื้อหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งต้องส่งเงินเข้ามาในประเทศไทยเพื่อชำระราคาหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการให้ลูกค้าชำระราคาภายในสี่วันทำการนับแต่วันที่ซื้อหลักทรัพย์ หากลูกค้าไม่สามารถชำระราคาหลักทรัพย์ได้ ผู้ประกอบธุรกิจต้องดำเนินการขายหลักทรัพย์นั้นไม่ช้ากว่าวันทำการถัดจากวันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว
(ง) ดำเนินการส่งมอบหลักทรัพย์ให้ลูกค้าภายในสี่วันทำการนับแต่วันที่ซื้อหลักทรัพย์ โดยให้รวมถึงการส่งมอบหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีที่มีการนำหลักทรัพย์ไปลงทะเบียนโอนหลักทรัพย์หรือแยกหลักทรัพย์กับผู้ออกหลักทรัพย์และยังไม่ได้รับหลักทรัพย์นั้นจากผู้ออกหลักทรัพย์
(3) เมื่อลูกค้ามอบหมายให้ผู้ประกอบธุรกิจซื้อหลักทรัพย์และมอบหมายให้ผู้ประกอบธุรกิจขายหลักทรัพย์ที่ซื้อนั้นโดยที่ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจต้อง
(ก) ให้ลูกค้าชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์ก่อนจึงจะชำระเงินค่าขายหลักทรัพย์นั้นให้ลูกค้า โดยจะใช้การหักกลบราคาซื้อและราคาขายมิได้
(ข) ชำระเงินค่าขายหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้า โดยจ่ายเช็คขีดคร่อมระบุข้อความเข้าบัญชีผู้รับเงินเท่านั้น
หมวด 8
บทเฉพาะกาล
ข้อ 69 ในการปฏิบัติตามประกาศนี้ในรายละเอียด ให้ถือปฏิบัติตามข้อกำหนดตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 34 /2556 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 รวมทั้งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แนวทาง คำสั่ง และหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว หรือที่ยังมีผลใช้บังคับเนื่องจากบทเฉพาะกาลของประกาศดังกล่าว เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ จนกว่าจะได้มีประกาศ แนวทาง คำสั่ง หรือหนังสือเวียน ที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติตามประกาศนี้ใช้บังคับ
ข้อ 70 ในกรณีที่มีประกาศฉบับอื่นใดอ้างอิงประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ถูกยกเลิกโดยประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทธ. 34 /2556 เรื่อง การยกเลิกประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556 ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงประกาศฉบับนี้
ข้อ 71 ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกรรมการอิสระตามข้อกำหนดแห่งประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าวให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558
ข้อ 72 ในกรณีที่ข้อตกลงในการให้บริการแก่ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจยังไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดตามประกาศนี้ ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นไปตามประกาศนี้ภายในโอกาสแรกที่สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558
ประกาศ ณ วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2556
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน