หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมและหน้าที่ของบริษัทจัดการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 14, 2013 16:16 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน

ที่ ทน. 46/2556

เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม

และหน้าที่ของบริษัทจัดการ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 มาตรา 117 และมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป

ข้อ 2 ประกาศนี้เป็นการกำหนดข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแต่ละกองทุนรวม แต่มิให้นำมาใช้บังคับกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้

(1) กองทุนรวมอีทีเอฟที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่สองตามมติที่ประชุมกลุ่มธนาคารกลางสมาชิก Executives Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP)

(2) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนซึ่งเป็นคนต่างด้าว

(3) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนประเภทสถาบัน

(4) กองทุนรวมดังต่อไปนี้ ที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมก่อนวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549

(ก) กองทุนรวมปิดที่มีข้อกำหนดว่าบริษัทจัดการจะขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวและได้กำหนดวันสิ้นอายุโครงการไว้อย่างแน่นอนในโครงการ โดยไม่มีการขยายอายุโครงการ

(ข) กองทุนรวมเปิดที่มีข้อกำหนดในโครงการว่าบริษัทจัดการจะขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียว

(ค) กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ

(5) กองทุนรวมที่มีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว

ข้อ 3 ประกาศนี้มีข้อกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในข้อผูกพันและโครงการ โดยมีรายละเอียดตามหมวด 1

(2) การดำเนินการของบริษัทจัดการเพื่อให้การถือหน่วยลงทุนเป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน โดยมีรายละเอียดตามหมวด 2

(3) มาตรการบังคับและอำนาจของสำนักงาน โดยมีรายละเอียดตามหมวด 3

ข้อ 4 สำนักงานอาจกำหนดแนวทาง (guideline) การปฏิบัติในรายละเอียดของข้อกำหนดตามประกาศนี้ เพื่อเป็นการให้แนวทางปฏิบัติที่ถือว่าเหมาะสมและสอดคล้องตามประกาศนี้และหากบริษัทจัดการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าบริษัทจัดการมีการปฏิบัติตามข้อกำหนดในประกาศนี้ในเรื่องที่มีการออกแนวทางนั้น

ข้อ 5 ในประกาศนี้

“บริษัทจัดการ” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม

“กลุ่มบุคคลเดียวกัน” หมายความว่า บุคคลที่มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะดังต่อไปนี้

(1) คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) นิติบุคคล และผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนของนิติบุคคลนั้นซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลดังกล่าวไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรือความเป็นหุ้นส่วนทั้งหมด

(3) กองทุนส่วนบุคคลของบุคคลตาม (1) หรือ (2) ที่ไม่ใช่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวมตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวมตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยรายละเอียดของโครงการจัดการกองทุนรวม

“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่เป็นหน่วยลงทุน

หมวด 1

หลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน

ข้อ 6 ในการจัดตั้งกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกำหนดรายการดังต่อไปนี้ไว้ในข้อผูกพัน

(1) ข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 และข้อยกเว้นตามข้อ 8

(2) เงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนกรณีที่ถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 9

ข้อ 7 ข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนที่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดจะถือได้ในแต่ละกองทุนรวมต้องไม่เกินหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม

ข้อ 8 ข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ให้มีข้อยกเว้นได้ในกรณีดังต่อไปนี้

(1) กรณียกเว้นให้ถือหน่วยลงทุนได้โดยไม่จำกัดสัดส่วนสำหรับผู้ถือหน่วยลงทุนดังต่อไปนี้

(ก) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

(ข) กองทุนประกันสังคม

(ค) กองทุนการออมแห่งชาติ

(ง) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

(จ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(ฉ) กองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนทั่วไป

(ช) กองทุนต่างประเทศที่มีลักษณะตาม (ก) ถึง (ฉ)

(ซ) กองทุนอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกับกองทุนตาม (ก) ถึง (ฉ)

(ฌ) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยนอกเหนือจาก (ก) ถึง (ฉ) ซึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เช่น ธนาคารออมสิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิ หรือวัด เป็นต้น

(ญ) บุคคลอื่นที่ได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานเมื่อมีเหตุจำเป็นและสมควร

(2) กรณียกเว้นให้โดยผ่อนคลายสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน หรือเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไข ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

(ก) กรณีที่เป็นการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟโดยผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ดูแลสภาพคล่องที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการ อาจถือหน่วยลงทุนได้โดยไม่จำกัดสัดส่วน ทั้งนี้ เฉพาะในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมจนถึงวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่เริ่มซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟดังกล่าวในตลาดรอง

(ข) กรณีของกองทุนรวมที่มีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนตามอัตราผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหน่วยลงทุน ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ได้ไม่เกินสัดส่วนที่ระบุไว้ในโครงการ ทั้งนี้ เมื่อได้รับการผ่อนผันจากสำนักงานตามเหตุจำเป็นและสมควร

(ค) กรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควรอื่นใด ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 7 ได้แต่ไม่เกินร้อยละห้าสิบของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด โดยได้รับการผ่อนผันจากสำนักงาน ทั้งนี้ ในการผ่อนผันดังกล่าว ให้สำนักงานพิจารณาถึงประโยชน์โดยรวมของผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวเป็นสำคัญ

“ผู้ลงทุนรายใหญ่” และ “ผู้ดูแลสภาพคล่อง” ตามวรรคหนึ่ง (2)(ก) ให้หมายความถึงผู้ลงทุนรายใหญ่และผู้ดูแลสภาพคล่อง ตามที่กำหนดไว้ในประกาศที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอีทีเอฟ

ข้อ 9 เงื่อนไขเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหน่วยลงทุนกรณีที่ถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน ต้องมีสาระสำคัญอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(1) บริษัทจัดการหรือนายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนจะปฏิเสธการโอนหน่วยลงทุน ในกรณีที่การถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน

(2) การจำกัดสิทธิรับเงินปันผลของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

(ก) บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดที่ถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน จะถูกจำกัดสิทธิรับเงินปันผลในส่วนที่ถือเกินนั้น เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้

1. การเกินสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนมิได้เกิดจากการได้หน่วยลงทุนมาเพิ่มเติม

2. การเกินสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนเป็นกรณีข้อยกเว้นข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 8

(ข) บริษัทจัดการจะยกเงินปันผลส่วนที่ถูกจำกัดสิทธิตาม (ก) ให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน

(ค) ในระหว่างการดำเนินการเพื่อยกเงินปันผลให้เป็นรายได้ของแผ่นดิน บริษัทจัดการจะจัดทำบัญชีและแยกเงินปันผลส่วนดังกล่าวออกจากทรัพย์สินอื่นของกองทุนรวม โดยไม่นำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนรวม

(3) ในกรณีที่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะไม่นับคะแนนเสียงส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกองทุนรวม และในกรณีที่กองทุนรวมมีการแบ่งชนิดหน่วยลงทุนหากเป็นการขอมติรายชนิดหน่วยลงทุน บริษัทจัดการจะไม่นับคะแนนเสียงส่วนที่เกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนชนิดนั้น เว้นแต่ชนิดหน่วยลงทุนนั้นมีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเพียงรายเดียวหรือกลุ่มเดียวเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนชนิดนั้น บริษัทจัดการจะนับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวเต็มตามจำนวนที่ถืออยู่

หมวด 2

หน้าที่ของบริษัทจัดการเพื่อให้การถือหน่วยลงทุน

เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน

ข้อ 10 เพื่อมิให้บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนในแต่ละกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) จัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่บุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดไม่เกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน และดูแลให้ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนจัดสรรหน่วยลงทุนไม่เกินข้อจำกัดดังกล่าวด้วย

(2) ในกรณีที่มีบุคคลอื่นเป็นนายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการแจ้งให้นายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนทราบถึงข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน และดูแลให้นายทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนปฏิเสธการโอนหน่วยลงทุนหากมีการถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน

(3) ตรวจสอบสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดในแต่ละกองทุนรวมเพื่อให้เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน และดำเนินการให้ผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนตรวจสอบและรายงานต่อบริษัทจัดการเมื่อพบการถือหน่วยลงทุนที่ไม่เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน

ข้อ 11 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการถือหน่วยลงทุนเองโดยตรงหรือผ่านบุคคลอื่น ให้บริษัทจัดการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) กรณีการเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนที่เกิดจากการได้หน่วยลงทุนมาเพิ่มเติม ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) รายงานต่อสำนักงานภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่บริษัทจัดการรู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งนี้ การรายงานดังกล่าว ให้แสดงแนวทางการแก้ไขเพื่อให้การถือหน่วยลงทุนเป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนด้วย

(ข) ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมเปิดและกองทุนรวมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เปิดเผยข้อมูลเมื่อมีการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดให้ผู้ลงทุนทราบในช่องทางที่เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. กรณีกองทุนรวมเปิด ให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่มีการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนครั้งแรกของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดและต้องปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวให้เป็นปัจจุบันทุกเดือน

2. กรณีกองทุนรวมที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวภายในห้าวันทำการนับแต่วันที่ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุน

ทั้งนี้ บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อตกลงเพื่อให้นายทะเบียนแจ้งให้บริษัทจัดการทราบหากมีการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนดังกล่าวด้วย

(ค) แก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดให้เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน (เช่น เสนอขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติม) ภายในสองเดือนนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบุคคลนั้นหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันนั้นถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตาม ข้อจำกัดดังกล่าว เว้นแต่เป็นกองทุนรวมที่กำหนดเวลาซื้อขายหน่วยลงทุนแต่ละครั้งห่างกันนานกว่าสองเดือน ให้ดำเนินการแก้ไขภายในวันสุดท้ายของกำหนดเวลาซื้อขายหน่วยลงทุนครั้งถัดไป

(2) กรณีการเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนโดยไม่ได้เกิดจากการได้หน่วยลงทุนมาเพิ่มเติมหรือเป็นกรณีที่ได้รับยกเว้นตามข้อ 8 ให้บริษัทจัดการเปิดเผยข้อมูลการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ใน (1)(ข)

ข้อ 12 ในกรณีที่มีบุคคลใดถือหน่วยลงทุนเพื่อบุคคลอื่นผ่านบัญชีแบบไม่เปิดเผยชื่อ (omnibus account) บริษัทจัดการต้องจัดให้มีข้อตกลงเพื่อให้บุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีนั้นดำเนินการตามข้อกำหนดในข้อผูกพันในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายเงินปันผลและการนับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุน และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินการเมื่อมีการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดตามข้อ 10(1) และ (3) ข้อ 11(1)(ก) และ (ค) โดยอนุโลม ทั้งนี้ การรายงานเกี่ยวกับการถือหน่วยลงทุนเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนตามข้อ 11(1)(ก) ให้บุคคลที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีดังกล่าวรายงานต่อบริษัทจัดการกองทุนรวมแทนการรายงานต่อสำนักงาน

หมวด 3

มาตรการบังคับและอำนาจของสำนักงาน

ข้อ 13 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยว่ามีบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดถือหรือจะถือหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน หรือมีการใช้กองทุนรวมเพื่อแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือธุรกิจของบุคคลใด ให้สำนักงานมีอำนาจดำเนินการดังต่อไปนี้

(1) สั่งให้บริษัทจัดการชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

(2) สั่งให้บริษัทจัดการดำเนินการเพื่อให้การถือหน่วยลงทุนของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน หรือดำเนินการใด ๆ เพื่อมิให้กองทุนรวมถูกใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์จากการลงทุนของบุคคลใดเป็นการเฉพาะ หรือเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพย์สินหรือธุรกิจของบุคคลใด ภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด

ข้อ 14 ในกรณีที่บริษัทจัดการจัดสรรหน่วยลงทุนไม่เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน อันเป็นเหตุให้สำนักงานปฏิเสธการรับจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมและการแก้ไขเพิ่มเติมรายการทางทะเบียน ให้ถือว่าการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมนั้นเป็นอันสิ้นสุดลง

เมื่อปรากฏกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนและผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากเงินดังกล่าว (ถ้ามี) ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้น ตามสัดส่วนของเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุน โดยในกรณีที่บริษัทจัดการไม่สามารถคืนเงินค่าจองซื้อและผลประโยชน์ (ถ้ามี) ให้แก่ผู้จองซื้อหน่วยลงทุนได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้บริษัทจัดการชำระดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลานั้นจนถึงวันที่บริษัทจัดการชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้ครบถ้วน

ข้อ 15 ในกรณีดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมได้

(1) บริษัทจัดการไม่แก้ไข หรือไม่สามารถแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในข้อ 11(1)(ค)

(2) บริษัทจัดการไม่แก้ไข ไม่สามารถแก้ไข หรือไม่ดำเนินการตามที่สำนักงานมีคำสั่งตามข้อ 13(2)

ในกรณีที่สำนักงานเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง (2) โดยการเพิกถอนดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการคืนเงินค่าจองซื้อหน่วยลงทุนตามข้อ 14 วรรคสอง โดยอนุโลม หากการเพิกถอนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการดำเนินการตามรายการที่กำหนดไว้ในข้อผูกพัน

ข้อ 16 ในการใช้ดุลยพินิจสั่งเพิกถอนการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมตามข้อ 15 ให้สำนักงานนำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณา

(1) พฤติกรรมของบริษัทจัดการในการปฏิบัติหรือดูแลให้มีการปฏิบัติตามประกาศนี้

(2) ผลกระทบหรือความเสียหายที่ผู้ถือหน่วยลงทุนรายอื่นอาจได้รับ

(3) ความสามารถของบริษัทจัดการเพื่อแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศนี้

(4) ทางเลือกอื่นในการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามประกาศนี้

หมวด 4

บทเฉพาะกาล

ข้อ 17 มิให้นำความในประกาศนี้มาใช้บังคับกับกองทุนรวมดังต่อไปนี้ที่จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2549 จนถึงก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ ให้กองทุนรวมดังกล่าวปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องการถือหน่วยลงทุนเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

(ก) กองทุนรวมปิดที่มีข้อกำหนดว่าบริษัทจัดการจะขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวและได้กำหนดวันสิ้นอายุโครงการไว้อย่างแน่นอนในโครงการ โดยไม่มีการขยายอายุโครงการ

(ข) กองทุนรวมเปิดที่มีข้อกำหนดในโครงการว่าบริษัทจัดการจะขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียว

(ค) กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ

ข้อ 18 ในกรณีของกองทุนรวมที่บริษัทจัดการได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมจากสำนักงานอยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ยังมิได้มีการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวต่อประชาชน ให้บริษัทจัดการดำเนินการขอความเห็นชอบจากสำนักงานเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมโครงการและข้อผูกพันให้เป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้ให้แล้วเสร็จก่อนการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชนครั้งแรก

ข้อ 19 ในกรณีของกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมก่อนหรือในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ให้บริษัทจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่โครงการหรือข้อผูกพันขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดในประกาศนี้ ให้บริษัทจัดการดำเนินการดังต่อไปนี้

(ก) ยื่นคำขอความเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมโครงการจากสำนักงานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้ภายในสองเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

(ข) ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศนี้ภายในสองเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ โดยให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม

(2) ในกรณีที่มีการถือหน่วยลงทุนโดยบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลเดียวกันใดเกินข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุน ให้บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามข้อจำกัดการถือหน่วยลงทุนที่กำหนดในประกาศนี้ ภายในระยะเวลาดังต่อไปนี้

(ก) กรณีกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมก่อนหรือในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ให้ดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ

(ข) กรณีกองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมภายหลังวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 จนถึงวันก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนภายในสองเดือนนับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับในระหว่างที่บริษัทจัดการดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง (2) มิให้นำความในข้อ 9(2) มาใช้บังคับกับผู้ถือหน่วยลงทุนในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในกรณีที่บริษัทจัดการไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสัดส่วนการถือหน่วยลงทุนให้แล้วเสร็จตามตามวรรคหนึ่ง (2) สำนักงานอาจไม่อนุมัติคำขอจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมใหม่ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมยื่นต่อสำนักงาน หรือสั่งระงับการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมจากสำนักงานแล้ว หากบริษัทจัดการกองทุนรวมยังไม่ได้เสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวต่อประชาชน

ข้อ 20 ในกรณีที่มีประกาศฉบับใดอ้างอิงความหมายของคำว่า “กลุ่มบุคคลเดียวกัน” ให้เป็นไปตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ให้การอ้างอิงดังกล่าวหมายถึงการอ้างอิงความหมายของคำว่า “กลุ่มบุคคลเดียวกัน” ตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ประธานกรรมการ

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ