ที่ ทจ. 50/2556
เรื่อง การแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้เป็น
ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16/6 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 และมาตรา 35 มาตรา 117 และมาตรา 130 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 44 และมาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป
ข้อ 2 การแปลงสภาพกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และประกาศนี้
ข้อ 3 ในประกาศนี้
“การแปลงสภาพ” หมายความว่า การแปลงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
“กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
“หน่วยทรัสต์” หมายความว่า ใบทรัสต์ที่แสดงสิทธิของผู้ถือในฐานะผู้รับประโยชน์ในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
“กองทรัสต์” หมายความว่า ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
“บริษัทจัดการกองทุนรวม” หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม
“ผู้จัดการกองทรัสต์” หมายความว่า บุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทรัสต์ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์
“ที่ปรึกษาทางการเงิน” หมายความว่า ที่ปรึกษาทางการเงินที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่สำนักงานให้ความเห็นชอบ
“ข้อผูกพัน” หมายความว่า ข้อผูกพันระหว่างผู้ถือหน่วยลงทุนกับบริษัทจัดการกองทุนรวม
“ทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวม” หมายความว่า ทรัพย์สิน หนี้สินและความรับผิดของกองทุนรวม โดยไม่รวมถึงรายการที่กันไว้ดังต่อไปนี้
(1) ทรัพย์สินหรือเงินที่กันไว้เพื่อการชำระหนี้
(2) เงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนจากการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มารับเงินนั้น หรือไม่ยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คที่ได้รับจากการดำเนินการดังกล่าว
(3) ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีของกองทุนรวม
หมวด 1
ข้อกำหนดทั่วไปเกี่ยวกับการแปลงสภาพ
ข้อ 4 การแปลงกองทุนรวมให้เป็นกองทรัสต์ ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่เป็นการแปลงกองทุนรวมหนึ่งกองให้เป็นกองทรัสต์หนึ่งกอง โดยกำหนดอัตราการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกับหน่วยทรัสต์ในอัตราหนึ่งหน่วยลงทุนต่อหนึ่งหน่วยทรัสต์เท่านั้น และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ทั้งนี้ การเรียกประชุม หนังสือนัดประชุม และมติที่ประชุมดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2
(2) บุคคลที่ประสงค์จะเข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ของกองทรัสต์ที่แปลงมาจากกองทุนรวม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในหมวด 3
(3) บริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องดำเนินการตามแผนการแปลงสภาพ เลิกกองทุนรวมและชำระบัญชีของกองทุนรวม ที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดในหมวด 4
(4) ผู้จัดการกองทรัสต์ต้องดำเนินการเพื่อให้หน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์ที่แปลงมาจากกองทุนรวมเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแทนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวโดยไม่ชักช้า
หมวด 2
การเรียกประชุม หนังสือนัดประชุม และมติที่ประชุม
ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
ข้อ 5 ในการเรียกประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่อขออนุมัติการแปลงสภาพ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) จัดส่งหนังสือนัดประชุมถึงผู้ถือหน่วยลงทุนล่วงหน้าอย่างน้อยสิบสี่วันก่อนวันประชุม
(2) หนังสือนัดประชุมที่จัดส่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตาม (1) ต้องมีข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ถือหน่วยลงทุน และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(ก) ข้อมูลการลงทุนของกองทุนรวม มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม มูลค่าทรัพย์สินสุทธิและมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวม รวมทั้งจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวม ซึ่งจัดทำขึ้นล่าสุดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันก่อนวันประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน
(ข) ข้อมูลโดยสรุปเกี่ยวกับสัญญาต่าง ๆ ที่กองทุนรวมเข้าทำกับบุคคลอื่นและยังมีผลใช้บังคับอยู่ ณ ขณะนั้น และสถานะการดำเนินการให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งตกลงหรือยินยอมให้เปลี่ยนคู่สัญญาจากกองทุนรวมเป็นกองทรัสต์
(ค) สรุปประเด็นเปรียบเทียบสาระสำคัญและความแตกต่างของกองทุนรวมและกองทรัสต์ และลักษณะที่จะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการแปลงสภาพแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
1. ประเภทและวัตถุประสงค์ของโครงการจัดการกองทุนรวมและกองทรัสต์
2. นโยบายการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการกู้ยืมเงิน (ถ้ามี)
3. นโยบายการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวม และประโยชน์ตอบแทนของกองทรัสต์
4. การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
5. บุคคลที่เกี่ยวข้องในการแปลงสภาพ ซึ่งรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมและกองทรัสต์ ตลอดจนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของบุคคลดังกล่าว ในการแสดงข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแนบ
สรุปสาระสำคัญของร่างสัญญาก่อตั้งทรัสต์ประกอบด้วย
(ง) ผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจากการแปลงสภาพ โดยให้ระบุผลกระทบด้านภาระภาษีด้วย
(จ) แผนการแปลงสภาพ การเลิกกองทุนรวมและการชำระบัญชี โดยต้องแสดงข้อมูลอย่างน้อยเกี่ยวกับขั้นตอนการแปลงสภาพ สาระสำคัญ เงื่อนไข (ถ้ามี) การเลิกกองทุนรวม การชำระบัญชี และกำหนดเวลาโดยประมาณของการดำเนินการแต่ละขั้นตอน
การแสดงข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
1. การปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนเพื่อกำหนดสิทธิในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกับหน่วยทรัสต์
2. การขึ้นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นการชั่วคราว
3. การโอนทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวมไปยังกองทรัสต์การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกับหน่วยทรัสต์ การเลิกกองทุนรวม และการชำระบัญชีของกองทุนรวม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ในหมวด 4
4. การเวนคืนใบหน่วยลงทุน (ถ้ามี)
5. การดำเนินการในกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนใช้หน่วยลงทุนเป็นหลักประกันการชำระหนี้ (ถ้ามี)
6. การเพิกถอนหน่วยลงทุนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน และการนำหน่วยทรัสต์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(ฉ) ค่าใช้จ่ายในการแปลงสภาพ การเลิกกองทุนรวมและการชำระบัญชี ที่จะเรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือกองทรัสต์ (ถ้ามี)
(ช) ความเห็นของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเกี่ยวกับการแปลงสภาพ โดยให้ระบุผลกระทบที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจได้รับจากการลงมติในเรื่องนั้น ๆ รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของการแปลงสภาพ
(ซ) ข้อมูลอื่นใดที่สำนักงานประกาศกำหนด
(3) จัดให้ที่ปรึกษาทางการเงินอิสระซึ่งให้ความเห็นเกี่ยวกับการแปลงสภาพในหนังสือนัดประชุมตาม (2) (ช) ได้เข้าร่วมในการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเพื่ออธิบายและให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
ข้อ 6 ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนมีมติที่ชัดแจ้งในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) การแปลงสภาพและแผนการแปลงสภาพ
(2) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อผูกพันและโครงการจัดการกองทุนรวม (ถ้ามี)
(3) การเลิกกองทุนรวม
(4) การเปลี่ยนให้บุคคลอื่นเข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์แทนบริษัทจัดการกองทุนรวม หรือให้บุคคลอื่นเข้าเป็นทรัสตีแทนผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม (ถ้ามี)
มติที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่ง ในกรณีตาม (1) (2) และ (3) ต้องได้รับมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และในกรณีตาม (4) ต้องได้รับมติด้วยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ ต้องไม่นับคะแนนเสียงของผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในเรื่องที่ลงมติ
หมวด 3
การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่
ของกองทรัสต์ที่แปลงมาจากกองทุนรวม
ข้อ 7 การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ของกองทรัสต์ที่แปลงมาจากกองทุนรวม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่กำหนดในหมวดนี้ โดยบุคคลที่จะยื่นคำขออนุญาตตามประกาศนี้ได้จะต้องเป็นผู้ก่อตั้งทรัสต์ซึ่งจะเข้าเป็นผู้จัดการกองทรัสต์เมื่อมีการก่อตั้งกองทรัสต์แล้ว
ส่วนที่ 1
การยื่นคำขออนุญาต
ข้อ 8 ในการขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์ ให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตยื่นคำขออนุญาตต่อสำนักงานตามวิธีการที่สำนักงานประกาศกำหนด โดยอย่างน้อยต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตดังต่อไปนี้
(1) รายงานการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีมติตามข้อ 6
(2) หนังสือรับรองจากผู้ยื่นคำขออนุญาตและบริษัทจัดการกองทุนรวมที่แสดงว่าการเรียกประชุม หนังสือนัดประชุม และมติที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2
(3) ร่างสัญญาก่อตั้งทรัสต์
(4) ร่างสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทรัสต์
(5) แบบแสดงรายการข้อมูล หรือเอกสารที่แสดงสาระสำคัญตามแบบแสดงรายการข้อมูล
(6) หนังสือรับรองจากผู้ที่จะเข้ามาเป็นทรัสตีของกองทรัสต์ที่มีข้อความที่แสดงว่าบุคคลดังกล่าวยอมรับที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นทรัสตีของกองทรัสต์ โดยได้ศึกษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ขออนุญาตยื่นต่อสำนักงานแล้ว และรับรองว่าสัญญาก่อตั้งทรัสต์เป็นไปตามประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และตนมีความพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นทรัสตีของกองทรัสต์นั้น
(7) เอกสารหลักฐานอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด
คำขออนุญาตและเอกสารหลักฐานประกอบคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่งต้องมีกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันผู้ขออนุญาตลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องครบถ้วนของข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน
ให้ผู้ยื่นคำขออนุญาตตามวรรคหนึ่งชำระค่าธรรมเนียมคำขออนุญาตตามอัตราที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ และการขออนุมัติโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พร้อมกับการยื่นคำขออนุญาตดังกล่าว
ข้อ 9 ให้สำนักงานแจ้งผลการพิจารณาคำขออนุญาตภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานได้รับคำขออนุญาตพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานครบถ้วน
ในการพิจารณาคำขออนุญาต ให้สำนักงานมีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขออนุญาตมาชี้แจง หรือส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่มาชี้แจงหรือไม่ส่งเอกสารหลักฐานภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด ให้ถือว่าผู้ขออนุญาตไม่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์นั้นอีกต่อไป
ส่วนที่ 2
หลักเกณฑ์การอนุญาต
ข้อ 10 การขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์จะได้รับอนุญาตจากสำนักงานเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
(1) ได้รับมติโดยชัดแจ้งจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในหมวด 2
(2) ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการแปลงสภาพจะไม่สามารถกระทำได้ตามแผนการแปลงสภาพที่กำหนดในหมวด 4
(3) แสดงให้เห็นได้ว่ากองทุนรวมไม่มีข้อพิพาททางศาลซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือการบังคับคดี หรืออยู่ระหว่างการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ส่วนที่ 3
เงื่อนไขภายหลังการอนุญาต
ข้อ 11 ให้ผู้ได้รับอนุญาตตามส่วนที่ 2 ของหมวดนี้ ดำเนินการตามเงื่อนไขภายหลังการเสนอขายที่ใช้บังคับกับผู้ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ในการแปลงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นกองทรัสต์ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และเงื่อนไขเพิ่มเติมในหมวดนี้
ข้อ 12 ผู้ได้รับอนุญาตในฐานะผู้ก่อตั้งทรัสต์ต้องดำเนินการก่อตั้งกองทรัสต์ ด้วยการก่อสิทธิในทางทรัพย์สินให้แก่ทรัสตีภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต
การก่อสิทธิในทางทรัพย์สินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำผ่านการเข้าทำสัญญาที่มีข้อผูกพันว่าผู้ได้รับอนุญาตจะดำเนินการเพื่อให้กองทรัสต์ได้มาซึ่งทรัพย์สินของกองทุนรวมที่แปลงสภาพ โดยแลกเปลี่ยนกับการที่กองทรัสต์จะจำหน่ายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ทั้งหมดให้แก่กองทุนรวมนั้น
ข้อ 13 เมื่อก่อตั้งกองทรัสต์แล้วเสร็จ ให้ผู้ได้รับอนุญาตดำเนินการตามแผนการแปลงสภาพ เลิกกองทุนรวม และชำระบัญชีของกองทุนรวม ตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดในหมวด 4
ส่วนที่ 4
อำนาจของสำนักงานเกี่ยวกับการอนุญาต
ข้อ 14 ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่าเอกสารหรือข้อมูลที่ได้รับจากผู้ขออนุญาตมีข้อมูลไม่ครบถ้วน มีข้อความคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือในกรณีที่มีเหตุจำเป็นหรือกรณีอื่นใดที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน หรือต่อการตัดสินใจในการลงทุน สำนักงานอาจสั่งการให้ผู้ขออนุญาตดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแปลงสภาพหรือกองทรัสต์เพื่อให้ผู้ลงทุนได้ทราบ
(2) จัดให้มีการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่กองทรัสต์จะลงทุนใหม่
(3) จัดให้มีการตรวจสอบและสอบทาน (การทำ due diligence) หรือการให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่กองทรัสต์จะลงทุน
(4) จัดให้มีความเห็นทางกฎหมายในประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญหรือที่ไม่ชัดเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการแปลงสภาพหรือกองทรัสต์
ในกรณีที่ผู้ขออนุญาตไม่ปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าบุคคลนั้นไม่ประสงค์จะขออนุญาตเสนอขายหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์นั้นอีกต่อไป
ข้อ 15 ในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อสำนักงานที่เป็นเหตุอันควรสงสัยดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์ตามคำขออนุญาตได้
(1) ผู้ขออนุญาตหรือการเสนอขายหน่วยทรัสต์มีลักษณะหรือรูปแบบเป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะได้รับอนุญาตตามประกาศนี้ แต่มีข้อเท็จจริงที่ทำให้พิจารณาได้ว่าความมุ่งหมายหรือเนื้อหาสาระที่แท้จริง (substance) ของการเสนอขายหน่วยทรัสต์นั้นเข้าลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 หรือพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 หรือหลักเกณฑ์ที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว หรือประกาศนี้
(2) การเสนอขายหน่วยทรัสต์อาจขัดต่อนโยบายสาธารณะหรือนโยบายของรัฐ
(3) การเสนอขายหน่วยทรัสต์อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อตลาดทุนไทยโดยรวม หรือ
(4) การเสนอขายหน่วยทรัสต์อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ลงทุนโดยรวม หรืออาจทำให้ผู้ลงทุนโดยรวมไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือเพียงพอประกอบการตัดสินใจลงทุน
ข้อ 16 ในกรณีที่ปรากฏต่อสำนักงานภายหลังการอนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ว่าข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่สำนักงานนำมาพิจารณาเพื่ออนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ไม่ถูกต้องหรือเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์นั้นปรากฏต่อสำนักงานก่อนการอนุญาต สำนักงานอาจไม่อนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์นั้น ให้สำนักงานมีอำนาจดังนี้
(1) สั่งให้ผู้รับอนุญาต กรรมการ หรือผู้บริหารชี้แจง หรือเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนด และระงับการอนุญาตให้ออกหน่วยทรัสต์หรือให้ผู้ได้รับอนุญาตระงับการเสนอขายหน่วยทรัสต์ไว้ก่อนจนกว่าจะได้ชี้แจงหรือแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
(2) สั่งเพิกถอนการอนุญาตให้เสนอขายหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่
ในการสั่งการตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานคำนึงถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ ประกอบการพิจารณา
(1) ความร้ายแรงของข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
(2) ผลกระทบต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่จะเปลี่ยนเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์เมื่อเสร็จสิ้นการแปลงสภาพ
หมวด 4
แผนการแปลงสภาพ การเลิกกองทุนรวม
และการชำระบัญชีของกองทุนรวม
ข้อ 17 ในการแปลงสภาพ การเลิกกองทุนรวม และการชำระบัญชีของกองทุนรวมให้บริษัทจัดการกองทุนรวม ผู้จัดการกองทรัสต์ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามหมวด 3 และผู้ชำระบัญชีของกองทุนรวม ปฏิบัติตามมติที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนที่เป็นไปตามหมวด 2 และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขั้นต่ำดังต่อไปนี้
(1) การโอนทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวมไปยังกองทรัสต์ ให้เป็นไปตามข้อ 18
(2) การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์ การเลิกกองทุนรวม และการชำระบัญชีของกองทุนรวม ให้เป็นไปตามข้อ 19 ถึงข้อ 20
ข้อ 18 การโอนทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวมไปยังกองทรัสต์ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมและผู้จัดการกองทรัสต์ดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้ ภายในสามวันทำการนับแต่วันที่กองทรัสต์ได้ก่อตั้งขึ้นตามข้อ 12
(1) บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องดำเนินการให้ทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวมตกได้แก่กองทรัสต์ โดยแลกเปลี่ยนกับหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ของกองทรัสต์นั้น
(2) ผู้จัดการกองทรัสต์ต้องส่งมอบหน่วยทรัสต์ที่ออกใหม่ทั้งหมดของกองทรัสต์ให้แก่กองทุนรวม เพื่อแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวม
ในการส่งมอบทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวมให้แก่กองทรัสต์ตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อให้ทรัสตีของกองทรัสต์มีสิทธิหน้าที่โดยสมบูรณ์ และส่งมอบเอกสาร หลักฐาน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้จัดการกองทรัสต์และทรัสตีสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้ ในการส่งมอบดังกล่าว ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำและส่งหนังสือรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของสิ่งที่ส่งมอบด้วย
ข้อ 19 การสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมกับหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์ การเลิกกองทุนรวม และการชำระบัญชีของกองทุนรวมตามแผนการแปลงสภาพ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมเลิกกองทุนรวมภายในวันทำการถัดจากวันที่มีการโอนทรัพย์สินและภาระของกองทุนรวมไปยังกองทรัสต์ตามข้อ 18
ก่อนการเลิกกองทุนรวมตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแจ้งการเลิกกองทุนรวมต่อผู้ลงทุน ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าวันทำการตามวิธีการดังต่อไปนี้
(ก) การแจ้งต่อผู้ลงทุน ให้กระทำผ่านช่องทางที่ผู้ลงทุนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
(ข) การแจ้งต่อผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงาน ให้ทำเป็นหนังสือ
(2) ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนรวมไม่ได้ทำหน้าที่ชำระบัญชีของกองทุนรวมด้วยตนเอง ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมส่งมอบเอกสารหลักฐานที่มีข้อมูลที่จำเป็นต่อการชำระบัญชีให้แก่ผู้ชำระบัญชีโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ผู้ชำระบัญชีสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
(3) ให้ผู้ชำระบัญชีดำเนินการชำระบัญชีตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันเลิกกองทุนรวม เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากสำนักงานในกรณีที่มีเหตุจำเป็นและสมควร
(ก) ชำระหนี้หรือดำเนินการเพื่อชำระหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้วของกองทุนรวม ค่าธรรมเนียม ค่าภาระติดพัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่ต้องเสียในการชำระบัญชี ทั้งนี้ ให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อ 20 ด้วย
(ข) แบ่งหน่วยทรัสต์ให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่อปรากฏในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันที่กำหนดสิทธิในการสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนกับหน่วยทรัสต์ ให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า โดยต้องดำเนินการให้ผู้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมีชื่อเป็นผู้ถือหน่วยทรัสต์ของกองทรัสต์ตามอัตราการสับเปลี่ยนที่ได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน
(ค) ยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกกองทุนรวมต่อสำนักงานพร้อมทั้งจัดส่งรายงานผลการชำระบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่แบ่งหน่วยทรัสต์ตาม (ข) แล้วเสร็จ และดำเนินการโอนทรัพย์สินคงค้างให้แก่สำนักงาน (ถ้ามี)
(ง) นอกจากการดำเนินการตาม (ก) ถึง (ค) ให้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการอย่างอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การชำระบัญชีเสร็จสิ้น
ข้อ 20 ในกรณีที่กองทุนรวมมีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระแล้วและเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้หรือไม่สามารถรับชำระหนี้ได้ หรือมีเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืนจากการลดเงินทุนจดทะเบียนของกองทุนรวมที่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่มารับเงินนั้น หรือไม่ยื่นเช็คแก่ธนาคารเพื่อให้ใช้เงินตามเช็คที่ ได้รับจากการนั้น ให้ผู้ชำระบัญชีกันทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้หรือเงินดังกล่าวออกจากทรัพย์สินของกองทุนรวมและดำเนินการวางทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการชำระบัญชีของกองทุนรวมโดยอนุโลม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้มีการชำระหนี้ได้เมื่อเจ้าหนี้เรียกให้ชำระหนี้
หมวด 5
การผ่อนผันหลักเกณฑ์
ข้อ 21 เพื่อประโยชน์ในการแปลงสภาพ ให้การดำเนินการตามประกาศนี้ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คำสั่ง และหนังสือเวียนที่ออกหรือวางแนวปฏิบัติในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ข้อกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาขั้นต่ำในการถืออสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม
(2) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม และการจัดให้มีรายงานการประเมินค่าล่วงหน้าก่อนวันจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม
(3) ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนรวม ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนที่การปฏิบัติตามหมวด 4 ส่งผลให้กองทุนรวมไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในเรื่องนั้น ๆ ได้
ข้อ 22 ในกรณีที่เข้าลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ สำนักงานอาจผ่อนผันไม่นำหลักเกณฑ์ตามประกาศนี้มาใช้บังคับ
(1) มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนซึ่งทำให้พิจารณาได้ว่าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันไม่มีนัยสำคัญ และประโยชน์ที่จะได้ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนในการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขดังกล่าว
(2) ผู้อยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้มีข้อจำกัดตามกฎหมายอันทำให้ไม่สามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผัน
(3) ผู้อยู่ภายใต้บังคับของประกาศนี้มีมาตรการอื่นที่เพียงพอและสามารถทดแทน การปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือเงื่อนไขที่จะผ่อนผันนี้
การผ่อนผันตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความเพียงพอของข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน และมาตรการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ สำนักงานอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้อยู่ใต้บังคับของประกาศนี้ต้องปฏิบัติด้วยก็ได้
ประกาศ ณ วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556
(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ประธานกรรมการ
คณะกรรมการกำกับตลาดทุน