การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 12 )

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 19, 2013 16:22 —ประกาศ ก.ล.ต.

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ที่ สน. 43/2556

เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน

(ฉบับที่ 12 )

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 12 และข้อ 17 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทน. 27/2552 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 สำนักงานโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับตลาดทุนออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิก (ช) ใน (3) ของข้อ 2 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 5/3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 5/3 การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมในประเทศหรือต่างประเทศที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพล่วงหน้าก่อนการลงทุนในหน่วยลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ ในการขอความยินยอม บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลต้องอธิบายให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้าใจถึงลักษณะและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนในหน่วยลงทุนดังกล่าว ตลอดจนแนวทางการบริหารความเสี่ยงก่อนขอรับความยินยอมด้วย

ในกรณีที่เป็นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า กองทุนรวมต่างประเทศดังกล่าวต้องมีภาระผูกพันในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (derivatives exposure) ไม่เกินมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมต่างประเทศนั้นด้วย”

ข้อ 3 ให้ยกเลิกความใน (2) ของข้อ 35 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(2) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าต้องเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้บริษัทจัดการเข้าเป็นคู่สัญญาได้เฉพาะเพื่อการลดความเสี่ยงเท่านั้น

(ก) การเข้าเป็นคู่สัญญาในนามของกองทุนรวมตลาดเงิน หรือกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มีนโยบายการลงทุนลักษณะเดียวกับกองทุนรวมดังกล่าว

(ข) การเข้าเป็นคู่สัญญาในสัญญาเครดิตอนุพันธ์ในนามของกองทุน”

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความใน (3) ของข้อ 37 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 58/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(3) ดัชนีที่ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือและทำหน้าที่ได้อย่างอิสระจากบริษัทจัดการ ทั้งนี้ หากปรากฏว่าสถาบันดังกล่าวมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ บริษัทจัดการต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

(ก) สถาบันนั้นเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจัดการตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจัดการ

(ข) สถาบันนั้นมีบริษัทจัดการเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละสิบของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท”

ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 55 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 55 การคำนวณอัตราส่วนเพื่อการปฏิบัติตามข้อกำหนดในภาคนี้สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีหลายนโยบายการลงทุน ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลคำนวณแยกตามรายนโยบายการลงทุนแทนการคำนวณตามรายกองทุน”

ข้อ 6 ให้ยกเลิกความในข้อ 58 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 58 ในกรณีที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินที่นายจ้างหรือกลุ่มกิจการของนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้สั่งจ่าย ผู้รับรองผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา มีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ให้นับทรัพย์สินดังต่อไปนี้ รวมในอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง

(ก) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมหรือหน่วยทรัสต์ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนหรือหน่วยทรัสต์ไปลงทุนในทรัพย์สินของนายจ้างหรือกลุ่มกิจการของนายจ้างโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละหกสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมดังกล่าว

(ข) ทรัพย์สินอื่นใดที่สำนักงานกำหนด

(2) มิให้นับทรัพย์สินดังต่อไปนี้ รวมในอัตราส่วนการลงทุนตามวรรคหนึ่ง

(ก) ตราสารภาครัฐไทยตามข้อ 15(1) ซึ่งนายจ้างเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง ผู้ค้ำประกัน หรือคู่สัญญา

(ข) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของ กองทุนรวมนั้น

คำว่า “กลุ่มกิจการ” ตามวรรคหนึ่ง ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าว ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 65 และให้พิจารณาความเป็นกลุ่มกิจการตามที่กำหนดไว้ในข้อ 70

คำว่า “หน่วยทรัสต์” ตามวรรคสอง (1) ให้มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนว่าด้วยการออกและเสนอขายหน่วยทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์”

ข้อ 7 ให้ยกเลิกความในข้อ 65 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 65 ในส่วนนี้

“กลุ่มกิจการ” หมายความว่า บริษัทใหญ่และบริษัทย่อยตามมาตรฐานการบัญชีที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนดให้จัดทำงบการเงินรวม”

ข้อ 8 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 75/2 ข้อ 75/3 และข้อ 75/4 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 75/2 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมนั้น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ โดยไม่เกินอัตราส่วนดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทกองทุนนายจ้างเดียว ให้ลงทุนหรือมีไว้ได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(2) กรณีเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีนายจ้างมากกว่าหนึ่งราย และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในส่วนของนายจ้างรายใดเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ให้ลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่นายจ้างรายดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการกองทุนรวมนั้นได้ไม่เกินร้อยละสิบห้าของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ข้อ 75/3 บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังต่อไปนี้ เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ โดยต้องมีมูลค่ารวมทุกกรณีไม่เกินร้อยละสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

(1) สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่การลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากเพื่อการลดความเสี่ยง

(2) หน่วยลงทุนของกองทุนรวมในประเทศหรือต่างประเทศที่มีการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตาม (1) ทั้งนี้ ในกรณีที่กองทุนรวมดังกล่าวมีการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอื่นที่มีการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้วย ให้นับรวมการลงทุนหรือมีไว้ ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของกองทุนรวมอื่นนั้นเป็นการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

ความในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลสามารถควบคุมอัตราส่วนการนำเงินสะสมและเงินสมทบรายสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินตามวรรคหนึ่งได้ตามหลักเกณฑ์ของประกาศที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอัตราส่วนนั้น

ข้อ 75/4 การคำนวณอัตราส่วนการลงทุนตามข้อ 75/3 ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1) ให้ใช้มูลค่าตามขนาดของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (notional amount) ในการคำนวณมูลค่าของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามข้อ 75/3(1)

(2) ให้ใช้แนวทางการคำนวณและการทอนสัดส่วนที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุนกำหนดในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตามข้อ 75/3(2) แต่ทั้งนี้ หากไม่มีการกำหนดสัดส่วนของภาระผูกพันในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (derivatives exposure) ไว้อย่างชัดเจน ให้ใช้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมดังกล่าวในการคำนวณอัตราส่วนการลงทุน”

ข้อ 9 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นข้อ 112/3 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

“ข้อ 112/3 ในกรณีที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนของกองทุนรวมที่นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมนั้น เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยชอบ แต่ต่อมาการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าวเกินอัตราส่วน ที่กำหนดในข้อ 75/2 หากการเกินอัตราดังกล่าวมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้มาซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าวเพิ่มเติม บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะยังคงไว้ซึ่งหน่วยลงทุนนั้นต่อไปก็ได้

ในกรณีที่การเกินอัตราตามวรรคหนึ่ง เกิดจากการลดหรือเพิ่มจำนวนนายจ้างในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นจนเป็นเหตุให้นายจ้างรายใดรายหนึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิในส่วนของนายจ้างรายนั้นเกินกว่าร้อยละห้าสิบของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลลงทุนหรือมีไว้ซึ่งหน่วยลงทุนดังกล่าวต่อไปได้อีกหกเดือนนับแต่เดือนที่ปรากฏเหตุดังกล่าว”

ข้อ 10 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของข้อ 113 แห่งประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 24/2552 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 33/2553 เรื่อง การลงทุนและการมีไว้เพื่อเป็นทรัพย์สินของกองทุน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 113 ในกรณีที่ทรัพย์สินในขณะที่ลงทุนหรือในขณะที่ได้มาเป็นทรัพย์สินของกองทุน มีมูลค่าไม่เกินอัตราส่วนที่กำหนดในภาค 2 นี้ หากต่อมามีมูลค่าเกินอัตราส่วนดังกล่าวโดยไม่เข้าลักษณะตามข้อ 107 ถึงข้อ 112/3 และการเกินอัตราส่วนดังกล่าวมิได้เกิดจากการลงทุนหรือได้ทรัพย์สินมาเพิ่มเติม บริษัทจัดการจะยังคงมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้”

ข้อ 11 ในกรณีที่บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามประเภทและอัตราส่วนโดยชอบก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ แต่ไม่เป็นไปตามประเภทหรืออัตราส่วนในข้อกำหนดที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศนี้ บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลจะยังคงไว้ซึ่งการลงทุนหรือมีไว้ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปก็ได้ แต่ทั้งนี้ หากได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไปเท่าใด บริษัทจัดการกองทุนส่วนบุคคลอาจคงทรัพย์สินนั้นไว้ได้เพียงจำนวนเท่าที่เหลืออยู่

ข้อ 12 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป เว้นแต่ข้อ 1 ข้อ 4 ข้อ 5 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 8 เฉพาะในส่วนของการเพิ่มเติมข้อ 75/2 ข้อ 9 และข้อ 10 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

(นายวรพล โสคติยานุรักษ์)

เลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์


แท็ก ตลาดทุน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ