การแยกบัญชีเงินของลูกค้า

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday March 13, 1998 15:42 —ประกาศ ก.ล.ต.

                 ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ที่ กธ. 48/2540
เรื่อง การแยกบัญชีเงินของลูกค้า
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 14 และมาตรา 98(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 คณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกข้อกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
(1) "บริษัทหลักทรัพย์" หมายความว่า บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และได้รับเงินของลูกค้าไว้อันเกี่ยวกับหรือเนื่องจากการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การค้าหลักทรัพย์ หรือกิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์
(2) "เงินของลูกค้า" หมายความว่า
(ก) เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับไว้เพื่อประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ ของลูกค้าในบัญชีเงินสด
(ข) เงินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับไว้เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีมาร์จิ้น เฉพาะส่วนที่คงเหลืออยู่ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง หลังจากหักเงินประกันการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตของลูกค้ารายเดียวกันแล้ว
(ค) เงินประกันการยืมหลักทรัพย์ที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับไว้ในฐานะตัวแทนของลูกค้าซึ่งให้ยืมหลักทรัพย์
(3) "ลูกค้า" หมายความว่า
(ก) ผู้ที่ทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในบัญชีเงินสด
(ข) ผู้ที่ทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์ในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์หรือการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ต แต่ไม่รวมถึงลูกค้าสถาบัน
(ค) ผู้ที่ทำสัญญาแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์เป็นตัวแทนในการรับและบริหารหลักประกันที่ได้รับเนื่องจากการให้ยืมหลักทรัพย์
(4) "บัญชีมาร์จิ้น" หมายความว่า บัญชีมาร์จิ้นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ และการให้ยืมหลักทรัพย์แก่ลูกค้าที่มิใช่ลูกค้าสถาบันเพื่อขายชอร์ต
(5) "การขายชอร์ต" หมายความว่า การขายหลักทรัพย์ที่ต้องยืมหลักทรัพย์มาเพื่อการส่งมอบ
(6) "ลูกค้าสถาบัน" หมายความว่า ลูกค้าสถาบันตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการขายหลักทรัพย์โดยที่บริษัทหลักทรัพย์ยังไม่มีหลักทรัพย์นั้นอยู่ในครอบครอง
ข้อ 2 ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการเงินของลูกค้าในลักษณะอันเป็นการฝ่าฝืน หรือขัดต่อข้อกำหนดในประกาศนี้
ข้อ 3 ก่อนที่บริษัทหลักทรัพย์จะรับทำหน้าที่เก็บรักษาและดูแลเงินของลูกค้ารายใด บริษัทหลักทรัพย์ต้องปฏิบัติดังนี้
(1) แจ้งให้ลูกค้าเข้าใจและลงนามรับทราบถึงความเสี่ยงของการวางเงินดังกล่าวไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ และในกรณีที่เงินของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์ใดมิใช่เงินที่อยู่ภายใต้มาตรการให้ความคุ้มครองของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ นั้นต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสถานภาพของเงินดังกล่าวด้วย
(2) จัดทำข้อตกลงกับลูกค้าเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับการเก็บรักษาและดูแลเงินของลูกค้า ซึ่งอย่างน้อยต้องระบุถึง
(ก) ข้อจำกัดและวิธีการในการนำเงินของลูกค้าไปหาผลประโยชน์
(ข) อัตราผลตอบแทนที่ลูกค้าจะได้รับซึ่งต้องไม่มากกว่าอัตราผลตอบแทนที่บริษัทหลักทรัพย์คาดว่าจะได้รับจากการนำเงินของลูกค้าไปหาผลประโยชน์
(ค) ค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษาและดูแลเงินของลูกค้า
(ง) กำหนดเวลาการจ่ายผลตอบแทนหรือค่าธรรมเนียม
ข้อ 4 บริษัทหลักทรัพย์ต้องบันทึกรายการรับหรือจ่ายเงินของลูกค้าแต่ละรายไว้ในบัญชีลูกค้ารายตัว โดยบัญชีดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับวันที่ จำนวนเงิน และเหตุที่รับหรือจ่ายเงินของลูกค้าแต่ละครั้ง และบริษัทหลักทรัพย์ต้องปรับปรุงให้บัญชีของลูกค้าเป็นปัจจุบันอย่างน้อยทุกสิ้นวันทำการ
ให้ถือว่าการที่บริษัทหลักทรัพย์บันทึกรายการรับหรือจ่ายเงินของลูกค้าในบัญชีมาร์จิ้น เป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดในวรรคหนึ่งแล้ว
ข้อ 5 ในการเก็บรักษาและดูแลเงินของลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกเงินของลูกค้าไว้ต่างหากจากเงินอื่นใดของบริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์จะใช้เงินของลูกค้าที่แยกไว้ได้เฉพาะเพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายที่วางเงินไว้กับบริษัทหลักทรัพย์
จำนวนเงินของลูกค้าที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกออกจากเงินอื่นใดของบริษัทตามวรรคหนึ่งต้องเป็นไปตามเกณฑ์ดังนี้
(1) กรณีที่เงินของลูกค้าเป็นเงินตามข้อ 1(2)(ก) จำนวนเงินของลูกค้าที่ต้องแยกไว้ต้องไม่น้อยกว่ายอดเงินคงเหลือสุทธิในบัญชีของลูกค้าแต่ละราย หลังจากหักเงินค่าซื้อหลักทรัพย์ที่ได้จ่ายไปจริงหรือรวมเงินค่าขายหลักทรัพย์ที่ได้รับจริงแล้ว
(2) กรณีที่เงินของลูกค้าเป็นเงินตามข้อ 1(2)(ข) จำนวนเงินของลูกค้าที่ต้องแยกไว้ต้องไม่น้อกว่าผลรวมของยอดเงินคงเหลือในบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าแต่ละราย หลังจากหักเงินประกันการยืมหลักทรัพย์เพื่อขายชอร์ตของลูกค้ารายเดียวกันในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยห้าของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ยืมแล้ว
(3) กรณีที่เงินของลูกค้าเป็นเงินตามข้อ 1(2)(ค) จำนวนเงินของลูกค้าที่ต้องแยกไว้ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนเงินที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับไว้เพื่อเก็บรักษาและดูแลแทนลูกค้า
เพื่อประโยชน์ตามความในวรรคสอง (2) ให้ถือเอายอดเฉลี่ยรายสัปดาห์ของจำนวนเงินที่ต้องแยกในแต่ละวันของสัปดาห์ก่อน เป็นจำนวนเงินเฉลี่ยที่บริษัทหลักทรัพย์ต้องแยกบัญชีสำหรับแต่ละวันของสัปดาห์ปัจจุบัน และให้ถือเอาวันจันทร์เป็นวันเริ่มต้นของสัปดาห์และวันศุกร์เป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์
ข้อ 6 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์นำเงินของลูกค้าไปลงทุนหาผลประโยชน์ บริษัทหลักทรัพย์ต้องระบุอย่างชัดเจนในบัญชีการลงทุนที่เปิดไว้กับบุคคลภายนอกหรือทรัพย์สินที่ลงทุนว่า การลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์เพื่อลูกค้าหรือเป็นการลงทุนของลูกค้าแต่ละราย ตามที่ได้ตกลงกับลูกค้า และหากบริษัทหลักทรัพย์มิได้ตกลงกับลูกค้าเป็นประการอื่น บริษัทหลักทรัพย์อาจจัดให้มีการลงทุนเพื่อลูกค้าทุกรายรวมกัน หรือแยกการลงทุนไว้สำหรับลูกค้าแต่ละประเพทหรือลูกค้าแต่ละรายก็ได้
บริษัทหลักทรัพย์อาจนำเงินของลูกค้าที่แยกไว้ไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้เฉพาะในทรัพย์สินที่จัดอยู่ในประเภทดังนี้
(1) เงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารอื่นที่มีกฏหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(2) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทหลักทรัพย์เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นผู้ออกหรือเป็นผู้จ่ายเงิน
ห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์นำเงินของลูกค้าที่แยกไว้ไปลงทุนหาผลประโยชน์ตามวรรคสองโดยมีผู้รับฝาก หรือผู้ออกหรือผู้จ่ายเงินตามตั๋วเงินเป็นสถาบันการเงินที่บริษัทหลักทรัพย์มีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะบริษัทใหญ่หรือบริษัทย่อยตามบทนิยามแห่งประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นและการยกเว้นการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ เว้นแต่ลูกค้าจะแสดงความยินยอมโดยชัดแจ้ง
ความในวรรคสองและวรรคสามมิให้นำมาใช้บังคับกับกรณีที่เงินของลูกค้าเป็นเงินตามข้อ 1(2)(ค) และบริษัทหลักทรัพย์ได้มีข้อตกลงกับลูกค้าเกี่ยวกับการนำเงินของลูกค้าไปลงทุนหาผลประโยชน์ไว้เป็นประการอื่นแล้ว
ข้อ 7 ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับอัตราผลตอบแทนจากการนำเงินของลูกค้าไปลงทุนมากกว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้ตกลงไว้กับลูกค้า บริษัทหลักทรัพย์สามารถรับรู้ผลตอบแทนส่วนเกินดังกล่าวเป็นรายได้ค่าธรรมเนียมในการบริหารทรัพย์สินของลูกค้าได้
ข้อ 8 ให้บริษัทหลักทรัพย์ดำเนินการเพื่อให้การจัดการเงินของลูกค้าส่วนที่บริษัทหลักทรัพย์ได้รับหรือมีอยู่แล้วในวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ เป็นไปตามข้อ 3 ของประกาศนี้ภายใน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541
ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2541 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2540
(นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ