หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday June 22, 2005 11:45 —ประกาศ ก.ล.ต.

                    ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ สน. 17/2548
เรื่อง หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม
___________________________
เพื่อให้หนังสือชี้ชวนมีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนรวมซึ่งผู้ลงทุนสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างสะดวกและถูกต้อง และเพื่อให้ผู้ทำหน้าที่เสนอขายหน่วยลงทุนสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการเสนอขายหน่วยลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมนั้น ๆ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และข้อ 8 และข้อ 19 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กน. 30/2547 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุน ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป
ข้อ 2 ให้ยกเลิก
1) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 40/2545 เรื่อง แบบหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2545
(2) ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 9/2546 เรื่อง แบบหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2546
ข้อ 3 ในประกาศนี้
กองทุนรวม” หมายความว่า กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ สน. 23/2547 เรื่อง การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล ลงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2547
“โครงการ” หมายความว่า โครงการจัดการกองทุนรวม
“ผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน” หมายความว่า บุคคลธรรมดาที่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน และมาตรฐานการปฏิบัติงาน
“ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน” หมายความว่า บุคคลที่บริษัทจัดการกองทุนรวมมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน แล้วแต่กรณี ของกองทุนรวม
“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 4 หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับหมวด 1 ถึงหมวด 6 แต่ทั้งนี้ต้องมีข้อมูลซึ่งระบุวันที่ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนในต่างประเทศ และข้อมูลที่สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว
หมวด 1
หลักเกณฑ์ทั่วไป
_____________
ข้อ 5 หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมซึ่งบริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำขึ้นให้มี 2 ส่วน คือ
(1) ส่วนข้อมูลโครงการ
(2) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ
ข้อ 6 ในการจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมใช้รายละเอียดโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานเป็นหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการ
ข้อ 7 ในการจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำโดยคำนึงถึงผู้ลงทุนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนเอง โดยใช้ข้อความที่สามารถเข้าใจได้ง่าย มีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องและชัดเจน และไม่มีลักษณะที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยอาจใช้แผนภาพหรือวิธีการอื่นใดแทนก็ได้ ทั้งนี้ ให้มีรายการดังต่อไปนี้
(1) ลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม
(2) ความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวม
(3) ตารางแสดงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ซื้อหรือผู้ถือหน่วยลงทุนหรือกองทุนรวมซึ่งต้องมีรายละเอียดตามตารางแนบท้ายประกาศนี้
(4) การเปรียบเทียบอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund) ในส่วนที่แตกต่างกับอัตราส่วนการลงทุนตามที่สำนักงานกำหนดไว้
(5) คำเตือนและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน ซึ่งต้องพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์ขนาดไม่เล็กกว่าและอ่านได้ชัดเจนกว่าข้อความทั่วไปในหนังสือชี้ชวน
(6) วัน เดือน ปี ที่รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือชี้ชวน
ข้อ 8 รายการลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม ให้แสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ ประเภท และอายุของโครงการ
(2) วันที่ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวม
(3) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม อย่างน้อยดังต่อไปนี้
(ก) กองทุนรวมนี้เหมาะสมที่จะเป็นทางเลือกสำหรับเงินลงทุนลักษณะใด
(ข) กองทุนรวมนี้จะนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินใด
(ค) ผู้ลงทุนจะได้อะไรจากเงินลงทุน
(ง) ปัจจัยใดที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเงินลงทุนของผู้ลงทุน
(จ) การลงทุนในกองทุนรวมนี้กับกองทุนรวมอื่นที่มีนโยบายการลงทุนต่างกัน มีความเสี่ยงแตกต่างกันอย่างไร
(ฉ) การลงทุนในกองทุนรวมนี้ควรเปรียบเทียบกับตัวชี้วัด (benchmark) ใด และ ควรลงทุนในกองทุนรวมนี้เป็นระยะเวลาเท่าใด (กรณีที่สามารถระบุระยะเวลาการลงทุนในกองทุนรวมได้)
(ช) เป็นกองทุนรวมที่มีผู้ประกันเงินลงทุนหรือเป็นกองทุนรวมที่มุ่งเน้นจะคุ้มครองเงินต้นหรือไม่ อย่างไร
ในกรณีที่เป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทน ให้มีคำถามและคำตอบเพิ่มเติมว่าอัตราส่วนการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมเป็นเท่าใด และจะมีผลกระทบทางลบที่มากที่สุดต่อเงินทุนเป็นอย่างไร
(4) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิธีการลงทุนในหน่วยลงทุน สิทธิของผู้ลงทุน และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม เช่น วิธีการซื้อขายหน่วยลงทุน ช่องทางที่ผู้ลงทุนสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับมูลค่าหน่วยลงทุน ช่องทางและวิธีการร้องเรียน ผู้ดูแลผลประโยชน์ ผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน นายทะเบียนหน่วยลงทุน และผู้สอบบัญชี เป็นต้น
ข้อ 9 รายการความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวม ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมระบุความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุน เช่น ความเสี่ยงจากการดำเนินงานของผู้ออกตราสาร (business risk) ความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสาร (credit risk)ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาตราสาร (market risk) ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่องของตราสาร ( liquidity risk) ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงิน (exchange rate risk) ความเสี่ยงจากการขยายฐานเงินลงทุน (leverage risk) ความเสี่ยงตามลักษณะและฐานะ (position) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแต่ละประเภท เป็นต้น รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงแต่ละประเภท
ข้อ 10 รายการคำเตือนและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน ให้มีข้อความที่เตือนและแนะนำให้ผู้ลงทุนเข้าใจในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) คำเตือนที่แสดงว่า การลงทุนในหน่วยลงทุนมิใช่การฝากเงิน และมีความเสี่ยงของการลงทุน ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวเมื่อเห็นว่าการลงทุนในกองทุนรวมเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การลงทุนของตนและผู้ลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนดังกล่าวได้
(2) คำเตือนในกรณีของกองทุนรวมเปิดที่แสดงว่า หากปรากฏว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติผู้ลงทุนอาจได้รับชำระเงินค่าขายคืนหน่วยลงทุนล่าช้ากว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน
(3) คำเตือนในกรณีของกองทุนรวมเปิดที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องที่แสดงว่า หากกองทุนรวมเปิดไม่สามารถดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องได้ ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ตามที่มีคำสั่งไว้
(4) คำเตือนที่แสดงว่า กองทุนรวมเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทจัดการกองทุนรวม
(5) คำเตือนในกรณีที่มีการลงทุนเพื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์แก่กองทุนรวม เช่น คำเตือนว่าบริษัทจัดการกองทุนรวมอาจลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อบริษัทจัดการกองทุนรวมเช่นเดียวกันกับที่บริษัทจัดการกองทุนรวมลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นเพื่อกองทุนรวม โดยบริษัทจะจัดให้มีระบบงานที่ป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถือหน่วยลงทุน เป็นต้น
(6) คำเตือนในกรณีของกองทุนรวมที่มีการกระจายการลงทุนน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (specific fund) เช่น คำเตือนว่ากองทุนรวมมีการกำหนดอัตราส่วนการลงทุนไว้เป็นการเฉพาะ โดยมีการกระจายการลงทุนน้อยกว่ากองทุนรวมทั่วไป เป็นต้น
(7) คำเตือนและคำแนะนำในกรณีที่กองทุนรวมประสงค์จะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนจากสัญญาดังกล่าว ดังนี้
(ก) คำเตือนที่แสดงว่า กองทุนรวมดังกล่าวมีความเสี่ยงมากกว่ากองทุนรวมอื่น จึงเหมาะสมกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนสูงและรับความเสี่ยงได้สูงกว่าผู้ลงทุนทั่วไป
(ข) คำแนะนำที่แสดงว่า ผู้ลงทุนควรลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวเมื่อมีความเข้าใจในความเสี่ยงของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และผู้ลงทุนควรพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุน โดยคำนึงถึงประสบการณ์การลงทุน วัตถุประสงค์การลงทุน และฐานะการเงินของผู้ลงทุนเอง
(8) คำแนะนำที่แสดงว่า ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนให้เข้าใจและควรเก็บหนังสือชี้ชวนไว้เป็นข้อมูลเพื่อใช้อ้างอิงในอนาคต และเมื่อมีข้อสงสัยให้สอบถามผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้เข้าใจก่อนซื้อหน่วยลงทุน
(9) คำแนะนำที่แสดงว่า ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม ผู้ลงทุนสามารถขอหนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลโครงการได้ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน
การพิมพ์คำเตือนตาม (1) (2) (3) (7) (ก) และ (8) ให้พิมพ์ไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมที่
หน้าแรก หรือปกหน้าด้านนอกในกรณีที่หนังสือชี้ชวนนั้นมีปก โดยอยู่ส่วนบนสุดหรือส่วนล่างสุด และการพิมพ์คำเตือนและคำแนะนำตาม (4) (5) (6) (7) (ข) และ (9) ให้พิมพ์ไว้ก่อนวัน เดือน ปี ที่รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือชี้ชวน
ข้อ 11 ในกรณีของกองทุนรวมเปิด หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่บริษัทจัดการกองทุนรวมจัดทำใหม่ทุกรอบระยะเวลาบัญชีต้องแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ วันสิ้นปีบัญชีนั้น และให้เพิ่มวันที่ที่จดทะเบียนกองทุนรวมไว้ในรายการลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวมตามข้อ 7 (1) ด้วย รวมทั้งเพิ่มรายการดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดการลงทุน การกู้ยืมเงิน และการก่อภาระผูกพันของกองทุนรวม โดยจัดกลุ่มตามประเภทของหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่น ให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม ตามคำอธิบายแนบท้ายประกาศนี้
(2) ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมโดยใช้วิธีวัดผลการดำเนินงานตามมาตรฐานที่สมาคมหรือสำนักงานกำหนด (แล้วแต่กรณี)
ในการจัดทำหนังสือชี้ชวนตามวรรคหนึ่ง ให้มีข้อความ “สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี
ปีที่............สิ้นสุดวันที่............” ไว้ที่หน้าแรก หรือปกหน้าด้านนอกในกรณีที่หนังสือชี้ชวนนั้นมีปก
ในกรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโครงการหลังจากวันสิ้นปีบัญชี และอยู่ในระหว่าง
การจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญเพื่อจัดส่งให้สำนักงาน ให้บริษัทจัดการกองทุนรวมแสดงข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ณ วันจัดทำหนังสือชี้ชวน
หมวด 2
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมมีประกัน
______________
ข้อ 12 ในส่วนนี้
“ผู้ประกัน” หมายความว่า ผู้ที่ทำสัญญาประกันกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในการให้ประกันต่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่จะได้รับชำระเงินลงทุน หรือเงินลงทุนและผลตอบแทน แล้วแต่กรณี ตามจำนวนที่รับประกันไว้
ข้อ 13 รายการลักษณะที่สำคัญสำหรับกองทุนรวมมีประกัน ให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมโดยแสดงเป็นคำถามและคำตอบ ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ผู้ประกันเป็นธนาคารต่างประเทศ ผู้ประกันได้รับการจัดอันดับความ
น่าเชื่อถือในระดับใด
(2) จำนวนเงินลงทุนที่ประกัน และผลตอบแทนที่ประกัน (ถ้ามี) เป็นจำนวนเท่าใด
(3) ระยะเวลาการประกันและวันครบกำหนดระยะเวลาการประกันแต่ละงวด (ถ้ามี) เป็นอย่างไร
(4) ประมาณการค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดให้มีผู้ประกันเป็นจำนวนเท่าใด และสัดส่วนของประมาณการค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีผู้ประกัน เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวมมีประกันคิดเป็นเท่าใด
(5) ผลของการขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดระยะเวลาประกัน และผลของการขายคืนหรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนเมื่อครบกำหนดระยะเวลาประกันในกรณีที่มูลค่าหน่วยลงทุนสูงกว่ามูลค่าที่ประกัน เป็นอย่างไร
(6) การจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ และการดำเนินการของบริษัทจัดการกองทุนรวมในกรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีผู้ประกันรายใหม่ได้ เป็นอย่างไร
(7) ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระหนี้ในอนาคตของผู้ประกันหรือไม่ อย่างไร
ข้อ 14 รายการคำเตือนเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมมีประกันให้มีข้อความที่เตือนให้ผู้ลงทุนเข้าใจในเรื่องดังต่อไปนี้เพิ่มเติม
(1) คำเตือนที่แสดงว่า กองทุนรวมมีการประกันเงินลงทุนหรือผลตอบแทนคิดเป็นร้อยละเท่าใด และผู้ลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนจนครบระยะเวลาการประกันที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนจึงจะได้รับชำระเงินลงทุนคืนตามเงื่อนไขในการรับประกันและตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกัน
(2) คำเตือนในกรณีที่กองทุนรวมมีประกันจะลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินอื่นที่ผู้ประกันเป็นผู้ออก ผู้รับรอง ผู้รับอาวัล ผู้สลักหลัง หรือผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้ ให้ระบุชื่อผู้ประกัน อัตราส่วนการลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์และทรัพย์สินดังกล่าว และจำนวนเงินลงทุนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับคืนหากผู้ประกันไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ไว้ในคำเตือนด้วย
การพิมพ์คำเตือนตาม (1) และ (2) ให้พิมพ์ไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมที่หน้าแรก หรือปกหน้าด้านนอกในกรณีที่หนังสือชี้ชวนนั้นมีปก โดยอยู่ส่วนบนสุดหรือส่วนล่างสุด
หมวด 3
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
_____________________
ข้อ 15 รายการคำเตือนและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้มีข้อความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
(1) คำเตือนที่แสดงว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมดังกล่าวจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน และจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นจะต้องชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร
(2) คำแนะนำที่แสดงว่า ผู้ลงทุนควรศึกษาเงื่อนไขการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ รวมทั้งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคู่มือภาษีได้ที่บริษัทจัดการกองทุนรวมหรือผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืน
การพิมพ์คำเตือนตาม (1) ให้พิมพ์ไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมที่หน้าแรก หรือปกหน้าด้านนอกในกรณีที่หนังสือชี้ชวนนั้นมีปก โดยอยู่ส่วนบนสุดหรือส่วนล่างสุด และการพิมพ์คำแนะนำตาม (2) ให้พิมพ์ไว้ก่อนวัน เดือน ปี ที่รวบรวมข้อมูลไว้ในหนังสือชี้ชวน
หมวด 4
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมเพื่อแก้ไข
ปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์
_______________
ข้อ 16 รายการความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวม และรายการคำเตือนและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุน สำหรับกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาการดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ให้มีข้อความเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจว่าความเสี่ยงในการลงทุนของกองทุนรวมขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของตราสารหลักที่กองทุนรวมลงทุน
หมวด 5
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว
_______________
ข้อ 17 รายการคำเตือนและคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุนในหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ให้มีข้อความเพิ่มเติมและรูปแบบการพิมพ์ตามข้อ 15 โดยอนุโลม
หมวด 6
หลักเกณฑ์เพิ่มเติมของกองทุนรวมอีทีเอฟ
__________
ข้อ 18 รายการลักษณะที่สำคัญสำหรับกองทุนรวมอีทีเอฟ ให้มีรายละเอียดเพิ่มเติมโดยแสดงเป็นคำถามและคำตอบ ดังต่อไปนี้
(1) กองทุนรวมนี้อ้างอิงกับดัชนีราคาหลักทรัพย์ใด และดัชนีดังกล่าวมีหลักทรัพย์ใดเป็นองค์ประกอบ
(2) วิธีการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่แปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีที่ใช้อ้างอิงเป็นอย่างไร
(3) การซื้อขายหน่วยลงทุนโดยตรงกับบริษัทจัดการกองทุนรวมจะต้องมีปริมาณหรือมูลค่าการซื้อขายเป็นจำนวนเท่าใด
(4) คำถามและคำตอบเกี่ยวกับข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับวิธีการลงทุนในหน่วยลงทุนสิทธิของผู้ลงทุน และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม เช่น หลักทรัพย์ที่กองทุนรวมจะลงทุนในสิบอันดับแรก การประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและระดับของดัชนีที่ใช้อ้างอิง ผู้ค้าหน่วยลงทุนร่วม(participating dealer) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทจัดการกองทุนรวม (ถ้ามี) ช่องทางที่ผู้ลงทุนสามารถทราบข้อมูลเกี่ยวการซื้อขายหน่วยลงทุนและดัชนีที่ใช้อ้างอิงของกองทุนรวมนี้ เป็นต้น
ผู้ค้าหน่วยลงทุนร่วมตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่ซื้อหรือขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมอีทีเอฟกับบริษัทจัดการกองทุนรวมในปริมาณหรือมูลค่าตามที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
ข้อ 19 การจัดทำหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญที่บริษัทจัดการกองทุนรวมต้องจัดทำใหม่ทุกรอบระยะเวลาบัญชี ให้มีรายการเพิ่มเติมดังนี้
(1) รหัสของหน่วยลงทุนที่ใช้ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
(2) หลักทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนในสิบอันดับแรก
(3) จำนวนการซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมา
ประกาศ ณ วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548
(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
เลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ